เนื้องอกมดลูก อาจฟังดูน่ากลัว และทำให้รู้สึกกังวลว่ามันจะกลายเป็นมะเร็งหรือเปล่า? แต่ความจริงแล้ว เนื้องอกมดลูก โดยส่วนใหญ่มักเป็นเนื้องอกชนิดธรรมดา ซึ่งมีโอกาสเปลี่ยนแปลงเป็นเนื้อร้ายน้อยมาก น้อยกว่า 1 ต่อ 10,000 เสียอีก อย่างไรก็ตามความรุนแรงของเนื้องอก อยู่ที่ว่ามันเกิดตรงส่วนไหนของมดลูกมากกว่า
เนื้องอกมดลูก คืออะไร
เนื้องอกมดลูก เป็นก้อนเนื้อที่เจริญเติบโตในร่างกายเรามากกว่าปกติ มักเกิดหลายก้อนในกล้ามเนื้อมดลูก ทำให้มดลูกโตไม่สม่ำเสมอ ผิวมักจะเป็นลอน ลักษณะค่อนข้างแข็ง มีขนาดแตกต่างกันได้มาก มีบางมดลูกอาจโตได้เท่ามดลูกของคุณแม่ตั้งครรภ์ 6 – 7 เดือน เนื้องอกที่มีขนาดเล็กมักไม่ก่อให้เกิดอาการ เป็นเนื้องอกที่พบได้บ่อยประมาณร้อยละ 25 ของผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป มักพบในช่วงอายุ 35-45 ปี แต่ก็อาจพบในหญิงสาวก็ได้ ผู้หญิงที่มีเนื้องอกชนิดนี้เพียงร้อยละ 20 – 30 เท่านั้นที่มีอาการผิดปกติ
ตำแหน่งของเนื้องอกมดลูก บอกความรุนแรง
ตำแหน่งของเนื้องอก แบ่งคร่าวๆ ได้ 5 ตำแหน่ง คือ อยู่นอกมดลูก กล้ามเนื้อมดลูก ภายในโพรงมดลูก และอยู่ที่ปากมดลูก และภายในมดลูก
ตำแหน่งที่อันตรายที่สุด คือ อยู่ในมดลูก อาจทำให้เลือดออกได้มาก
ส่วนตำแหน่งที่อันตรายน้อย คือ อยู่ข้างนอกมดลูก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
สาเหตุ
เนื้องอกมดลูกเป็นเนื้องอกที่เกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์กล้ามเนื้อมดลูก จนกลายเป็นก้อนเนื้องอกที่มีลักษณะเป็นก้อนหยุ่นๆ สีซีด แตกต่างจากเนื้อเยื่อโดยรอบ ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากปัจจัย เช่น
– พันธุกรรม พบว่าผู้ป่วยบางรายมีประวัติว่ามีมารดาหรือพี่น้องเป็นโรคนี้ด้วย
– ฮอร์โมนเพศ ทั้งเอสโทรเจนและโพรเจสเทอโรน ที่กระตุ้นการเจริญของเยื่อบุมดลูก ระหว่างการมีประจำเดือนทุกเดือน มีส่วนส่งเสริมให้เกิดการเจริญเติบโตของเนื้องอกมดลูก พบว่าขณะตั้งครรภ์เนื้องอกมักจะมีขนาดโตขึ้น แต่เมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน เนื้องอกจะฝ่อเล็กลงได้เอง นอกจากนี้ยังพบว่าในเนื้องอกมดลูกมีตัวรับ (receptors) ฮอร์โมนเอสโทรเจนและโพรเจสเทอโรนมากกว่ามดลูกที่ปกติ
– ไลฟ์สไตล์ ผู้ที่ชอบดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเบียร์ พบว่า เพิ่มอัตราการเป็นเนื้องอกมดลูก และผู้ที่เป็นโรคความดันสูงมากๆ เป็นมานาน มีอัตราการเป็นเนื้องอกมดลูกมากกว่าคนปกติ รวมถึงคนอ้วนก็เช่นกัน และพวกที่ชอบการทานเนื้อ แฮม และพวกเนื้อแดงด้วย
