AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

“ไส้เลื่อนในเด็ก” อันตรายถึงชีวิต ทารกและเด็กหญิงก็เป็นได้

ไส้เลื่อนในเด็ก

โรคไส้เลื่อนเป็นโรคที่ผู้ชายกลัว แต่รู้หรือไม่ว่า ไส้เลื่อนในเด็ก ไม่ว่าจะเป็นทารกหรือเด็กเล็ก เด็กผู้ชายหรือเด็กผู้หญิง ก็สามารถเป็นโรคไส้เลื่อนได้ อ่านรายละเอียดและวิธีสังเกตอาการไส้เลื่อน ได้ที่นี่

“ไส้เลื่อนในเด็ก” อันตรายถึงชีวิต ทารกและเด็กหญิงก็เป็นได้

ไส้เลื่อนคืออะไร?

ไส้เลื่อน (Hernia) คือ ภาวะที่ลำไส้เคลื่อนตัวออกมาจากตำแหน่งเดิม และทำให้เห็นเป็นลักษณะคล้ายก้อนตุง ซึ่งเกิดจากความอ่อนแอของผนังช่องท้องที่มีมาแต่กำเนิด หรือเกิดภายหลังเช่น จากการผ่าตัด ภาวะแรงดันที่มากผิดปกติภายในช่องท้อง เนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ อาทิ เบ่งจากภาวะท้องผูก การไอหรือจาม การยกของหนัก โดยภาวะไส้เลื่อนสามารถแบ่งออกเป็นประเภทตามบริเวณตำแหน่งการเกิดโรคที่พบได้บ่อย ได้แก่ ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ ไส้เลื่อนบริเวณสะดือ ไส้เลื่อนเนื่องจากการผ่าตัด และ ไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบ

ไส้เลื่อนในเด็กนี้เกิดได้ในทุกช่วงอายุ โดยพบว่าเด็กผู้ชายมีโอกาสเป็นไส้เลื่อนได้มากกว่าเด็กผู้หญิง และเกิดขึ้นในข้างขวามากกว่าข้างซ้าย และพบในเด็กที่คลอดก่อนกำหนดมากกว่าเด็กที่ครบกำหนด

ไส้เลื่อนในเด็ก มีอาการอย่างไร?

อาการของเด็กที่เป็นไส้เลื่อน จะพบว่ามีก้อนบริเวณเหนือขาหนีบและข้างหัวเหน่าเคลื่อนตัวออกมา หรือ เข้า ๆ ออก ๆ เด็กจะมีอาการเจ็บเวลาเบ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเบ่งอุจจาระ ปัสสาวะ ไอ หรือร้องไห้ก็ตาม เด็กบางคนจะรู้สึกแน่นท้อง หรือมีอาการปวดแสบปวดร้อน จนงอแง ก้อนที่ออกมาจะยุบหายไปหมดเมื่อเด็กนอนหลับ บางครั้งคุณพ่อคุณแม่ก็สามารถดันก้อนไส้เลื่อนกลับเข้าไปในช่องท้องได้ ในเด็กที่เกิดภาวะไส้เลื่อนหนักขึ้น อาจมีอาการอาเจียน ท้องผูก มีแก๊สในกระเพาะอาหาร หรือบริเวณที่ไส้เลื่อนออกมาตุงที่ผนังหน้าท้องมีลักษณะแข็ง จนไม่สามารถใช้มือกดบริเวณที่เป็นก้อนลงไปได้ โดยหากเกิดอาการเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์อย่างเร็วที่สุด เพราะอาจเป็นสัญญาณว่าเลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงลำไส้ในบริเวณที่เป็นไส้เลื่อนได้ เกิดอาการบวม เสี่ยงต่อภาวะลำไส้ตาย ซึ่งจะต้องได้รับการผ่าตัดด่วนเพื่อรักษาอาการ

อาการไส้เลื่อนในเด็กที่มีอาการหนัก เด็กจะร้องกวน งอแง และรู้สึกปวด

ไส้เลื่อนในเด็ก มีสาเหตุมาจากอะไร?

