ลูกเป็นหวัดเพราะเปียกฝน จริงหรือ ? เป็นสิ่งที่พ่อแม่แทบทุกคนสงสัย เพราะสมัยที่เราเป็นเด็กก็ถูกสอนมาตลอดว่า “อย่าตากฝน” หรือ “อย่าให้ฝนโดนหัว เดี๋ยวจะป่วย” แต่เวลาว่ายน้ำที่เปียกโชกไปทั้งตัว กลับแข็งแรงดี แถมไม่มีอาการน้ำมูกไหล ไอจามให้เห็นสักนิด ความจริงเป็นยังไงกันแน่ แม่ปานมี 10 เรื่องจริงเกี่ยวกับหวัดจากการตากฝน ที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้ฝาก เพื่อสามารถรับมือกับโรคภัยของเด็กๆ และดูแลลูกน้อยอย่างถูกต้อง
โรคหวัด เป็นหนึ่งในโรคยอดฮิตของเด็กๆ ที่เป็นได้ตั้งแต่เด็กวัย 0 ขวบจนถึงเด็กโต และสามารถเป็นได้หลายครั้ง โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายยังไม่แข็งแรงพอ ยิ่งในช่วงที่ฝนตกบ่อย อากาศเย็น ลูกน้อยมักเป็นหวัดได้ง่ายขึ้น สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่กังวลก็คือ ถ้าฝนตกหนัก ลูกเป็นหวัดเพราะเปียกฝน หรือไม่ มาหาคำตอบกันเลยค่ะ
ป้องกัน ลูกเป็นหวัดเพราะเปียกฝน ต้องปิดจมูกไม่ใช่ปิดหัว จริงหรือ
รายการแชร์ก่อนมั่ว ของสำนักข่าวไทย อสมท. ได้นำข้อความที่โพสต์และแชร์กันอย่างกว้างขวางในเฟสบุ๊กที่ระบุว่า ฝนตกให้ปิดจมูก ไม่ใช่ปิดหัว มาสอบถามข้อเท็จจริงจากแพทย์หญิงจริยา แสงสัจจา ผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูล กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องของประชาชน รวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง
MUST READ : RSV โรคติดเชื้อทางเดินหายใจในเด็ก สุดฮิตในหน้าฝน
พิธีกร: ความเชื่อที่ว่าเวลาฝนตกใหม่ๆ ให้ปิดจมูกไม่ใช่ปิดหัว เพราะสิ่งที่ทำให้ป่วยคือเชื้อโรคจากดินลอยขึ้นมาเมื่อโดนเม็ดฝน ส่วนน้ำฝนที่โดนหัวไม่ได้ทำให้ป่วย ทุกวันนี้ครูที่โรงเรียนก็ยังสอนผิด ชัวร์หรือ ฝนตกให้ปิดจมูก ไม่ปิดหัว จริงหรือไม่
พญ.จริยา: ไม่จริงค่ะ ส่วนของศีรษะจริงๆก็ประกอบด้วยตา จมูก ปาก ซึ่งเป็นช่องทางที่เชื้อโรคต่างๆจะเข้าได้ การปิดศีรษะก็เป็นสิ่งถูกต้องแล้ว
พิธีกร: ที่บอกว่า เวลาฝนตก เชื้อโรคจากดินจะลอยมาเล่นงานเรา จริงหรือไม่
พญ.จริยา: ไม่มีการศึกษาทางการแพทย์ที่บอกข้อมูลแบบนี้ ปกติการติดต่อของโรคทางเดินหายใจ มาจากคนที่เป็นโรคจามใส่เสียมากกว่า
พิธีกร: จริงๆ แล้วอะไรที่ทำให้คนเราป่วยเป็นไข้หวัดกันแน่
พญ.จริยา: เวลาที่ร่างกายเปียก หรืออยู่ในอากาศหนาว ภูมิต้านทานจะลดลง เชื้อโรคต่างๆก็สามารถทำอันตรายกับเราได้มากขึ้น
พิธีกร: แต่เวลาอาบน้ำ หัวเปียกกว่าโดนฝนยังไม่ป่วยเลย
พญ.จริยา: ขึ้นอยู่กับระยะเวลา เวลาอาบน้ำ สระผมเสร็จก็จะเช็ดผมให้แห้งทันที
พิธีกร: เขาบอกว่า ถ้าฝนตกนานจนพื้นเปียกไปหมด ก็เท่ากับล้างเชื้อโรคไปหมดแล้ว
พญ. จริยา: ฝนก็คือน้ำ จึงไม่สามารถขจัดเชื้อโรคทั้งหมดได้
พิธีกร: สรุปว่า ถ้าตากฝนต้องปิดส่วนไหน อย่างไร
