แบคทีเรียกินเนื้อ เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อย แต่มีความรุนแรงมากซึ่งอันตรายถึงกับชีวิตหากรักษาไม่ทัน โดยในปีนี้พบผู้ป่วยโรคนี้ถึง 26 คนในจังหวัดน่าน เสียชีวิตแล้ว 1 คน
แบคทีเรียกินเนื้อ ระบาดทั่ว จ.น่าน! หมอแนะอย่าย่ำน้ำลุยโคลน!!
วันที่ 24 ก.ค. 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายแพทย์พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน เปิดเผยว่า ขณะนี้โรคเนื้อเน่าหรือแบคทีเรียกินเนื้อคน สถานการณ์แนวโน้มรุนแรงและกำลังระบาดไปทั่วทั้งจังหวัดน่าน จากสถานการณ์ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้แล้ว 1 ราย หลังติดเชื้อมีแผลเน่าลุกลามที่เท้า พบอาการแทรกซ้อนติดเชื้อในกระแสเลือดและความดันต่ำ ส่วนอีก 2 ราย มีอาการหนักแพทย์ต้องย้ายคนไข้เข้ารักษาที่ห้องไอซียู และดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด และยังมีผู้ป่วยถูกส่งตัวเข้ารักษาเพิ่ม 1 ราย จาก อ.สันติสุข รวมมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาทั้งหมด 26 ราย
โรคดังกล่าวเป็นโรคที่ติดเชื้อจากทางผิวหนัง ลุกลามเข้าสู่กล้ามเนื้อจนเป็นแผลพุพองและมีหนอง และลามเข้าไปถึงกล้ามเนื้อใต้ผิวหนัง ซึ่งบางรายต้องผ่าตัดหรือกรีดเนื้อเปิดแผล เพื่อล้างหนอง และเนื้อที่เน่าตายออก แต่หากลุกลามอาจถึงขั้นต้องตัดขาทิ้ง
อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้แจ้งประกาศเตือนไปยังทุกอำเภอให้เร่งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน ผู้มีอาชีพทำนา ทำไร่ ทำสวน และออกหาปลาตามหนองน้ำต่าง ๆ หากมีประวัติลุยโคลนและมีบาดแผล ให้รีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาด เช็ดให้แห้งและปิดแผล แล้วรีบมาโรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อให้ตรวจรักษาต่อไป
สำหรับการรักษาแพทย์จำเป็นต้องตัดเนื้อตายออกให้หมด และให้ยาปฎิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ ซึ่งถ้าเชื้อยังไม่ลุกลามเข้ากระแสเลือด ผลลัพธ์ของการรักษาจะค่อนข้างดี สำหรับผู้ป่วยบางรายที่ไม่ได้ลงนา หรือไม่มีบาดแผลก็อาจจะติดเชื้อดังกล่าวได้ โดยการเกา หรือมีบาดแผลถลอกเล็กน้อย เชื้อสเตรปโตคอคคัส หรือสแตปฟิโลคอคคัสที่อยู่บริเวณผิวหนังอาจจะเข้าไปในแผลแล้วเกิดการติดเชื้อ ถ้าผู้ใดมีผิวหนังบวมแดงอย่างรวดเร็ว แล้วมีตุ่มพุพองที่ผิวหนัง ขอให้รีบมาตรวจรักษาก่อนที่อาการจะลุกลามจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
ข่าวจาก : workpointnews.com/2019/07/24/physician-nan-bacteria/
จากข่าวดังกล่าวจะเห็นได้ว่าโรคนี้พบได้ไม่บ่อย แต่หากติดเชื้อแล้ว จะมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ และก็ได้พบผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ในจังหวัดน่านมากถึง 26 คน เสียชีวิต 1 คน ส่วนสาเหตุที่จะทำให้ติดเชื้อจากโรคนี้คือการย่ำน้ำลุยโคลนทั้ง ๆ ที่เท้ายังมีบาดแผลอยู่ ซึ่งเด็ก ๆ ที่ชอบถอดรองเท้าวิ่งเล่นในน้ำ หรือเล่นโคลน ก็อาจจะมีโอกาสติดเชื้อจากโรคนี้ได้เช่นกัน ทีมงาน Amarin Baby & Kids จึงขอนำข้อมูล สาเหตุ วิธีป้องกัน โรค แบคทีเรียกินเนื้อ มาให้แม่ ๆ ได้ระมัดระวังกันค่ะ
โรคแบคทีเรียกินเนื้อคนคืออะไร?