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดไส้เลื่อน สามารถเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นความอ่อนแอของเยื่อบุช่องท้อง ความอ่อนแอของกล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้อง ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่กำเนิด เกิดจากการเกิดอุบัติเหตุที่ช่องท้องจนทำให้กล้ามเนื้อบริเวณช่องท้องอ่อนแอลง หรือเกิดขึ้นจากการผ่าตัด นอกจากนี้ แรงดันภายในช่องท้องก็เป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้เกิดภาวะไส้เลื่อนได้อีกด้วย เพราะเมื่อแรงดันในช่องท้องมากขึ้น ลำไส้ที่อยู่ภายในก็จะถูกดันออกมาตุงอยู่ที่บริเวณผนังช่องท้อง

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ อันตรายจากโรค ไส้เลื่อนในเด็ก และ วิธีการรักษาโรคไส้เลื่อน

อันตรายจากโรคไส้เลื่อนในเด็ก

เนื่องจากเด็กเล็ก ไม่สามารถบอกคุณพ่อคุณแม่ได้ ว่ามีอาการเจ็บหรือปวดตรงจุดไหน และสำหรับเด็กที่ไม่มีอาการใด ๆ หากไม่สังเกตให้ดีก็จะไม่ทราบได้ว่าเป็นโรคไส้เลื่อน จนทำให้อาการไส้เลื่อนเรื้อรัง ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง เช่น อาการเจ็บหรือปวดบริเวณที่เป็นไส้เลื่อน เนื่องมาจากแรงดันที่ไปกดทับบริเวณที่อยู่โดยรอบลำไส้ที่เลื่อนออกมา หรือทำให้เกิดอาการท้องผูก รู้สึกคลื่นไส้ เนื่องมาจากการเคลื่อนที่ของลำไส้ถูกจำกัด อีกทั้งเนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าวอาจเกิดการติดเชื้อและตายในที่สุด อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

วิธีการรักษาโรคไส้เลื่อน

วิธีการรักษาโรคไส้เลื่อนที่ดีที่สุด คือการรักษาโดยการผ่าตัด โดยเฉพาะไส้เลื่อนชนิดติดค้างควรได้รับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน ส่วนไส้เลื่อนชนิดอื่น ๆ หากในระหว่างรอการผ่าตัด แพทย์อาจใช้ยาเพื่อประคับประคองอาการไม่ให้รุนแรงไปกว่าเดิม อาทิ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาขยายหลอดลมเพื่อลดอาการไอในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคปอด หรือยาขับปัสสาวะเพื่อลดระดับของเหลวในช่องท้อง เป็นต้น

อย่างไรก็ตามการใช้ยาสามารถประคับประคองอาการไส้เลื่อนได้ชั่วคราวเท่านั้น เพราะเมื่อถึงระยะหนึ่งแพทย์จะพิจารณาให้ทำการผ่าตัดโดยเร็วที่สุด โดยแพทย์จะพิจารณาจากขนาดของไส้เลื่อน อายุ อาการของผู้ป่วย และชนิดของไส้เลื่อนที่เป็น เช่น เด็กที่เป็นไส้เลื่อนที่สะดือ สามารถรอดูอาการจนถึงอายุ 2 ขวบแล้วค่อยพิจารณาผ่าตัดรักษา เนื่องจากสามารถหายได้เอง ทั้งนี้หากเด็กมีอาการของไส้เลื่อนที่ขาหนีบก็ควรได้รับการรักษาเร็วที่สุด เพราะหากทิ้งไว้จะยิ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะลำไส้ติดค้างมากขึ้น

การรักษาอาการไส้เลื่อนที่ดีที่สุด คือการผ่าตัด

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กังวลเรื่องการผ่าตัดไส้เลื่อนในเด็กนั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิค่ะ การดมยาสลบในเด็กซึ่งไม่เคยมีโรคประจำตัวใด ๆ มาก่อนมีความเสี่ยงที่ต่ำมาก ๆ นอกจากนี้ การผ่าตัดนี้ไม่ได้ผ่าตัดเข้าไปภายในช่องท้องเพียงแต่ผ่าตัดซ่อมแซมผนังหน้าท้องที่เป็นปัญหาเท่านั้น การผ่าตัดใช้เวลานาน 30 – 45 นาที และเมื่อเด็กฟื้นจากการดมยาสลบและตื่นได้ดี แพทย์ก็จะให้กลับบ้านได้เลยในวันเดียวกัน โดยไม่จำเป็นต้องนอนรับการรักษาในโรงพยาบาล ยกเว้นเด็กจะมีอายุน้อยมาก ๆ เช่นเป็นเด็กคลอดก่อนกำหนดและมีอายุน้อยมาก ๆ ในขณะที่ผ่าตัดหรือเด็กมีโรคประจำตัวบางอย่างเช่นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคไต เป็นต้น ซึ่งในกรณีเช่นนี้ ก็ควรนอนโรงพยาบาลหลังผ่าตัด 1 – 2 วันค่ะ

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

แม่แชร์! ลูก สะดือจุ่น ผิดปกติ สุดท้ายเป็นไส้เลื่อนสะดือ

6 อาหารต้านภูมิแพ้ ลูกแข็งแรงห่างภูมิแพ้ง่าย ๆ ด้วยอาหาร

ลูกไม่สบายท้อง รับมืออย่างไร ?

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : Pobpad, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids