กรมควบคุมโรคเตือนพ่อแม่ให้ระวัง! โรคหัดในเด็ก โรคยอดฮิตที่กำลังระบาดหนักในเด็กแรกเกิด – 4 ปี
โรคหัด คืออีกโรคหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่อย่างเราไม่ควรมองข้าม โรคที่ติดต่อกันได้ง่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก โดยนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กล่าวว่า
จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ได้รับรายงานโรคหัดในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 17 พฤศจิกายน 2560 พบว่าที่ผ่านมา มีผู้ป่วยมากถึง 2,637 ราย แต่ไม่พบผู้เสียชีวิต ซึ่งจากกลุ่มผู้ป่วยนั้น พบว่า กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ แรกเกิด – 4 ปี รองลงมาอายุ 10 – 14 ปี และอายุ 5-9 ปี ตามลำดับ โดยเป็นสัญชาติไทยร้อยละ 88.6 ต่างชาติร้อยละ 11.4
ทำความรู้จักกับโรคหัดเพิ่มเติม >>
ทำความรู้จักกับ “โรคหัดในเด็ก”
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวว่า โรคหัดนั้นพบได้ทุกวัย แต่ที่พบบ่อยคือในกลุ่มเด็กเล็ก เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส Measles ซึ่งสามารถพบได้ในจมูกและลำคอของผู้ป่วย
วิธีการติดต่อ
โรคหัดนั้น ติดต่อกันได้โดยการไอ จาม หรือพูดกันในระยะใกล้ชิด แล้วเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจ และจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 7 – 14 วัน (โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 8 – 12 วัน) หรือนับตั้งแต่วันที่ได้รับเชื้อไปจนถึงระยะเริ่มออกผื่นประมาณ 12 – 16 วัน
อาการ
อาการคล้ายกับไข้หวัด คือ มีไข้ จากนั้นเริ่มมีผื่นนูนแดงขึ้นที่หลังหูแล้วลามไปยังหน้า กระจายตามลำตัว แขนและขา มีน้ำมูกไหล มักจะไอแห้ง ๆ ตลอดเวลา ตาแดงก่ำและแฉะ อาจพบจุดขาว ๆ เล็ก ขอบสีแดงอยู่ในกระพุ้งแก้ม หลังผื่นผิวหนังลดจะปรากฏเป็นสีแดงคล้ำอยู่หลายวัน
ทำความรู้จักกับโรคหัดเพิ่มเติม >>
วิธีการรักษา
โรคหัดนั้น วิธีการรักษาจะเป็นไปตามอาการ ยกตัวอย่างเช่น ปวดหัวมีไข้ก็ให้ทานยาลดไข้ หากมีอาการไอก็ให้จิบน้ำผึ้งผสมมะนาว และดูแลปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้ค่ะ
- ให้ลูกหลานหรือผู้ป่วยพักผ่อนให้มาก ๆ ไม่ตรากตรำทำงานหนักหรือออกกำลังกายมากเกินไป
- อย่าถูกฝนหรือถูกอากาศเย็นจัด ห้ามอาบน้ำเย็น และควรสวมใส่เสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่น
- ดื่มน้ำสะอาดให้มาก ๆ อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว โดยอาจเป็นน้ำหวานหรือน้ำผลไม้ก็ได้ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ
- อาหารที่รับประทานควรเป็นอาหารอ่อน ๆ เช่น ซุปไก่ร้อน ๆ น้ำข้าว น้ำหวาน น้ำส้ม น้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มร้อน ๆ เช่น ชาร้อน น้ำขิงอุ่น ๆ เป็นต้น
- พยายามรับประทานอาหารให้ได้ตามปกติ โดยควรเป็นอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ รสไม่จัด ที่สำคัญคือผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องงดของแสลง เพราะโรคนี้ไม่มีของแสลง โดยควรเน้นการรับประทานอาหารประเภทโปรตีนให้มาก ๆ เช่น เนื้อ นม ไข่ ถั่วต่าง ๆ
- ใช้ผ้าชุบน้ำชุบน้ำอุ่นหรือน้ำก๊อกอุณหภูมิปกติ (อย่าใช้น้ำเย็นจัดหรือน้ำแข็ง) เช็ดตัวเวลามีไข้สูง
- งดการสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ และงดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
อ่านต่อวิธีการป้องกัน >>
วิธีการป้องกัน
- โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดซึ่งมีทั้งชนิดเดียว (Measles vaccine) และวัคซีนรวมเอ็มเอ็มอาร์ป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน ซึ่งในบ้านเราแนะนำให้ฉีดเข็มแรกเมื่อเด็กอายุได้ 9-12 เดือน และให้ฉีดเข็มที่ 2 เมื่ออายุได้ 4-6 ปี และไม่จำเป็นต้องฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันอีก ซึ่งภูมิคุ้มกันต้านทานโรคคางทูมจะคงอยู่ไปได้ตลอดชีวิต แต่ในกรณีที่มีการระบาดเกิดขึ้น สามารถฉีดวัคซีนเข็มแรกได้ตั้งแต่อายุ 6-9 เดือน และควรฉีดซ้ำอีก 2 ครั้ง เมื่ออายุได้ 12 เดือน และ 4-6 ปี (เด็กที่เคยฉีดวัคซีนมาเพียง 1 เข็ม ซึ่งปกติจะต้องฉีด 2 เข็ม)
- ในผู้หญิงที่ยังไม่เคยเป็นหัดควรฉีดวัคซีนป้องกันตั้งแต่ก่อนแต่งงานหรือก่อนตั้งครรภ์
- ผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยในระยะติดต่อ คือ ระยะตั้งแต่ 4 วันก่อนผื่นขึ้นจนกระทั่ง 4 วันหลังเริ่มมีผื่นขึ้น ถ้าไม่เคยเป็นโรคหัดและไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันหัดมาก่อนควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งแพทย์จะมีแนวทางในการปฏิบัติดังนี้
- ถ้าสัมผัสมาภายใน 5 วัน แพทย์จะฉีดวัคซีนป้องกันหัดให้ทันที ส่วนเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี แพทย์จะฉีดอิมมูนโกลบูลิน ซึ่งเป็นสารภูมิต้านทานร่วมด้วย และฉีดวัคซีนอีกครั้งเมื่ออายุได้ 15 เดือน
- ในเด็กที่มีอายุเกิน 1 ปี และสัมผัสมานานเกิน 5 วัน แพทย์จะฉีดวัคซีนและแอมมูนโกลบูลิน และฉีดวัคซีนซ้ำในอีก 5 เดือนต่อมา
- สำหรับช่วงไหนที่มีการระบาดเกิดขึ้นหรือมีคนใกล้ชิดป่วยเป็นโรคหัด ควรปฏิบัติดังนี้
- หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ที่มีผู้คนแออัด เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง โรงหนัง เป็นต้น
- หมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ให้สะอาด หรือชโลมมือด้วยแอลกอฮอล์เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่อาจติดมาจากการสัมผัสถูกเสมหะของผู้ป่วย และอย่าใช้นิ้วมือขยี้ตาหรือแคะไชจมูกถ้ายังไม่ได้ล้างมือให้สะอาด
- อย่าเข้าใกล้หรือนอนรวมกับผู้ป่วย แต่ถ้าจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ควรสวมหน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ให้สะอาดอยู่เสมอ
- ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ เช่น แก้วน้ำ จาน ชาม ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว โทรศัพท์ ของเล่น เครื่องใช้ต่าง ๆ ร่วมกับผู้ป่วย และควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสมือกับผู้ป่วยโดยตรง
- ผู้ป่วยควรแยกตัวออกห่างจากผู้อื่น ไม่นอนปะปนหรืออยู่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่น เวลาไอหรือจามควรใช้ผ้าปิดปากและจมูก ส่วนเวลาที่เข้าไปในสถานที่ที่มีคนอยู่กันมาก ๆ ควรสวมหน้ากากอนามัยด้วยทุกครั้ง
ทราบกันอย่างนี้แล้ว บ้านไหนมีลูกเล็กเด็กแดง ระวังกันหน่อยนะคะ … ที่สำคัญอย่าลืมปลูกฝังให้ลูกล้างมือกันบ่อย ๆ ด้วยน้ำกับสบู่เป็นประจำทุกวันนะคะ
เครดิต: สสส. และ MedThai
อ่านต่อเรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่