บุ้งทะเล! สัตว์มีพิษ ที่พ่อแม่พาลูกทะเลช่วงนี้ ต้องเฝ้าระวังให้ดี!
ครอบครัวไหนที่ชอบพาลูกเที่ยวทะเลต้องมีอันสะดุ้ง หลังได้เห็นข่าวและคลิปนี้แน่นอน! เมื่อจู่ ๆ ฝันหวาน ๆ ของการไปท่องเที่ยว ผ่อนคลายที่ชายทะเล เล่นชิว ๆ กับลูกบนชายหาด กลายเป็นความน่ากลัวที่ธรรมชาตินั้นมอบให้!
พบกับคลิปและข่าวดังจาก We love คลิปเด็ด เมื่อจู่ ๆ ต้องเผชิญกับ บุ้งทะเล สัตว์มีพิษที่เมื่อโดนแล้วทั้งแสบ ทั้งคัน … มาทำความรู้จักกับสัตว์น่าสยดสยองนี้ไปพร้อม ๆ กัน โดยทีมงาน Amarin Baby and Kids ได้เตรียมข้อมูล พร้อมกับมีคลิป! เอาไว้ให้แล้วละค่ะ หากพร้อมแล้วเราไปดูพร้อม ๆ กันเลยนะคะ
กลายเป็นที่กล่าวขานในสังคมโซเชียล ภายหลังจากที่ได้มีการโพสต์คลิปพร้อมคำเตือนผ่าน We Love คลิปเด็ดว่า “อย่าแตะต้องมัน! มันทำให้คุณเจ็บ!” ซึ่งสัตว์ที่ว่านี้มีชื่อเรียกกันว่า “บุ้งทะเล” ค่ะ
ทำความรู้จักกับ บุ้งทะเล
บุ้งทะเล นั้นเป็นหนอนปล้องจำพวกเดียวกับแม่เพรียงหรือไส้เดือนทะเล แต่มีลำตัวสั้นกว่า เป็นสัตว์ทะเลพวกโพลีย์ฆีต ตามลำตัวมีขนยาวมาก และมีส่วนยื่นของร่างกายออกไปเป็นคู่ด้านข้าง ช่วยในการว่ายน้ำ ขนที่มีลักษณะเป็นเส้นแข็งนี้จะหลุดจากตัวบุ้งได้ง่ายและแทงเข้าสู่ผิวหนัง ทำให้เกิดอาการคัน
ในธรรมชาติ บุ้งทะเล อาศัยอยู่ตามพื้นทะเลใต้ก้อนหินใต้ซอกปะการัง ตามลำคลองในเขตป่าชายเลน หรือตามพื้นทะเลและถูกจับมาโดยอวนหน้าดิน ตัวอย่างของบุ้งทะเลจึงพบปะปนอยู่กับสัตว์น้ำอื่นๆที่ถูกนำไปทำอาหารสัตว์
การป้องกันและรักษา
สำหรับวิธีการป้องกันนั้น เห็นทีจะมีก็แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้บุ้งทะเลสัมผัสกับผิวหนัง หรือใช้มือเปล่าหยิบจับ บุ้งทะเล โดยเด็ดขาดค่ะ เพราะถ้าหากร่างกายไปสัมผัสกับ บุ้งทะเล เข้าละก็ วิธีการแก้ไขก็คือ ต้องหยิบขนบุ้งออกให้หมด แล้วใช้ครีม หรือ ยาน้ำคาลาไมน์ ทาเพื่อบรรเทาอาการคัน และป้องกันการติดเชื้อที่อาจเกิดตามมาได้
ซึ่งความน่ากลัวสยดหยองที่ว่านี้จะชวนทำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องขนลุกกันขนาดไหน พร้อมแล้วไปดูคลิปที่ว่านี้กันเลยดีกว่านะคะ … ดูแล้วอย่าลืมต่อด้วย 12 สัตว์ทะเลมีพิษที่แต่ละชนิดเมื่อโดนแล้วจะมีอาการแบบไหนนั้น ต้องไปติดตามกันดูค่ะ
ชมคลิป!
