AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ผู้หญิง ปวดประจำเดือน แบบไหนต้องไปหาหมอ!

Credit Photo : shutterstock

ผู้หญิง ปวดประจำเดือน เวลามีประจำเดือนเป็นช่วงเวลาที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ชอบใจเลย  เพราะหลายคนต้องทรมานกับอาการปวดท้องประจำเดือน แม้กระทั่งแม่ที่ผ่านการมีลูกมาแล้วหลายคนก็ยังพบกับปัญหา “ปวดประจำเดือน”  ทีมงาน Amarin Baby & Kids จะมาชวนให้ผู้หญิงทุกคนสังเกตตัวเองว่าปวดประจำเดือนแบบไหนที่ควรต้องไปหาหมอ มาให้ทราบกันค่ะ

 

ผู้หญิง ปวดประจำเดือน – ประจำเดือนคืออะไร?

ประจำเดือน หรือ รอบเดือน หรือ ระดู (Menstruation หรือ Period) คือ เลือดและเนื้อเยื่อต่างๆ ที่หลุดลอกออกจากเยื่อบุโพรงมดลูก หรือเยื่อบุมดลูก โดยเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศหญิง โดยสัมพันธ์กับการตกไข่  ซึ่งการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูกจะเกิดประมาณเดือนละครั้ง ภาวะที่เกิดขึ้นนี้ จึงถูกเรียกว่า ประจำเดือน1

เป็นที่รู้กันดีว่าผู้หญิงทุกคน เราไม่สามารถปฏิเสธการมีประจำเดือนกันได้นะคะ นอกจากกรณีที่เจ็บป่วยแล้วทำให้ต้องตัดมดลูก ออกไป นั่นอาจทำให้ไม่มีประจำเดือน แต่โดยธรรมชาติร่างกายของผู้หญิงได้ถูกสร้างขึ้นมาให้มีประจำเดือนไปจนถึงอายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป ประจำเดือนก็จะเริ่มค่อยๆ หมดไปค่ะ

แต่ช่วงที่มีประเดือนเป็นช่วงเวลาที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ค่อยชอบใจนัก เพราะการมาของประจำเดือนมักจะพาเอาความเจ็บปวดท้องมาด้วย บางคนถึงขั้นไม่สามารถไปทำงานได้ ปวดท้องจนตัวงอ เป็นไข้เลยก็มี เอาเป็นว่ามาดูกันสักนิดคะว่าปวดประจำเดือนแบบไหนที่บอกถึงภาวะผิดปกติ ที่ควรต้องไปพบคุณหมอกันค่ะ

พญ.จูลี หวัง สูติ-นรีแพทย์ โรงพยาบาลเวชธานี2 ได้อธิบายถึงการปวดท้องประจำเดือนมีอยู่ 2 กลุ่มคือ เป็นโรค กับ ไม่เป็นโรค

  1. การปวดท้องประจำเดือนแบบไม่เป็นโรค จะปวดท้องรอบเดือนใน 1-2 วันแรกของรอบเดือนเท่านั้น ปวดแบบทนได้ไม่ต้องทานยาแก้ปวด สาเหตุเกิดจากการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูกเพื่อไม่ให้รอบเดือนมามากจนทำให้เกิดภาวะตกเลือด
  2. การปวดท้องประจำเดือนแบบเป็นโรค จะปวดท้องประจำเดือนมากจนต้องทานยาแก้ปวด สังเกตได้จากการเพิ่มปริมาณของยา เช่น พาราเซตามอล 2 เม็ด เป็น 4 เม็ด หรือเปลี่ยนเป็นยา Ponstan อาการปวดจาก 2-3 วัน กลายเป็นตลอดของช่วงรอบเดือน หรือคนที่มีอาการหนักจะพบว่าปวดตลอดเวลาโดยไม่สัมพันธ์กับรอบเดือนคนไข้กลุ่มนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากสภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ นอกจากนี้ถ้าพบในอวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน รังไข่ ปีกมดลูก จนกลายเป็นพังผืดในท้องก็อาจเป็นสาเหตุของการเกิด Chocolate Cyst, เนื้องอกในมดลูก และมดลูกโตมีพังผืดในมดลูก2

อ่านต่อ >> “ผู้หญิง ปวดท้องแบบไหนต้องไปหาหมอ” หน้า 2

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

ผู้หญิง ปวดประจำเดือน แบบไหนต้องไปหาหมอ?

