AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

รวม 11 โรค กับวิธีสังเกต ลูกมีปัญหาสุขภาพจิต

เลี้ยงลูกอย่างไรให้ “จิต” ปกติ เมื่อ ลูกมีปัญหาสุขภาพจิต“สุขภาพจิต”  คือ  ภาวะพัฒนาการทางด้านจิตใจของเด็ก  ซึ่งเด็กแต่ละคนมีพัฒนาการช้าเร็วไม่เท่ากัน  เมื่อเกิดพัฒนาการที่ช้าหรือเร็วไปก็อาจเกิดความผิดปกติขึ้นได้  ซึ่งความผิดปกติทางจิตของเด็กมีอยู่มากมายหลายแบบ  บางอาการเป็นเพียง “ปัญหาสุขภาพจิต” เท่านั้น  ยังไม่ใช่โรคและไม่ต้องกินยา  แต่อาศัยการปรับพฤติกรรมเข้าช่วยเหลือ

11 โรค เมื่อ ลูกมีปัญหาสุขภาพจิต

ชีวิตลูกดี๊ดี เพราะมีหัวใจแข็งแรง

เพื่อให้เด็กใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข  เช่น  ปัญหาเด็กปรับตัวช้า  ปัญหาเด็กขี้อาย  ปัญหาเด็กไม่พูด  ปัญหาเด็กงอแง  ปัญหาเด็กไม่กิน  ปัญหาเด็กไม่คุยกับคนแปลกหน้า  ปัญหาเด็กหงุดหงิดง่าย  ฯลฯ  ทั้งหมดนี้ไม่ใช่โรค  อาจดูเหมือนเป็นเพียงปัญหาการเลี้ยงดูที่พ่อแม่ทั่วๆ ไปก็พบเจอ  แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ  เพราะปัญหาเล็กๆ อาจพัฒนากลายเป็น “โรคจิตเวช” ในอนาคตได้ค่ะ”

คุณหมอวิมลรัตน์ วันเพ็ญ  รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์  กล่าวเปิดประเด็น  เพื่อแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ทำความเข้าใจ ใส่ใจ และรับมือกับสุขภาพจิตของลูกน้อยอย่างถูกวิธี  เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ลูกน้อยมีสุขภาพจิตแข็งแรง และส่งเสริมให้เขามีชีวิตดี๊ดีต่อไปในอนาคตค่ะ

ชวนคุณพ่อคุณแม่ทำความรู้จัก “โรคจิตเวช” ในเด็ก

เด็กส่วนใหญ่ในสังคมเพียงแค่มีปัญหาสุขภาพจิตหรือมีปัญหาพัฒนาการเล็กๆ น้อยๆ  ซึ่งหมอแค่สอนพ่อแม่เรื่องการเลี้ยงดูลูกที่ถูกวิธีให้  หรือแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ประสานงานกับโรงเรียน  เพื่อให้ครูดูแลเด็กได้อย่างเหมาะสม  เท่านี้ก็หมดปัญหาแล้ว  ส่วนเด็กในกลุ่มที่ป่วยเป็นโรคจิตเวช  ซึ่งต้องได้รับการรักษาอย่างจริงจังมีเพียงประมาณ 10% จากเด็กทั้งหมดเท่านั้น  แต่ถึงกระนั้นการทำความเข้าใจโรคจิตเวชไว้ก่อนอาจช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตลูกได้ง่ายขึ้น  หากเกิดความผิดปกติจะได้พามาปรึกษาคุณหมอทันท่วงที  ซึ่งโรคจิตเวชที่พบได้ในเด็กมีดังต่อไปนี้

♥ บทความแนะนำควรอ่าน : ควรรู้! 20 เรื่องสำคัญ ที่พ่อแม่ต้องบอกครู และคุณครูอยากบอกกับพ่อแม่

