AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

พาเด็กๆ นั่งเครื่องบินอย่างไรให้ปลอดภัย?

พาลูกนั่งเครื่องบินให้ปลอดภัย

การได้ นั่งเครื่องบิน ถือเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับเด็กๆ รวมไปถึงคุณพ่อ คุณแม่ด้วย แม้จะสนุกสนานไปกับลูก แต่ก็อดไม่ได้ที่จะแอบกังวล แค่ในประเทศ ยังไม่เท่าไหร่ ถ้าไปต่างประเทศ ความเครียดจะทบเท่าทวีคูณ เพราะต้องเตรียม สารพัดสิ่งให้พร้อมทั้งการจองตั๋วเครื่องบิน

นั่งเครื่องบิน ให้ปลอดภัย ไร้กังวล

นอกจากนี้ยังมี ทำหนังสือเดินทาง แลกเงินตราต่างประเทศ จัดเตรียมเสื้อผ้าและข้าวของเครื่องใช้จำเป็นที่สามารถแบกไปได้ สุดท้ายคือสุขภาพและความปลอดภัยของลูกๆ ข้อนี้สำคัญ ทั้งหมดนี้ ควรมีการวางแผนล่วงหน้าจะช่วยให้ทุกๆ ทริปราบรื่นและสนุกสนาน เป็นความทรงจำที่งดงามของทุกๆ คนในครอบครัว

1.ควรตรวจสุขภาพประมาณ 1 เดือนก่อนขึ้นเครื่อง

ข้อนี้เราเชื่อว่าน้อยคนนักที่จะทำ เพื่อยืนยันความแข็งแรง หรือหากเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาจะได้ทำการ รักษาให้เป็นปกติแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะถ้ามีเจ้าตัวน้อยวัยแรกเกิด – 3 เดือนร่วมทริปด้วย ควรอุ้มไปขอคำแนะนำจากคุณหมอ เพื่อตรวจและให้คำแนะนำสำหรับเด็กทารก เมื่อต้องไปต่างประเทศ

พาลูกขึ้นเครื่องบินให้ไร้กังวล

2.หาข้อมูลหรือตรวจสอบสภาพอากาศของจุดหมายปลายทาง

ว่าช่วงเวลาที่เราและลูกๆ ไปนั้นหนาว – ร้อน – ฝน ระดับไหน จะได้เตรียมเครื่องแต่งกายให้เหมาะสม และพอขึ้นเครื่องบินอย่าลืมติดเสื้อกันหนาวสำหรับเด็กๆ ไว้ด้วย เผื่อว่าอากาศจะเย็นเกินไปสำหรับเขา

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

อ่านต่อ “พาเด็กๆ นั่งเครื่องบินอย่างไรให้ปลอดภัย?” คลิกหน้า 2

3.เลือกที่นั่งที่เด็กสามารถยึดเหนี่ยวได้

ในความเป็นจริงแล้วสายการบินจะอนุญาตให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบขึ้นเครื่องได้ฟรีโดยไม่ต้องซื้อตั๋ว โดยนั่งตักคุณพ่อคุณแม่ แต่ทาง The Federal Aviation Administration (FAA) ของสหรัฐอเมริกา ก็แนะนำให้ซื้อตั๋วสำหรับเด็กกลุ่มนี้ด้วย เพื่อให้เขามีที่นั่งที่สามารถยึดเหนี่ยวได้ ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุขึ้น ซึ่งการยึดเหนี่ยวเด็กไว้อย่างเหมาะสมจะป้องกันการบาดเจ็บได้ เช่น ตกหลุมอากาศ หรือเจออากาศแปรปรวนจนทำให้เครื่องบินสั่นสะเทือน

การยึดเหนี่ยวที่ดีคือ ใช้เบาะที่นั่งนิรภัย สำหรับเด็กในรถ (Car Seat) ซึ่งเราสามารถเอาไปเองก็ได้ ซึ่งเบาะที่นั่งนิรภัยนี้ใช้กับที่นั่งที่เขียนว่า “Certified for Use in Motor Vehicles and Aircraft.” โดยความกว้างไม่เกิน 40 เซนติเมตร ฉะนั้นควรแจ้งทางสายการบินก่อนว่ามีเด็กเล็กโดยสารไปด้วย และต้องการใช้ที่นั่งนิรภัย ทางสายการบินจะจัดที่นั่งในตอนที่ไม่มีผู้โดยสารนั่งด้านหน้า และจัดให้ขึ้นเครื่องก่อน ทั้งนี้อาจมีผู้มารับเบาะนิรภัยไปเพื่อติดตั้งให้เรียบร้อยก่อนก็ได้ โดยส่วนใหญ่เด็กๆ จะนั่งติดหน้าต่าง เพื่อไม่ให้ที่นั่งเด็กไปขวางทางฉุกเฉิน ทำให้คนด้านในออกมาไม่ได้เมื่อเกิดเหตุ

พาลูกขึ้นเครื่องบินให้ไร้กังวล

4.เตรียมนมผงสำหรับลูกน้อย

เพราะมีกฎการห้ามนำของเหลวทุกชนิด ทำให้ทุกสนามบินไม่อนุญาตให้นำของเหลวทั้งหลายขึ้นเครื่อง ซึ่งรวมถึงบรรดานมจืด นมหวาน หรือนมเปรี้ยวต่างๆ ด้วย (ทารกคนใดยังดื่มนมแม่อยู่ปัญหานี้จะหมดไป) แต่นมผงยังนำขึ้นเครื่องได้อยู่ หากลูกหิวนม ก็เรียกขอน้ำอุ่นจากพนักงานบนเครื่องได้เลย

