เพราะลูกน้อยวัยทารก ยังมีภูมิต้านทานที่พัฒนาไม่สมบูรณ์ ทำให้ติดเชื้อโรคต่างๆ และเจ็บป่วยไม่สบายได้ง่าย ซึ่งการพาลูกน้อยไปในสถานที่แออัดหรือชุมชน จะทำให้ลูกเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคร้ายต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะเชื้อโรคที่ติดต่อได้ง่ายผ่านการไอ จาม เสมหะและอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่แค่ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือเชื้อไวรัสที่หลายคนเข้าใจ เพราะอาการหวัดที่ลูกน้อยเป็นนั้นอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียร้ายที่ชื่อว่า ไมโคพลาสมา ได้อีกด้วย
โรคติดเชื้อ ไมโคพลาสมา แบคทีเรียร้าย ติดต่อง่าย ตรวจยาก
โรคติดเชื้อไมโคพลาสมา เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง (Mycoplasma pneumonia) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียขนาดเล็กในกลุ่มสายพันธุ์ Mycoplasma เชื้อโรคนี้ติดต่อได้ง่ายคล้ายไข้หวัดผ่านระบบทางเดินหายใจ คือ ติดเชื้อผ่านสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก เสมหะ จากการไอ จาม สัมผัสกันใกล้ชิดกับผู้มีเชื้อ หรือได้รับละอองเชื้อโดยส่วนใหญ่เชื้อโรคชนิดนี้มักจะพบในเด็กวัยเรียน แต่ก็จะพบโรคนี้ในเด็กเล็กได้ประมาณ 5-10% ซึ่งทำให้เกิดอาการปอดติดเชื้อได้ถึง 20%
บทความแนะนำ โรคปอดบวมในเด็ก รู้ทันอาการ ป้องกันลูกเสียชีวิตได้ !!
จากอาการไข้หวัดธรรมดา สู่ปอดติดเชื้อรุนแรงได้
โรคติดเชื้อไมโคพลาสมานี้ ไม่มีอาการแสดงเฉพาะ อาการของเด็กที่ป่วยส่วนใหญ่จะคล้ายไข้หวัดธรรมดา โดยสามารถสังเกตการติดเชื้อของโรค จากอาการต่างๆ ดังนี้
- ลูกน้อยมีอาการหวัด มีน้ำมูก และมีไข้ต่ำๆ ซึ่งบางรายผ่านไป 4-5 วันก็สามารถหายเองได้
- หากลูกน้อยได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมาก จะทำไห้มีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส อาจมีอาการหนาวสั่น
- มีอาการไอ และจะมีอาการแสดงของปอดติดเชื้อคือไอเรื้อรังมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เจ็บหน้าอกได้
- ลูกน้อยจะอ่อนเพลียปวดเมื่อยกล้ามเนื้อปวดศีรษะ ซึมลงหรือชัก เป็นอาการแสดงทางสมอง
- หายใจมีเสียงวี้ด หรือเวลาหายใจจะมีเสียงฟึดฟัดอยู่ในปอด หายใจลำบาก เป็นอาการที่บอกว่าปอดติดเชื้อ
- ลูกน้อยมีภาวะซีด เป็นอาการแสดงทางระบบเลือด
- แสดงอาการทางผิวหนัง คือ ลูกน้อยอาจมีผื่นจ้ำแดงตามร่างกาย
- ลูกน้อยอาจมีอาการ Walking Pneumonia คือลูกน้อยมีอาการปอดติดเชื้อแล้ว แต่ยังวิ่งเล่นได้ปกติ หมายถึงลูกอาจมีไข้มาหลายวัน และไอมาก แต่ยังวิ่งเล่นได้ดี ทำให้คุณพ่อคุณแม่คิดว่าลูกน้อยไม่เป็นอะไร แต่จะมีเสียงหายใจผิดปกติ ซึ่งเมื่อตรวจมักพบว่ามีเสมหะอยู่เต็มปอด ซึ่งหากปล่อยไว้ปอดจะถูกทำลายไปเรื่อยๆ จนถึงขั้นทำให้ระบบหายใจของลูกล้มเหลวเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ไมโคพลาสมา เชื้อโรคอันตรายตรวจพบได้ยาก
วิธีการตรวจที่จะทำให้รู้ได้ว่าลูกน้อยติดเชื้อโรคนี้ นอกจากการสังเกตอาการแสดงผิดปกติ ที่ดูรุนแรงมากกว่าไข้หวัดธรรมดาของลูกน้อยแล้ว คือการตรวจเลือดด้วยเทคนิค PCR (Polymerase chain reaction)โดยเก็บตัวอย่างเลือดไปตรวจหาเชื้อโรค และการตรวจน้ำมูกหรือเสมหะ เนื่องจากเชื้อไมโคพลาสมานี้ตรวจพบค่อนข้างยากต้องส่งไปตรวจที่แล็บใหญ่ มีค่าใช้จ่ายสูงมาก แพทย์จึงพิจารณารักษาตามอาการที่เกิดขึ้นของลูกน้อย ยกเว้นกรณีที่ลูกน้อยมีอาการติดเชื้อที่ปอดรุนแรง หายใจลำบากมากแพทย์จึงมักจะแนะนำให้เจาะเลือดตรวจหาเชื้อโรคเพื่อการรักษาได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
ไมโคพลาสมา รักษาได้ หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน
โรคติดเชื้อไมโคพลาสมาส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการรุนแรง และสามารถรักษาให้หายได้ แต่ก็ประมาทไม่ได้เพราะการติดเชื้อชนิดนี้สามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงต่างๆ ได้ตามมา โดยการรักษาทั่วๆ ไปหากลูกน้อยเป็นหวัดไม่มีไข้ แพทย์อาจจะทำการรักษาแบบการติดเชื้อไวรัสธรรมดาทั่วๆ ไปก่อน แต่หากภายใน 2-3 วัน อาการไม่ดีขึ้น ยังมีไข้ ไอมาก หายใจมีเสียงและลำบาก แพทย์จะเริ่มสงสัยว่าป่วยจากเชื้อโรคนี้โดยให้ยากินในกลุ่มเฉพาะ และอาจจำเป็นต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล เพื่อดูแลรักษาตามอาการแสดงของโรค หรืออาการที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนรุนแรง
บทความแนะนำ IPD โรคติดเชื้อ สาเหตุการตายอันดับ 1 ในเด็ก
อ่านต่อ>>อันตรายจากภาวะแทรกซ้อน คลิกหน้า 2
อันตรายจากภาวะแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนจากเชื้อไมโคพลาสมา ได้แก่
- ปอดอักเสบติดเชื้อรุนแรง ส่งผลทำให้ระบบหายใจล้มเหลว ลูกน้อยจะมีอาการหายใจหอบเหนื่อยมากขึ้น ต้องได้รับออกซิเจนเพิ่มเติม
- กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน หรือ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ แม้จะพบน้อยมากแต่ทำให้เกิดอาการแน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก หรือมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะได้
- เม็ดเลือดแดงแตกตัว หรือ ภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เป็นอาการที่พบได้น้อย ทำให้ลูกน้อยมีอาการอ่อนเพลีย ผิวหนัง ปาก ลิ้นซีด ปัสสาวะสีเข้ม เลือดออกแล้วหยุดยาก
- สมองอักเสบ หรือ เส้นประสาทอักเสบ พบได้น้อยมากแต่จะทำให้มีอาการแขนหรือขาอ่อนแรง มีอาการชักเกร็ง ซึม
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
เลี่ยงสถานที่ชุมชน แออัด แหล่งเพาะเชื้อโรคร้ายให้ลูกน้อย
เนื่องจากเชื้อโรคไมโคพลาสมา สามารถแพร่กระจายได้ง่าย เพียงแค่การไอ จาม สัมผัส เพียงคนใกล้ชิดในบ้านจไอ จาม สัมผัสลูกน้อย เมื่อลูกน้อยมาเล่นคลาน สัมผัส ถูกอุ้ม หยิบของมาเล่น ก็ติดเชื้อโรคได้แล้ว นอกจากนี้หากคุณพ่อคุณแม่พาลูกไปเที่ยวสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน เช่น ห้างสรรพสินค้า พาลูกไปเล่นของเล่นต่างๆ ที่ไม่ได้มีการทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรค ลูกน้อยก็จะติดเชื้อโรคและเจ็บป่วยได้ทันที
วิธีป้องกันไมโคพลาสมาเพื่อลูกน้อย
ปัจจุบันโรคติดเชื้อไมโคพลาสมา ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน วิธีการป้องกันที่ดีที่สุด เพื่อไม่ให้ลูกรักต้องมาเจ็บป่วยจากเชื้อโรคนี้ คือ
1) คุณพ่อคุณแม่และคนในครอบครัวต้องหมั่นล้างมือบ่อยๆ อย่างน้อยควรล้างมือหลังไอหรือจาม ก่อนสัมผัสหรืออุ้มลูกน้อย เนื่องจากเชื้อโรคพบได้ในอากาศ น้ำมูกและในเสมหะ ซึ่งหากเชื้อโรคที่มือของผู้ที่ติดเชื้อไปจับสิ่งของหรือวัตถุที่ใช้หยิบจับทั่วไป เช่น ลูกบิดประตู โต๊ะเก้าอี้ และของใช้รอบตัวลูกน้อย ก็จะทำให้ลูกน้อยติดเชื้อโรคไปด้วยได้แล้ว
บทความแนะนำ ลูกติดเชื้อในกระแสเลือด เพราะแม่ล้างมือไม่สะอาด
2) หลีกเลี่ยงการพาลูกน้อยไปในสถานที่ที่มีกลุ่มคน ชุมชน สถานที่แออัดที่มีคนอยู่ร่วมกันมากๆ และอยู่ให้ห่างจากคนในครอบครัวที่เจ็บป่วยไม่สบาย
3) กรณีที่มีเด็กหรือผู้ใหญ่ในบ้านป่วยไม่สบาย ควรต้องป้องกันการติดเชื้อมาสู่เด็กเล็ก ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค ใช้ผ้าปิดจมูกและปากขณะไอหรือจามแยกของใช้ส่วนตัวไม่ให้มาปะปนกับผู้อื่น และใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น เพราะหากมีคนในบ้านป่วย คุณพ่อคุณแม่หรือคนที่ดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิดก็อาจจะป่วยและนำพาเชื้อโรคมาสู่ลูกน้อยที่ยังเป็นทารก ซึ่งยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงพอจะปกป้องโรคติดเชื้ออันตรายนี้ได้
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก
5 โรคเด็กยอดฮิต ที่เป็นกันมากในปี 2016
5 อันดับยอดฮิต…โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจในเด็กเล็ก
บทความโดย นพ.นราธิป สมบูรณ์กุล กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช แคมปัสศรีนครินทร์ นิตยสาร Amarin Baby & Kids
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่