AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

แม่แชร์ อาการโรคคาวาซากิ และวิธีรักษา เมื่อลูกป่วยเป็นโรคคาวาซากิ

แม่แชร์ อาการโรคคาวาซากิ และวิธีรักษา เมื่อลูกป่วยเป็นโรคคาวาซากิ ต้องเอคโค่หัวใจ

สังเกตลูกให้ดี!!! อาการโรคคาวาซากิ แท้จริงหาสาเหตุไม่ได้ แต่หากลูกมีไข้สูงหลายวัน ตาแดง ริมฝีปากแดงแห้งแตก ลิ้นคล้ายผลสตรอว์เบอร์รี ต้องรีบหาหมอ รักษาช้ามีผลต่อหัวใจ

แม่แชร์ อาการโรคคาวาซากิ และวิธีรักษา
เมื่อลูกป่วยเป็นโรคคาวาซากิ

โรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease) ถือเป็นอีกหนึ่งโรคร้าย ซึ่งเชื่อคุณพ่อคุณแม่หรือคนส่วนใหญ่อาจจะไม่เคยได้ยิน และคิดไปว่ามันคือโรคอะไรกันแน่ เพราะชื่อนั้นเหมือนรถจักรยานยนต์ยี่ห้อหนึ่ง สัญชาติญี่ปุ่นเลย ซึ่งแท้จริงแล้วที่มาของ “โรคคาวาซากิ” นั้น มีรายงานครั้งแรกตั้งแต่ปี 1967 โดยแพทย์ชาวญี่ปุ่นชื่อ Tomisaku Kawasaki ตรวจพบในเด็กชายชาวญี่ปุ่นอายุ 4 ปี ที่ป่วยเป็นไข้ร่วมกับอาการอื่นๆ ซึ่งไม่เคยตรวจพบมาก่อน หลังจากนั้นจึงตรวจพบผู้ป่วยอาการแบบเดียวกันมาเรื่อยๆ และมีอุบัติการณ์ของโรคนี้กระจายไปทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย

สำหรับ อาการโรคคาวาซากิ นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ได้เคยเปิดเผยว่า โรคนี้เป็นโรคที่มีการอักเสบของหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย  มักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และพบบ่อยในช่วงอายุ 1-2 ปี  ผู้ชายเป็นมากกว่าผู้หญิง และพบว่าในเด็กที่อายุน้อยๆ และเพศชาย จะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนสูงกว่าเด็กโตๆ หรือผู้หญิง

ทั้งนี้ภาวะแทรกซ้อนอาจรุนแรงตั้งแต่วันแรกๆ ของโรค อาจมีอาการช็อกและเสียชีวิตได้ แต่พบน้อย ซึ่งภาวะแทรกซ้อนส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ ต้องตรวจโดยผู้เชี่ยวชาญ ด้วยเครื่องตรวจ Echocardiogram ว่า มีหลอดเลือดหัวใจผิดปกติหรือไม่ เพราะถ้าผิดปกติจะมีโอกาสเกิดการขาดเลือดของกล้ามเนื้อหัวใจ เสียชีวิตเฉียบพลันได้ตั้งแต่อายุน้อยๆ

เช่นเดียวกับน้องทิวสน หนูน้อยวัย 2 ขวบ ที่ป่วยมี อาการโรคคาวาซากิ โดยคุณแม่ของน้องทิวสนก็ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กชื่อ Nattida Nettip เพื่อเตือนใจคุณพ่อคุณแม่ให้สังเกตลูกน้อยให้ดีเกี่ยวกับโรคนี้ โดยคุณแม่เล่าว่า…

คาวาซากิ!!!!! ได้ยินชื่อนี้ครั้งแรก คืออะไร ไม่เข้าใจ โรคอะไรทำไมเราไม่เคยได้ยินชื่อนี้เลย มันอันตรายมากไหม แล้วลูกเราจะหายไหม ทุกอย่างมันวิ่งวนอยู่ในความคิดเต็มไปหมด

วันนี้แม่จะมาเล่าประสบการณ์ที่ลูกชาย น้องทิวสน อายุ 2 ขวบ ป่วยเป็นโรคคาวาซากิ !!!!

