เมื่อลูกเป็นหวัด มีน้ำมูก คัดแน่นจมูก ซึ่งนอกจากการล้างจมูกในเด็กเล็กที่ช่วยบรรเทาการคัดจมูกแล้ว ยาลดน้ำมูก ก็เป็นหนึ่งในตัวช่วยที่ดีที่สามารถช่วยลูกน้อยได้ …แต่คุณแม่ต้องรู้ผลข้างเคียงด้วยนะคะ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ซึ่งภัยที่แฝงมากับ ยาลดน้ำมูก หรือยาแก้แพ้นี้ หากใช้ไม่ถูกวิธีอาจเป็นอันตรายกับลูกน้อยได้
ยาลดน้ำมูก ผลข้างเคียงเยอะ แม่ไม่ควรซื้อให้ลูกกินเอง!
อาการเป็นหวัด คัดแน่นจมูก หายใจไม่สะดวก มีน้ำมูก ทำให้ลูกน้อยรู้สึกสบายตัว ดูดนมได้ไม่ค่อยดี งอแงหงุดหงิด นอนไม่ได้ การกำจัดน้ำมูกในจมูกจะช่วยให้ลูกน้อยสบายขึ้น จมูกโล่ง ไม่อึดอัดคัดแน่น และลดการแพร่เชื้อ
ลักษณะของน้ำมูก
ก่อนที่คุณแม่จะใช้ ยาลดน้ำมูก กับลูกน้อย คุณพ่อคุณแม่รู้ก่อนว่า น้ำมูกของลูกเป็นแบบใด เพื่อที่จะได้ซื้อยาได้ถูกต้อง ซึ่งน้ำมูกไหลที่มีลักษณะใส เกิดจาก 2 สาเหตุใหญ่ คือ
“น้ำมูกไหลจากไข้หวัด” ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เมื่อร่างกายมีภูมิต้านทานลดลง เช่น เครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ ขาดการออกกำลังกาย จะทำให้เกิดอาการของไข้หวัดได้ เช่น มีไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ครั่นเนื้อครั่นตัว เบื่ออาหาร ซึ่งเกิดจากการตอบสนองของร่างกายต่อเชื้อไวรัส รวมทั้งมีการทำงานของต่อมภายในโพรงจมูกให้มีการหลั่งน้ำมูก ทำให้ผู้ป่วยมักมีน้ำมูกใสๆ ตลอดทั้งวัน แต่เมื่อพักผ่อนอย่างเพียงพอ อาการดังกล่าวจะสามารถหายไปได้เองใน 3-4 วัน
⇒ Must read : สีของน้ำมูก สามารถบอกสุขภาพของลูกได้
ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งที่มักทำให้เกิดน้ำมูกไหลได้คือ “น้ำมูกไหลจากการแพ้” หรือ ภูมิแพ้ ซึ่งเกิดจากการสัมผัสกับสารที่ทำให้เกิดการแพ้ เช่น ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ เป็นต้น ร่างกายจึงตอบสนองต่อสารที่แพ้ด้วยการหลั่งฮีสตามีน (histamine) ทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น มีผื่นคัน หายใจลำบาก คันจมูก รวมทั้งน้ำมูกไหล อาการจึงเป็นๆ หายๆ หรือมีอาการเรื้อรังนานเป็นปี ขึ้นกับระยะเวลาที่ได้สัมผัสกับสารที่แพ้นั่นเอง
วิธีการระบายน้ำมูกให้ลูก
ทั้งนี้วิธีการระบายน้ำมูกในจมูกมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับอายุของเด็ก อาการและการอุดตันของรูจมูก ความเหนียวและปริมาณของน้ำมูก ได้แก่…
1. การสั่งน้ำมูก เหมาะกับเด็กโต ที่น้ำมูกใส ไม่เหนียวข้น ปริมาณไม่มาก
2. การเช็ดน้ำมูก เหมาะกับเด็กเล็ก โดยใช้ไม้พันสำลี จุ่มน้ำเกลือแล้วสอดเข้าไปเช็ดรูจมูกทีละข้าง น้ำมูกจะติดปลายไม้พันสำลีออกมา
3. การดูดน้ำมูก ใช้เมื่อเด็กสั่งน้ำมูกเองไม่ได้ มี 2 วิธี คือ ดูดด้วยลูกยางแดง เหมาะกับเด็กเล็กที่มีน้ำมูกใส ไม่เหนียว ปริมาณไม่มาก และดูดด้วยเครื่องดูดต่อกับอุปกรณ์ดูดน้ำมูก เช่น MU-TIP หรือ สายดูดน้ำมูก (Suction Catheter)
อ่านต่อ >> “วิธีการระบายน้ำมูก และการใช้ยาลดน้ำมูกในเด็กเล็ก!” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
วิธีการระบายน้ำมูกให้ลูก (ต่อ)
4. การหยอดน้ำเกลือ เหมาะกับเด็กที่มีน้ำมูกข้นหรือแห้งกรังในจมูก โดยหยอดน้ำเกลือเข้าในรูจมูกข้างละ 1-2 หยด เพื่อให้น้ำมูกอ่อนตัวและไหลลงคอ ทำให้จมูกโล่งขึ้น อาจให้เด็กสั่งน้ำมูกตามร่วมด้วย ในกรณีเด็กทารก ไม่ควรหยอดน้ำเกลือทิ้งไว้โดยไม่เช็ดน้ำมูกหรือใช้ลูกยางดูดน้ำมูกออก เพราะน้ำมูกที่แห้งจะพองตัวและอุดรูจมูก ทำให้หายใจไม่สะดวก
⇒ Must read : วิธีใช้ลูกยางแดง ดูดน้ำมูก-เสมหะ ให้ลูกน้อยหายใจสะดวก
⇒ Must read : รวมผลิตภัณฑ์ ยาพ่น และ น้ำเกลือล้างจมูก เลือกแบบไหนดี!