เชื่อว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ รวมทั้งคุณแม่ด้วย ที่มักจะเกิดความสับสนเวลาปวดท้องประจำเดือน เพราะไม่แน่ใจว่าปวดแบบไหนที่เรียกว่าผิดปกติ  ฉะนั้นเราไปเช็กพร้อมกันค่ะว่า ปวดท้องประจำเดือนที่ต้องไปหาหมอทันทีนั้นมีอาการปวดยังไง

ปวดประจำเดือนหนักมากขึ้นทุกเดือน

สาวๆ ที่ช่วงมีประจำเดือนมาใน 1-2 วันแรก มักจะปวดแบบรุนแรงจนต้องนอน และทุกเดือนก็จะปวดหนักมากขึ้นๆ จนทนไม่ไหว

ปวดประจำเดือนจนต้องกินยาแก้ปวด

การกินยาแก้ปวดประจำเดือนส่วนมากเราจะทานกันในช่วงที่ประจำเดือนมาวันแรก และทานครั้งเดียว สักพักหลังทานยาอาการจะทุเลาลงจนสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ แต่สำหรับคนที่ทานยาแก้ปวดประจำเดือนแล้ว อาการก็ยังไม่ทุเลาลง ทำให้ต้องทานยาทุก 4-5 ชั่วโมง ร่วมกับมีอาการหน้ามือ จะเป็นลม แบบนี้ไม่น่าไว้ใจค่ะ

ปวดประจำเดือนนานกว่าปกติ

โดยส่วนมากเวลาปวดประจำเดือนก็จะอยู่ที่ประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง หากกินยาอาการปวดก็จะทุเลาลงเร็วขึ้น แต่บางคนหากพบว่าปวดประจำเดือนแล้วลามมาปวดตรงบริเวณท้องน้อยข้างขวา ปวดติดต่อกันนานหลายชั่วโมง แล้วมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ให้รีบพบแพทย์ค่ะ

ปวดประจำเดือนมาก และมีประจำเดือนมากกว่า 1 ครั้ง

บางคนมีประจำหนึ่งเดือนมา 2 ครั้ง แต่ปวดประจำเดือนมากทุกครั้งที่มา ควรพบแพทย์เช่นกันค่ะ  เพราะตามปกติแล้วประจำเดือนจะมาเดือนละครั้งตามรอบการตกไข่

การปวดประจำเดือนที่มากกว่าปกติในผู้หญิง  ไม่ควรนิ่งนอนใจปล่อยไว้ เพราะอาการปวดประจำเดือนอาจเป็นสัญญาณของ 7 โรคนี้ได้ค่ะ

1. เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่

2. ช็อกโกแลตซีสต์

3. เลือดออกในอุ้งเชิงกราน

4. เนื้องอกมดลูก

5. ปีกมดลูกอักเสบ

6. นิ่วท่อไต

7. ไส้ติ่งอักเสบ

อ่านต่อ >> “7 อาหารช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน” หน้า 3

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

สำหรับผู้หญิงที่มีอาการปวดประจำเดือนไม่ได้รุนแรง แต่ปวดแบบปกติ สามารถทานอาหารเหล่านี้เพื่อลดและบรรเทาอาการปวดประจำเดือนในทุกๆ เดือนได้ค่ะ

7 อาหารช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน

1. ผักปวยเล้ง

อุดมไปด้วย วิตามินซี วิตามินเอ วิตามินบี เหล็ก โฟเลต ฟอสฟอรัส และมีแมกนีเซียม ที่จะช่วยในเรื่องของการบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือนได้เป็นอย่างดี