อ่านต่อ>> สัญญาณอันตราย และอาการที่พบบ่อย คลิกหน้า 2
สัญญาณอันตราย เนื้องอกมดลูก และอาการที่พบบ่อย
หากคุณแม่มีอาการข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ควรรีบไปปรึกษาแพทย์
- ปวดประจำเดือนมากกว่าปกติ หรือปวดรุนแรงขึ้นทุกเดือน ถึงขนาดต้องกินยา
- มีประจำเดือนออกมาก หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดกะปริดกะปรอยนานเกิน 1 สัปดาห์
- มีอาการปวดหน่วง ๆ ที่ท้องน้อย หรือปวดหลังส่วนล่างแบบเรื้อรัง
- มีอาการปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ เพราะเนื้องอกบางชนิดไปอยู่ที่ตรงปากมดลูก
- ท้องผูกเรื้อรัง หากเนื้องอกกดบริเวณทวารหนัก
- ปัสสาวะบ่อยแต่ออกไม่มาก กะปริดกะปรอย หรือปัสสาวะขัด จากการกดเบียดของมดลูกที่โตขึ้น
- คลำพบก้อนที่ท้องน้อย หรือท้องโตคล้ายคนท้อง โดยไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย
ถ้าแพทย์ตรวจพบว่า เป็นเนื้องอกมดลูก ควรได้รับการรักษาตามที่แพทย์แนะนำ
การรักษา
ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น อายุของผู้ป่วย ขนาดของเนื้องอก ความต้องการมีบุตร อาการหรือภาวะแทรกซ้อน และสภาพของผู้ป่วย
ในกรณีที่ก้อนเนื้องอกไม่โตมาก และไม่มีอาการผิดปกติ อาจไม่ต้องให้การรักษาใด ๆ เพียงแต่คอยติดตามการเปลี่ยนแปลงของขนาดเนื้องอก โดยเฉพาะในผู้หญิงที่อายุใกล้หมดระดู เพราะหลังจากหมดระดูก้อนเนื้องอกจะมีขนาดเล็กลง
ส่วนผู้ที่มีเนื้องอกขนาดโต หรือมีอาการผิดปกติอันเนื่องจากก้อนเนื้องอก โดยส่วนมากแพทย์จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัดเอามดลูกทิ้ง หรือเพียงแต่เลาะเอาก้อนเนื้องอกออกก็พอ แต่ทั้งนี้จะได้รับการรักษาด้วยวิธีใดขึ้นกับขนาดของก้อน ความต้องการมีบุตรและอายุของผู้ป่วย ในการผ่าตัดอาจใช้วิธีผ่าตัดทางหน้าท้องหรือการผ่าตัดผ่านทางกล้องก็ได้ ในรายที่ก้อนมีขนาดใหญ่อาจฉีดยาบางอย่างเพื่อทำให้ก้อนมีขนาดเล็กลง เพื่อให้การผ่าตัดง่ายขึ้น สำหรับผู้ที่ผ่าตัดเอาเฉพาะก้อนเนื้องอกออก ก้อนเนื้องอกเล็ก ๆ ที่หลงเหลืออยู่จะโตขึ้นมาใหม่ได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
เมื่อเป็นแล้ว จะมีโอกาสตั้งครรภ์หรือไม่
เนื้องอกมดลูกมีผลต่อการตั้งครรภ์และการคลอด พบว่าร้อยละ 25 -35 ของผู้หญิงที่มีเนื้องอกมดลูกจะพบร่วมกับภาวะมีบุตรยาก
(บทความแนะนำ รู้แล้วรีบแก้ไข! พ่อแม่ยุคใหม่ ทำไมจึง มีลูกยาก ?)