1. โรคออทิสติก

เด็กเล็กที่มาหาหมอส่วนใหญ่จะเป็นโรคเกี่ยวกับพัฒนาการ  โรคที่หมอเจอบ่อยที่สุดคือ ออทิสติก  แม้ออทิสติกจะเป็นความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด  แต่กว่าพ่อแม่จะสังเกตรู้มักจะเข้าช่วงวัยประมาณ 2 ขวบครึ่งแล้ว  เนื่องจากเด็กป่วยโรคออทิสติกมักมีการเจริญเติบโตทางด้านร่างกายปกติดี  บางครั้งบางคราวก็ดูรู้เรื่องและเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ดี  เพียงแต่ไม่สบตา  มีปัญหาเรื่องพูดช้า  และกว่า 75% มีปัญหาเรื่องไอคิว  จึงสังเกตได้ยากในวัยเบบี๋

♥ บทความแนะนำควรอ่าน : 14 ข้อสำคัญ เพื่อรับมือกับลูกน้อยที่เป็น เด็กออทิสติก

2. โรคสมาธิสั้น

กลุ่มโรคปัญหาด้านพฤติกรรมที่หมอพบบ่อยที่สุดคือ  โรคสมาธิสั้น  อาการของลูกน้อยที่คุณพ่อคุณแม่สังเกตได้ง่ายๆ คือ  เขาจะซนกว่าเด็กปกติ  ทำตัววุ่นวายอยู่ตลอดเวลา  เล่นอะไรไม่เสร็จซักอย่างก็เปลี่ยนของเล่นไปเรื่อยๆ  ไม่ชอบทำงานที่ต้องใช้สมาธิหรืองานที่ไม่สนุก เช่น การเรียน ทำการบ้าน  เด็กบางคนมีประวัติพูดช้ากว่าปกติ  และเมื่อโตขึ้นบางส่วนก็ทั้งดื้อทั้งเกเรอย่างหนัก  หรือมีพฤติกรรมที่เป็นการรบกวนผู้อื่นเสมอ

♥ บทความแนะนำควรอ่าน : ลูกไฮเปอร์ กับสมาธิสั้น แตกต่างกันอย่างไร?

3. โรคภาวะบกพร่องทางการเรียน 

ภาวะบกพร่องทางการเรียน หรือ LD  (Learning Disability)  คือ  โรคที่ทำให้เด็กมีทักษะความสามารถในการเรียนต่ำ  ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าใจและทำใจยอมรับว่า  เด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้เขาเรียนได้ไม่ดีไม่ใช่เพราะความขี้เกียจหรือเขาไม่ยอมเรียนหนังสือ  แต่เป็นเพราะความผิดปกติของสมอง  และเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม  เป็นเหตุให้ในสมองไม่มีโปรแกรมสำหรับการอ่านเขียน  ทำให้เขาแยกตัวหนังสือไม่ออก  อ่านไม่ได้  ไม่เข้าใจการสะกดคำ  และเขียนหนังสือไม่ถูก  เขาจึงอ่านและเขียนหนังสือช้ากว่าเพื่อน  เป็นเหตุให้มีผลการเรียนต่ำ  แม้พ่อแม่จะบีบบังคับเขาหนักหนาเพียงใด  หรือแม้ว่าเขาจะมีไอคิวสูงเกิน 140  ผลการเรียนก็อาจไม่ได้ตามที่พ่อแม่คาดหวังอยู่ดี

อ่านต่อ >> “11 โรคจิตเวชในเด็ก ที่พ่อแม่ควรรู้” คลิกหน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

ขอบคุณภาพจาก : www.wikihow.com

4. โรคติกส์ (Tics)