โพสต์โดย We love คลิปเด็ด เมื่อ 31 พฤษภาคม 2018
12 สัตว์ทะเลมีพิษ ที่พ่อแม่ควรระวังเมื่อพาลูกเที่ยว!
ทะเล คือสถานที่ท่องเที่ยวสถานที่แรก ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่นิยมพาลูกไป ซึ่งทะเลนั้น นอกจากจะมีความสวยงามธรรมชาติได้มอบให้แล้ว ก็ยังแฝงไปด้วยความน่ากลัวต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น สัตว์ทะเลมีพิษนานาชนิด ซึ่งนอกจากจะมี บุ้งทะเลแล้วยังมีสัตว์อื่น ๆ อีกนะคะ ที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำความรู้จักกัน จะมีอะไรบ้างนั้นไปดูกันเลยค่ะ
- ขนนกทะเล หากผิวสัมผัสกับขนนกทะเล จะทำให้ถูกพิษของมันแทรกเข้าสู่ผิวหนังได้ ทำให้เกิดอาการคัน ปวดแสบปวดร้อนได้
- การป้องกันและรักษา หลีกเลี่ยงการสัมผัสขนนกทะเลโดยตรง หากถูกพิษให้ล้างผิวบริเวณนั้นด้วยแอลกอฮอล์ แล้วประคบด้วยน้ำแข็งหรือน้ำเย็น หากมีอาการรุนแรงต้องรีบส่งแพทย์ทันที
- ปะการัง ภายในมีพิษ ทำให้ระคายเคืองต่อผิวหนัง ซึ่งหากเข้าไปใกล้หรือสัมผัสโดนตรงแง่คม ๆ ก็อาจทำให้ถูกพิษของมัน และเกิดอาการบวมแดงและเป็นผื่นคันได้
- การป้องกันและรักษา ไม่ควรเดินเหยียบย่ำไปบนปะการัง หรือดำน้ำผ่านแนวปะการัง เพราะหินของปะการังมีความแข็งและแหลมคมมากอาจทำให้เกิดบาดแผล นอกจากนี้ปะการังมักมีพวกแบคทีเรียอาศัยอยู่ ทำให้บาดแผลหายช้า จึงต้องล้างด้วยน้ำสะอาดหรือแอลกอฮอล์โดยเร็ว และตรวจดูว่าไม่มีเศษปะการังติดค้างอยู่ ควรใส่ยาฆาเชื้อ และหากแผลมีขนาดกว้างและลึกควรรีบนำส่งแพทย์
- ปะการังไฟ หากสัมผัสกับปะการังไฟ จะทำให้เกิดรอยไหม้ บวมแดง และปวดแสบปวดร้อนบริเวณผิวหนังที่สัมผัส
- การรักษา ให้ล้างแผลด้วยน้ำส้มสายชูหรือล้างด้วยอะลูมิเนียมซัลเฟตอีกครั้งหนึ่ง หากส่วนที่สัมผัสปะการังเป็นมือ ห้ามนำมาเช็ดหน้าหรือเข้าตาโดยเด็ดขาด เพราะพิษจากปะการังไฟที่ยังเหลืออยู่ จะทำให้เกิดการระคายเคืองได้
- แมงกะพรุน พิษของแมงกะพรุนจะทำให้เกิดอาการคัน เป็นผื่นบวมแดงและเป็นรอยไหม้ปวดแสบปวดร้อน ทำให้เกิดแผลเรื้อรัง แมงกะพรุนบางชนิดทำให้เกิดอาหารจุก หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก อ่อนเพลีย เป็นไข้ บางรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
