ครรภ์ไข่ปลาอุก มีคำถามจากคุณแม่ผู้อ่านทางเว็บไซต์ ได้เข้ามาแชร์ข้อมูลของตัวเองเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพครรภ์เนื่องจากมีการตั้งครรภ์ในลักษณะที่เรียกว่า การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก จนต้องยุติการตั้งครรภ์ครั้งนี้ลง เพราะมีภาวะแท้งเกิดขึ้น ทางทีมงาน Amarin Baby & Kids มีข้อมูลที่น่าสนใจมาให้ได้ทราบกันค่ะ
ครรภ์ไข่ปลาอุก เกิดจากสาเหตุใด?
การครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar pregnancy) เป็นการตั้งครรภ์ที่รกมีลักษณะเป็นถุงน้ำใสๆ อยู่ติดกันเป็นพวงคล้ายกับไข่ปลา หรือพวงองุ่น ที่มาจากเนื้องอกของเนื้อรกชนิดหนึ่งที่แบ่งตัวมากผิดปกติ มีสาเหตุจากการปฏิสนธิระหว่างไข่กับเชื้ออสุจิที่มีโครโมโซมผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถเจริญไปเป็นตัวอ่อนที่จะพัฒนาการเป็นทารกต่อไปได้ ทำให้เกิดเป็นถุงน้ำเล็กๆ จำนวนมากมาย
สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์รายนี้ที่เกิดปัญหาแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ที่เรียกว่า ตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก ลักษณะอาการเริ่มต้นจะเหมือนกับการตั้งครรภ์ปกติทุกอย่าง คือ ประจำเดือนขาด คลื่นไส้ อาเจียน เหนื่อยง่าย ปัสสาวะบ่อย ฯลฯ แต่เมื่อการตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปสักพัก จะเริ่มมีเลือดสีน้ำตาลออกทางช่องคลอด และเมื่อตรวจอัลตราซาวนด์ดู จะไม่พบตัวทารก แต่จะพบเพียงรกที่เสื่อมสภาพ มีลักษณะเป็นถุงน้ำขนาดเล็ก
อ่านต่อ >> “อาการแสดงของการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก” หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อาการที่แสดงถึงการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก
- เลือดออกทางช่องคลอด คล้ายการแท้งบุตร บางครั้งจะมีเหมือนเนื้อเยื่อใสๆ หลุดออกมาด้วย เพราะเกิดจากการลอกตัวของเยื่อบุโพรงมดลูก
- คุณแม่จะมีอาการแพ้ท้องที่รุนแรงกว่าการตั้งครรภ์ปกติ
- มีอาการปวดศีรษะ แขน ขาบวม มีความดันโลหิตสูงขึ้น
- มีเม็ดใสๆ ที่ลักษณะคล้ายเม็ดสาคูออกมาจากช่องคลอด
- คุณแม่จะมีขนาดของมดลูกโตกว่าอายุครรภ์จริงเหมือนกับการตั้งครรภ์แฝด
- คุณแม่จะรู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนเพลียมาก มีอาการปวดท้องและผิวหนังซีด
- มีอาการใจสั่น มือสั่น และอาจจะมีต่อมไทรอยด์เป็นพิษร่วมด้วย
- มีอาการครรภ์เป็นพิษ คือ มีความดันโลหิตสูงก่อนอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ เพราะมีปริมาณฮอร์โมน hCG ที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์สูงเกินไป
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดครรภ์ไข่ปลาอุก
ครรภ์ไข่ปลาอุก อาจเกิดขึ้นได้ขณะตั้งครรภ์ แต่ก็ไม่ได้มีเปอร์เซ็นต์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้หญิงตั้งครรภ์ทุกคนเสมอไป และนี่คือปัจจัยเสี่ยงที่สามารถนำไปสู่การตั้งครรภ์ที่ผิดปกติที่เรียกว่าการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก
- คุณแม่ที่มีการตั้งครรภ์ในช่วงอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป และสุขภาพร่างกายก่อนตั้งครรภ์ไม่ค่อยแข็งแรง
- คุณแม่ที่ไม่ดูแลสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ มีการใช้ชีวิตแบบดื่มเหล้า สูบบุหรี่จัด
- คุณแม่ที่มีปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ
- คุณแม่ที่มีประวัติเคยตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกมาก่อน
- คุณแม่มีประวัติคนในครอบครัวเคยมีการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก (กรรมพันธุ์)
อ่านต่อ >> “อันตรายจากการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก” หน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ครรภ์ไข่ปลาอุกทำให้เกิดอันตรายได้หรือไม่?
การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกจะทำให้มีเลือดออกทางช่องคลอดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากเลือดออกครั้งเดียวแต่ออกมากสามารถทำให้คุณแม่ท้องช็อกหมดสติได้ สำหรับอันตรายที่เกิดขึ้นจากการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก ดังนี้
การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกสามารถเปลี่ยนไปเป็นมะเร็งไข่ปลาอุกได้มากถึง 10-20% ซึ่งอาการที่แสดงว่าอาจมีการเปลี่ยนไปเป็นมะเร็งไข่ปลาอุกก็คือ มีเลือดออกกะปริดกะปรอย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการป้องกันโดยการให้ยากลุ่มที่ใช้รักษามะเร็งไข่ปลาอุก แต่จะให้เพียงระยะสั้นๆ และมีการติดตามการรักษาเพื่อตรวจดูว่าโรคนี้จะกลายเป็นมะเร็งไข่ปลาอุกหรือไม่ ถ้าพบว่าเริ่มเปลี่ยนแปลงก็ต้องหาวิธีรักษาที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งการติดตามผลนั้นควรจะทำอย่างน้อย 1 ปีเต็ม ในระยะแรกแพทย์จะนัดตรวจทุก 2 สัปดาห์ จนกว่าจะพบว่าการตรวจฮอร์โมนในปัสสาวะหรือการเจาะเลือดหาปริมาณฮอร์โมนได้ผลอยู่ในเกณฑ์ปกติ ต่อจากนั้นต้องตรวจซ้ำอีกทุก 1 เดือนไปจนครบ 6 เดือน แล้วตรวจซ้ำอีกทุก 2 เดือนไปจนครบ 1 ปีก่อน แพทย์จึงจะอนุญาตให้ตั้งครรภ์ใหม่ได้ สำหรับในกรณีของการคุมกำเนิด ในผู้หญิงที่ยังไม่ได้ตัดมดลูกและยังไม่ได้ทำหมัน ในระหว่างการติดตามผลนแพทย์จะแนะนำให้คุมกำเนิดด้วยการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม เพราะการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้จะทำให้รอบเดือนมาตรงเวลา หากใช้วิธีคุมกำเนิดแบบอื่น เช่น การใส่ห่วงอนามัย การฉีดยาคุมกำเนิด หรือการใช้ยาฝังคุมกำเนิดอาจจะมีเลือดออกแบบกะปริดกะปรอยได้ ซึ่งจะทำให้แยกได้ยากว่าเป็นอาการแทรกซ้อนของการคุมกำเนิดหรือมีการเปลี่ยนไปเป็นมะเร็งไข่ปลาอุก(1)
ก่อนอื่นผู้เขียนขอแสดงความเสียใจกับคุณแม่ที่มาบอกเล่าถึงอาการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกให้ทราบ ที่ต้องยุติการตั้งครรภ์ในครั้งแรกนี้ลง และขอให้คุณแม่กลับมามีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่แข็งแรงในเร็ววัน เพื่อจะได้มีการตั้งครรภ์อีกครั้งที่ครั้งนี้ขอให้แข็งแรงสมบูรณ์ปราศจากอาการแทรกซ้อนต่างๆ ระหว่างตั้งครรภ์นะคะ สำหรับผู้หญิงที่กำลังเตรียมตัวจะตั้งครรภ์ ขอให้ตรวจเช็กสุขภาพร่างกายก่อนตั้งครรภ์กันด้วย เพื่อจะได้ลดอัตราเสี่ยงทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ขณะตั้งครรภ์ …ด้วยความห่วงใยและใส่ใจค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก
เลือดออกขณะตั้งครรภ์ สัญญาณอันตราย บอกอะไร ?
อาการท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ เรื่องที่แม่ท้องต้องระวัง !!
สามีแพ้ท้องแทนภรรยา สาเหตุเกิดจากอะไร?
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
1ครรภ์ไข่ปลาอุก. medthai.com
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ สูตินรีแพทย์. ครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar pregnancy). haamor.com