แบคทีเรียกินเนื้อ หรือโรคเนื้อเน่า เป็นภาวะติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณเนื้อเยื่ออ่อนที่อาจส่งผลให้ผิวหนังและกล้ามเนื้อถูกทำลายได้ ผู้ป่วยอาจมีอาการร้อนบริเวณผิวหนัง ผิวเปลี่ยนเป็นสีแดง รู้สึกเจ็บปวดบริเวณแผลซึ่งจะรู้สึกปวดมากขึ้น โดยการติดเชื้ออาจลุกลามไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งอาจมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ มีไข้ คลื่นไส้ หรือท้องเสีย เป็นต้น แม้โรคนี้จะพบได้น้อย แต่อาจทำให้ป่วยรุนแรงจนเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยจึงต้องไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที
สาเหตุของโรคแบคทีเรียกินเนื้อคน
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ มักจะเกิดโรคที่ขา เนื่องจากแบคทีเรีย เช่น สเตรปโตค็อคคัส กลุ่มเอ (Group A Streptococcus) คลอสตริเดียม (Clostridium) เคล็บเซลลา (Klebsiella) สแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) อีโคไล (E. Coli) และแอโรโมแนส ไฮโดรฟิลา (Aeromonas Hydrophila) เป็นต้น ที่อยู่ตามแหล่งน้ำและโคลน เข้าสู่ร่างกายผ่านทาง แผลถูกบาด แผลถลอก รอยข่วน แมลงกัดต่อย การใช้เข็มฉีดยา หรือแผลผ่าตัด โดยผู้ที่ติดเชื้อนี้มักจะมีบาดแผลบริเวณขาแล้วไปย่ำน้ำลุยโคลนที่มีเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้อยู่ ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ ซึ่งเชื้ออาจปล่อยสารพิษทำลายเนื้อเยื่อผิวหนังและกล้ามเนื้อจนส่งผลให้เนื้อเยื่อตายได้
โรคนี้ คนที่แข็งแรงสุขภาพดีก็มักจะไม่เป็นอะไรมาก แต่คนที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น คนที่เป็นเบาหวาน ไตวาย มะเร็งที่กำลังใช้เคมีบำบัด คนแก่ คนอ้วน คนที่กินยาสเตียรอยด์หรือยาชุด คนที่ดื่มเหล้าเป็นประจำ มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรง โดยผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง จะมีความเสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือดหรืออวัยวะในร่างกายทำงานล้มเหลวจนอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่รอดชีวิตอาจมีแผลเป็นหรืออาจพิการแขนขาจากการรักษาได้เช่นกัน ดังนั้น เรามาหาทางป้องกันกันดีกว่าค่ะ (อ่านต่อหน้า 2)
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ อาการ “แบคทีเรียกินเนื้อ” พร้อมวิธีป้องกัน
อาการ “แบคทีเรียกินเนื้อ” พร้อมวิธีรักษาและป้องกัน
สังเกตอย่างไรว่าเป็นโรคแบคทีเรียกินเนื้อคน
อาการของโรคแบคทีเรียกินเนื้อคน แบ่งตามระยะเวลาที่เกิดโรค โดยผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการหนักในวันที่ 4-5 ของการติดเชื้อ ดังนั้น หากมีอาการต่อไปนี้ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อและรักษาทันที