- การป้องกันและรักษา หลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำทะเลบริเวณที่มีแมงกะพรุนชุกชุม หรือช่วงหลังพายุฝน เพราะจะมีกะเปาะพิษของแมงกะพรุนหลุดลอยไปในน้ำทะเล หากถูกพิษของแมงกะพรุนไฟให้ใช้น้ำส้มสายชูล้างแผล หลังจากนั้นควรรีบไปพบแพทย์ นอกจากนี้อีกตำราที่มักใช้กันคือ นำผักบุ้งทะเลบดแล้วพอกตรงบริวเณที่สัมผัสแมงกะพรุน จะช่วยให้อาการต่าง ๆ บรรเทาลงได้
- ดอกไม้ทะเล หากเผลอไปสัมผัสกับหนวดของดอกไม้ทะเลซึ่งมีพืษ จะทำเกิดผื่นแดง ถ้าอาการรุนแรงมากจะทำให้บวมแดง มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของแต่ละคนค่ะ
- การรักษา ให้ใช้น้ำส้มสายชูล้างแผล พยายามเอาเมือกและชิ้นส่วนของหนวดดอกไม้ทะเลออกให้หมด ถ้ามีอาการทรุดให้รีบนำส่งแพทย์โดยด่วน
- บุ้งทะเล สามารถแทงเข้าสู่ผิวหนัง ทำให้เกิดอาการคันได้
- การป้องกันและการรักษา ระมัดระวังไม่ให้บุ้งทะเลสัมผัสกับผิวหนัง ไม่ใช้มือเปล่าหยิบจับบุ้งทะเล หากสัมผัสโดนบุ้งทะเล ให้หยิบขนบุ้งออกให้หมด แล้วใช้ครีมหรือคาลาไมน์ ทาเพื่อบรรเทาอาการคันและป้องกันการติดเชื้อที่อาจเกิดตามมาได้
- เพรียงหิน
- การป้องกันและรักษา ระวังเปลือกที่แหลมคมของเพรียงหิน เมื่อเดินไปตามโขดหินหรือเมื่อดำน้ำเก็บหอยแมลงภู่ หากถูกเพรียงหินบาดให้ทำความสะอาดบาดแผลและใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น ยาแดง หากเสียเลือดมากให้นำส่งแพทย์เพื่อเย็บบาดแผลทันที
- ปู โดยเฉพาะปูทะเล ปูม้า ปูใบ้ขนาดใหญ่ การจับปูเหล่านี้จึงต้องระมัดระวัง สำหรับปูใบ้นั้นมีเปลือกแข็งและก้ามแข็งแรงมาก เมื่อหนีบแล้วจะไม่ยอมปล่อยง่าย ๆ นอกจากการถูกปูหนีบแล้ว การกินปู เช่น ปูม้า หรือปูทะเลที่ไม่สดและมีดินตะกอน แบคทีเรียที่อยู่ในปูจะทำให้เกิดอาการท้องเดินได้เช่นกัน ซึ่งการบริโภคปูมีพิษ จะทำให้เกิดอาการบวมที่ริมฝีปาก ลิ้น ลำคอ และใบหน้า รวมทั้งอาการปวดท้อง และช็อคได้
- การป้องกันและรักษา หลีกเลี่ยงการกินปูชนิดที่ไม่คุ้นเคย หากกินปูที่มีพิษเข้าไป ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว และนำตัวอย่างปูที่มีพิษนั้นไปด้วย
- แมงดาทะเล การทานแมงดาทะเลที่มีพิษ แม้ว่าจะปรุงไข่หรือเนื้อให้สุกแล้ว แต้ก็ยังเป็นอันตรายได้ โดยพิษของแมงดาจะทำให้เกิดอาการมึนงง ปวดศรีษะ คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว ปากชาพูดไม่ได้ แขนขาอ่อนเปลี้ย กล้ามเนื้อไม่ทำงาน หมดความรู้สึกและอาจเสียชีวิตได้
- การรักษา หากทานแมงดาทะเลมีพิษเข้าไป ต้องทำการล้างท้อง ให้อาเจียน และรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
