ลูกอาเจียน หรือ ลูกอ๊วก อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล็ก เพราะในการอาเจียนแต่ละครั้ง อาจเป็นสาเหตุของโรคร้ายต่อลูกน้อยที่คุณคาดไม่ถึง
เชื่อได้เลยว่าคุณพ่อคุณแม่ และเด็กๆ แทบจะทุกคนคงเคยผ่านอาการคลื่นไส้อาเจียนมาบ้างไม่มากก็น้อย และคงทราบดีว่า การอาเจียนก็มีประโยชน์เช่นกัน คือ เมื่อได้คายของเก่าออกไปบ้าง ก็ทำให้รู้สึกโล่งสบายท้อง สบายกายสบายใจขึ้น นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ที่เตือนให้รู้ว่า ตอนนี้ร่างกายของเรามีความผิดปกติอะไรเกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยให้รู้ตัว และสามารถป้องกัน และรักษาก่อนที่จะเกิดการลุกลามของโรคนั้นๆ ขึ้น
ระวัง ลูกอาเจียน ไม่ใช่เรื่องเล็ก เสี่ยงเป็น 6 โรคร้าย
อาเจียน เป็นอาการอย่างหนึ่งที่พบร่วมในโรคต่างๆ มากมาย เช่น โรคของทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย ลำไส้อุดตัน โรคของระบบประสาท เช่น เยื้อหุ้มสมองอักเสบ เนื้องอกในสมอง ภาวะน้ำคั่งในสมอง หรืออาจเกิดจากรับประทานยาบางอย่างก็ได้
ทั้งนี้อาจเกิดได้โดยไม่มีโรคทางกายใดๆ กรณีเช่นนี้ก็พบได้บ่อย โดยเฉพาะในทารก หรือเด็กเล็กที่ดื่มนมมากไป แล้วไม่ได้อุ้มเด็กพาดบ่าทำให้เรอมากพอ หรือคุณแม่อาจจะให้นมไม่ถูกวิธี เช่นให้นอนดูดนม แทนที่จะอุ้มให้ดูดนม เป็นต้น
แต่ถ้าอาเจียนแบบรุนแรงไม่รู้จักหยุดหย่อนก็อาจจะมีผลทำให้เกิดการฉีกขาด ของกล้ามเนื้อหลอดอาหาร มีเลือดออกมาก และยังทำให้สูญเสียน้ำและเกลือแร่ออกจากร่างกาย เกิดภาวะขาดน้ำ เกิดการเปลี่ยนแปลงสมดุลของเกลือแร่ภายในร่างกายดีไม่ดีถ้าอาเจียนจนเกิดการ สำลักเศษอาหารเข้าไปในหลอดลมอาจทำให้ถึงกับเสียชีวิตได้
อาการเมื่อลูกอาเจียน และท้องเสีย
อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งบางอย่างอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งในรายที่มีอาการอาเจียนหรือท้องเสียรุนแรงควรนำลูกมาพบแพทย์เสมอ เนื่องจากการอาเจียนนั้นอาจเป็นเพียงอาการนำของโรคอื่นๆ ที่อาจไม่ใช่จากโรคของระบบทางเดินอาหารก็ได้ เช่น อาการที่เด็กซึมลง ปวดหัว และมีอาเจียน อาจเกิดจากการที่มีความดันสูงในสมอง
ถ้าลูกมีอาการคอแข็ง และไข้สูงด้วย ให้นึกถึงการติดเชื้อของสมอง ไข้สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฯลฯ หรืออาจเกิดจากการมีก้อนเนื้องอกในสมอง หรือเลือดออกในสมองจากอุบัติเหตุ หรือเส้นโลหิตแตกในสมอง ฯลฯ
ทั้งนี้หากลูกน้อยมีอาการปวดท้องร่วมกับการอาเจียนค่อนข้างมาก หรือจนบางครั้งเห็นสิ่งที่อาเจียนออกมาเป็นน้ำสีเหลืองๆ ซึ่งเป็นสีเหลืองของน้ำดีที่ออกมาจากถุงน้ำดี แสดงว่าอาการค่อนข้างรุนแรง อาจต้องนึกถึงเรื่องไส้ติ่งอักเสบ ภาวะลำไส้กลืนกัน หรือภาวะทางศัลยกรรมอื่นๆ ที่ต้องการการผ่าตัด
- รวม 20 อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย แบบนี้..! กำลังป่วยเป็นโรคอะไร?
