รู้ไว้ก่อนระวังได้ทัน โรคหัดระบาด ช่วงไหน อาการเด่น ๆ ของโรคหัดที่สะท้อนถึงสัญญาณอันตรายในร่างกายของลูก
โรคหัดระบาด ช่วงไหน อาการเป็นอย่างไร?
โรคหัดเป็นโรคอันตรายที่แฝงอยู่ในเมืองไทย มีผู้คนที่ติดโรคหัดอยู่ทุก ๆ ปี โดยสถานการณ์โรคหัด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-30 กันยายน 2563 มีรายงานว่า พบผู้ป่วยในประเทศไทย ที่มีอาการไข้ออกผื่นหรือสงสัยหัด หัดเยอรมัน 1,726 ราย โดยมีผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันหัดทางห้องปฏิบัติการ 327 ราย และผู้ป่วยที่มีความเชื่อมโยงทางระบาดวิทยา 111 ราย อัตราป่วยจึงอยู่ที่ 0.65 ต่อแสนประชากร แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นโรคหัดในทางห้องปฏิบัติการ และผู้ป่วยที่มีความเชื่อมโยงทางระบาดวิทยา พบอัตราป่วยสูงสุดในกลุ่มอายุน้อยกว่า 1 ปี กลุ่มอายุ 1-4 ปี กลุ่มอายุ 20-29 ปี กลุ่มอายุ 30-39 ปี และกลุ่มอายุ 15-19 ปี ตามลำดับ และจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัดจากทั่วโลก 134,200 ราย คิดเป็นประมาณ 367 รายต่อวัน หรือ 15 รายต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่ากังวล ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จะเห็นได้ว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัดอยู่ในกลุ่มทารกและเด็กเล็ก ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ร่างกายยังไม่แข็งแรง
สำหรับเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคหัด (Measles หรือ Rubeola) มีชื่อว่า เชื้อไวรัสรูบิโอลา (rubeola virus) ไวรัสกลุ่มพารามิคโซไวรัส (Paramyxovirus) เป็นโรคที่แพร่เชื้อและติดต่อกันได้ผ่านทางอากาศหรือการสัมผัสน้ำมูกและน้ำลายของผู้ป่วยโดยตรง การติดเชื้อโรคหัดจึงติดต่อได้อย่างง่ายดาย เพียงไอ จาม หายใจรดกัน หรือใช้สิ่งของร่วมกัน ก็สามารถติดเชื้อโรคหัดได้ เนื่องจากเชื้อไวรัสรูบิโอลาพบมากในน้ำลายของผู้เป็นโรคหัด โดยเชื้อไวรัสจะเข้ามาทางระบบทางเดินหายใจก่อนแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย
จังหวัดที่พบอัตราป่วยต่อแสนประชากรสะสมสูง 5 อันดับแรก ได้แก่
- นราธิวาส
- ภูเก็ต
- เชียงใหม่
- สตูล
- ระยอง
โรคหัดระบาดหน้าไหน
จริง ๆ แล้วโรคหัดพบได้ตลอดทั้งปี แต่โรคหัดเป็นโรคที่มักมีการแพร่ระบาดอย่างมากในช่วงหน้าหนาว หรือช่วงที่มีอากาศเย็น โดยมีลักษณะอาการสำคัญ ดังนี้
- อาการช่วงแรกหลังร่างกายได้รับเชื้อโรคหัดเข้าไปประมาณ 7 วัน จะคล้ายกับเป็นไข้หวัด
- พบไข้สูงตลอดเวลา ไข้ไม่ลด แม้รับประทานยาลดไข้แล้ว อาจมีไข้ขึ้นสูงถึง 40 องศาเซลเซียส
- ร่างกายผู้ป่วยจะอ่อนเพลีย
- ทารกหรือเด็กเล็กจะซึม ร้องกวน งอแง
- ลูกจะมีอาการกระสับกระส่าย เบื่ออาหาร
- น้ำตาไหล ไม่สู้แสง หนังตาบวม
- มีน้ำมูกใส ๆ ไอแห้ง ๆ เจ็บคอ ตาเยิ้มแดง
- เกิดตุ่มคอพลิค (Koplik Spots) หรือตุ่มแดงที่มีสีขาวเล็ก ๆ ตรงกลางขึ้นในกระพุ้งแก้ม
- อาจถ่ายเหลวคล้ายอาการท้องเดิน
- ถ้าไข้สูงมากอาจมีอาการชักร่วมด้วย ลักษณะเฉพาะของโรคหัดคือมีไข้สูง 3 ถึง 4 วันแล้วจึงเริ่มมีผื่นขึ้น
- ลักษณะผื่นที่ขึ้นเป็นจุดแดงเล็ก ๆ ขนาดเท่าหัวเข็มหมุด ผื่นมักขึ้นบริเวณตีนผมและซอกคอก่อน จากนั้นจะลุกลามตามใบหน้า ลำตัว แขนขา และมือเท้า ผื่นจะใช้เวลาประมาณ 2 ถึง 3 วันนับจากวันแรก หรืออาจนานได้ถึง 5 วัน หลังจากผื่นจางลงมักเปลี่ยนเป็นสีคล้ำในช่วงแรก ๆ
- ผิวหนังโดยรอบเป็นสีแดงระเรื่อ
- อาจมีอาการคันเล็กน้อย
อาการแทรกซ้อนของโรคหัดที่ต้องระวัง
