แชร์อุทาหรณ์จากประสบการณ์จริงของคุณ Pattaraporn Suriyamanee ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ระยะที่ 3 จากการ กินอาหารไม่ตรงเวลา
อุทาหรณ์! กินอาหารไม่ตรงเวลา ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหาร
ใครจะเชื่อว่าแค่ กินอาหารไม่ตรงเวลา จะทำให้เกิดโทษจนป่วยเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้ ทีมงาน Amarin Baby & Kids จึงขอนำอุทาหรณ์จากคุณ Pattaraporn Suriyamanee ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ระยะที่ 3 จากการ กินอาหารไม่ตรงเวลา เพื่อเตือนใจให้คนหันมาดูแลสุขภาพ ดังนี้
วันนี้ได้ออกโรงพยาบาลแล้ว หลังจากนอนยาว ๆ 17 วัน หลายคนคงสงสัยว่าเป็นอะไร เราก็เลยคิดว่าเมื่อไหร่ออกจากโรงพยาบาลแล้วจะเขียนเพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้ทุกคนดูแลสุขภาพ ใส่ใจตัวเอง หมั่นดูแลและสังเกตตัวเอง สำหรับตัวเราเป็นคนทานน้อย กินอาหารไม่ตรงเวลา กินตามใจปาก ทานผักมากกว่าเนื้อ หรือหมูนะ (เพราะขี้เกียจเคี้ยว) เวลาเครียดจะปวดท้อง
เราป่วยเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ระยะที่ 3 ไม่มีอาการของโรคมะเร็งเลย ไม่มีอาการปวดท้องทรมาน (แค่ปวดท้องกรดไหลย้อน) น้ำหนักก็ปกติไม่ได้ลด ถ่ายปกติ ทานได้ปกติ ท้องไม่อืด ใช้ชีวิตปกติไม่มีอ่อนแรง จนวันนึงคิดยังไงไม่รู้ หรือมีอะไรดลใจ ให้ลุกขึ้นจากเตียง และไปโรงพยาบาลขอคุณหมอส่องกล้องกระเพาะอาหาร แล้วสิ่งไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นจร้าาา
วันนัดฟังผลคุณหมอพูดกับเราแค่ว่า…
คุณหมอ: ต้องมีสตินะครับ
มะนาว : ค่ะ
คุณหมอ : สติต้องมีนะครับ
มะนาว : ค่ะ
คุณหมอ: มีแฟนรึยัง
มะนาว: ยังค่ะ
คุณหมอ: มีเพื่อนหรือญาติมาด้วยมั้ยย
มะนาว : ไม่มีค่ะ
คุณหมอ: ต้องมีสตินะครับ
มะนาว: ค่ะ ทำไมเหรอคะ เป็นมะเร็งเหรอคะ
คุณหมอ พยักหน้าไม่พูดอะไรต่อ และแปลกใจว่าเราเป็นมะเร็งทั้ง ๆ ที่อายุน้อย ( แอบคิดในใจอายุเราก็ไม่น้อยนะ 5555)ตอนนี้เราได้ผ่าตัดกระเพาะอาหารออกหมดแล้ว(ไม่มีกระพาะอาหาร) เริ่มหัดทานข้าวต้ม โจ๊กแบบอ่อน ๆ เพื่อให้ลำไส้ปรับตัว เพราะไม่สามารถทานอาหารแบบคนทั่วไปได้ คงต้องรออีกซักพักใหญ่ ๆ ขั้นต่อไปคือให้คือคีโม ซึ่งก็ไม่รู้จะเป็นยังไงบ้าง (แต่จะสู้ สู้)
อยากให้เรื่องเราเป็นอุทาหรณ์ อยากให้ทุกคนดูแลสุขภาพ ทานอาหารให้เป็นเวลา และหากปวดท้องกระเพาะ หรือกรดไหลย้อน ควรพบแพทย์ ไม่ควรคิดว่าทานยาเดี๋ยวก็หาย
ปล. ขอบคุณครอบครัวที่คอยอยู่เคียงข้าง ขอบคุณทุกกำลังใจที่ส่งให้ ขอบคุณเพื่อน ๆ ทุกคนที่มาเยี่ยมที่โรงพยาบาล ขอบคุณทีมคุณหมอที่ทำการผ่าตัด และทีมพยาบาลที่คอยดูแล ขอบคุณมาก ๆ นะคะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ สาวป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารเพราะ กินอาหารไม่ตรงเวลา เปิดใจหลังตัดกระเพาะทิ้ง