5. การพ่นจมูก โดยใช้อุปกรณ์พ่นน้ำเกลือแบบสเปรย์ เหมาะกับกรณีปริมาณน้ำมูกน้อย และไม่เหนียว
6. การล้างจมูก เป็นการขจัดคราบน้ำมูกที่ติดอยู่ในโพรงจมูก ทำให้น้ำมูกเหนียวน้อยลง ทำให้การระบายน้ำมูกในโพรงจมูกดีขึ้น บรรเทาอาการไอ น้ำมูกไหล และระคายคอได้
7. การรับประทาน ยาลดน้ำมูก เพื่อบรรเทาอาการน้ำมูกไหล
ซึ่งสำหรับวัยทารก หรือเด็กเล็กที่ยังสั่งน้ำมูกไม่เป็น การกินยาลดน้ำมูก จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยบรรเทาอาการหวัด แพ้อากาศ และลดน้ำมูก แต่เมื่อคุณพ่อคุณแม่ไปซื้อที่ร้านยา กลับกลายเป็นว่าได้ยาแก้แพ้มาแทน อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนเกิดข้อสงสัยว่ายาแก้แพ้จะบรรเทาอาการน้ำมูกไหลให้ลูกน้อยได้อย่างไร? และยาแก้แพ้ชนิดง่วงและไม่ง่วงจะใช้อะไรดี?
ขอบคุณข้อมูลจาก : blog.samitivejhospitals.com
♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦
การรักษาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล
ด้วย ยาลดน้ำมูก
ในการรักษาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล และจาม มี ทั้งชนิดที่ต้องใช้ยาและชนิดที่ไม่ต้องใช้ยาในการรักษา ยาที่ใช้ในการรักษา อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล และจาม มี 2 กลุ่มใหญ่
1. ยาแก้แพ้ หรือ ยาต้านฮิสตามีน (antihistamines)
2. ยาลดการคั่งของน้ำมูก (decongestants)
สำหรับยาแก้แพ้ (antihistamine)
คือ ยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของฮิสตามีนซึ่งหลั่งเมื่อเกิดอาการแพ้ ยาในกลุ่มนี้จึงถูกเรียกสั้นๆ ว่า ยาแก้แพ้ ซึ่งเป็นทางเลือกแรกๆที่จำเป็นต้องใช้ยา เพราะมีการใช้กันมานาน โดยในปัจจุบัน มีอยู่หลายชนิด ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
- กลุ่มดั้งเดิม มีผลข้างเคียงทำให้ง่วง เช่น คลอเฟนิรามีน บรอมเฟนิรามีน
- กลุ่มใหม่ ที่ง่วงน้อยที่สุด ถึงไม่ทำให้ง่วงนอน เช่น ยาลอราทาดีน เซติไรซีน
สำหรับยาแก้แพ้กลุ่มแรก
ถึงแม้นว่าจะเป็นยาเก่าก็ตาม แต่เป็นยาที่ใช้รักษาอาการเหล่านี้ได้ผลดี ให้ผลเร็วในการลดอาการน้ำมูกไหล คันจมูก จาม และบรรเทาอาการคันตา และลดผื่นคันหรือลมพิษที่ปรากฎทางผิวหนังได้
ข้อควรระวังที่สุดของยากลุ่มนี้ ก็คือมีผลข้างเคียง >> จะทำให้ลูกซึมลง หรือง่วงนอนได้บ้าง แต่ไม่ได้เกิดกับเด็กทุกคน และสามารถบรรเทาได้ ด้วยการให้ยาภายหลังอาหารเพื่อบรรเทาอาการง่วงนอนนี้ และยังเหมาะสำหรับการให้กับเด็กตอนก่อนนอน ผลข้างเคียงที่จะกลับมาช่วยทำให้ให้ลูกง่วงนอน หลับเร็วขึ้น และนอนได้ยาวนานมากขึ้น ซึ่งระหว่างหลับนี้ ภูมิต้านทานในร่างกายเด็กจะฟื้นตัวได้เร็ว ทำให้ตื่นมาแล้วอาการหวัดที่ว่ามาก็จะหายเร็วขึ้น
นอกจากนี้ยากลุ่มนี้ยังมีระยะเวลาการออกฤทธิ์สั้นๆ คือได้ผลเพียงระยะเวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง ทำให้คุณแม่ต้องให้ยาบ่อยๆ วันละ 3-4 ครั้ง