วันที่ 1 ช่วงเช้าน้องเริ่มมีอาการตัวร้อนแต่ร้อนไม่มาก แม่ได้ให้น้องทานยาลดไข้แล้วให้น้องไปโรงเรียนตามปกติ พอตกช่วงเย็นแม่ไปรับน้องแล้วจับตัวน้องเริ่มรู้สึกว่าน้องตัวร้อนมาก จึงได้พาน้องไปหาหมอที่คลินิก เมื่อไปถึงคลินิกหมอได้ทำการตรวจให้น้องแต่ด้วยความที่น้องยังเด็กเมื่อน้องเห็นหมอน้องก็จะร้องไห้แบบเยอะมาก เพราะน้องกลัวเนื่องจากน้องเค้าจำได้ว่าเคยโดนฉีดวัคซีนที่นี้เมื่อน้องร้องไห้เยอะจึงทำให้เหงื่อออก เวลาวัดไข้จึงไม่มีไข้หมอจึงไม่ได้ให้ยาแล้วให้กลับบ้าน

… วันที่ 2 หลังจากหาหมอเสร็จคืนนั้นน้องก็ตัวร้อน วัดไข้ได้ประมาณ 38 กว่าๆ เช้าจึงพาน้องไปหาหมออีกรอบแต่ครั้งนี้น้องเริ่มมีน้ำมูก หมอจึงให้ยาลดไข้และยาฆ่าเชื้อมาให้น้องทาน แต่กลางวันน้องไม่มีไข้ เล่นได้ตามปกติ

วันที่ 3 กลางคืนน้องก็มีไข้ขึ้นสูง เหมือนเคย สังเกตว่าทั้ง 3 คืนน้องจะมีไข้ขึ้นสูงเวลาเดียวกันเลยคือประมาณ 24.00 -2.00 น. ก็ให้น้องทานยาลดไข้ น้องก็อาการดีขึ้นแต่พอหมดฤทธิ์ยา ไข้ก็จะกลับมา วนเวียนไปแบบนี้

วันที่ 4 ตอนเช้าตื่นมา น้องเริ่มมีผื่นแดงๆขึ้นตามตัว ขึ้นเป็นจุดๆแดง ไม่นูนแต่สังเกตได้ชัดว่ามีผื่นขึ้น น้องก็เริ่มมีไข้ จึงพาไปหาหมอที่คลินิกแห่งเดิมอีกครั้ง หมอแจ้งว่าน้องเป็นผื่นลมพิษคิดว่าเป็นผลข้างเคียงจากการเป็นไข้ หมอจึงให้ยาลดภูมิแพ้กับมา แต่พอตกกลางคืนน้องก็มีไข้ขึ้นสูงวัดไข้ 38.6 จึงตัดสินพาน้องไปโรงพยาบาล

แม่ขอเกริ่นก่อนนะคะ ก่อนหน้านี้แม่ได้ทำประกันสุขภาพให้น้อง จึงปรึกษากันว่าเอาน้องเข้าโรงพยาบาลเอกชนดีกว่า จึงตัดสินใจเอาน้องเข้าหาหมอที่โรงพยาบาลกรุงเทพฯ เวลา 00.30 น.

เมื่อไปถึงน้องก็เข้าห้องฉุกเฉินหมอได้ทำการวัดไข้ไข้น้องขึ้นสูง พยาบาลและหมอจึงช่วยกันทำทุกวิธีเพื่อให้น้องไข้ลดลงโดยการจับอาบน้ำ เช็ดตัว เมื่อไข้น้องลดลง ก็ได้ทำการเจาะเลือด นำน้ำมูกและฉี่ไปตรวจเพื่อหาสาเหตุว่าน้องป่วยเป็นโรคอะไรกันแน่เพราะน้องมีไข้ขึ้นสูงเป็นเวลา 4 วันติดต่อกัน

 

อ่านต่อ >> อาการโรคคาวาซากิและวิธีรักษา” คลิกหน้า 2

 

