ประจำเดือนเป็นก้อน เกิดจากอะไร อันตรายมั้ย ต้องรู้! - Amarin Baby & Kids
ประจำเดือนเป็นก้อน

ประจำเดือนเป็นก้อน เป็นลิ่มเลือด เกิดจากอะไร อันตรายมั้ย ต้องรู้!

event
ประจำเดือนเป็นก้อน
ประจำเดือนเป็นก้อน

เรื่องของประจำเดือนเป็นเรื่องที่ติดตัวมากับผู้หญิง โดยอายุเฉลี่ยของผู้หญิงไทยที่เริ่มต้นมีประจำเดือนครั้งแรกอยู่ในช่วงอายุประมาณ 12-13 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายกำลังมีการเจริญเติบโตและเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เมื่อเข้าสู่ในช่วงวัยที่มีประจำเดือนจึงเป็นเรื่องที่ผู้หญิงทุกคนควรให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการดูแลเรื่องสุขภาพในด้านอื่น ๆ เพราะเลือดประจำเดือนที่ออกมานั้นบ่งบอกถึงสุขภาพและสัญญาณเตือนของโรคผู้หญิงบางอย่างได้ ซึ่งอาการของประจำเดือนผิดปกติมีหลายอาการ เช่น ประจำเดือนมามาก มาน้อย มาช้า หรือมีอาการปวดท้องมาก ปวดหัว หรือมีเลือดไหลที่ไม่ใช่เลือดประจำเดือน ทว่า ประจำเดือนเป็นก้อน  เป็นลิ่มนั้นใช่ความผิดปกติด้วยหรือเปล่าและเป็นอันตรายไหม มาไขข้อสงสัยนี้ไปพร้อม ๆ กันค่ะ

ประจำเดือนเป็นก้อน เป็นลิ่มเลือด เกิดจากอะไร อันตรายมั้ย ต้องรู้!

ลักษณะของประจำเดือนมาปกติ โดยช่วงที่รอบเดือนมาแต่ละครั้งจะอยู่ในช่วงประมาณ 3-8 วัน และจะมามากที่สุดภายใน 2 วันแรก สีเลือดจะประจำเดือนที่มาปกติอาจมีสีแดงเข้ม สีน้ำตาล หรือสีดำ ซึ่งเป็นเลือดประจำเดือนจากเยื่อบุโพรงมดลูกเก่าที่ถูกขับออกมา ผู้หญิงบางคนมักเจอกับปัญหาประจำเดือนที่ออกมาลักษณะเป็นก้อนหรือเรียกว่าลิ่มเลือดออกมา และมาพร้อมอาการปวด จนทำให้ตกใจ ซึ่งลิ่มเลือดประจำเดือนนั้นเกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถขับเลือดประจำเดือนออกมาได้ทัน เป็นในช่วงที่ประจำเดือนมามากกว่าปกติ ทำให้เลือดประจำเดือนตกค้างสะสมอยู่ในช่องคลอด และอาจทำให้เลือดประจำเดือนที่ออกมาเป็นก้อนได้ในช่วงวันใกล้หมดประจำเดือน โดยลิ่มเลือดนี้หากมีขนาดที่ไม่เกินเส้นผ่าศูนย์กลางเกิน 2 ซม.ในกรณีนี้ถือว่าไม่ผิดปกติ และสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน แต่ถ้าหากลิ่มเลือดประจำเดือนนั้นมีขนาดใหญ่ และเป็นก้อนออกมาติดต่อกันทุกเดือนจนผิดสังเกต หรือมีสีและกลิ่นที่ผิดแปลกไปจากเดิม นั่นอาจจะเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพ ซึ่งควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด

ประจําเดือนเป็นก้อน เกิดจากอะไร

สาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดประจำเดือนเป็นลิ่มที่เกิดจากปัญหาสุขภาพได้ อาทิเช่น