- มีอาการปวดบริเวณที่เกิดโรค บวม และแดง ลักษณะจะคล้ายกับผิวหนังอักเสบ หรือไฟลามทุ่ง แต่โรคเนื้อเน่าเกิดในชั้นลึกซึ่งมองไม่เห็น ต่อมาจะพบผื่นพุพองซึ่งบ่งบอกว่าผิวหนังขาดเลือด และมีเลือดออกในพุพอง ผิวจะเริ่มมีสีออกคล้ำเนื่องจากผิวหนังเริ่มตาย
- อาการปวดจะรุนแรงมากขึ้นซึ่งไม่สอดคล้องกับอาการผื่นบวมแดงบริเวณผิวหนัง โดยวันต่อ ๆ มาอาการปวดอาจจะมากหรืออาจจะไม่ปวดเนื่องจากเส้นประสาทเริ่มตาย
ขอบเขตของโรคไม่ชัดเจน พบว่าบริเวณที่กดเจ็บจะเจ็บกว่าบริเวณผื่น(ผิวหนังอักเสบจะกดเจ็บเฉพาะบริเวณผื่น) - มีอาการไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว หัวใจเต้นเร็ว มีลักษณะขาดน้ำ
อาการของโรคเนื้อเน่าวันที่2-4
โดยการติดเชื้อในวันที่ 4-5 ผู้ป่วยจะมีความดันโลหิตต่ำ และมีภาวะโลหิตเป็นพิษ ผู้ป่วยจะเริ่มไม่รู้สึกตัว เกิดอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ จนอันตรายต่อชีวิตได้
วิธีป้องกันโรคเนื้อเน่า หรือ แบคทีเรียกินเนื้อ
แม้โรคนี้ เป็นการเจ็บป่วยที่ไม่สามารถป้องกันได้ และยังไม่มีวัคซีนชนิดใดป้องกันการติดเชื้อนี้ แต่คนทั่วไปสามารถลดความเสี่ยงของโรคนี้ได้ ดังนี้
- ดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายเป็นประจำ
- รักษาความสะอาดให้เป็นนิสัย เช่น ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่กับน้ำสะอาด เป็นต้น
- ห้ามเลือดทันทีเมื่อมีบาดแผล แล้วทำความสะอาดบริเวณนั้นโดยเปิดให้น้ำไหลผ่านบาดแผล จากนั้นจึงซับด้วยผ้าสะอาดให้แห้ง
- ปิดบาดแผลด้วยวัสดุที่ปลอดเชื้อ เช่น พลาสเตอร์ หรือผ้าพันแผล เป็นต้น และเปลี่ยนผ้าพันแผลเมื่อเปียกน้ำหรือสกปรก เพื่อให้แผลแห้งและสะอาดอยู่เสมอ
- ไม่ควรแช่ตัวในอ่างอาบน้ำหรือว่ายน้ำในช่วงที่มีบาดแผลตามร่างกาย
- ปรึกษาแพทย์หากเคยใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคนี้ เพราะอาจต้องรับยาปฏิชีวนะเพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อด้วย
ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจรักษาทันทีหากสงสัยว่าตนเองเป็นโรคนี้ ซึ่งการรักษาแต่เนิ่น ๆ อาจช่วยลดความรุนแรงของโรคได้
จะเห็นได้ว่าการดูแลแผลไม่ให้ติดเชื้อนั้นมีความสำคัญ ในเด็กที่อยู่ในวัยที่อาจจะเกิดบาดแผลได้บ่อย ๆ พ่อแม่ก็ควรระมัดระวังในการทำแผลให้สะอาด หมั่นคอยล้างแผลเพื่อไม่ใช้แผลติดเชื้อได้ เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเชื้อที่อาจจะเข้ามาทางแผล เป็นเชื้อที่อันตรายหรือไม่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ลูกติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อคน เพราะแค่หกล้ม
ยาใส่แผล ใช้อย่างไรให้ปลอดภัยกับลูกน้อย
แม่เล่า! ลูกติดเชื้อแบคทีเรีย เพราะสัมผัสจากคนกินเหล้า-สูบบุหรี่
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.pobpad.com, www.siamhealth.net
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่