โรคนิปาห์ คือหนึ่งในโรคระบาดใหม่ที่ควรรู้จัก แม้ยังไม่พบการแพร่ระบาดในบ้านเรา แต่รู้ไว้ไม่เสียหายอะไรจริงไหมคะ?
ถ้าหากพูดถึงเรื่องของระบาด ณ ตอนนี้ในระดับประเทศก็คงหนีไม่พ้น โรคนิปาห์ ที่เป็นต้นเหตุทำให้คนในประเทศอินเดียเสียชีวิตแล้วนับ 10 ราย จริงอยู่ที่ยังไม่พบการแพร่ระบาดในประเทศไทยของเรา แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้น!
ด้าน นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่พบเชื้อและผู้ติดเชื้อ ไวรัสโรคสมองอักเสบนิปาห์ แต่ก็มีโอกาสจะแพร่ระบาดเข้ามาในไทยได้ ดังนั้น จึงได้ประกาศให้ไวรัสชนิดนี้เป็น “โรคติดต่ออันตราย” พร้อมมีมาตรการเฝ้าระวัง คัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่พบการแพร่ระบาด โดยเฉพาะประเทศอินเดีย เนื่องจากไวรัสชนิดนี้ยังไม่มียา หรือวัคซีนรักษาให้หายขาดได้ และขอให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง ส่วนผู้ที่จะเดินทางไปประเทศอินเดีย ขอให้ดูแลสุขภาพอนามัย กินร้อนใช้ช้อนกลางและล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร
นอกจากนี้ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กล่าวถึงสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อ โรคนิปาห์ ในประเทศอินเดียว่า สถานการณ์ขณะนี้รัฐบาลของอินเดียรายงานพบผู้เสียชีวิตจำนวน 10 ราย และยังคงต้องติดตามและควบคุมอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้สั่งการให้หน่วยงานภายใต้สังกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ขอยืนยันว่าไทยยังไม่มีรายงายผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ แต่ก็ยังเป็นโรคที่คงต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อ ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข
ทำความรู้จักกับ โรคนิปาห์
โรคนิปาห์หรือเรียกกันอีกอย่างว่า โรคสมองอักเสบนิปาห์นั้น เป็นโรคที่ได้เป็นเชื้อไวรัสที่มาจากค้างคาว ซึ่งแพร่เชื้อต่อไปยังสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ เช่น หมู ม้า แพะ รวมถึงคนด้วย ซึ่งการติดต่อเกิดจากการสัมผัสมูลสัตว์ ปัสสาวะ สารคัดหลั่งของสัตว์ หรือคนที่ติดเชื้อ รวมไปถึงซากสัตว์
โรคนิปาห์นี้ใช้เวลาฟักตัวอยู่ที่ 4-18 วัน ค่ะ อาการของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ จะมีอาการคล้ายไข้หวัด โดยเชื้อจะแพร่ไปยังสมองและปอด ทำให้เกิดโรคสมองและปอดอักเสบ ผู้ติดเชื้อมีโอกาสติดเชื้อ 50 – 70 เปอร์เซ็นต์ ผู้ติดเชื้อต้องรักษาตามอาการเท่านั้น
นายแพทย์สุวรรณชัย ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คนที่เกิดจากการสัมผัสมูลสัตว์และสารคัดหลั่งของสัตว์พาหะนำโรค คือ ค้างคาวผลไม้ สุกร ม้า แมว แพะ แกะ ซึ่งรับเชื้อมาจากค้างคาวผลไม้
ส่วนการติดต่อระหว่างคนสู่คนนั้นเกิดจาก การสัมผัสกับสารคัดหลั่งเช่น เลือด หรือน้ำลายของคนที่ติดเชื้อดังกล่าว ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการคล้ายไข้หวัดในช่วงแรก แต่อาจจะมีอาการแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม สมองอักเสบและเสียชีวิตได้หากเข้าการรักษาช้า ซึ่งการรักษานั้นเป็นการรักษาตามอาการเท่านั้น
เนื่องจากยังไม่มียารักษาโรค องค์การอนามัยโลก หรือ WHO จึงได้แนะวิธีการป้องกันโรค ซึ่งมีวิธีการดังต่อไปนี้ค่ะ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่อาจติดเชื้อไวรัสนิปาห์ เน้นคือ ค้างคาวผลไม้ในระยะใกล้ชิด
- หลีกเลี่ยงการรับประทานผลไม้ที่อาจปนเปื้อนน้ำลาย มูลสัตว์ หรือปัสสาวะของค้างคาวกินผลไม้ ไม่รับประทานผลไม้ที่ตกอยู่กับพื้น โดยเฉพาะที่มีรอยกัดแทะ เป็นต้น
- พยายามล้างมือด้วยน้ำสบู่และน้ำอาดอย่างสม่ำเสมอ
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้ว่า สำหรับประเทศไทย ขอประชาชนอย่าตื่นตกใจ เนื่องจากยังไม่มีรายงานพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ในประเทศ พร้อมทั้งได้สั่งการให้ด่านควบคุมโรคติดต่อทั่วประเทศ เฝ้าระวังอย่างเต็มที่
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ท่านไหนที่มีแผนการเดินทางไปยังเมืองเกรละ ประเทศอินเดียนั้น ทาง WHO ยังไม่มีการประกาศห้ามเดินทางแต่อย่างใดนะคะ แต่แค่แนะนำให้หลีกเลี่ยงเมืองที่มีการระบาดของโรคอยู่ อันได้แก่ Kozhikode, Malappuram, Wayanad และ Kannur
หากคุณพ่อคุณแม่มีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422
ขอบคุณที่มา: CH7 และ MGR Online
อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่