เมื่อลูกเลือดกำเดาไหล คุณแม่อย่าเพิ่งตกใจจนทำอะไรไม่ถูก วิธีปฐมพยาบาล ลูกเลือดกำเดาไหล เป็นสิ่งสำคัญควรตั้งสติให้ดี หากเผลอปฐมพยาบาลผิดวิธี ทำให้ลูกน้อยเสี่ยงเสียชีวิตได้
ลูกเลือดกำเดาไหล สาเหตุเกิดจากอะไร?
- อาการระคายเคืองหรืออาการบาดเจ็บที่โพรงจมูก ส่วนใหญ่เกิดจากอาการหวัด ซึ่งทำให้จมูกแห้งแล้วเขาไปแคะจมูก อาการเหล่านี้มักไม่ค่อยเป็นอันตรายค่ะ จะมีเลือดกำเดาไหลออกช่วงสั้น ๆ และหายไปได้เอง แต่หากมีพฤติกรรมการแคะจมูกที่รุนแรง หรือทำให้จมูกเกิดบาดแผล ก็จำทำให้มีเลือดกำเดาไหลบ่อยตามมาได้ง่าย
- เกิดจากการชนและการกระแทก จะปริมาณเลือดจะมีมากในช่วงแรก แต่จะค่อยๆ หายไปได้เอง แต่หากเลือดกำเดาไหลนานเป็นสัปดาห์ สาเหตุอาจมาจากการที่เส้นเลือดภายในโพรงจมูกโป่งพองจากอุบัติเหตุ
- ภาวะอักเสบภายในโพรงจมูก มักมาจากการติดเชื้อไวรัส ภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ การสัมผัสกับสิ่งระคายเคือง มีสิ่งแปลกปลอมในจมูก การใช้เครื่องอัดอากาศช่วยหายใจ และการรักษาโรคหยุดหายใจขณะหลับ เป็นต้น
- อาการหนาวและแห้ง อาการหนาวและแห้ง จะเป็นสาเหตุทำให้เลือดกำเดาไหลบ่อยได้ เนื่องจากเยื่อบุจมูกมีความแห้ง เกิดการระคายเคือง ตามมาด้วยเลือดออกได้ง่ายขึ้นค่ะ
ก้ม หรือ เงยหน้า? เมื่อเลือดกำเดาไหล
มีอุทาหรณ์หนึ่งที่น่าสนใจมาเล่าให้คุณแม่ฟังค่ะ เด็กชายคนหนึ่งชื่อว่าเฉียงเฉียง เป็นลูกคนเดียวไม่มีพี่น้อง วันหนึ่งขณะที่เล่นอยู่ดีๆ ก็เกิดเลือดกำเดาไหลออกมา เฉียงเฉียงจึงรีบวิ่งไปหาคุณแม่ พอแม่เห็นดังนั้น จึงสั่งให้ลูกเงยหน้าและนำกระดาษทิชชูยัดเข้าไปในจมูกของเฉียงเฉียงเพื่อห้ามเลือด โดยที่ไม่รู้เลยว่าเป็น วิธีการปฐมพยาบาล ลูกเลือดกำเดาไหล ที่ผิดวิธีทำให้ลูกน้อย เสียชีวิต
เมื่อคุณแม่ปฐมพยาบาลลูกน้อยไปได้ไม่นาน เฉียงเฉียงก็เริ่มมีอาการหายใจไม่ออก รู้สึกแน่นหน้าอก จนต้องใช้ปากช่วยหายใจ สักพักหนึ่งหนูน้อยเริ่มตาลาย แล้วจึงเป็นลมหมดสติไป เมื่อคุณแม่เห็นดังนั้นแล้วจึงรีบนำกระดาษทิชชูออก แล้วพาลูกน้อยไปโรงพยาบาลทันที
หลังจากที่คุณหมอตรวจอาการของหนูน้อยได้สักครู่หนึ่ง ก็ออกมาแสดงความเสียใจกับคุณแม่ของเฉียงเฉียง “เราช่วยชีวิตเฉียงเฉียงเอาไว้ไม่ทัน เขาจากไปแล้ว” เมื่อคุณแม่ได้ยินดังนั้นก็เป็นลมล้มพับลงไปเลย
คุณหมออธิบายว่า การเงยหน้าอาจทำให้เลือดไหลเข้าไปในหลอดลม และทำให้สำลักได้ง่าย ถ้าเป็นเลือดกำเดาไหลที่เกิดจากอุบัติเหตุภายนอก อาจจะเป็นน้ำไขสันหลังที่ไหลออกมา เพราะกะโหลกได้รับการกะแทก ถ้าเกิดการอุดตันในจมูก อาจจะเป็นสาเหตุของอาการสมองอักเสบได้

ที่มา : liekr
วิธีปฐมพยาบาล ลูกเลือดกำเดาไหล
จากการที่คุณแม่หลายท่านอาจจะยังใช้วิธีปฐมพยาบาล ลูกเลือดกำเดาไหล แบบผิดๆ ด้วยการจับลูกเงยหน้าซึ่งอาจทำให้เด็กสำลักเลือดกำเดาลงคอได้ สิ่งที่คุณแม่ควรทำ ก็คือ
- ใช้หลักการห้ามเลือดไม่ว่าออกมาจากทางไหน ด้วยการกดที่จุดเลือดออกทิ้งไว้ 10-15 นาที จะช่วยให้เกล็ดเลือดเข้ามารวมตัว และเลือดหยุดได้เองในที่สุด