  • ขาดธาตุเหล็ก โดยเฉลี่ยแล้วต่อเดือนผู้หญิงจะเสียเลือดในช่วงที่มีประจำเดือนมาประมาณ 50 มิลลิลิตร หรือเท่ากับสูญเสียธาตุเหล็กไปประมาณ 15-30 มิลลิกรัมต่อเดือน การขาดธาตุเหล็กในร่างกายจึงเป็นอีกสาเหตุที่ส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือเกิดเป็นลิ่มเลือดได้ ดังนั้นในช่วงที่มีประจำเดือนมาควรทานอาหารที่มีธาตุเหล็กในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการร่างกาย เช่น เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ไข่แดง หรือผักใบเขียวเข้ม เป็นต้น
  • สัญญานของอาการเนื้องอกในมดลูก หากสังเกตในรอบเดือนนั้นมีประจำเดือนที่มามากและนานขึ้นผิดปกติ มีลิ่มเลือดหรือเป็นก้อนปนออกมาขนาดใหญ่ผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณที่เสี่ยงต่อการเป็นเนื้องอกในมดลูกได้ และมีสัญญาณอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปัสสาวะบ่อย กะปริดกะปรอย หรือปัสสาวะขัด คลำพบก้อนที่ท้องน้อย เป็นต้น โดยโรคนี้ส่วนใหญ่พบในผู้หญิงอายุประมาณ 30-40 ปี ดังนั้นหากพบว่ามีลิ่มเลือดหรือมีประจำเดือนมากกว่าปกติเพื่อความสบายใจแม่ ๆ หรือสาว ๆ สามารถไปพบคุณหมอเพื่อตรวขสุขภาพภายใน ซึ่งหากตรวจพบแต่เนิ่น ๆ รักษาไวก็จะมีโอกาสหายมากขึ้น
  • เกิดภาวะถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ ซึ่งทำให้ประจำเดือนขาดหรือมาไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนไม่มาติดต่อกันนานหลายเดือน หรือมีปริมาณน้อยผิดปกติ ผนังโพรงมดลูกที่หนาตัวอยู่เป็นเวลานานเพราะไม่มีการตกไข่ เมื่อหลุดลอกออกเป็นประจำเดือนอาจมีเลือดที่มามากกว่าปกติ ทำให้เกิดภาวะประจำเดือนเป็นลิ่มได้ง่าย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาเยื่อบุโพรงมดลูกและมีลูกยากได้
  • เกิดภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ โรคนี้มักพบในผู้หญิงที่มีอายุ18-55 ปี จนถึงวัยหมดประจำเดือน จะสังเกตเห็นลักษณะประจำเดือนที่ออกมาเป็นลิ่มเลือดคล้ายเลือดหมู มีเลือดออกภายในค่อนข้างมาก ทั้งนี้ควรสังเกตอาการอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย ถ้าพบว่ามีประจำเดือนมาผิดปกติควรรรีบไปพบแพทย์ หากรักษาไม่ทันท่วงที หรือรักษาไม่หายขาดก็สามารถส่งผลถึงภาวะมีบุตรยาก จนถึงเป็นสาเหตุของท้องนอกมดลูกได้
  • ประจำเดือนมามากผิดปกติ อาการประจำเดือนมามากที่เรียกว่าไม่ปกติ คือมีประเดือนมามากกว่า 7 วัน จำเป็นต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก ๆ ชั่วโมง และมีลิ่มเลือดก้อนใหญ่ไหลออกมากับประจำเดือน รวมถึงมีอาการที่เกิดขึ้นจากภาวะมีเลือดออก เช่น หน้ามืด เป็นลม ซีดลง ต้องเติมเลือด เป็นต้น อาจเป็นสาเหตุที่เกิดจากโรคอื่น ๆ ได้ เช่น เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ ก้อนเนื้อในมดลูก ระบบการแข็งตัวของเลือด เช่น เกล็ดเลือดต่ำ การทำงานของเกล็ดเลือดผิดปกติ เป็นต้น

คลิปวิดีโอ “คุณหมอขอเคลียร์ สารพัดคำถามเรื่องผู้หญิง ผู้หญิง” ชอบมีลิ่มเลือดช่วงมีประจำเดือน ประจำเดือนมามาก ตกขาวมาเยอะ ตกขาวมีกลิ่น สารพัดปัญหาที่ทำให้ผู้หญิงเกิดคำถามว่าฉันจะเสี่ยงโรคอะไรหรือเปล่า มีคำตอบจากคุณหมอ นพ.กรกฎ นามเสนาะ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสูตินารีแพทย์ โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์