สาวป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารเพราะ กินอาหารไม่ตรงเวลา เปิดใจหลังตัดกระเพาะทิ้ง
ต่อมาคุณ Pattaraporn Suriyamanee ได้เปิดใจกับไทยรัฐออนไลน์ ถึงสาเหตุและประสบการณ์การใช้ชีวิตหลังจากเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร โดยเล่าว่า ก่อนหน้าที่จะทราบว่าเป็นมะเร็ง เมื่อ 5-6 ปีก่อน ตัวเองเป็นโรคกระเพาะ ซึ่งเมื่อทานยาก็หาย จากนั้นตนก็เปลี่ยนที่ทำงาน มาทำงานที่ไม่ได้มีภาวะเครียดอะไรมาก อาการปวดท้องก็น้อยลง กระทั่งมีการเปลี่ยนที่ทำงานอีกครั้ง ซึ่งเป็นการทำงานแบบรูทีน ทำงานทั้งวัน ทำให้กิจวัตรประจำวันเปลี่ยน เข้างาน 8-9 โมง เลิกงาน 5 โมง แต่ถ้างานไม่เสร็จก็ต้องลากยาวจนถึง 3-4 ทุ่ม ภาวะเครียดก็มาก ทำให้ปวดท้อง ประกอบกับ กินอาหารไม่ตรงเวลา ช่วงเช้าบางวันก็ไม่ได้ทานข้าว จะทานแค่นม ส่วนลักษณะอาหารที่ทาน ก็จะเป็นผักมากกว่าเนื้อสัตว์ แต่ตนไม่ได้โทษว่าทานผักแล้วเป็นมะเร็ง บางมื้อก็ไม่ได้ทานข้าว หรือทานน้อย ทานแต่นม ซึ่งช่วงเที่ยงส่วนใหญ่ตนจะทานข้าวตรงเวลา และตั้งแต่มื้อเที่ยงไปจนถึงมื้อค่ำ ด้วยการที่เราทำงานหน้าจอคอมพ์ ก็จะมีทานพวกขนมถุง หรือของดองบ้าง ซึ่งมันเป็นของที่ไม่มีประโยชน์ แต่เราก็ตามใจปาก ถึงเวลาก็ไม่ยอมทานข้าว จะไปทานอีกทีคือประมาณ 4 ทุ่ม หลังจากถึงบ้านแล้ว ส่วนอาการปวดท้องนั้น ก็ถือว่าไม่ได้รุนแรงมาก ทานยาโรคกระเพาะที่ทานประจำ อาการปวดก็จะหาย ซึ่งพอมันหาย ก็ไม่ได้ทานยาต่อ ทำให้ตนไม่รู้ว่าอาการตอนนั้นคืออะไร ก็เข้าใจว่าเป็นโรคกระเพาะมาตลอด กระทั่งเริ่มมีอาการปวดท้องตอนนอน ซึ่งก่อนหน้าไม่เคยเป็น จึงตัดสินใจไปพบแพทย์
พอถึงวันที่คุณหมอนัดฟังผล จึงทราบว่าเป็นโรคมะเร็ง โดยตอนนั้นคุณหมอยังไม่ได้บอกว่า ตนเป็นมะเร็งระยะที่เท่าไหร่ แต่ด้วยกระบวนการคือ หลังจากตรวจชิ้นเนื้อในครั้งแรก รู้ว่ามีเซลล์มะเร็ง คุณหมอก็จะต้องให้ไปทำ CT สแกน เพื่อวางแผนการรักษา โดยการผ่าตัดในขั้นตอนต่อไป หลังจากนั้นก็จะนำชิ้นเนื้อที่ได้จากการผ่าตัดไปหาค่ามะเร็ง ทำให้รู้ว่าเป็นมะเร็งระยะที่ 3
ซึ่งหลังจากที่ทำการผ่าตัดกระเพาะออกไปแล้วนั้น ก็ไม่ได้รู้สึกว่ากระทบต่อการใช้ชีวิตปกติ ซึ่งตนโชคดีที่ได้คุณหมอเก่ง อีกทั้งตนไม่มีโรคประจำตัว หรือโรคแทรกซ้อน แต่หลังจากที่ตัดกระเพาะออกไปแล้ว อาจทานอาหารไม่ได้ทั่วไป เนื่องจากต้องรับประทานอาหารอ่อนที่สุด อย่างโจ๊ก นม หรือข้าวต้ม เพื่อให้ร่างกายมีกำลัง มีสารอาหารที่คนหนึ่งคนควรจะได้รับใน 1 วัน และเพราะเราไม่มีกระเพาะช่วยย่อย เราจึงต้องเคี้ยวให้ละเอียดขึ้น ซึ่งทุกวันนี้คุณพ่อก็จะเป็นคนคอยทำโจ๊กให้ทาน ส่วนชีวิตประจำวันก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไรมาก แค่เปลี่ยนการรับประทานอาหาร
