ไข้หวัดใหญ่คืออะไร? มีอาการอย่างไร? วิธีรับมือ ไข้หวัดใหญ่ ระบาด
โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza หรือ flu) เป็นโรคที่มีการติดเชื้อจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ อาการของโรคจะมีตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงอาการที่รุนแรง โดยเชื้อชนิดนี้มีอยู่ด้วยกันหลากหลายชนิด เป็นโรคที่พบได้บ่อย ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงวัยผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ โดยจะพบในวัยเด็กมากที่สุด และยังเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ เป็นการติดเชื้อในทางเดินหายใจ ได้แก่ จมูก คอ หลอดลม และปอด เหมือนการติดเชื้อไข้หวัดธรรมดา แต่เชื้อไข้หวัดใหญ่จะมีความรุนแรงมากกว่า โดยเชื้ออาจจะมีการลามเข้าไปที่ปอด จนทำให้เกิดอาการปอดบวม และเมื่อติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเนื้อเมื่อยตัว และปวดตามกล้ามเนื้อเป็นอย่างมาก โรคไข้หวัดใหญ่นี้ สามารถทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่อัตราการเสียชีวิตจากการเป็นโรคไข้หวัดใหญ่มักเกิดกับผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคตับ โรคไต และโรคหัวใจ เป็นต้น
ไข้หวัดใหญ่ มีกี่สายพันธุ์
ไข้หวัดใหญ่จะแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์หลัก ๆ โดยในแต่ละสายพันธุ์จะแบ่งตระกูลย่อยได้ออกมาอีกเป็น 4 ชนิดด้วยกัน ได้แก่
- ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A แบ่งออกเป็น H1N1 และ H3N2 เป็นไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการรุนแรง มีการแพร่ระบาดที่ควบคุมได้ยากกว่าชนิดอื่น ๆ เชื้อที่ตรวจพบในร่างกาย ยังสามารถเสี่ยงต่อการกลายพันธุ์ได้สูง ซึ่งสามารถแพร่กระจายจากสัตว์สู่คนและติดเชื้อขึ้นมาได้
- ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B แบ่งออกเป็นตระกูล Victoria และ Yamagata เป็นไวรัสที่จะพบเชื้อได้ในคนเท่านั้น อาการไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์ A ส่วนมากจะเกิดการแพร่ระบาดในช่วงฤดูหนาว เพราะสภาพแวดล้อมที่เชื้อไวรัสชนิดนี้ชอบคืออากาศเย็นและแห้ง โดยเฉพาะในช่วงเดือนธันวาคมไปจนถึงเดือนมกราคมที่จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ส่วนในฤดูฝน จะมีไวรัสสายพันธุ์นี้ได้บ้าง กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการรับเอาเชื้อไวรัสเข้าไป ตามมาด้วยอาการที่รุนแรง คือ ผู้ป่วยโรคปอด โรคหัวใจ เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี คนท้อง และผู้สูงอายุ
- สำหรับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ C มีความรุนแรงน้อย และไม่ทำให้เกิดการระบาด จึงไม่นับรวมอยู่ในกลุ่มของไข้หวัดใหญ่
โรคไข้หวัดใหญ่ มีอาการอย่างไร?
อาการของโรคไข้หวัดใหญ่ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่
- ระยะฟักตัว 1-4 วัน จะมีอาการอ่อนเพลียอย่างเฉียบพลัน เบื่ออาหาร ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดร้อนบริเวณรอบดวงตา ปวดแขนปวดขา มีอาการเจ็บคอ คอแดง มีน้ำมูกใส ตัวร้อนแดง ตาแดง มีไข้สูงถึง 39-40 องศาเซลเซียส และมักมีอาการอาเจียนหรือท้องเดิน โดยจะเป็นไข้ประมาณ 2-4 วัน แล้วไข้จึงค่อย ๆ ลดลง แต่อาการคัดจมูก และอาการแสบคอยังคงอยู่ซึ่งอาจจะหายในช่วงเวลาประมาณ 1 สัปดาห์
- ระยะที่มีอาการรุนแรงและอาจเกิดโรคแรกซ้อน อาจพบการอักเสบของเยื้อหุ้มหัวใจ โดยผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บที่หน้าอก หรือบางครั้งมีอาการหัวใจวาย ในส่วนของระบบประสาทจะมีการพบเยื้อหุ้มสมองเกิดการอักเสบ รวมทั้งสมองก็มีการอักเสบด้วยเช่นกัน
โดยอาการนี้จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะอย่างมาก และมีอาการซึมลงตามมา ในส่วนของระบบหายใจก็จะมีอาการอักเสบเกิดขึ้นกับหลอดลม และทำให้มีอาการปอดบวม โดยผู้ป่วยจะมีอาการแน่นหน้าอกและเหนื่อยง่าย ส่วนระยะเวลาของการเป็นไข้หวัดนั้นจะหายในเวลาเพียงไม่กี่วันเท่านั้น
แต่สำหรับผู้ป่วยบางรายจะมีอาการไอและปวดตามเนื้อตัวนานถึง 2 สัปดาห์ อีกทั้งในกรณีผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดใหญ่จนถึงขั้นเสียชีวิต นั่นเป็นเพราะเกิด จากโรคแทรกซ้อนอย่างโรคปอดบวมและโรคหัวใจ หรือบางครั้งก็เกิดจากโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่
อ่านต่อ วิธีรับมือไข้หวัดใหญ่ระบาด หน้า3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่