ถ้าตั้งครรภ์อาจเกิดการแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดได้ เนื่องจากการฝังของไข่ที่ได้รับการผสมจากเชื้ออสุจิแล้วกับเยื่อบุมดลูกไม่ดี และก้อนเนื้องอกไปขัดขวางการเจริญเติบโตของมดลูกขณะตั้งครรภ์ หรือทำให้เกิดการบีบตัวอย่างผิดปกติของมดลูก
นอกจากนี้ทารกในครรภ์อาจอยู่ในตำแหน่งหรือท่าผิดปกติ เนื้องอกมดลูกอาจไปขัดขวางทางคลอด ทำให้คลอดยากและอาจตกเลือดภายหลังการคลอดได้
อ่านต่อ>> ภาวะแทรกซ้อน และการป้องกัน เนื้องอกมดลูก คลิกหน้า 3
ภาวะแทรกซ้อน เนื้องอกมดลูก
– อาจทำให้เลือดออกมากจนซีด (โลหิตจาง)
– ก้อนเนื้องอกอาจโตกดถูกท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะ ทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อย หรือมีความรู้สึกเวลาปวดปัสสาวะ ต้องรีบเข้าห้องน้ำทันที หรือปัสสาวะไม่ออก บางรายอาจมีการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะแทรกซ้อน บางรายอาจกดถูกท่อไต ทำให้เกิดภาวะท่อไตบวมและคั่งน้ำ (hydroureter) และภาวะกรวยไตบวมและคั่งน้ำ (hydrohephrosis)
– ถ้ากดถูกลำไส้ใหญ่ หรือทวารหนักก็ทำให้มีอาการท้องผูก ริดสีดวงทวารกำเริบได้
– ถ้ากดถูกท่อรังไข่ก็อาจทำให้มีบุตรยาก
– ขณะตั้งครรภ์ ก้อนเนื้องอกอาจโตขึ้นรวดเร็วจนทำให้แท้งบุตร หรือคลอดลำบาก
– บางรายก้อนเนื้องอกอาจโตยื่นออกนอกมดลูก โดยมีก้านเชื่อมกับมดลูก บางครั้งอาจเกิดการบิดของขั้วเนื้องอก ทำให้เกิดอาการปวดท้องฉับพลันรุนแรงจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด
-ในกรณีเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ก็อาจมีอาการปวดท้องประจำเดือนมากกว่าปกติ มีเลือดออกมากผิดปกติระหว่างรอบเดือน หรือมีอาการปวดท้องขณะมีเพศสัมพันธ์
แนวทางในการป้องกันโรคเนื้องอกมดลูก
- คุมกำเนิด
ในผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นเนื้องอกมดลูก หากต้องการคุมกำเนิด อาจเลือกการใส่ห่วงหรือใช้ถุงยางอนามัยหรือการใช้ยาฉีด ยาฝัง ที่มีฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) แทนการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
เนื่องจาก โรคนี้พบได้สูงขึ้นในคนมีน้ำหนักตัวเกิน
- รับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ
เพราะไขมันจะเป็นแหล่งในการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน ดังนั้นถ้ามีปริมาณไขมันในร่างกายเพิ่มพูนมากขึ้น ปริมาณของฮอร์โมนเอสโตรเจนก็จะมากขึ้นด้วย
- ออกกำลังกายแบบแอโรบิค
4-5 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งจะช่วยในการปรับสมดุลของฮอร์โมนได้
- ลดหรือหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีสารที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน
เช่น แยม (Jam) หรือเจลลี (Jelly) บางชนิด ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง หรือสมุนไพรบางชนิด เช่น โสมบางชนิด
- ลดหรือหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
โดยเฉพาะเบียร์ เนื่องจากพบว่า เพิ่มอัตราการเป็นเนื้องอกมดลูก
จะเห็นได้ว่า การดูแลสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยคุณแม่ห่างไกลจากเนื้องอกมดลูกได้ อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่ตรวจพบเนื้องอกมดลูก ก็อย่าเพิ่งเป็นกังวลมากเกินไปนะคะ เพราะอย่างที่กล่าวมาแล้ว เนื้องอกมดลูกส่วนใหญ่ไม่เป็นมะเร็ง เพียงแต่ติดตามอาการ หรือรับการรักษาตามที่แพทย์แนะนำค่ะ
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!
- เนื้องอกกับการตั้งครรภ์ ในช่วงสัปดาห์ที่ 17-21
- สัญญาณเตือนโรค “มะเร็งรังไข่” ภัยเงียบที่ผู้หญิงควรรู้!
- มะเร็งเต้านมคร่าชีวิต!! รู้ก่อน หายก่อน
ขอบคุณข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์, นิตยสารหมอชาวบ้าน, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
ภาพประกอบ : drkomgrit.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่