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

อ่านต่อ “พาเด็กๆ นั่งเครื่องบินอย่างไรให้ปลอดภัย?” คลิกหน้า 3

5.เตรียมอาหารโปรดให้ลูกรัก

แม้ในเครื่องบินประเภทฟูลเซอร์วิสจะมีอาหารเสิร์ฟอยู่แล้ว แต่อาหารเหล่านี้อาจไม่ถูกปากเด็กๆ เพราะรสชาติไม่คุ้นลิ้น คุณพ่อ คุณแม่จึงควรเตรียมอาหารสำหรับลูกไว้ด้วย

พาลูกขึ้นเครื่องบินให้ไร้กังวล

6.ทำป้ายชื่อ ระวังลูกพลัดหลง

เพราะในสนามบินและบนเครื่องบินเต็มไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา ต่างชาติต่างภาษา หากลูกของเราเกิดพลัดหลงขึ้นมาคงสับสน และวุ่นวายน่าดู เพื่อความปลอดภัยในเบื้องต้น ให้เตรียมป้ายกระดาษ (เคลือบพลาสติก) คล้องเชือกห้อยคอ (หรือจะใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อก็ได้) โดยป้ายนั้นเขียนชื่อลูก ชื่อผู้ปกครอง ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ทั้งที่บ้านและมือถือของเรา รวมไปถึงจุดหมายปลายทาง โดยเขียนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งไอเดียที่ดีคือ ให้ลูกใส่เสื้อผ้าสีเจ็บๆ เข้าไว้ จะได้มองเห็นง่ายในระยะไกล

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

อ่านต่อ “พาเด็กๆ นั่งเครื่องบินอย่างไรให้ปลอดภัย?” คลิกหน้า 4

7.ป้องกันลูกหูอื้อ ปวดหู

เด็กๆ ก็สามารถหูอื้อ ปวดหูได้เหมือนกับผู้ใหญ่ เพราะความกดอากาศหรือความดันในชั้นบรรยากาศของโลก โดยมักเกิดในช่วงที่เครื่องบินลดระดับเพื่อแลนดิ้ง วิธีป้องกันก็คือ ใช้ที่อุดหูสำหรับว่ายน้ำดำน้ำ (จำหน่ายตามร้านขายอุปกรณ์กีฬา) หรือไม่ก็ให้เด็กๆ ดื่มน้ำ ดื่มนม หรือกินอาหาร (ส่วนเบบี๋ให้เลือกป้อนนมช่วงระหว่างเครื่องเทคออฟหรือแลนดิ้ง) ถ้าเด็กไม่อยากอาหาร ลองติดขนมไว้ให้ลูกสักหน่อยเพื่อให้เขาได้เคี้ยวระหว่างนี้ แต่ต้องให้นั่งกินขนมให้เรียบร้อย ไม่พุดคุยหรือเล่นขณะกินขนมด้วย โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เพราะขนมหรือลูกอมอาจติดคอได้

พาลูกขึ้นเครื่องบินให้ไร้กังวล

8.อย่าให้ลูกกินอิ่มมากเกินไป

พยายามงดน้ำอัดลมและให้ดื่มน้ำเปล่าดีกว่า เด็กๆ มักจะดีใจและ “ได้ใจ” เมื่อขอน้ำอัดลมจากคุณพี่แอร์โฮสเตสแสนสวยได้บ่อยๆ แต่ถ้าดื่มมากอาจเกิดอาการท้องอืด ร่างกายอึดอัด ไม่สบาย งอแง จนเกิดการอาเจียนได้

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

อ่านต่อ “พาเด็กๆ นั่งเครื่องบินอย่างไรให้ปลอดภัย?” คลิกหน้า 5

9.เตรียมของเล่นชิ้นโปรดให้ลูกพกพาไปด้วย

เพราะเด็กๆ ไม่สามารถอยู่นิ่งๆ ได้นานหลายชั่วโมง ทีวีที่อยู่ตรงหน้า ก็อาจดึงเขาไว้ได้สักพักแต่คงไม่ตลอด คุณพ่อ คุณแม่ควรเตรียมของเล่นชิ้นโปรดขึ้นเครื่องไปด้วย ทั้งหนังสือนิทาน สมุดภาพระบายสี ดินสอสี หรือตุ๊กตา จากนั้นสลับชี้ชวนลูกดูวิวทิวทัศน์เบื้องล่างบ้างก็ได้ ไม่ก็ดูกลุ่มเมฆ แล้วให้เขาลองจินตนาการดูว่าเป็นรูปอะไร เหล่านี้พอจะช่วยให้เขาเพลิดเพลินจนลืมเบื่อ ลืมเมื่อยกันได้บ้าง

พาลูกขึ้นเครื่องบินให้ไร้กังวล

10.ไปถึงสนามบินก่อนเวลาขึ้นเครื่อง

อย่างน้อยสัก 2 – 3 ชั่วโมง เพื่อทุกคนจะได้ไม่เครียดเคร่งเร่งรีบกันไปหมด

กองบรรณาธิการ

นิตยสาร Amarin Baby & Kids ฉบับคู่มือระวังภัย โลกยุคใหม่อันตรายรอบด้าน

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง คลิก!!

พาลูกขึ้นเครื่องบิน ครั้งแรก ต้องเตรียมพร้อมอะไรบ้าง ?

ไขข้อข้องใจ แม่ท้องขึ้นเครื่องบินได้ไหม ?

Kid Safety – สิ่งที่เด็กต้องเผชิญบน เครื่องบิน

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Save