- ตารางวัคซีน 2564 ปีนี้มีปรับรายละเอียด? ลูกต้องฉีดอะไร ตอนไหนบ้าง เช็กเลย!
ขั้นตอนการอาเจียน
ขั้นตอนการอาเจียนจะมีลักษณะประกอบด้วยอาการ 3 อย่าง
- อาการแรกเป็นความรู้สึกคลื่นไส้ เรียกว่า nausea ความรู้สึกคลื่นไส้นี้มักจะมีอาการทางระบบประสาทอัตโนมัติร่วมด้วย
- ต่อมาร่างกายจะพยายามทำให้เกิดความดันที่เป็นลบภายในในช่องอก โดยกลไกทำให้กล่องเสียงปิด กล้ามเนื้อที่ใช้หายใจหดตัว และกระบังลมเลื่อนลงมาในช่องท้อง เรียกอาการดังกล่าวนี้ว่า retching
- หลังจากนั้นจึงจะมีอาการอาเจียนพุ่งออกมาจากทางเดินอาหาร เรียกขั้นตอนสุดท้ายนี้ว่า emesis
ปกติอาหารที่กินเข้าไป จะเคลื่อนที่ไปตามทางเดินอาหาร ถูกย่อยและดูดซึมสารอาหารไปใช้ประโยชน์ แก่ร่างกาย บางส่วนก็จะถูกขับออก แต่ในภาวะที่เกิด “อาเจียน” แทนที่อาหารจะเคลื่อนที่ลงไปเป็นขั้นเป็นตอน กลับถูกผลักดันให้ไหลย้อนกลับจากกระเพาะอาหารสู่หลอดอาหาร และขย้อนไหลออกทางปาก
ซึ่งส่วนใหญ่ก่อนที่จะมีอาการอาเจียนเกิดขึ้นนั้น จะมีอาการคลื่นไส้นำมาก่อน ซึ่งจะทำให้กระเพาะอาหารเคลื่อนไหวลดลง แต่ถ้าอาการคลื่นไส้ที่รุนแรงจะพบว่ามีอาการเหงื่อออก ผิวหนังซีด ตัวเย็น น้ำลายไหล และบางครั้งอาจทำให้ชีพจรช้าลงและความดันเลือดต่ำได้ หลังจากคลื่นไส้แล้ว ก็จะมีอาการขย้อนตามมา เป็นผลจากการที่มีการหายใจเข้า-ออกถี่ๆ เป็นจังหวะ เศษอาหารเกิดการไหลย้อนกลับสู่หลอดอาหาร
สาเหตุที่ลูกอาเจียน
1. สาเหตุที่ทำให้อาเจียนส่วนใหญ่เกิดจากโรค หรือความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร การอุดตันของกระเพาะ ลำไส้ หรือมีการอักเสบ ของทางเดินอาหาร
2. ภาวะการติดเชื้อในตำแหน่งต่างๆ ของร่างกาย โรคติดเชื้อเฉียบพลันในเด็ก
3. โรคของสมองและระบบประสาทที่กระตุ้นศูนย์ควบคุมการอาเจียนโดยตรง อาการอาเจียนจากสมอง มักมีอาเจียนพุ่ง
4. สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือโรคกระเพาะและลำไส้อักเสบ สาเหตุทางกายอื่นๆ เช่น ไข้สูง ไซนัสอักเสบ คออักเสบ ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ รับประทานอาหารมากเกินไป
5. สำหรับปัญหาทางศัลยกรรมที่ควรคิดถึง ได้แก่ โรคไส้ติ่งอักเสบ
6. ในกรณีที่อาเจียนติดต่อกันรุนแรงควรนึกถึงภาวะความดันในสมองสูง และโรคไมเกรนด้วยเสมอ ในผู้ป่วยที่มีอาเจียนพุ่ง โดยเฉพาะเวลาหลังตื่นนอน ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะ ชัก กระหม่อมโป่งตึง หัวโต ให้คิดถึงโรคทางสมอง
