โรคหัดยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ โดยในปีนี้พบผู้ป่วยโรคหัดถึง 2,861 ราย เสียชีวิต 21 ราย กรมควบคุมโรคจึงได้รณรงค์ให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานไปฉีด วัคซีนหัด ได้ฟรี!!
หัดลามไม่หยุด!! รณรงค์ฉีด วัคซีนหัด ฟรีถึงมีนา 63 นี้
วันที่ 28 พ.ย.2562 นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคหัดในปีนี้พบว่า มีรายงานผู้ป่วยในทุกภูมิภาคของโลกอย่างต่อเนื่อง นานาประเทศจึงได้ตั้งมั่นร่วมมือกันที่จะกำจัดโรคหัดให้หมดไปโดยเร็ว สำหรับประเทศไทย กรมควบคุมโรค มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ได้แก่ กองระบาดวิทยา และกองโรคป้องกันด้วยวัคซีน ให้ติดตามและประเมินสถานการณ์ของโรคหัดทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด รวมทั้งจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรค
“โครงการให้วัคซีนป้องกันโรคหัดในกลุ่มเด็กอายุ 1-12 ปีทั่วประเทศ ตามแผนเร่งรัดการกำจัดโรคหัดของประเทศไทย เพื่อให้วัคซีนเก็บตกในกลุ่มเด็กไทยและเด็กต่างชาติช่วงอายุดังกล่าว ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ทุกราย โดยเป็นการให้วัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน (MMR) แก่เด็กอายุ 1-7 ปี และให้วัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน (MR) แก่เด็กอายุ 7-12 ปี โดยผู้ปกครองสามารถพาบุตรหลานเข้ารับการฉีดวัคซีนฟรีที่สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง จนถึงเดือนมีนาคม 2563 นี้” นพ.อัษฎางค์ กล่าว
โรคหัดอันตรายอย่างไร?
โรคหัด (Measles) คือ โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยจะเกิดผื่นขึ้นตามผิวหนังพร้อมเป็นไข้ร่วมด้วย สามารถแพร่เชื้อและติดต่อกันได้ผ่านทางอากาศหรือการสัมผัสน้ำมูกและน้ำลายของผู้ป่วยโดยตรง เชื้อไวรัสจะเข้ามาทางระบบทางเดินหายใจก่อนแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย โดยทั่วไปจะมีอาการภายใน 14 วันหลังจากได้รับเชื้อไวรัส โดยจะมีไข้ตัวร้อนสูงถึง 40 องศาเซลเซียส น้ำมูกไหล ไอบ่อย เจ็บคอ ตาเยิ้มแดง หลังจากออกอาการได้ 3-5 วัน จะเกิดผื่นขึ้นตามร่างกาย อาการผื่นคันนี้จะปรากฏอยู่ 3-5 วันและหายไปเอง ส่วนใหญ่โรคหัดมักเกิดในเด็กเล็ก รวมทั้งเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตของเด็ก
สำหรับเด็กเล็กและทารกที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี มักจะมีภาวะแทรกซ้อนของโรคหัด โดยภาวะแทรกซ้อนมีดังนี้
- ท้องเสียและอาเจียน ซึ่งจะนำไปสู่อาการขาดน้ำ
- หูชั้นกลางติดเชื้อ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดหู
- ติดเชื้อที่ตา ก่อให้เกิดอาการตาแดงเยิ้มแฉะ
- กล่องเสียงอักเสบ (Laryngitis)
- หลอดลมอักเสบ
และภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ไม่บ่อยนัก ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบ ตาเหล่ หากไวรัสส่งผลกระทบต่อระบบประสาทและกล้ามเนื้อตา เยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือสมองอักเสบ มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและระบบประสาท และอาจะตาบอดได้
สำหรับสตรีมีครรภ์ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคหัดและติดเชื้อไวรัสนั้นมีโอกาสเสี่ยงแท้งบุตรหรือทารกเสียชีวิตในครรภ์และคลอดก่อนกำหนด โดยผู้เป็นแม่จะคลอดก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของอายุครรภ์ ทั้งนี้ ทารกอาจจะมีน้ำหนักตัวเมื่อแรกคลอดน้อย