- ตำแหน่งที่เลือดกำเดาไหลบ่อย จะพบที่ด้านหน้าตรงสันกลางจมูก
- หากมีเลือดออกให้ใช้วิธีเอามือบีบจมูกให้แน่นด้วยนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ ค้างไว้ 5-10 นาที เพื่อปิดจุดเลือดออก และใช้วิธีหายใจทางปากไปก่อน
- หลีกเลี่ยงการบีบๆ ปล่อยๆ จมูกขณะที่กำลังกดจุดหยุดเลือด เพราะส่วนใหญ่ต้องการดูว่าเลือดหยุดไหลหรือยัง
- ดังนั้นให้บีบทิ้งไว้ประมาณ 5-10 นาทีเป็นอย่างต่ำ หากต้องการทราบว่าเลือดหยุดไหลแล้วหรือไม่
- ประคบเย็นด้วยผ้าห่อน้ำแข็งหรือ cold pack ที่จมูก ซึ่งจะช่วยให้เส้นเลือดภายในโพรงจมูกหดตัว
- บรรเทาเลือดไหลให้น้อยลง หรืออมน้ำเย็น หรือน้ำแข็งภายในช่องปากไปพร้อมๆ กันด้วย จะช่วยลดภาวะเลือดออกให้หายได้เร็วขึ้น
- หากพบว่าเลือดกำเดาไหลออกมา ไม่ยอมหยุดซักที ให้บีบจมูกต่อด้วยวิธีเดิมอีกครั้ง
- กรณีที่มีเลือดกำเดาไหลอย่างต่อเนื่องเกิน 20 นาที ให้บีบทิ้งไว้และรีบพาลูกไปโรงพยาบาลในทันที
- หลังจากเลือดหยุดแล้ว ควรหลีกเลี่ยงการแคะจมูกหรือการสั่งนำมูกแรงๆ ภายในระยะเวลา 24-48 ชั่วโมงก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดไหลออกมาอีก
- ควรให้ลูกนอนพักในท่ายกศีรษะขึ้นสูง ใช้น้ำแข็งมาประคบเอาไว้ตรงตำแหน่งหน้าผากหรือคอ
โดยคุณหมอวิรัช จิตสุทธิภากร แพทย์โรคจมูก รพ. สวรรค์ประชารักษ์ ได้เผยแพร่วิธีหยุดเลือดกำเดาที่ใช้ได้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ 4 ขั้นตอน ดังนี้
4 สเต็ป “บีบจมูก หลังตรง ก้มหน้า อ้าปาก”
- บีบจมูก– การบีบจมูกจะช่วยหยุดเส้นเลือดขนาดเล็กที่รวมกันอยู่ตรงผนังกั้นจมูกด้านหน้า
- หลังตรง – ในขณะที่นั่งหลังตรง ยืดตัว ศีรษะจะอยู่สูงกว่าส่วนอื่นของร่างกาย ทำให้ความดันโลหิตที่สูบฉีดเลือดอยู่นั้นลดลง
- ก้มหน้า – เพื่อป้องกันเลือดไหลตกลงคอจนอาจทำให้สำลัก เข้าคอ จะทำให้เกิดการระคายเคือง
- อ้าปากหายใจ – การอ้าปากจะช่วยรับอากาศเข้าสู่ร่างกายโดยไม่ผ่านทางโพรงจมูกที่มีเลือดไหลอยู่ อีกทั้งต้องระวังการไอ จาม เพื่อไม่ให้เส้นเลือดฝอยแตกอีก
คุณหมอแนะนำว่า ควรกดอย่างน้อย 5 นาที หากปล่อยแล้วเลือดยังไหลให้ทำใหม่ หากยังไม่หยุดอีก ให้พาลูกไปพบแพทย์ค่ะ
เมื่อเลือดหยุดแล้ว ควรให้ลูกพักผ่อน หยุดกิจกรรมที่ทำอยู่ไว้ก่อน จากนั้นค่อยนอนหัวสูงได้ ทำใจให้สบาย ฟังเพลงเพื่อผ่อนคลายให้หัวใจเต้นช้าลง ระวังการเบ่ง ไอ จาม อาจใช้การประคบเย็นร่วมด้วย
หวังว่าข้อมูลนี้จะมีประโยชน์ ช่วยให้คุณแม่สามารถปฐมพยาบาล ลูกเลือดกำเดาไหล ได้อย่างถูกวิธีนะคะ เพียงคุณแม่จำให้แม่น “บีบ ตรง ก้มหน้า อ้าปาก” เพียงเท่านี้ก็จะไม่ปฐมพยาบาลผิดแล้วล่ะค่ะ แต่หากลูกน้อยมีอาการเลือดกำเดาไหลเรื้อรัง ควรพาไปพบคุณหมอ เพื่อวินิจฉัยให้แน่ชัดต่อไปค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก นพ. วิรัช จิตสุทธิภากร แพทย์โรคจมูก รพ. สวรรค์ประชารักษ์
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่