โรคติกส์ หรือ Tics  มีอาการกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าและลำคอกระตุกเป็นระยะ เด็กที่เป็นโรคนี้จึงมักขยิบตาหรือขยับปากบ่อยๆ  ระดับอาการมีตั้งแต่กะพริบตาเล็กน้อย  ไปจนถึงยักไหล่  ทำหน้าบิดเบี้ยว  อยู่เฉยไม่ได้  และติกส์แบบมีเสียงหรือที่เรียกกันว่า “ทูเรทท์” (Tourette)  เด็กกลุ่มนี้มักจะส่งเสียงเอะอะหรืออุทานเป็นคำไม่สุภาพ  จึงเกิดเสียงและพูดออกมาโดยไม่ตั้งใจ  อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นเองโดยควบคุมไม่ได้  แม้คุณพ่อคุณแม่จะดุด่าว่ากล่าวหรือขู่บังคับ  เขาก็จะยังคงห้ามตัวเองไม่ได้อยู่ดี

5. โรควิตกกังวล

พื้นฐานอารมณ์ของเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน เด็กวิตกกังวลจะมีพื้นฐานอารมณ์ปรับตัวช้า เช่น ไม่อยากไปโรงเรียนทุกครั้งที่เปิดเทอม  เนื่องจากไม่สามารถปรับตัวกับการไปโรงเรียนได้  แม้จะเป็นเพียงวันหยุดสั้นๆ  แต่เมื่อถึงคราวต้องไปโรงเรียนอีกครั้งก็จะร้องไห้งอแงไม่อยากไป  คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่มักจะพยายามหาวิธีหลอกล่อหรือทำข้อตกลงกับเด็กไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ  เด็กส่วนใหญ่ก็จะรับปากอย่างดีว่าจะไปโรงเรียน  แต่เมื่อตื่นเช้าวันไปโรงเรียนก็จะร้องไห้งอแงและไม่ยอมลุกจากที่นอนเหมือนเดิมทุกครั้ง  เมื่อไปถึงโรงเรียนก็จะยังร้องไห้ต่อสักพักจึงจะปรับตัวได้  นั่นเพราะเด็กมีภาวะวิตกกังวลเรื่องของการปรับตัวหรือกังวลต่อการพลัดพราก  ซึ่งหากลูกอ้างว่าไม่สบาย  แล้วคุณพ่อคุณแม่ยอมตามใจให้เขาหยุดเรียนบ่อยครั้ง  สุดท้ายเด็กเหล่านี้ก็จะไม่ไปโรงเรียน  ไม่เรียนหนังสือ  ไม่ทำงาน  และไม่ออกจากบ้าน  จากที่เป็นเพียงปัญหาในวัยเด็กก็จะพัฒนาสู่การเป็นโรควิตกกังวลต่อไปในอนาคต

♥ บทความแนะนำควรอ่าน : ลูกชอบจิตตก กลัวไปโรงเรียนสาย

6. โรคย้ำคิดย้ำทำ

เป็นอีกโรคในกลุ่มวิตกกังวลเช่นเดียวกัน  อาการที่แสดงออกมักจะคิดเรื่องเดิมซ้ำๆ  ส่งผลให้เด็กทำพฤติกรรมซ้ำๆ ในเวลาใกล้เคียงกัน  เช่น  ล้างมือ  อาบน้ำ  ดึงผม  ลบสิ่งที่เขียนแล้วเขียนใหม่ซ้ำๆ  ฯลฯ  ซึ่งอาการดังกล่าวทำให้เด็กทำการบ้านไม่เสร็จ  จัดการดูแลตัวเองได้ไม่ทันกำหนดเวลา  เพราะมัวแต่ทำซ้ำเรื่องเดิมๆ