หรืออาจเกิดจากยา สารพิษ หรืออาหารบางชนิดก็ทำให้อาเจียนได้ เช่น ยาสลบ ยารักษามะเร็ง
อาการเมื่อลูกอาเจียน
- คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตลักษณะอาเจียนที่ออกมา ว่าเป็นเศษอาหาร เสมหะ สีอะไร อาเจียนแบบพุ่ง หรือไม่พุ่ง เนื่องจากลักษณะอาเจียนต่างๆ จะช่วยในการวินิจฉัยโรคได้
- เมื่ออาเจียนออกมาแล้วมักจะสบายขึ้น เมื่อลูกอาเจียนจึงควรพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุ และให้การรักษาต่อไป
- เมื่อเด็กมีอาการอาเจียน โดยเฉพาะถ้ามีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ควรพาเด็กไปปรึกษาแพทย์ไม่ควรซื้อยาให้รับประทานเองเด็ดขาด เพราะยาแก้อาเจียน ถ้ารับประทานเกินขนาด อาจเกิดอันตรายได้ นอกจากนี้โรคบางอย่าง ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันการหรือถูกวิธี ก็อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
อ่านต่อ >> “ลักษณะอาการขาดน้ำหลังลูกอาเจียนที่ควรรีบพาลูกไปหาหมอ” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อาการการขาดน้ำค่อนข้างมากที่ควรรีบพาลูกไปหาหมอ
- มีอาการซึม หงอยลง ไม่เล่น ไม่คุยเหมือนก่อน บางทีจะพบว่า เด็กจะเพลียเอาแต่นอน ในบางรายอาจดูกระสับกระส่าย เอะอะโวยวายสลับกับอาการซึมก็ได้
- ร้องไห้ไม่ค่อยมีน้ำตาออกมา น้ำลายแห้ง
- ไม่ค่อยมีปัสสาวะ หรือสังเกตว่าผ้าอ้อมไม่เปียกจากการที่เด็กไม่มีปัสสาวะเลยหลายชั่วโมง (6-8 ชั่วโมง)
- กระหม่อมหน้าบุ๋มลึก หรือมีกระบอกตาลึก ริมฝีปากแห้ง
- การเต้นของหัวใจหรือชีพจรค่อนข้างเบาเร็ว
- ผิวหนังที่เคยดูอวบตึง กลับมีความรู้สึกเหี่ยวย่น แห้งๆ ไป
- ในกรณีที่มีอาการชัก และซึมลง ร่วมด้วย
- ในกรณีที่เป็นเด็กเล็ก (อายุต่ำกว่า 6 เดือน) เมื่อมีการอาเจียนหรือท้องเสียค่อนข้างมาก ควรพบแพทย์โดยเร็ว เพราะอาจเกิดอันตรายจากการขาดน้ำหรือการติดเชื้อรุนแรงได้ง่าย และเนื่องจากอาการของเด็กเล็ก จะสังเกตดูได้ยากกว่าเด็กโต
การวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุ
ส่วนใหญ่แพทย์จะให้การวินิจฉัยเบื้องต้นจากลักษณะอาการที่เกิดขึ้น ประวัติความเจ็บป่วยในอดีต โรคประจำตัว การใช้ยาต่างๆ ร่วมกับการตรวจร่างกายอย่างละเอียด
การรักษา