***ที่ต้องใส่ใจอีกอย่างคือ มีผลข้างเคียง ได้แก่ ทำให้ปากแห้ง คอแห้งได้ และเรื่องสุดท้ายที่คุณแม่ต้องรู้ คือควรปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง เพราะหากเราให้ยาลดน้ำมูก กับลูกมากเกินหรือถี่เกินไป ผลจากการลดน้ำมูกโล่งสบายจะกลับไปเป็นตรงกันข้าม คือตัวยาจะกลับไปทำให้เสมหะที่อยู่ในทางเดินหายใจ แห้งมากเกินไป ทำให้เหนียวข้นมากขึ้นแย่ลงไปอีก
อ่านต่อ >> “การใช้ยาลดน้ำมูกในเด็กเล็ก กับผลข้างเคียงที่พ่อแม่ต้องรู้!” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ยาแก้แพ้กลุ่มใหม่
สำหรับ ยาลดน้ำมูก แก้แพ้ หรือยาต้านฮิสตามีนรุ่นใหม่ๆ (second generation) จะออกฤทธิ์ได้นาน ทำให้ใช้ยาเพียงวันละ 1-2 ครั้งเท่านั้น ทำให้สะดวกสบายในการใช้ยา และไม่ส่งผลกระทบกับใช้ชีวิตวัยเด็กอย่างสนุกสนาน
ซึ่งเจ้าตัวนี้จะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของฮิสตามีนโดยไม่มีฤทธิ์ต้านโคลิเนอร์จิก ทำให้คุณแม่สามารถใช้บรรเทาอาการน้ำมูกไหลจากภูมิแพ้ของลูกได้ดี และพบว่ามีผลข้างเคียงต่ำกว่ากลุ่มดั้งเดิม อันได้แก่ อาการปากแห้ง คอแห้ง ตาพร่า ท้องผูก และปัสสาวะคั่ง
รวมทั้งยาในกลุ่มนี้สามารถผ่านเข้าสู่สมองได้น้อยกว่า จึงทำให้เกิดผลข้างเคียงง่วงซึมได้น้อยกว่าอีกด้วยอย่างไรก็ตามจากการที่ผลของยาต่อการลดน้ำมูกในโรคหวัดสัมพันธ์กับฤทธิ์ต้านโคลิเนอร์จิกของยา ดังนั้นขณะที่ยาต้านฮิสตามีนรุ่นเก่าสามารถลดน้ำมูกในโรคหวัดลงได้ร้อยละ 25-30 แต่ยาต้านฮิสตามีนรุ่นใหม่นี้ไม่มีผลต่อการบรรเทาอาการของโรคหวัด นั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : oknation.nationtv.tv
ส่วนยาลดการคั่งของน้ำมูก (decongestants)
ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ลดการคัดจมูก จึงทำให้โล่งจมูก และยาบางชนิดอาจมีฤทธิ์ขยายหลอดลมด้วย จึงทำให้หายใจสะดวกยิ่งขึ้น ยากลุ่มนี้ที่มีใช้กันมี 2 ชนิด คือ ชนิดกิน และชนิดทาภายนอกโดยการเช็ดจมูก
ยาลดการคั่งของน้ำมูกชนิดกิน เช่น phenylephrine, pseudoephedrine เป็นต้น เป็นยาที่ได้ผลดี ทำให้โล่งจมูก หายใจได้สะดวก แต่ในเด็กบางคนที่ไวต่อยากลุ่มนี้ อาจมีอาการข้างเคียงทำให้หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น ร้องกวน โยเยได้
ยาลดการคั่งของน้ำมูกอีกชนิดหนึ่งเป็นชนิดทาภายนอก เช่น ephedrine เป็นต้น เป็นยาที่ได้ผลดี ทำให้ลูกโล่งจมูก หายใจได้สะดวก ถ้าใช้อย่างถูกวิธีและไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 3-5 วัน เพราะถ้าใช้ติดต่อกันนานๆ อาจทำให้เกิดอาการกลับมาคัดจมูกได้ (rebound congestion) อันเนื่องจากอาการข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยานานเกินไป
สรุปการให้ ยาลดน้ำมูก ในเด็กเล็ก