5 วิธีรับมือกับปัญหาประจำเดือนเป็นก้อนเลือด

1.รับประทานอาหารเสริมธาตุเหล็กและแคลเซียม

ในช่วงที่ต้องสูญเสียเลือดประจำเดือน นอกจากการรับประทานให้ได้สารอาหารครบถ้วนแล้ว ควรเน้นรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กและแคลเซียมในปริมาณที่พอเพียงต่อร่างกาย เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่แดง การรับประทานผักใบเขียว เพื่อช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนภายในร่างกาย และควรหลีกเลี่ยงชา กาแฟ และสุรา เพื่อลดอาการปวดก่อนมีประจำเดือน

2.ประคบร้อนหรืออาบน้ำอุ่น

ความร้อนมีส่วนช่วยคลายอาการบีบรัดตัวของมดลูก และกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดได้ดี

3.จิบน้ำอุ่น

ในช่วงมีประจำเดือนควรได้จิบน้ำอุ่นที่ไม่ใช่เครื่องดื่มผสมคาเฟอีนบ่อย ๆ หรือน้ำผึ้งผสมมะนาว หรือน้ำขิงอุ่น ๆ ที่มีส่วนช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดได้ดีขึ้น ให้เลือดไหลออกมาได้สะดวก ไม่เป็นก้อนหรือลิ่มเลือดด้วย

4.พักผ่อนเพียงพอ

การนอนดึกหรือมีชั่วโมงการนอนที่น้อยเกินไปต่อวันจะส่งผลกระทบต่อการหลั่งฮอร์โมนและการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุให้ประจำเดือนมาไม่ปกติได้ ในช่วงที่มีประจำเดือนที่ร่างกายมักจะอ่อนเพลียง่ายการนอนพักผ่อนที่เพียงพอจะส่งผลดีต่อสุขภาพ ช่วยให้ระบบภายในร่างกายได้พักฟื้นและฟื้นฟูพลังงานในขณะที่สูญเสียเลือดไประหว่างการมีประจำเดือน

5.ออกกำลังกายเบา ๆ

ในช่วงมีประจำเดือนมายังสามารถออกกำลังกายได้ เพียงแต่เลือกกีฬาหรือกิจกรรมที่ไม่หักโหม เช่น การเดินเร็ว วิ่งจ็อกกิ้ง หรือโยคะในท่าง่าย ๆ ซึ่งการออกกำลังกายในขณะมีประจำเดือนจะมีส่วนช่วยในการผ่อนคลายความเครียดและช่วยปรับอารมณ์ในช่วงที่ฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตามแม้ว่าปัญหาประจำเดือนเป็นก้อนที่ออกมากับประจำเดือนมีขนาดไม่ใหญ่ และไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่น่ากังวลจนเกินไป ซึ่งหากดูแลตัวเองให้ถูกวิธีในช่วงที่ประจำเดือนมาก็สามารถดำเนินชีวิตเป็นปกติได้ ทั้งนี้การได้จดบันทึกวันที่มีประจำเดือนมาควบคู่กับหมั่นสังเกตความผิดปกติร่างกายที่อาจเกิดขึ้นในขณะมีประจำเดือน ไม่ว่าจะเป็นลิ่มเลือดที่มีขนาดใหญ่ มีสี กลิ่น จำนวนวัน หรืออาการที่ผิดไปจากเดิม เมื่อไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการ ก็จะสามารถมีข้อมูลในการหาสาเหตุได้มากขึ้น และสามารถเตรียมตัวรับมือในการมาของประจำเดือนทุกเดือนกันนะคะ

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.kapook.comwww.sofyclub.com

อ่านต่อบทความที่น่าสนใจอื่น ๆ คลิก :

ผู้หญิง ปวดประจำเดือน แบบไหนต้องไปหาหมอ!

ประจำเดือนหลังคลอด ไม่มา ปกติหรือแปลว่ากำลังท้องอีกคน?

ประจำเดือนไม่มา กินยาอะไรดี ควรดูแลตัวเองอย่างไร?

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up