พญ.จริยา: ปิดศีรษะเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่ทางที่ดีควรรีบหาที่มีกำบัง กันฝนได้จะดีกว่า
พิธีกร: เขาแนะนำให้ดื่มน้ำขิง ยิ่งใครป่วยดื่ม 3-5 แก้ว แทนน้ำเปล่าก็ได้
พญ.จริยา: น้ำขิงทำให้รู้สึกสบายขึ้น แต่การดื่มน้ำขิงรสหวานที่ใส่น้ำตาลหลายๆ แก้วแทนน้ำเปล่า คงไม่ใช่เรื่องสมควร
พิธีกร: ห้ามกินผักสด ผลไม้เพื่อรับเอาวิตามินซีเพราะจะยิ่งหายช้า
พญ. จริยา: ข้อนี้ไม่จริงนะคะ ผักผลไม้เป็นอาหารที่เราต้องกินร่วมกับอาหารประเภทอื่น เพราะว่านอกจากยาแล้ว ร่างกายที่แข็งแรงก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะต่อสู้กับเชื้อโรค
พิธีกร: ถ้าเป็นหวัดจากฝน ห้ามกินของที่ฤทธิ์เย็น เป็นหยิน อย่างผลไม้เพราะใช้รักษาหวัดแดดเท่านั้น
พญ.จริยา: ไม่มีการพูดถึงหวัดแดดชัดเจน แต่จะพูดถึงเรื่องลมแดด ถามว่าเราไปอยู่ในอากาศร้อนมากๆ นานๆ สิ่งที่น่ากลัวคือลมแดดมากกว่า หวัดที่เกิดจากอะไรก็ตาม มันไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องกินผลไม้เย็นหรือผลไม้อุ่น
พิธีกร: ถ้าเป็นหวัดต้องกินยาอะไรไหม
พญ.จริยา: ถ้าเป็นหวัดธรรมดา อาการไม่หนักมาก ไม่ต้องกินยาก็ได้
พิธีกร: เรื่องที่แชร์กันว่า ฝนตกให้ปิดจมูก ไม่ใช่ปิดหัว สรุปว่ามันเป็นยังไงครับ
พญ.จริยา: ไม่เป็นเรื่องจริง และไม่ควรแชร์ต่อ สิ่งที่ต้องทำ คือการหลีกเลี่ยงไปตากฝน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้รีบเข้าในที่กำบังให้เร็วที่สุด ตากฝนให้สั้นที่สุด และทำให้ตัวแห้งให้เร็วที่สุด
ดูคลิป พร้อมอ่านต่อ “ความจริงพ่อแม่ต้องรู้เมื่อลูกป่วยเพราะตากฝน” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
คลิปรายการแชร์ก่อนมั่ว เรื่อง ฝนตกให้ปิดจมูก ไม่ใช่ปิดหัว
ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพและโรคภัยต่างๆที่เผยแพร่ในโลกออนไลน์อาจไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมด ก่อนที่คุณพ่อคุณแม่จะตัดสินใจเชื่อวิธีป้องกันตามคลิปจะช่วย ลูกป่วยเพราะเปียกฝน ได้จริงหรือไม่ควรพิจารณาให้ถี่ถ้วน เพราะผลที่เกิดขึ้นตามมาอาจกระทบสุขภาพของลูกน้อยอย่างคาดไม่ถึงได้
เจาะลึก 10 เรื่องจริงที่พ่อแม่ต้องรู้ ป้องกัน ลูกเป็นหวัดเพราะเปียกฝน
“อยู่ใต้ฟ้าอย่ากลัวฝน” แต่ถึงจะไม่กลัวฝนก็ควรจะกลัวหวัด และอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงกะทันหันเมื่อฝนตกเป็นต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้ ลูกน้อยเป็นหวัดเพราะเปียกฝน ฉะนั้นการป้องกันโรคตั้งแต่เนิ่นเป็นวิธีดีที่สุดจะช่วยให้ลูกปลอดภัยจากโรค เรามาเจาะลึกเรื่องจริงเกี่ยวกับโรคหวัดในช่วงหน้าฝนกันเลยค่ะ
- เชื้อหวัดกระจายอยู่ในอากาศ ไม่ได้ขึ้นมาจากพื้นดิน
โรคหวัดส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งแพร่กระจายอยู่ในอากาศนับร้อยชนิด บางส่วนตกลงบนพื้นและเกาะตามฝุ่นละออง ร่างกายของคนเราสัมผัสกับเชื้อไวรัสเหล่านี้ตลอดเวลา เมื่อฝนใกล้ตกและมีลมพัดแรง ก็จะหอบเอาเชื้อไวรัสที่ปริมาณมากมาสัมผัสร่างกาย จึงเพิ่มโอกาสติดเชื้อมากขึ้น