7. โรคซึมเศร้า

แม้จะยังอยู่ในวัยเด็ก  แต่เด็กที่ได้รับพันธุกรรมโรคซึมเศร้ามาจากคุณพ่อคุณแม่ก็มักจะป่วยได้ตั้งแต่วัยประถมปลาย  แม้ครอบครัวจะเลี้ยงดูลูกอย่างดี  ชีวิตความเป็นอยู่ไม่ลำบาก  ไม่มีปัญหาใดๆ ในชีวิตมากระทบจิตใจเลย  แต่เด็กที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าอยู่ดีๆ เขาก็จะรู้สึกว่า “โลกไม่น่าอยู่” โดยไม่มีเหตุผล  หรือวันดีคืนดีก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นเด็กไร้ค่า  ไม่อยากมองใคร  ไม่อยากออกจากบ้าน  ไม่อยากเจอใคร  ไม่อยากใช้ชีวิต  แม้จะเรียนเก่ง  ครอบครัวดี  หรือมีฐานะการเงินดีแค่ไหนก็ตาม  หรือเด็กบางคนมีพันธุกรรมแห่งความคิดมาก  ในช่วงแรกอาจยังไม่ได้ป่วยเป็นโรค  แต่เมื่อถึงวัยที่ต้องเข้ากลุ่มสังคมที่โรงเรียน  เด็กกลุ่มนี้จะมีปัญหากับเพื่อนได้ง่าย  เช่น  เพื่อนไม่ทำงานกลุ่ม  เพื่อนไม่คบ  เพื่อนไม่คุยด้วย  ซึ่งอาจนำไปสู่ความคิดว่าเพื่อนไม่รัก  เพื่อนรังแก  ส่งผลให้กลายเป็นโรคซึมเศร้าและคิดฆ่าตัวตายในท้ายที่สุด  คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรซ้ำเติมว่าเขาอ่อนแอหรือเรียกร้องความสนใจ  แต่ควรพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง  และเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายในภายหลัง

อ่านต่อ >> “11 โรคจิตเวชในเด็ก ที่พ่อแม่ควรรู้” คลิกหน้า 3

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

8. โรคภาวะอารมณ์แปรปรวน

โรคภาวะอารมณ์แปรปรวนมีพบในเด็กบ้างเล็กน้อย  โดยจะแสดงอาการสองแบบสลับกันในคนละช่วงเวลา  โดยจะมีช่วงที่อารมณ์เหวี่ยงขึ้นกับช่วงซึมเศร้า  ช่วงอารมณ์เหวี่ยงเด็กจะไม่อยู่นิ่ง  อยากทำนู่นทำนี่เยอะแยะไปหมดราวกับมีพลังมากมายมหาศาล บางคนมีอารมณ์หงุดหงิด  สักพักจะเริ่มเข้าสู่ช่วงที่เก็บตัว  รู้สึกซึมเศร้า  และไม่อยากทำอะไรเลย

9. โรคติดเกมหรืออินเตอร์เน็ต

เด็กสมัยนี้ติดเกมติดอินเตอร์เน็ตกันเยอะ  ส่วนมากเกิดจากการใช้ที่ผิดวิธี  เล่นมากจนเกิดการเสพติด  และหากปล่อยไว้จะยิ่งมีผลกระทบกับการเรียนและการดำเนินชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ  หมอเคยเจอเด็กเคสหนึ่งซึ่งเรียนเก่งมาก  จนเมื่อติดเล่นเกมออนไลน์ในช่วงปิดเทอม  เขาเริ่มเปลี่ยนมานอนตอนกลางวันและตื่นเล่นเกมตอนกลางคืน  แม้เขาสัญญาว่าเมื่อเปิดเทอมจะเลิกทำแบบนี้  แต่กว่าจะถึงตอนนั้นเขาก็เสพติดอย่างหนักไปแล้ว  จึงไม่สามารถควบคุมชีวิตให้เป็นปกติได้  สุดท้ายจึงต้องออกจากโรงเรียน  มีเด็กเก่งๆ โรงเรียนดังๆ มากมายที่เป็นแบบนี้และต้องเข้ารับการบำบัดรักษา  และมีเด็กอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่เข้ารับการรักษาและไม่สามารถกลับไปเรียนได้อย่างเดิม