ในปัจจุบันมีวัคซีนที่สามารถป้องกันโรคหัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยวัคซีนป้องกันโรคหัด มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้มากกว่าร้อยละ 95 ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรพาลูกไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดทันทีเมื่ออายุครบกำหนด
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ วัคซีนหัด ฉีดฟรีถึง มีนา 63 นี้ เร่งพาลูกไปฉีดก่อนติดเชื้อหัด
วัคซีนหัด ฉีดฟรีถึง มีนา 63 นี้ เร่งพาลูกไปฉีดก่อนติดเชื้อหัด
การรับวัคซีนป้องกันโรคหัดในเด็ก
ปัจจุบันมี วัคซีนหัด ที่สามารถป้องกันโรคหัดได้ คือ วัคซีนป้องกันโรคหัดที่มีส่วนประกอบของวัคซีนป้องกันโรคคางทูม หัดเยอรมัน หรืออีสุกอีใส โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันลูกน้อยจากโรคหัดได้ด้วยการพาเด็กเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดให้ครบตามกำหนด ซึ่งวัคซีนดังกล่าวมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง
ในปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด 2 ครั้ง ได้แก่
- ครั้งแรก เมื่อเด็กอายุ 9-12 เดือน
- ครั้งที่ 2 เมื่อเด็กอายุ 2.5 ปีเป็นต้นไป
นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ฉีดวัคซีนเอ็มเอ็มอาร์ ซึ่งเป็น วัคซีนหัด ที่สามารถป้องกันได้ทั้งโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน และอีสุกอีใส ให้แก่เด็กอายุ 12 เดือนไปจนถึงอายุ 12 ปี ในกรณีที่เด็กยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส
วัคซีนป้องกันโรคหัดสำคัญอย่างไร ?
- โรคหัดเป็นโรคที่แพร่กระจายได้ง่ายและติดต่อกันอย่างรวดเร็ว โดยผู้ติดเชื้อกว่า 90 เปอร์เซ็นต์มักมีอาการของโรคปรากฏให้เห็น
- ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเอ็มเอ็มอาร์มากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์มีภูมิต้านทานโรคทั้ง 3 ชนิด คือ โรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน
- ผู้ป่วยโรคหัดส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเอ็มเอ็มอาร์ ซึ่งโรคหัดอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น โรคปอดบวม และสมองอักเสบ ซึ่งอาจทำให้สมองถูกทำลายและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
- 30 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยโรคหัดมีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้น ซึ่งมักเกิดในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 20 ปี โดยอาจมีอาการอย่างท้องเสีย หูชั้นกลางอักเสบ และปอดบวม ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงของโรคหัดที่เป็นสาเหตุของการตายที่พบมากที่สุด
เด็กทารกที่ภูมิคุ้มกันยังน้อยอยู่ เมื่อติดเชื้อจากไวรัสหรือเชื้ออะไรก็ตาม จึงมักจะมีอาการมากกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเชื้อร้ายที่หากติดแล้วอาจเสียชีวิตหรือมีอาการร้ายแรงได้ สิ่งที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ลูกป่วยจากโรคร้ายแรงต่าง ๆ คือการฉีดวัคซีน เช่น วัคซีนหัด ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรพาลูกไปฉีดวัคซีนทันทีที่ลูกครบกำหนดฉีด และควรพาลูกไปพบแพทย์ทุกครั้งเมื่อถึงเวลานัดนะคะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
โรคหัด หัดเยอรมัน ต่างกันอย่างไร
ตารางวัคซีน 2562 แม่เช็กเลย! ลูกอายุเท่าไหร่..ต้องฉีดตัวไหนบ้าง?
อนุมัติแล้ว! เด็กไทยฉีด “วัคซีน HIB” ฟรี!! ป้องกันได้ 5 โรค
หมอเตือน! 3 ภัย 4 โรคในหน้าหนาว เด็กเล็กเสี่ยงเจ็บตายสูงขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.pptvhd36.com, สำนักข่าว Hfocus (เอชโฟกัส), www.pobpad.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่