- พยายามอย่าให้ศีรษะโดนฝนดีที่สุด
เมื่อฝนตก อุณหภูมิของอากาศรอบตัวจะลดลงอย่างรวดเร็ว และหากเราตากฝน อุณหภูมิของร่างกายก็จะลดลงทันทีเช่นกัน หัวที่เปียกฝนไม่ได้เป็นช่องทางของเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย แต่ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวของเยื่อบุจมูกลดลง 1-2 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่เชื้อไวรัสเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะไวรัสที่ตกค้างอยู่บริเวณโพรงจมูก และบวกกับไวรัสปริมาณในอากาศที่เราสูดหายใจเข้าไป
เมื่อภูมิต้านทานไม่สามารถสู้กับเชื้อไวรัสปริมาณมากได้อีกต่อไป จึงเกิดการอักเสบของเยื่อบุจมูก ต้นเหตุของอาการจาม และน้ำมูกไหล จึงหนีไม่พ้นที่ ลูกเป็นหวัดเพราะเปียกฝน วิธีดีที่สุดในการหลีกเลี่ยงโรคหวัดช่วงหน้าฝน คือ อย่าให้ลูกเปียกฝน แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ควรจะหาอะไรคลุมศีรษะไว้ก่อนดีกว่า
- ปิดจมูกไม่ได้ช่วยป้องกันหวัดเมื่อตากฝน
การปิดจมูกขณะฝนตกไม่ใช่วิธีช่วยให้ลูกพ้นจากการรับเชื้อหวัด เพราะร่างกายที่เปียกชื้น และอุณหภูมิที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เชื้อไวรัสที่มีอยู่บนร่างกายเจริญเติบโตต่อได้ ทั้งนี้ การปิดจมูกด้วยหน้ากากอนามัย เหมาะสำหรับกับ ลูกป่วยเพราะเปียกฝน อยู่แล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่กระจายเชื้อไปยังคนอื่นมากกว่า โดยเฉพาะเวลาไปยังสถานที่สาธารณะ หรือบริเวณที่มีคนพลุกพล่าน คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ลูกคุ้นเคยกับการใส่หน้ากากอนามัยตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อสุขอนามัยที่ดีเหมือนกับการล้างมือเป็นประจำ
- ตากฝนกับอาบน้ำสระผมไม่เหมือนกัน
คุณพ่อคุณแม่อาจสงสัยว่า ทำไมตอนลูกน้อยอาบน้ำสระผมเปียกโชกไปทั้งตัวไม่เห็นแสดงอาการป่วย แต่พอตากฝนกลับเป็นหวัดซะแล้ว ความจริงก็คือ แม้ร่างกายจะเปียกเหมือนกัน แต่อุณหภูมิของร่างกายไม่ได้เปลี่ยนแปลงเฉียบพลัน เวลาอาบน้ำลูกอยู่ในพื้นที่จำกัด ไม่ได้อยู่ในพื้นสาธารณะที่เชื้อโรคกระจายตัวอยู่มาก
ที่สำคัญ ลูกใช้เวลาอาบน้ำไม่ถึงนาน ก็ได้เช็ดตัว เช็ดหัวให้แห้งแล้ว แต่ถ้าลูกต้องอยู่กลางฝน กว่าจะได้เข้าบ้านอาจใช้เวลานานกว่า ยิ่งตัวเปียกนานเท่าไหร่ ก็มีโอกาสที่ ลูกเป็นหวัดเพราะเปียกฝน ได้มากขึ้นเท่านั้น
- น้ำฝนชะล้างเชื้อไวรัสไม่ได้
อย่างที่บอกไปว่าเชื้อไวรัสสามารถเกาะตามพื้นดิน ละอองฝุ่นได้ ย่อมเกาะอยู่บนเม็ดฝนและลอยอยู่อากาศได้เช่นกัน หากเด็กมีภูมิคุ้มกันแข็งแรงจะต่อสู้กับเชื้อโรคได้ แต่ลูกน้อยวัยศูนย์ขวบควรหลีกเลี่ยงการอยู่นอกบ้าน ไม่เช่นนั้นอาจทำให้ ลูกป่วยเพราะเปียกฝน หรือแม้แต่ตอนที่ฝนตกหนักจะหยุดสนิทแล้ว เพราะยังมีเชื้อโรคอยู่ในอากาศ แถมอุณหภูมิต่ำยังกระตุ้นให้เด็กๆ ป่วยได้ง่าย