แม่เล่า อาการโรคคาวาซากิ และวิธีรักษา

วันที่ 5 น้องก็ยังมีไข้ขึ้นสูงต่อเนื่องไม่มีช่วงไหนที่ไข้ลดลงเลย ช่วงพยาบาลได้นำผลตรวจมาแจ้งให้ญาติทราบ ณ วินาทีนั้น พ่อ แม่ และย่า ลุ้นกันมาก หมอแจ้งว่าน้องไม่ได้เป็นไข้เลือดออก ไม่ได้เป็นไข้ขวัดใหญ่ แต่น้องมีโอกาสเป็นโรค คาวาซากิ!!! ณ ตอนนั้นคือโรคอะไรทำไมไม่เคยได้ยิน หมอได้อธิบายเพิ่มเติมว่า อาการโรคคาวาซากิ จะมีหลักๆ คือ

  1. ไข้ขึ้นสูงต่อติดต่อกัน 4-5 วันขึ้นไป ซึ่งน้องก็มีอาการ
  2. มีผื่นแดงตามตัว ซึ่งน้องก็มีอาการ
  3. ปากแดง ตาแดง เช้าของวันที่ 5 น้องมีอาการนี้ชัดมาก ปากแดงมากแต่ตาแดงเล็กน้อย
  4. ต่อมน้ำเหลืองบวมโต หมอได้ทำการตรวจก็พบว่าน้องมีอาการต๋อมน้ำเหลืองบวมโต
  5. ลิ้นจะมีตุ๋มขึ้นหรือที่เรียกกันว่า ผิวสตรอเบอร์รี่ ซึ่งน้องก็มีอาการนี้
อาการโรคคาวาซากิ ลิ้นมีตุ่มคล้ายผลสตรอว์เบอร์รี

Must read : 18 ลักษณะลิ้นบอกโรค เพียงแค่ดูลิ้นลูก ก็รู้ได้ว่าป่วยหรือไม่?

หมอจึงวินิจฉัยว่าน้องน่าจะเป็นโรคนี้ ประมาณ 80% แต่จะให้ 100 % น้องต้องทำการเอคโค่หัวใจ เพื่อดูให้ชัวร์ว่ามีหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ เส้นไหนมีอาการบวมหรือพองโต โรคนี้ถ้าเป็นแล้วจะต้องให้ยาที่ชื่อว่า IVIG เพียงชนิดเดียวเท่านั้น ซึ่งยาตัวนี้มีราคาค่อนข้างสูง หมอได้แจ้งว่าจะทำการพาน้องไปเอคโค่หัวใจเพื่อดูให้แน่ชัดว่าน้องป่วยเป็นโคนนี้จริงหรือเปล่า แม่นอนภาวนาอย่าให้ลูกชายป่วยเป็นโรคนี้เลย พอได้ฟังจากปากหมอถึงโรคนี้ดูน่ากลัวและอันตรายจัง แล้วคุณหมอได้ทำการวางยานอนหลับน้องและได้นำตัวน้องไปทำการ เอคโค่หัวใจ

 

ราคายาโรคคาวาซากิ

วันที่ 6 หลังจากทำเอคโค่หัวใจเสร็จแล้วก็มารอลุ้นผลที่ห้องเมื่อหมอเดินมาก็ได้แจ้งผลว่าน้องป่วยเป็นโรคคาวาซากิจริง เนื่องจากหลอดเลือดหัวใจข้างขวา เริ่มมีอาการอักเสบบวมแดง หมอจึงถามว่าคุณพ่อกับคุณจะให้น้องรักษาตัวที่นี้ต่อหรือไม่ เพราะถ้าทำการรักษาตัวต่อที่นี้ยาชนิดนี้มีราคาค่อนค้างแพง 1 โดส ประมาณ 4-5หมื่นบาท ซึ่งก็ไม่แน่ชัดว่าน้องต้องยาถึงกี่โดส การให้ยาต้องคำนวณตามน้ำหนักตัวของน้อง คุณหมอก็แนะนำเพิ่มเติมหรือว่าจะส่งน้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลของหลวงแห่งหนึ่งเพราะน้องสามารใช้สิทธิ์เบิกได้ของคุณแม่ เย็นวันนั้นจึงทำการส่งตัวน้องมาที่โรงพยาบาลอีกแห่ง คืนนี้หมอได้ทำการให้ยา IVIG น้องอย่างรวดเร็วหลังจากให้ยาแล้วอาการมีไข้ของน้องก็ลดลง ไข้ไม่มีแต่ก็ยังต้องให้น้ำเกลือและยาแอสไพรินต่อเนื่อง ซึ่งหลังให้ยา IVIG แล้วจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษภายใน 30 ชม. เนื่องจากน้องสามารถมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้