10. ภาวะเรียนรู้ช้า

เด็กที่มีภาวะเรียนรู้ช้าคือเด็กที่มีระดับสติปัญญาไม่ผิดปกติ แต่ตกเกณฑ์มาตรฐาน  เด็กเหล่านี้จะเรียนรู้ช้ากว่าเกณฑ์  มีปัญหาเรียนไม่เข้าใจ สอบตก คุณพ่อคุณแม่จึงควรดูแลเรื่องการเรียนร่วมกับทางโรงเรียน ช่วยตามงาน ช่วยสอนการบ้าน และดูแลเรื่องพฤติกรรมให้เหมาะสม

11. โรคจิตเภท

ผู้ป่วยโรคจิตเภทหรือที่คนทั่วไปเรียกว่า “โรคบ้า” พบเจอได้น้อยมากในวัยเด็ก  ซึ่งหากป่วยเป็นโรคจิตเภทแล้วมักจะมีอาการหูแว่ว หลงผิด โดยโรคนี้สามารถรักษาได้โดยการรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญสำหรับคุณพ่อคุณแม่ คือ โรคจิตเภท เป็นโรคทางสมองอย่างหนึ่งที่รักษาได้ จึงไม่ควรใช้คำนี้ในการขู่หรือตำหนิลูก ซึ่งอาจทำให้ลูกรู้สึกไม่ดีต่อตนเองได้

อ่านต่อ >> “สาเหตุที่ทำให้ลูกป่วยเป็นโรคจิตเวช” คลิกหน้า 4

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

ลูกของเราป่วยเพราะอะไรนะ

เด็กที่มีปัญหาสุขภาพจิตหรือป่วยเป็นโรคจิตเวช  เกิดได้จาก 3 ปัจจัยหลัก  คือ  ตัวของเด็กเอง  การเลี้ยงดู  และสิ่งแวดล้อม

1. ปัญหาจากตัวเด็ก

เด็กป่วยโรคจิตเวชบางส่วนมีสมองผิดปกติมาตั้งแต่กำเนิด  และมีอีกส่วนที่เกิดจากพื้นฐานนิสัยและอารมณ์  ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่เท่ากัน  ซึ่งหมอจะแบ่งเด็กที่เกิดมาเป็น 4 แบบ  ดังนี้

นิสัยพื้นฐาน + โรค = อาการที่แตกต่าง 

เด็กป่วยแต่ละคนจะแสดงอาการหรือพฤติกรรมไม่เหมือนกัน  ขึ้นอยู่กับนิสัยพื้นฐานของตัวเด็ก  ยกตัวอย่างจากเด็กที่ป่วยด้วยโรคสมาธิสั้นเหมือนกัน  แต่มีพื้นฐานนิสัยแตกต่างกัน  เมื่อพวกเขาเจอสถานการณ์อย่างเดียวกัน  เช่น  คุณครูสั่งให้นั่งทำการบ้านให้เสร็จ  แม้พวกเขาจะไม่สามารถทำการบ้านให้เสร็จได้เช่นเดียวกัน  แต่ก็จะแสดงออกผ่านพฤติกรรมที่แตกต่างกัน

จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมต่างกัน  วิธีการรับมือเพื่อให้ลูกทำงานเสร็จตามเป้าหมายก็ต้องแตกต่างกันด้วย  คุณพ่อคุณแม่จึงควรสังเกตให้รู้ว่าลูกมีนิสัยพื้นฐานแบบใด  เพื่อจะได้หาวิธีรับมือเขาได้ถูกทางนะคะ