- เม่นทะเล พบชุกชุมในแนวปะการังของชายฝั่งทะเลไทย บางชนิดมีพิษที่ทำให้เกิดอาการอักเสบ บวมแดง ปวดและเป็นไข้ได้ หนามของเม่นทะเลจะทำให้เกิดอาการบวมแดง ชาอยู่นานประมาณ 30 นาที จนถึง 4-6 ชั่วโมง และหนามจะย่อยสลายไปภายใน 24 ชั่วโมง
- การป้องกันและรักษา โดยปกติเม่นทะเลไม่เป็นอันตรายต่อนักดำน้ำ ถ้าไม่เข้าไปใกล้หรือจับต้อง เมื่อถูกหนามเม่นทะเลตำ ให้ถอนหนามออก หากถอนไม่ออกให้พยายาททำให้หนามบริเวณนั้นแตกเป็นชิ้นเล็ก โดยการบีบผิวหนังไป หรือแช่แผลในน้ำร้อนประมาณ 50 องศสเซลเซียส เพื่อช่วยให่หนามย่อยสลายเร็วขึ้น แต่ก็มีหนามบางชนิดไม่สามารถย่อยสลายได้เช่นกัน ต้องใช้วิธีผ่าออกเท่านั้น
- ปลาปักเป้า มีพิษมากโดยเฉพาะไข่ ตับ ลำไส้ ผิวหนัง ส่วนเนื้อปลามีพิษน้อย การกินปลาปักเป้า หากปรุงไม่ถูกวิธี จะทำให้พิษที่อยู่ในอวัยวะภายในปนเปื้อนเนื้อปลา เมื่อกินเข้าไปจะทำให้ได้รับพิษ จนเกิดอาการชาที่ริมฝีปาก มีอาการคัน แสบร้อนที่ผิวหนังและตา คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเดิน ขาอ่อนแรง หรือเกิดอัมพาต อาจร้ายแรงมากจนถึงขั้นเจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว กลืนลำบาก ความดันเลือดสูง และเสียชีวิตได้ค่ะ
- การป้องกันและรักษา งดทานอาหารแปลก ๆ ถ้าไม่แน่ใจให้ถามชาวประมงหรือคนในท้องถิ่น หากได้รับสารพิษเข้าไปแล้ว พยายามทำให้อาเจียนโดยวิธีล้วงคอ หรือให้ดื่มผงถ่านกัมมันต์ผสมน้ำ เพื่อดูดซับสารพิษที่ตกค้างอยู่ในกระเพาะอาหาร ไม่ให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย จากนั้นให้รีบนำส่งแพทย์
- ปลากระเบน หากเดินอยู่ริมชายฝั่งทะเลอาจเหยียบไปบนตัวปลากระเบนที่หมกตัวอยู่ตามพื้นทะเลได้ และอาจถูกเงี่ยงตำจนได้รับความเจ็บปวด บางครั้งอาจทำให้เกิดอาการช็อก หมดสติ และเสียชีวิตได้
- การรักษา การปฐมพยาบาลในขั้นแรกคือ ห้ามเลือดที่บาดแผล แล้วตรวจดูว่ามีเศษเงี่ยงพิษตกค้างอยู่หรือไม่ เนื่องจากพิษของเงี่ยงปลากระเบนเป็นสารพวกโปรตีนย่อยสลายในความร้อน ดังนั้น ควรแช่บาดแผลในน้ำร้อนเท่าที่จะทนได้ ประมาณ 30-60 นาที อาการปวดจะทุเลาลง และทานยาแก้อักเสบ หากมีอาการแพ้ควรรีบนำส่งแพทย์
ขอบคุณที่มา: We love คลิปเด็ด, ข่าวสด, Bangsaen และ TrueID
บทความอื่นที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่