อ่านต่อ “เจาะลึกสิ่งที่พ่อแม่ต้องรู้ (ต่อ)” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
- น้ำขิงอย่างเดียวไม่ได้ช่วยแก้หวัด
ขิงเป็นสมุนไพรจีนโบราณที่มีวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด จึงมีสรรพคุณในการบำรุงรักษาร่างกาย อีกทั้งขิงยังมีฤทธิ์ร้อน จึงนิยมนำมาทำน้ำขิงดื่มเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย และบรรเทาอาการเจ็บคอได้ ส่วนน้ำมันอโรม่าของขิงยังให้กลิ่นหอม สูดดมแล้วรู้สึกโล่งสบายด้วย แต่การดื่มน้ำขิง3-5 แก้วต่อวัน หรือแทนน้ำเปล่าอาจมากเกินไป เพราะคนส่วนใหญ่นิยมใช้น้ำขิงสำเร็จรูป ซึ่งมีน้ำตาลผสมอยู่มาก จึงควรหลีกเลี่ยง
สำหรับเด็กโต คุณแม่อาจชงน้ำขิงสูตรไม่มีน้ำตาลแบบเจือจาง แล้วใส่น้ำผึ้งแทนเพื่อให้รสชาติถูกปาก จิบทีละน้อยเพื่อบรรเทาอาการหวัด ส่วนเด็กเล็ก การดื่มน้ำเปล่า (อุณหภูมิห้อง) บ่อยๆก็เพียงพอ ทั้งนี้การดูแล ลูกเป็นหวัดเพราะเปียกฝน ต้องใช้ร่วมกันหลายวิธีควบคู่กัน พร้อมกับสังเกตอาการป่วยอย่างใกล้ชิดด้วย
- กินผักและผลไม้เสริมสร้างภูมิต้านทานโรค
คุณแม่คงทราบกันดีอยู่แล้วว่า ผักผลไม้มีประโยชน์กับลูกน้อยมากเพียงใด นอกจากจะมีวิตามินและเกลือแร่ที่ร่างกายต้องการเพื่อการเจริญเติบโตสมวัยแล้ว อาหารกลุ่มนี้ยังช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้ลูกน้อยพร้อมเผชิญกับเชื้อโรคหลังหมดภูมิคุ้มกันจากแม่แล้ว
การฝึกให้เด็กน้อยคุ้นชินกับรสชาติของผักผลไม้ตั้งแต่ยังเด็ก โดยไม่ปรุงแต่งเป็นสิ่งสำคัญ เพราะยิ่งคุณแม่ปรุงรสชาติน้อยเท่าไร เด็กยิ่งกินผักผลไม้ได้ง่ายขึ้น และเมื่อฝึกจนเป็นนิสัย ลูกจะไม่ร้องขอกินขนมหวาน หรือขนมกรุบกรอบ ซึ่งเป็นต้นเหตุของฟันผุและโรคอ้วนในเด็กเลย ทั้งนี้คุณแม่ควรเลือกชนิดผักผลไม้ และวิธีปรุงให้เหมาะกับลูกแต่ละวัย เพื่อให้เด็กๆ รักการกินผักผลไม้ไปตลอดชีวิต
MUST READ : หวัดแดด โรคหน้าร้อน ที่ต้องระวังในเด็กเล็ก
MUST READ : วิธีสังเกต ลูกเป็นหวัด เพราะเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย
- กินผลไม้ไม่ใช่รักษาแค่ “หวัดแดด”
หวัดแดด เป็นอีกหนึ่งอาการป่วยที่เกิดขึ้นกับเด็กในช่วงหน้าร้อน หรืออยู่กลางแจ้งนานๆ ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นอย่างรวดเร็วแล้วระบายความร้อนไม่ทัน จึงทำให้มีไข้ ปวดศีรษะ ริมฝีปากแห้ง และแสบคอ เด็กบางคนอาจมีน้ำมูกใส เมื่อร่างกายป่วยเพราะความร้อน
ทำให้หลายคนคิดว่าการกินผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็น เช่น แตงโม มังคุด สับปะรด ส้มโอ หรือน้ำมะพร้าว จะเหมาะกับการรักษาหวัดแดดเท่านั้น แต่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ทางการแพทย์ถึงเรื่องนี้ เพราะที่แน่ๆ การกินผลไม้เป็นประจำมีประโยชน์ทั้งการเพิ่มภูมิต้านทานให้ ลูกป่วยเพราะเปียกฝน น้อยลง และช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานดีด้วย การกินผลไม้จึงดีต่อร่างกายเสมอไม่ว่าจะในทางไหน
