โรคคางทูม เป็นโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ ซึ่งหากติดเชื้อแล้วอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ซึ่งในปีนี้ กรมอนามัยได้เปิดเผยสถานการณ์การระบาดของโรคคางทูม พบว่า พบผู้ป่วยโรคนี้ 1,466 คนแล้ว
กรมควบคุมโรคเตือน! “โรคคางทูม ระบาด” ป่วย 1,466 คนแล้ว
กรมควบคุมโรค เตือนระวังโรคคางทูมระบาด แนะผู้ปกครองพาบุตรหลานรับวัคซีนให้ครบช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้ดีที่สุด
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคคางทูมในประเทศไทย ปี 2562 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 27 กรกฎาคม 2562 พบผู้ป่วยโรคคางทูม 1,466 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต โดยกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากสุด คือ กลุ่มอายุ 15-24 ปี พบมากในกลุ่มนักเรียน ร้อยละ 39.6 จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ภูเก็ต และแม่ฮ่องสอน
ทั้งนี้สัปดาห์ที่ผ่านมา จากการตรวจสอบข่าวการระบาดจากฐานข้อมูลเฝ้าระวังเหตุการณ์ พบรายงานการระบาดของโรคคางทูมเป็นกลุ่มก้อน จำนวน 2 เหตุการณ์ คือ ในค่ายทหารและในโรงเรียน จึงคาดว่าสัปดาห์หน้าอาจพบผู้ป่วยโรคคางทูมเป็นกลุ่มก้อนได้ โดยเฉพาะในสถานที่มีคนอยู่อาศัยรวมกันหนาแน่น และพื้นที่ที่มีความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่ต่ำ เนื่องจากโรคคางทูม เกิดจากเชื้อไวรัส ติดต่อทางเดินหายใจและการสัมผัสน้ำลายของผู้ป่วย อาการของโรคเริ่มจากมีไข้ต่ำ ๆ ปวดเมื่อยตามตัว มีอาการเจ็บบริเวณหน้า หู และขากรรไกร มีต่อมน้ำลายข้างกกหูโตขึ้น ควรมีการแยกผู้ป่วยประมาณ 10 วันหลังจากเริ่มมีต่อมน้ำลายโต และควรหยุดไปโรงเรียน หรือหยุดงานเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
อย่างไรก็ตาม วิธีป้องกันโรคคางทูมที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือการฉีดวัคซีนป้องกัน ปัจจุบันเป็นรูปแบบวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน (MMR) ในเด็กเล็กควรรับวัคซีนป้องกันโรค 2 ครั้ง ครั้งแรกช่วงอายุ 9-12 เดือน และฉีดซ้ำอีกครั้ง ช่วงอายุ 2 ปี 6 เดือน ซึ่งพ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรพาบุตรหลานไปรับวัคซีนป้องกันโรคให้ครบตามช่วงอายุที่กำหนด (อ่านต่อ ตารางวัคซีน 2562 แม่เช็กเลย! ลูกอายุเท่าไหร่..ต้องฉีดตัวไหนบ้าง?)
ขอบคุณข่าวจาก : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
แม้ว่าการระบาดในปีนี้จะเกิดกับผู้ป่วยอายุ 15-24 ปี แต่จะเห็นได้ว่าวิธีป้องกัน โรคคางทูม ที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือการฉีดวัคซีน ซึ่งจะต้องฉีดตั้งแต่อายุ 9 เดือน – 2 ปี 6 เดือน เพื่อเป็นการป้องกันในระยะยาว โดยกระทรวงสาธารณสุขจัดระบบบริการเพื่อให้เด็กทุกคนในประเทศได้รับวัคซีนตามกำหนด ได้จัดให้สถานบริการ สาธารณสุขของรัฐเป็นหน่วยบริการจัดการฉีดวัคซีนพื้นฐานได้ฟรี โดยรวมวัคซีนโรคคางทูมนี้ด้วย ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ที่มีบุตรหลานที่อยู่ในวัยดังกล่าว ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค ซึ่งก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน มาทำความรู้จักกับโรคคางทูม สาเหตุ อาการ และวิธีการป้องกันได้ที่หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ ทำความรู้จักกับ “โรคคางทูม” สาเหตุ อาการ และวิธีการป้องกัน
ทำความรู้จักกับ “โรคคางทูม” สาเหตุ อาการ และวิธีการป้องกัน
โรคคางทูม คืออะไร?