2. ผัก ผลไม้ที่มีไฟเบอร์

ใครไม่ชอบทานผัก ผลไม้ คงต้องเปลี่ยนใจแล้วค่ะ ยิ่งกับคนที่ชอบมีอาการปวดประจำเดือนยิ่งต้องทานผัก ผลไม้ให้มากขึ้น ยิ่งโดยเฉพาะกับ ผัก ผลไม้ที่มีไฟเบอร์สูงๆ  มีวิตามินซี แนะนำให้ทานเป็นประจำทุกวัน เพราะจะช่วยลดความเครียด และอาการปวดเกร็งต่างๆ ในช่วงที่มีประจำเดือนได้ดีมากๆ ค่ะ

3. ปลาทะเล

ไม่ว่าจะเป็นแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ฯลฯ  จะอุดมไปด้วยกรด EPA และ DHA ที่ช่วยลดอาการบวมน้ำ และลดอาการปวดเกร็งในช่องท้องจากมดลูกบีบตัว แนะนำให้ทานปลาทะเลทุกวันในช่วงที่มีประจำเดือนนะคะ

4. ตังกุย

ช่วงก่อนมีประจำเดือนให้ดื่มตังกุยสัก 1-2 สัปดาห์ ดื่มวันละแก้วเล็กๆ ก็พอค่ะ ตังกุยจะช่วยขยายหลอดเลือดป้องกันการบีบเกร็งของหลอดเลือด สามารถช่วยป้องกันอาการปวดประจำเดือนได้ค่ะ

5. น้ำขิง

สาวๆ ที่ชอบปวดประจำเดือนต้องมีขิงติดครัวไว้ค่ะ จะเป็นผงขิงแบบซองชงน้ำร้อนก็ได้สะดวกดี  ในขิงจะมีโพแทสเซียมสูง ที่ช่วยในเรื่องลดอาการปวดท้องประจำเดือนได้ดี  ช่วงมีประจำเดือน 1-2 วันแรก ลองดื่มน้ำขิงอุ่นๆ กันค่ะช่วยได้

6. น้ำอุ่น

การดื่มน้ำอุ่นในวันที่มีประจำเดือนดีต่อร่างกายมากค่ะ  เพราะการดื่มน้ำอุ่นจะช่วยทำให้ระบบเลือดไหลเวียนภายในร่างกายได้ดี สามารถบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้ดีมาก ฉะนั้นควรเปลี่ยนจากดื่มน้ำเย็นมาดื่มน้ำอุ่นในช่วงมีประจำเดือนกันนะคะ

7. ถั่วแระญี่ปุ่น

กินอร่อยเพลินดีค่ะ แต่รู้ไหมว่าในถั่วแระญี่ปุ่นนั้นอุดมด้วยแร่ธาตุแมกนีเซียม ที่ช่วยบรรเทาและลดอาการท้องอืด ปวดท้องจากการมีประจำเดือนได้ดีด้วยค่ะ

 

ผู้หญิงทุกคนไม่ว่าจะยังเป็นสาวอยู่ หรือเป็นแม่แล้ว ก็ต่อหมั่นเช็กสุขภาพร่างกายของตัวเองกันนะคะ เพราะอาการเจ็บป่วยอาจถามหาเราได้จากความปกติของร่างกายเรานี่แหละ โดยเฉพาะกับการมีประจำเดือนที่บางครั้งอาจแฝงไว้ด้วยโรคภัยไข้เจ็บได้เหมือนกัน …ด้วยความใส่ใจและห่วงใยค่ะ

 

 

อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก!

เตือนแม่!! 11 ภาชนะ ห้ามใส่อาหารเข้าอุ่นไมโครเวฟ อันตรายต่อสุขภาพลูกน้อย
ประโยชน์ของการดื่มน้ำอุ่น ที่ดีต่อสุขภาพคุณแม่ 
กินน้ำถูกวิธี ลดความอ้วน ช่วยให้สุขภาพดี

 


ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิง
1แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา สูตินรีแพทย์. ประจำเดือน (Menstruation). haamor.com
2พญ.จูลี หวัง สูติ-นรีแพทย์ โรงพยาบาลเวชธานี. ตรวจก่อนอันตราย ปวดท้องรอบเดือน ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ. www.thairath.co.th
health.kapook.com