อ่านต่อ “ลักษณะนิสัยพื้นฐาน + โรค = อาการที่แตกต่างของเด็ก”
คลิกหน้า 5

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

2. ปัญหาจากการเลี้ยงดู

หากคุณพ่อคุณแม่เป็นคนปรับตัวง่าย  หมอคงไม่ต้องห่วงอะไรมาก  เพราะถึงจะเจอลูกแบบไหนก็รับมือไหว  แต่ถ้าพ่อแม่ปรับตัวยากมีลูกปรับตัวยากเหมือนกัน  บ้านนั้นก็จะทะเลาะกันทั้งวัน  หากพ่อแม่ปรับตัวยากมีลูกปรับตัวช้า  บ้านนั้นพ่อแม่ก็จะเอาแต่ดุด่าลูก  เพราะลูกทำอะไรไม่เคยได้ดั่งใจเสียที  หรือถ้าพ่อแม่ปรับตัวช้ามีลูกปรับตัวยาก  พ่อแม่ก็จะเอาลูกไม่อยู่  คุมลูกไม่ได้  เพราะฉะนั้นการดูแลของพ่อแม่ก็เป็นเรื่องสำคัญ  หรือแม้กระทั่งพ่อแม่ปรับตัวง่ายในยุคนี้ซึ่งมีความคาดหวังสูง  อยากให้ลูกได้ที่หนึ่ง  ต้องเก่งทั้งวิชาการ  ดนตรี  และศิลปะ  ต้องให้ลูกทำได้ทุกอย่าง  ถ้าเด็กทำได้ตามที่พ่อแม่คาดหวังก็ดีไป  แต่ถ้าทำได้ไม่เท่าความคาดหวังของพ่อแม่ก็จะอยู่ลำบาก  อาจเกิดความคับข้องใจกันจนกลายเป็นปัญหาครอบครัว  ลักษณะนิสัยพื้นฐานของพ่อแม่และวิธีการเลี้ยงดูจึงส่งผลต่อจิตใจและพฤติกรรมของลูกด้วยเช่นกัน  ซึ่งตามทฤษฎีที่หมอศึกษามาเราจะแบ่งพ่อแม่ออกเป็น 4 แบบ  คุณพ่อคุณแม่ลองอ่านและคิดภาพตามนะคะ  ว่าตอนนี้เราเป็นพ่อแม่แบบไหนกันนะ

แต่ปัญหาหลักของพ่อแม่คือ  พ่อแม่มักจะไม่รู้ตัวว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มไหน  ถึงหมอจะบอกว่า  “คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงลูกตามใจมากนะคะ”  แต่พ่อแม่ส่วนใหญ่ก็จะปฏิเสธว่า  “ไม่เคยตามใจลูกเลยค่ะ!!!”…จริงไหมคะ?  หรือหมอบอกว่า  “ทำไมถึงเข้มงวดกับลูกมากขนาดนี้  คุณพ่อคุณแม่คาดหวังกับลูกมากไปนะคะ”  พ่อแม่ส่วนใหญ่ก็จะปฏิเสธอีกว่า “ไม่เคยหวังอะไรกับลูกเลยค่ะ  ขอแค่เขาเป็นเด็กดีก็พอใจแล้ว!!!”  แต่สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำแต่ละอย่างกลับสวนทางกัน  ไหนจะส่งลูกไปเรียนพิเศษเยอะๆ  ให้ลูกเรียนว่ายน้ำ  ให้ลูกประกวดร้องเพลง  ตั้งกฎว่าห้ามสอบตก  ห้ามแพ้  แต่ก็บอกหมอว่า  “ไม่เคยหวังอะไรเลยค่ะ…”

ในตำแหน่งหน้าที่ของหมอ  ขอบอกเลยค่ะว่าการดูแลพ่อแม่ยากกว่าการดูแลเด็กๆ มากนัก  เพราะพ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว  พ่อแม่จะรู้แค่ว่า “ฉันทำถูกต้องแล้ว  เพราะฉันให้ความรักอย่างเหมาะสม”  ถูกไหมคะ?  เพราะฉะนั้นหากคุณพ่อคุณแม่อยากช่วยลูก  ก่อนอื่นต้องพิจารณาและยอมรับความจริงให้ได้ก่อนว่าตัวเองเป็นพ่อแม่แบบไหน  หากยอมรับได้และยินดีที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงลูกให้เป็นแบบพ่อแม่มีอำนาจปกครอง  ก็จะช่วยเยียวยาจิตใจและรักษาอาการป่วยของลูกได้มากทีเดียว

3. ปัจจัยสิ่งแวดล้อม

สิ่งแวดล้อมที่ใกล้ชิดเด็กที่สุดคือโรงเรียน  ซึ่งแต่ละโรงเรียนก็สอนเด็กไม่เหมือนกัน  บางโรงเรียนเน้นเรียนสุดชีวิตจิตใจ  หากคุณพ่อคุณแม่ให้ลูกไอคิวไม่ดี  ลูกที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียน  ลูกสมาธิสั้น  หรือลูกที่เป็นออทิสติกไปเรียนกับเขา  ลูกก็จะไม่ถูกเสริมสร้างพัฒนาการอย่างถูกต้องเหมาะสม  หนำซ้ำยังเรียนอย่างไม่มีความสุขอีกด้วย  คุณพ่อคุณแม่จึงควรเลือกโรงเรียนที่เหมาะกับความสามารถและมีแนวทางในการส่งเสริมพัฒนาการให้เด็กที่มีความหลากหลายได้  เช่น  โรงเรียนที่มีระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน  ซึ่งจะมีความเข้าใจธรรมชาติของเด็กปกติและเด็กป่วย  มีการคัดกรองเด็ก  แยกเด็กกลุ่มมีปัญหาเพื่อเอามาแก้ไข  ไม่ใช่แยกไว้เพื่อให้ไปอยู่รวมกันเฉยๆ  โรงเรียนที่ดีจะไม่มีการไล่เด็กออก  เด็กคนไหนไม่มาสอบซ่อมหรือไม่ส่งงานก็จะติดตามไปเรื่อยๆ  หรือหากเด็กไม่มีเงินเรียน  ทางโรงเรียนก็จัดหาทุนการศึกษาให้  สุดท้ายเด็กกลุ่มนี้แม้จะขาดโอกาสแต่ก็จะยังอยู่ในระบบของการศึกษา  ช่วยให้เขามีวุฒิการศึกษาสำหรับการประกอบอาชีพในอนาคต  และช่วยลดความเสี่ยงจากการติดยาเสพติดหรือมั่วสุมกันทำสิ่งที่ไม่ดีได้

จะเห็นได้ว่าทุกปัจจัยล้วนมีส่วนสำคัญต่อสุขภาพจิตและชีวิตของเด็ก  ชีวิตของเขาจะดี๊ดีหรือไม่  ทั้งตัวเขา  ครอบครัว  และโรงเรียนจะต้องช่วยกันในทุกทาง  เพราะฉะนั้นการที่ลูกของคุณพ่อคุณแม่ป่วยด้วยโรคจิตเวชก็อย่าเพิ่งโทษแต่ตัวเอง  หมอต้องย้ำเรื่องนี้เพราะจะมีพ่อแม่ที่ห่วงและรักลูกมาก  แต่สุดท้ายลูกไม่ได้อย่างที่เราต้องการ  ก็จะคิดมากและเก็บมาโทษตัวเอง  พอโทษตัวเองเยอะๆ ก็จะไม่มีกำลังแรงใจจะทำสิ่งดีๆ ให้ลูก  เพราะในแต่ละวันยังต้องเอากำลังแรงใจมาใช้ยกโทษให้ตัวเองอยู่เลย  คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกป่วยจึงต้องเข้มแข็ง  ปรึกษาหมอและหาทางออกไปด้วยกัน  ส่วนคุณพ่อคุณแม่ที่ลูกยังไม่ป่วยก็อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจ  แต่ควรจะหาวิธีป้องกันด้วยการเลี้ยงลูกให้มีสุขภาพจิตแข็งแรงไว้ก่อน

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!


ขอบคุณบทความจาก : พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต จากนิตยสาร Amarin Baby & Kids ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2016