คางทูม (Mumps) เป็นโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ ที่ติดเชื้อไวรัสจากคนสู่คน โดยสัมผัสละอองน้ำลายของผู้ที่ติดเชื้อได้จากการไอหรือจาม ไวรัสจะเคลื่อนจากระบบทางเดินหายใจไปยังต่อมน้ำลายบริเวณข้างหู เมื่อต่อมนี้เกิดการอักเสบจะทำให้เกิดอาการเจ็บปวดและบวมแดง นอกจากนี้ ถ้าไวรัสแพร่กระจายเข้าสู่น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังแล้ว ก็อาจจะแพร่ไปที่อื่นในร่างกายส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ภาวะแทรกซ้อนในระบบสืบพันธุ์ เป็นต้น
การติดต่อของ โรคคางทูม
โรคนี้ติดต่อกันได้โดยตรงทางการหายใจและสัมผัสกับน้ำลายของผู้ป่วย เช่น การกินน้ำและอาหารโดยใช้ภาชนะร่วมกัน (อ่านต่อ 9 โรคติดต่อทางน้ำลาย ติดต่อได้ง่าย ๆ แค่กินน้ำแก้วเดียวกัน) พบในเด็กได้ทุกอายุ ถ้าเป็นในผู้ใหญ่จะมีอาการรุนแรงและมีโรคแทรกซ้อนได้บ่อยกว่าในเด็ก ระยะที่ติดต่อกันได้ง่ายคือ จาก 1-2 วัน (หรือถึง 7 วัน) ก่อนมีอาการบวมของต่อมน้ำลาย ไปจนถึง 5-9 วัน หลังจากมีอาการบวมของต่อมน้ำลาย ระยะฟักตัวของโรคคือ 16-18 วัน แต่อาจสั้นเพียง 12 วัน และนานถึง 25 วัน หลังสัมผัสโรค
อาการของ โรคคางทูม
ส่วนมากจะเป็นในเด็กวัยเรียน ระยะเริ่มแรกผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ และอ่อนเพลียภายใน 12-24 ชั่วโมงต่อมา จะมีอาการปวดบริเวณข้างแก้มและใบหู อาการปวดเป็นมากขึ้นเวลาขยับขากรรไกร หรือเวลาที่รับประทานอาหารที่มีรสเปรี้ยว ต่อมน้ำลายบริเวณขากรรไกรบวมและลามไปยังหลังใบหู ต่อมน้ำลายจะบวมมากขึ้นในเวลา 1-3 วัน ส่วนใหญ่มักเริ่มข้างเดียวก่อน แล้วเป็นที่ต่อมน้ำลายอีกข้างตามมา หลังจากนั้นอาการบวมจะค่อย ๆ ลดลงภายใน 3-7 วัน อาการต่าง ๆ จะหายเป็นปกติภายใน 7-10 วัน
นอกจากนี้อาจพบอาการอักเสบของต่อมชนิดอื่น ๆ ได้ เช่น ตับอ่อน เต้านม ต่อมธัยรอยด์ ท่อน้ำตา เส้นประสาทตา เป็นต้น มารดาที่ติดเชื้อในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ จะมีโอกาสแท้งมากขึ้น
วิธีการป้องกันโรคคางทูม
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคคางทูม เป็นการป้องกันโรคได้ดีที่สุด โดยวัคซีนจะถูกจัดมาในรูปของวัคซีนรวมป้องกันโรคหัต คางทูม หัดเยอรมัน (วัคซีน MMR) อย่างน้อย 2 ครั้ง วัคซีนผลิตมาจากเชื้อมีชีวิตฤทธิ์อ่อน (Live attenuated vaccine) กำหนดให้ฉีดครั้งแรกเมื่ออายุ 9-12 เดือน ส่วนเข็มที่สองให้ฉีดที่อายุ 2 ปีครึ่ง
อาการข้างเคียงหลังฉีด MMR อาจมีตั้งแต่เป็นน้อยจนถึงมาก ซึ่งอาการที่เป็นมากจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยกว่า อาจมีไข้และผื่น หลังฉีดไป 6-12 วัน นอกจากนี้อาจพบเกล็ดเลือดต่ำ อาการปวดข้อ ข้ออักเสบในวัยหญิงเจริญพันธุ์ ต่อมน้ำเหลืองโต ต่อมน้ำลายพาราติดอักเสบ และอัณฑะอักเสบในผู้ชาย
หลังได้รับวัคซีนดังกล่าว เด็กจะมีภูมิคุ้มคันต่อเชื้อไวรัสคางทูม หรือฉีดให้แก่เด็กวัยเรียนหรือวัยรุ่นที่ยังไม่เคยเป็นโรคคางทูม โรคนี้เป็นแล้วมักจะไม่เป็นอีก
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
โรคเด็ก ที่พบบ่อย โรคในเด็ก ยอดฮิต พ่อแม่ต้องระวัง
ไข้เลือดออก 2562 สายพันธุ์ร้ายที่สุดระบาด! ตายแล้ว 62 คน
ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี 2562 เช็กวันเวลา-สถานที่ ที่นี่!!
อนุมัติแล้ว! เด็กไทยฉีด “วัคซีน HIB” ฟรี!! ป้องกันได้ 5 โรค
ขอบคุณข้อมูลจาก : สสส., พบแพทย์, HonestDocs
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่