- การติดเชื้อที่ตา สาเหตุของตาแดงเยิ้มแฉะ หูชั้นกลางติดเชื้อ และกล่องเสียงอักเสบ
- โรคปอดอักเสบ ปอดบวม หลอดลมอักเสบ หรือกลุ่มโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจอักเสบ (Croup) เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจและปอด
- โรคอุจจาระร่วง ท้องเสียและอาเจียน ต้องระวังอาการขาดน้ำ
- โรคแทรกซ้อนที่รุนแรงและอาจทำให้เสียชีวิต โรคสมองอักเสบ หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
เมื่อเป็นโรคหัด ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะลดลง เสี่ยงต่อวัณโรคปอด แต่อาการหรือโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ มักเกิดกับคนที่มีร่างกายไม่แข็งแรง สำหรับโรคหัดจัดเป็นโรคติดต่อที่มีโอกาสติดเชื้อได้สูง ช่วง 4 วันทั้งก่อนและหลังเกิดผื่นนั้นถือเป็นระยะเวลาของการแพร่เชื้อ โดยเชื้อไวรัสจะเข้ามาทางระบบทางเดินหายใจและแพร่ไปทั่วร่างกาย
กลุ่มเสี่ยงที่จะป่วยด้วยโรคหัด
- เด็กหรือทารกที่ขาดสารอาหาร และไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกัน รวมถึงมีร่างกายอ่อนแอ จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยง โดยเฉพาะเด็กที่ไม่ได้รับสารอาหารจำพวกวิตามินเอ จะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและเสียชีวิตได้
- คนท้องที่ไม่ได้รับวัคซีน หากได้รับเชื้อ จะมีความเสี่ยงแท้ง หรือทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนด
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอเนื่องจากภูมิต้านทานถูกทำลายอย่างผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีและเอดส์
- คนที่ขาดสารอาหารจะป่วยเป็นโรคหัดอย่างรุนแรงได้เมื่อรับเชื้อเข้าไปในร่างกาย
วิธีป้องกันโรคหัด
วัคซีนป้องกันโรคหัด (Measles Vaccine) ครบตามกำหนด ด้วยวัคซีน Measles-Mumps-Rubella Vaccine (MMR) ซึ่งครอบคลุมทั้งโรคหัด (Measles) คางทูม (Mumps) และหัดเยอรมัน (Rubella) ทารกสามารถรับวัคซีนได้ครั้งแรกเมื่ออายุครบ 9-12 เดือน และรับวัคซีนครั้งต่อไปเมื่ออายุ 4-6 ปี ส่วนเด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน สามารถรับวัคซีนได้ 2 เข็ม โดยเว้นช่วงการรับวัคซีนแต่ละรอบให้ห่างกันอย่างน้อย 28 วัน ด้านผลข้างเคียงของวัคซีนอาจพบอาการไข้ 6-12 วันหลังจากได้รับวัคซีน หรือมีผื่นขึ้นคล้ายผื่นโรคหัด ส่วนผลข้างเคียงที่รุนแรงเกิดขึ้นได้น้อยมาก
วัคซีน Measles-Mumps-Rubella-Varicella Vaccine (MMRV) ป้องกันโรคได้ทั้ง 3 โรค เพิ่มการป้องกันโรคอีสุกอีใสร่วมด้วย โดยเด็กอายุตั้งแต่ 12 เดือน-12 ปี สามารถรับวัคซีนตัวนี้ได้ แต่การรับวัคซีนนี้ก็มีข้อจำกัดสำหรับบุคคลบางกลุ่ม
การดูแลและรักษาโรคหัด
รักษาและปฏิบัติตัวเหมือนโรคไข้หวัด ดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว พักผ่อนให้เพียงพอเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย อยู่ในที่แห้งอุณหภูมิพอเหมาะเพื่อลดอาการไอบ่อยและเจ็บคอ และอาจให้วิตามินเอเสริมให้กับร่างกาย หากมีไข้ให้เช็ดตัวลดไข้ ไม่อาบน้ำเย็น กินยารักษาตามอาการ
หากพบว่าลูกมีไข้สูง เกิดผื่นบนร่างกาย อย่านิ่งนอนใจควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ เพราะความเสี่ยงของโรคหัดอันตรายได้ถึงชีวิต
อ้างอิงข้อมูล : pidst.or.th และ ddc.moph.go.th
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม
สุดเศร้า! ยายดื้อป้อนกล้วยทารก เกิดมาแค่ 10 วันก็ต้องจบชีวิต
วิจัยใหม่จากต่างประเทศพบ!! ไมโครพลาสติก รั่วจากขวดนม เพราะต้มก่อนใช้