นอกจากนี้ ขอฝากบอกถึงผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งด้วยว่า ต้องมีสติ อย่าคิดมาก เพราะบางอย่างมันอาจจะไม่ได้เลวร้ายอย่างที่เราคิด ถ้ายิ่งเรากังวล รู้สึกแย่กับมัน ทุกอย่างมันก็จะยิ่งแย่ มันจะกระทบหลายอย่าง ทั้งนอนไม่หลับ ทานไม่ได้ คนรอบข้างก็เป็นห่วง อยากให้ทำใจให้สบาย ใช้ชีวิตปกติ ให้คิดซะว่า “เค้าคือเพื่อนสนิท ที่มาอยู่ในตัวเรา เรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน ทำใจให้สบาย”
สามารถติดตามอาการล่าสุดและขั้นตอนการรักษาของคุณมะนาวได้ที่เพจ ไดอารี่จากฉันเอง
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ โรคมะเร็งกระเพาะอาหารคืออะไร? มีอาการอย่างไร?
โรคมะเร็งกระเพาะอาหารคืออะไร?
มะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นเนื้อร้ายที่เกิดขึ้นในเยื่อบุกระเพาะอาหาร อาการในระยะเริ่มต้นอาจไม่รุนแรงและมีลักษณะคล้ายกับอาการของโรคอื่น ๆ เช่น อาหารไม่ย่อย เรอบ่อย แสบร้อนกลางอก ปวดท้อง แน่นท้อง กลืนอาหารลำบาก เป็นต้น โดยมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารบางชนิด อาหารรมควัน รวมถึงผู้ที่เคยเป็นโรคมะเร็งที่ส่วนอื่นของร่างกาย มะเร็งกระเพาะอาหารมักพบในเพศชายได้มากกกว่าในเพศหญิง โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป
โรคมะเร็งกระเพาะอาหารมีอาการอย่างไร?
ในระยะเริ่มแรกของผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารอาจไม่แสดงอาการของโรค หรือมีอาการที่ไม่รุนแรงและคล้ายกับอาการของโรคอื่น ๆ แต่หากเนื้อร้ายเจริญเติบโตขึ้น จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรงมากขึ้น และอาจพบอาการดังต่อไปนี้
- ปวดหรือจุกที่ลิ้นปี่
- แน่นท้องหรือปวดท้องหลังรับประทานอาหาร
- อุจจาระเป็นเลือด
- อาเจียนเป็นเลือด
- กลืนอาหารลำบาก
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
- รู้สึกอิ่มหลังรับประทานอาหารมื้อเล็ก ๆ
- รู้สึกเหนื่อยหรืออ่อนเพลียจากภาวะโลหิตจาง
- ดีซ่านโดยมีอาการผิวและตาเหลือง
เนื่องจากยังไม่มีสาเหตุที่แน่ชัดว่าโรคมะเร็งกระเพาะอาหารเกิดจากสาเหตุใด แต่การ กินอาหารไม่ตรงเวลา การติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter Pylori) ซึ่งทำให้เกิดเป็นแผลในกระเพาะอาหารเรื้อรัง การรับประทานอาหารประเภทรมควันของหมักดองหรือปลาเค็ม และการสูบบุหรี่ ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคได้ ดังนั้นจึงควรหันมาใส่ใจสุขภาพ คอยใส่ใจและสังเกตร่างกายของตนเอง ลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ก็จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคได้ดีขึ้น
อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ คลิก
เบคอน อาหารปลิดชีวิตคนจากมะเร็งได้พอ ๆ กับบุหรี่
10 อาหารก่อมะเร็ง ยิ่งกินมาก ยิ่งทำลายสุขภาพ
ไขมันเลว คืออะไร พร้อมวิธีกำจัดออกจากร่างกาย
ขอบคุณข้อมูลจาก : Pattaraporn Suriyamanee, ไทยรัฐออนไลน์, พบแพทย์
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่