- การรักษาที่เฉพาะเจาะจงขึ้นกับสาเหตุของโรคว่าเป็นจากอะไร หากสาเหตุไม่ร้ายแรงส่วนใหญ่มักไม่เป็นปัญหาในการรักษา อย่างไรก็ตามการทีอาเจียนมากอาจจะทำให้เกิดผลแทรกซ้อนตามมา เช่น ภาวะขาดน้ำ และเสียสมดุลเกลือแร่ หรือที่เรียกว่าอิเลคโทรลัยต์ในร่างกาย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขให้ทันท่วงที
- สำหรับลูกที่อาเจียนไม่มาก โดยทั่วไปมักจะแนะนำให้กินอาหารที่ย่อยง่ายในปริมาณที่ลดน้อยลง แต่ถ้าอาเจียนมากหรือรุนแรง อาจต้องงดอาหาร และให้สารน้ำทางหลอดเลือดหรือให้น้ำเกลือแทน แต่ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องกระทำทุกรายไป ขึ้นกับความรุนแรงของอาการว่ามากหรือน้อย และพิจารณาสาเหตุที่ทำให้อาเจียนเป็นรายๆ ไป
- ยาที่มีส่วนช่วยทำให้อาเจียนน้อยลง หรือที่เรียกว่ายาแก้อาเจียน มีทั้งยาที่ออกฤทธิ์ที่ทางเดินอาหาร และยาที่ออกฤทธิ์ในสมอง ยาที่ใช้บ่อยได้แก่ metoclopramide, domperodine, cisapride การใช้ยากลุ่มนี้ควรให้เพื่อป้องกัน ไม่ควรให้หลังจากที่มีอาการอาเจียนแล้ว ในผู้ป่วยที่อาเจียนอยู่ แนะนำให้กินหรือฉีดก่อนรับประทานอาหารประมาณ 20-30 นาที
- ถ้าลูกอาเจียน ควรให้รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย โดยให้ทีละน้อย บ่อยๆ ให้น้ำเกลือแร่ ORS เพื่อทดแทนเกลือแร่ที่เสียไปกับอาเจียน โดยให้จิบทีละน้อย และบ่อยๆ และให้ยาแก้อาเจียนตามแพทย์สั่ง ควรให้รับประทาน 1/2 ชั่วโมงก่อนมื้ออาหาร
- เมื่อมีอาเจียนมาก รับประทานอาหารหรือน้ำไม่ได้เลย ซึมลง มีอาการขาดน้ำ กระหม่อมบุ๋ม ปากแห้งมาก ตาโหล ผิวหนังเหี่ยว แพทย์จะพิจารณาให้น้ำเกลือทางเส้นเลือด และรักษาสาเหตุต่อไป
คุณพ่อคุณแม่ควรพึงระลึกไว้เสมอว่า ลูกอาเจียน เป็นอาการแต่ไม่ใช่โรค ดังนั้นการรักษามิใช่เพียงให้ยาแก้อาเจียน แต่ต้องวินิจฉัยค้นหาสาเหตุ เพราะสาเหตุบางอย่างจะมีอันตรายถึงชีวิต เช่น อาเจียนจากโรคลำไส้อุดตัน หรืออาเจียนจากภาวะความดันในสมองสูง เป็นต้น สำหรับอาการอาเจียนที่เกิดจากยารักษามะเร็งหรือเคมีบำบัดนั้น ต้องได้รับการบำบัดรักษาเป็นกรณีพิเศษ
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!
- ลูกอ้วกบ่อย อาการที่ไม่น่าไว้วางใจ
- ลูกแหวะนมบ่อยประสบการณ์ตรงจากคุณแม่เตือนให้ระวัง!! สุดท้ายลูกเป็น “ลำไส้เล็กตีบ” ต้องผ่าตัด
- Overfeeding ลูกกินนมมากเกินไป อันตรายหรือไม่?
- ลูกโมโหจนอ้วก
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.bangkokhealth.com=