Must read : โรคคาวาซากิ ภัยร้ายเด็กเล็กที่ก่อโรคหัวใจในเด็ก

อาการโรคคาวาซากิ วันที่ 7 น้องก็ยังคงต้องให้น้ำเกลือ แต่น้องยังมีอาการปากแดงต๋อมน้ำเหลืองโต อยู่แต่น้องทานข้าวและนมได้มากขึ้นตามลำดับ

วันที่ 8 น้องต้องรับยาแอสไพรินเพื่อเป็นการรักษาหลอดเลือดอย่างต่อเนื่อง ส่วนอาการของน้องก็เริ่มหายเป็นปกติสามารถเล่นได้ตามปกติ ช่วงบ่ายของวันนี้หมดได้ถอดสายน้ำเกลือออกให้น้อง

วันที่ 9 เมื่อหมอเข้ามาตรวจหมอก็อนุญาตให้น้องกลับบ้านได้ หมอได้สั่งยาแอสไพริน 50 เม็ดให้น้องกินหลังอาหารเช้าทันทีวันละ 1 เม็ดจนยาหมด และหมอได้ให้น้องไปทำการเอคโค่หัวใจอีกครั้งหลังจากวันนี้ 6 สัปดาห์ เพื่อจะดูผลการเอคโค่ว่าหลอดเลือดหัวใจที่มีการอักเสบและบวมนั้นหายเป็นปกติหรือยัง

สุดท้ายนี้แม่อยากให้แม่ๆทุกท่านระวังโรคนี้ไว้ อาจจะเป็นโรคที่เราไม่คลาดคิดว่าลูกจะเป็นและไม่คุ้นหูแต่โรคนี้ก็อันตรายไม่น้อยถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันที ขอเอาเคสของน้องทิวสนเป็นตัวอย่างนะคะ อ่านซักนิดเพื่อลูกที่คุณรัก……..
#ความทรงจำครั้งที่ลูกป่วย

ขอบคุณข้อมูลและภาพจากคุณแม่น้องทิวสน www.facebook.com

 

อย่างไรก็ตาม จากอาการโรคคาวาซากิ และวิธีรักษา ที่คุณแม่น้องทิวสนได้เล่ามาข้างต้นนั้น อาจกล่าวได้ว่าถึงแม้ว่าอาการของโรคจะสงบไปได้เอง แต่ถ้าตรวจพบว่ามีภาวะแทรกซ้อนสำคัญที่หัวใจ และหลอดเลือดที่หัวใจมักมีการอักเสบ แต่มักไม่รุนแรง หรือที่หลอดเลือดพบภาวะแทรกซ้อนได้บ่อย ก็อาจจะมีอันตรายที่หลอดเลือดหัวใจ ซึ่งอาจโป่งพอง อุดตัน ทำให้หัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงได้ อันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรสังเกตอาการเมื่อลูกน้อยป่วยให้ดี ว่ามี อาการโรคคาวาซากิ นี้เกิดขึ้นหรือไม่ และหากพบอาการผิดปกติควรรีบนำเด็กเข้าพบ แพทย์ เพื่อตรวจให้แน่ชัดและให้การรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป

ชมคลิปเพิ่มเติม ข้อมูล “โรคคาวาซากิ” จากมหิดล ชาแนล

อ่านต่อบทความอื่นๆ น่าสนใจ คลิก :


ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.sanook.com และ www.thaihealth.or.th

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids