แม้ว่าจะหมดหน้าฝนแล้ว ใช่ว่าโรคภัยต่าง ๆ จะหมดไปพร้อมกับฝนนะคะ ในช่วงหน้าหนาวก็มีโรคที่ต้องระวังให้ดีเหมือนกันดังเช่น หัดในเด็ก ที่กำลังระบาดหนักอยู่ในขณะนี้
หมอแนะ! หนาวนี้…หัดในเด็ก ระบาดหนัก พร้อมวิธีสังเกตอาการ
ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีข้อมูลจากคุณหมอ ผศ. นพ. ชนเมศ เตชะแสนสิริ สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้ออกมาเตือนให้ระวังโรคหัดระบาดในหน้าหนาว พร้อมทั้งให้ข้อมูลที่น่าตกใจว่า “โรคหัด” เป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยมีอายุน้อยกว่า 10 ปี มาดูกันค่ะว่าเราจะมีวิธีสังเกตอาการ และ ป้องกัน หัดในเด็ก ได้อย่างไรกันบ้าง
หัดในเด็ก คืออะไร?
หัด เป็นโรคไข้ออกผื่นที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหัด (Measles virus) นับว่าเป็นโรคที่มีความสำคัญมากโรคหนึ่ง เพราะอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ ส่วนผู้ที่เคยติดเชื้อมาแล้วจะมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต และโรคนี้มีวัคซีนป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูงเกือบ 100%
การติดต่อจะติดต่อทางลมหายใจ ไอ จาม รดกัน ช่วงเวลาเสี่ยงโรคนี้คือ “ฤดูหนาว” โดยเฉพาะในเดือนมกราคม จะมียอดของผู้ที่ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี สามารถพบได้ในคนทุกวัย แต่มักพบในเด็กอายุ 2-14 ปี และพบได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มักไม่พบในทารกอายุต่ำกว่า 6-8 เดือน เนื่องจากยังมีภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากมารดาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ส่วนโอกาสในการเกิดโรคในผู้หญิงและผู้ชายมีใกล้เคียงกัน โรคนี้สามารถติดต่อแพร่กระจายได้ง่าย จึงอาจพบการระบาดตามชุมชน โรงเรียน หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก
ในประเทศไทยเริ่มมีการให้วัคซีนป้องกันโรคหัดเมื่อปี พ.ศ. 2527 จึงทำให้อุบัติการณ์ของโรคหัดลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี แต่ก็ยังพบโรคนี้ได้บ้างประปรายและมีการระบาดบ้างเป็นครั้งคราวในชนบท ซึ่งผู้ป่วยที่พบส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนและเป็นเด็กอายุเกิน 5 ปี
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ อาการของโรค หัดในเด็ก และวิธีป้องกันที่ได้ผลเกือบ 100%
อาการของโรค หัดในเด็ก
อาการของโรคจะคล้ายไข้หวัด คือมีไข้ก่อน แล้วจึงมีน้ำมูก มักไอแห้งตลอดเวลา ตาและจมูกจะแดง ในเด็กจะมีไข้สูงประมาณ 3 – 4 วัน แล้วจึงขึ้นผื่นแดง ๆ ที่หลังหู ลามไปยังหน้า และร่างกาย ผื่นจะค่อย ๆ โตขึ้น และมีสีเข้มขึ้น สังเกตได้ว่าก่อนหน้าที่เด็กจะเป็น จะมีตุ่มใส ๆ ขึ้นในปาก ตรงกระพุ้งแก้มและฟันกรามบน ซึ่งจะเป็นตุ่มที่เกิดเฉพาะในโรค “หัด” เท่านั้น และจะขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 24 ชม. พอผื่นออกได้ประมาณ 2 – 3 วัน อาการก็จะดีขึ้นเรื่อย ๆ เพียงแต่สิ่งที่ต้องระวังคือ โรคแทรกซ้อน
โรคแทรกซ้อนที่เกิดจาก หัด
เพราะเชื้อไวรัสหัดจะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาวซึ่งเป็นระบบภูมิคุ้มกันป้องกันเชื้อโรคต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนั้น เมื่อติดเชื้อหัดแล้ว จึงทำให้มีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ดังนี้
- ระบบทางเดินหายใจ (พบได้บ่อย) เช่น หูส่วนกลางอักเสบ (เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็กเล็ก), กล่องเสียงอักเสบ, หลอดลมอักเสบ, ปอดอักเสบ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ใหญ่และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญของผู้ป่วยหัด โดยถ้าพบตั้งแต่ก่อนมีผื่นขึ้นหรือระยะที่เริ่มมีผื่นขึ้น มักจะเกิดจากไวรัสหัดเอง หากพบในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มต้านทานโรคต่ำ เช่น เด็กขาดสารอาหาร ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยเอดส์ หรือสตรีตั้งครรภ์ มักจะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน
- ระบบประสาท เช่น
- สมองอักเสบ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต พิการ เป็นโรคลมชัก สติปัญญาด้อยลง
- ภาวะเนื้อสมองอักเสบ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อย เกิดจากการเสื่อมของสมองส่วนกลาง ทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาทางด้านการเรียน สติปัญญาจะค่อย ๆ ด้อยลงไปเรื่อย ๆ มีอาการหลงลืม พร้อม ๆ กับมีพฤติกรรมที่แปลกไป จนถึงขั้นปัญญาอ่อน ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และมีอาการชักร่วมด้วย ซึ่งเวลาโดยเฉลี่ยนับตั้งแต่ติดเชื้อหัดจนถึงเริ่มต้นเกิดอาการคือประมาณ 10-11 ปี และตั้งแต่เกิดอาการจนถึงเสียชีวิตประมาณ 2 ปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เกิดภาวะนี้จะเป็นโรคหัดตอนอายุน้อยกว่า 2 ปี
- ตาบอด ในเด็กที่มีภาวะขาดวิตามินเอ อาการอาจรุนแรงและอาจทำให้ตาบอดได้
- ระบบทางเดินอาหาร เช่น อุจจาระร่วงจากลำไส้อักเสบ, ท้องเดินจากไวรัส, ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้องอักเสบ ตับอักเสบ ไส้ติ่งอักเสบ เป็นต้น
สำหรับแม่ท้องที่ป่วยเป็นโรคหัดในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ อาจเสี่ยงต่อการแท้งบุตร การคลอดก่อนกำหนด ทารกเสียชีวิตในครรภ์ เกิดความผิดปกติแต่กำเนิดในทารก ทารกมีน้ำหนักตัวน้อย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ วิธีป้องกัน หัดในเด็ก ที่ได้ผลเกือบ 100%
วิธีป้องกัน หัดในเด็ก ที่ได้ผลเกือบ 100%
โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดซึ่งมีทั้งชนิดเดียว (Measles vaccine) และวัคซีนรวม MMR ป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน สำหรับเด็กเล็ก ให้ฉีดเข็มแรกเมื่ออายุ 9-12 เดือน และให้ฉีดเข็มที่ 2 เมื่ออายุได้ 2 ปีครึ่ง และไม่จำเป็นต้องฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันอีก ซึ่งวัคซีนโรคหัดเป็นวัคซีนที่มีเชื้อหัดที่ยังมีชีวิตอยู่แต่อ่อนแอลง ซึ่งสามารถแบ่งตัวในคนทั่วไปได้เหมือนเชื้อหัดปกติทั่วไป วัคซีนจะทำงานโดยการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ให้หลั่งภูมิคุ้มกันออกมาต่อสู้เชื้อที่อ่อนแอลงเหล่านี้ ซึ่งภูมิคุ้มกันที่หลังออกมานี้สามารถป้องกันการติดเชื้อหัดตัวเต็มได้หากมีการติดเชื้อในอนาคต
สำหรับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนนั้น ยังไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าวัคซีนจะทำให้เกิดภาวะออทิสติก แตะอาจมีผลข้างเคียงเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ไข้, มีผื่นเล็กน้อย, ปวดตามข้อ, เกล็ดเลือดต่ำชั่วคราว, ต่อมน้ำเหลืองบริเวณแก้ม คอ หรือใต้ขากรรไกรโต, ชักจากการมีไข้สูง เป็นต้น
ในช่วงที่มีการระบาดของโรคหัด ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ที่มีผู้คนแออัด เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง ต่าง ๆ แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ให้สะอาด หรือชโลมมือด้วยแอลกอฮอล์เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่อาจติดมาจากการสัมผัสถูกเสมหะของผู้ป่วย และอย่าใช้นิ้วมือขยี้ตาหรือแคะไชจมูกถ้ายังไม่ได้ล้างมือให้สะอาด
เห็นไหมคะ ว่าโรคหัดเป็นโรคที่อันตรายถึงชีวิต แต่กลับสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน และการฉีดวัคซีนก็ได้ผลเกือบ 100% ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่อย่าละเลยการฉีดวัคซีนป้องกันหัดไว้กันเลยนะคะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
สธ. เตือน “หัดเยอรมัน” ระบาดในญี่ปุ่น คนท้องควรหลีกเลี่ยง
ระวัง! โรคหัด ระบาด ทำเด็กตาย…แต่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนฟรี
ตารางวัคซีน ปี 2561 จากสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย มาแล้วเช็กเลย!
ข้อมูลอ้างอิงจาก : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, medthai.com, honestdocs.co
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่