***ในการเลือกซื้อ ยาลดน้ำมูก ให้กับลูกน้อย เป็นเรื่องการรักษาเฉพาะบุคคล คุณแม่ควรบอกอาการของลูกน้อยกับคุณหมอ หรือเภสัชกรที่ร้านขายยาด้วยทุกครั้งก่อนซื้อยา เพื่อให้สามารถจ่ายยาได้อย่างถูกต้อง ตรงกับอาการของลูกน้อยอย่างแท้จริง… และที่สำคัญคุณแม่ไม่ควรซื้อยาจำพวกนี้ให้ลูกน้อยทานโดยไม่ปรึกษาเภสัชกรก่อน เพราะลูกน้อยอาจเป็นอันตรายได้***
สำหรับยาแก้แพ้ลดน้ำมูก คุณพ่อคุณแม่จะเลือกใช้ยาตัวไหนนั้น ให้ดูว่าลูกเราเป็นภูมิแพ้ด้วยหรือไม่ ถ้าลูกเป็นภูมิแพ้ด้วย แนะนำให้กินยากลุ่มที่ 2 หรือยาแก้แพ้แบบไม่ง่วง แต่ถ้าไม่เป็น หรือเป็นแค่หวัดธรรมดา แนะนำเลือกยากลุ่มแรก หรือล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ เพื่อบรรเทาอาการคัดจมูก
อนึ่งในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 2 ขวบ ไม่ควรใช้ยาในการลดน้ำมูก แก้คัดจมูก ที่เกิดจากกลุ่มโรคไข้หวัด เนื่องจากข้อควรระวังเรื่องผลข้างเคียงของยาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่แนะนำให้แก้ไขปัญหาอาการหวัดได้ด้วยการดูแลรักษาเบื้องต้น
***แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ขอเน้นกับคุณพ่อคุณแม่ว่า การให้ลูกกินยาลดน้ำมูก เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ เนื่องจากยาเหล่านี้ จัดเป็นยาอันตราย คุณแม่ต้องปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง หากให้ยาลูกน้อยมากเกินหรือถี่เกินไป ผลจากการลดน้ำมูกโล่งสบายจะกลับไปเป็นตรงกันข้าม คือตัวยาจะกลับไปทำให้เสมหะที่อยู่ในทางเดินหายใจ แห้งมากเกินไป ทำให้เหนียวข้นมากขึ้นแย่ลงไปอีก
ซึ่งหากคุณแม่ต้องการ ลดหรือการระบายน้ำมูกให้ลูกน้อย สิ่งที่คุณหมอทุกท่านแนะนำเบื้องต้น คือ ให้เริ่มจากล้างจมูกดูก่อน ถ้าไม่ดีขึ้น ค่อยเลือกกินยาตามอาการ หรือพาไปพบคุณหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยดูอาการที่แท้จริงและรับ ยาลดน้ำมูก ไปรับประทาน
และอีกวิธีหนึ่งในการรักษา เมื่อลูกเป็นหวัด มีน้ำมูก คือ ควรให้ลูกดื่มน้ำมากๆ กินอาหารตามปกติ และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง และสร้างภูมิต้านทานมาต่อสู้กับโรคเหล่านี้ ส่วนในเด็กที่มีเคยมีประวัติโรคหืด หูชั้นกลางอักเสบ และไซนัสอักเสบ ควรระวังให้มากขึ้นเมื่อเป็นหวัดเพราะอาจทำให้กลับมาเป็นโรคเหล่านี้ได้อีกหรือทำให้โรคลุกลามรุนแรงมากขึ้น และหากมีข้อสงสัยเกี่ยวข้องกับเรื่อง ยาลดน้ำมูก หรือการดูแลโรคหวัดในเด็กควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร (ที่ประจำอยู่ที่ร้านยา) ที่พร้อมให้คำปรึกษาในเรื่องสุขภาพทุกด้านก่อนด้วยนะคะ
อ่านต่อ “บทความน่าสนใจ” คลิก!
- แม่เตือนแม่! ระวัง ลูกเป็นหวัด มีน้ำมูก ตาบวม เสี่ยงเป็นไซนัสอักเสบลงตา
- ลูกเป็นหวัด มีน้ำมูก 5 วิธีรักษาแบบไม่ต้องพึ่งยา
- 5 เทคนิคฝึกลูกสั่งน้ำมูก
- ยาแก้ไอ สําหรับทารก เลือกแบบไหน อย่างไรให้ลูกดี?
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.doctor.or.th, haamor.com