- โรคหวัดแบบไหนต้องกินยา
เมื่อ ลูกเป็นหวัดเพราะเปียกฝน มาจากเชื้อโรคหลายประเภท ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ทำให้มีอาการเจ็บคอเล็กน้อย มีน้ำมูกไม่มาก ไอจาม และอ่อนเพลีย เมื่อพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆไม่กี่วัน ร่างกายก็จัดการโรคหวัดให้หายเองโดยไม่ต้องกินยา
ส่วนโรคหวัดจากเชื้อแบคทีเรียจะมีอาการรุนแรงกว่า สังเกตว่าน้ำมูกใสหรือเสมหะจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวข้น เพราะเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ออกมาต่อสู้กับแบคทีเรียทำปฏิกิริยากับเอนไซม์ในเม็ดเลือดขาวจึงกลายเป็นสีเหลืองสีเขียว คอแดงหรือต่อมทอนซิลล์อักเสบ หากลูกมีอาการเหล่านี้จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ เพราะหายเองได้ยาก และอาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้
10. หวัดอาจไม่ใช่เรื่องธรรมดาถ้ามีโรคแทรกซ้อน
ระหว่างที่ ลูกเป็นหวัดเพราะเปียกฝน ภูมิร่างกายลดต่ำลงอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน ซึ่งทำให้หวัดธรรมดาๆ กลายเป็นโรคร้ายทำลายสุขภาพลูกได้ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องระวังให้ดี เช่น โรคไซนัสอักเสบ เมื่อเชื้อโรคลามไปถึงโพรงจมูกจนติดเชื้อ ทำให้มีน้ำมูกหรือหนองในโพรงไซนัสได้
นอกจากนี้ยังอาจเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ เพราะเยื่อบุหูบวม จึงระบายแรงดันอากาศจากช่องหูชั้นกลางไม่ได้ ทำให้ปวดหูและติดเชื้อได้ และโรคหลอดลมและปอดอักเสบ เกิดขึ้นเมื่อเชื้อโรคผ่านหลอดลมเข้ามาถึงปอด ทำให้ไอมาก มีไข้ หรือเหนื่อยง่าย
กรณีของเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 6 ขวบ ต้องระวังโรคชักจากไข้สูงด้วย เพราะอันตรายต่อสมองและอาจเกิดอาการซ้ำได้อีก ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ปล่อยให้ลูกมีไข้สูงนานเกินไป และรีบลดไข้ด้วยการเช็ดตัวและกินยาลดไข้แต่เนิ่นๆ
“ฝนตกเป็นเรื่องธรรมขาติ” ลูกป่วยก็เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่ไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากเห็นลูกต้องล้มป่วย นอนซม ไม่ร่าเริงเหมือนกัน ฉะนั้น การพยายามไม่ให้ ลูกเป็นหวัดเพราะเปียกฝน ด้วยการให้ลูกโดนฝนน้อยที่สุด หรือถ้าเลี่ยงที่ไม่ได้ที่เจ้าตัวน้อยต้องตากฝน ควรรีบเช็ดตัวให้แห้ง และทำร่างกายให้อบอุ่นเร็วที่สุด
บทความน่าสนใจอื่นๆ
ข้อมูลอ้างอิงจาก : http://www.ps.si.mahidol.ac.th/ และ https://www.bangkokhospital.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่