ลูกกินน้ำผึ้ง เสียชีวิต เตือนแม่! “น้ำผึ้งดี…มีประโยชน์” แต่อาจทำให้ลูกน้อยเสียชีวิตได้ ด้วยโรคโบทูลิซึมในทารก เพราะมีเชื้อ Clostridium botulinum ผสมอยู่
“น้ำผึ้งดี…มีประโยชน์” แต่ ลูกกินน้ำผึ้ง เสียชีวิต ได้
เพราะเชื้อ Clostridium botulinum
มีงานวิจัยที่บอกว่า การกินน้ำผึ้ง เป็นประจำจะช่วยเรื่องความจำ ทำให้ผิวสวย แก้หวัดร้อนใน ตลอดจนช่วยเรื่องรักษาแผลในกระเพาะอาหาร แต่สำหรับลูกน้อย หากให้เริ่มกินน้ำผึ้งเร็วเกินไป ก็อาจส่งผลร้ายกับลูกน้อยได้
โดย เว็บไซต์ anngle ระบุว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับเด็กชายญี่ปุ่นวัย 6 เดือน เสียชีวิต เนื่องจากดื่มน้ำผลไม้ผสมน้ำผึ้งที่มีเชื้อ Clostridium botulinum อยู่ ซึ่งเพราะต้องการให้ลูกดื่มเพื่อหย่านม ซึ่งเรื่องราวนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เด็กชายวัย 6 เดือน ได้เริ่มมีอาการไอ และต่อมา วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ได้มีอาการแย่ลง และพบว่ามีอาการชัก ระบบหายใจล้มเหลว พ่อแม่จึงนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจรักษา และเด็กชายก็เสียชีวิตลงในวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา
ซึ่งจากการตรวจสอบ พบว่าตั้งแต่เมื่อกลางเดือนมกราคม คนในครอบครัวของเด็กชายได้ซื้อน้ำผึ้งมาผสมกับน้ำผลไม้ให้เด็กชายดื่มทุกวัน วันละประมาณ 2 ครั้ง โดยหวังเพื่อจะให้เด็กหย่านมแม่ และเพราะคิดว่าน้ำผึ้งนั้นดีต่อสุขภาพ ซึ่งเมื่อทำการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการแล้ว ก็พบเชื้อ Clostridium botulinum จากอุจจาระของเด็กชาย ซึ่งน้ำผึ้งที่เก็บไว้ก็อยู่ภายในบ้านของเด็กชายดังกล่าว
และเมื่อวันที่ 7 เมษายน จากการเสียชีวิตของเด็กชายวัย 6 เดือน ก็ได้ถูกวินิจฉัยสาเหตุ ว่าเกิดจาก “โรคโบทูลิซึมในทารก (Infant botulism)” ซึ่งโรคนี้เกิดจากการเจริญของเชื้อ Clostridium botulinum และสร้างสารพิษโบทูลิซึมในทางเดินอาหารของทารก ซึ่งทางเดินอาหารของทารกมีปัจจัยสำคัญ ที่เหมาะสมในการเจริญของเชื้อ เพราะการพัฒนาการเคลื่อนไหวยังไม่ดีและความเป็นกรดต่ำ
ซึ่งทางการแพทย์ ได้แนะนำว่าไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ กินน้ำผึ้งโดยเฉพาะที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน พัฒนาการของระบบย่อยอาหารยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ แบคทีเรียซึ่งเข้าสู่ทางเดินอาหารได้แล้ว จึงสามารถแบ่งตัวสร้างสปอร์ และปล่อยพิษออกมาได้ เพราะในลำไส้ของคนเราอยู่ในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจน โดยส่วนใหญ่แล้ว อาหารที่เป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อแบบนี้มาจากน้ำผึ้ง ดังนั้นจึงมีข้อแนะนำว่าไม่ควรให้เด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ขวบ กินน้ำผึ้งสดๆ เว้นแต่จะนำไปปรุงและผ่านความร้อนก่อน
และนอกจากนี้การเริ่มอาหารที่มีรสชาติหวานจากน้ำตาลชนิดต่างๆ ในเด็กเล็กจะทำให้มีปัญหาติดรสชาติหวาน ฟันผุ เบื่อข้าว เบื่อผัก หรืออาหารที่มีประโยชน์ ถ้ากินหวานมากจะเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวานได้อีกด้วย
อ่านต่อ >> “อาการของเด็กที่ได้รับเชื้อ Clostridium botulinum จากน้ำผึ้ง” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
โรคโบทูลิซึมในทารก (Infant botulism)
เกิด จากการสร้างโคโลนีของเชื้อในทางเดินอาหารของทารก มักเกิดในเด็กอายุต่ำกว่า 12 เดือน ส่วนใหญ่ พบในเด็กทารกอายุระหว่าง 6 สัปดาห์ – 6 เดือน อาการที่พบในเด็กทารกเริ่มด้วยท้องผูก เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ดูดกลืนลำบาก ร้องไห้เสียงเบา และ คออ่อนพับ
ซึ่งนับตั้งแต่ปี 1986 ที่ประเทศญี่ปุ่นได้เริ่มทำสถิติเป็นต้นมา พบว่ามีการรายงานผู้ป่วยโรคโบทูลิซึมในทารกทั่วประเทศเพียง 36 ราย รวมกรณีเสียชีวิตของเด็กชายในครั้งนี้ด้วย ซึ่งกรณีเด็กชายวัย 6 เดือน เป็นการเสียชีวิตจากโรคโบทูลิซึมในทารก ครั้งแรกของประเทศญี่ปุ่น
สำหรับโรคโบทูลิซึมในทารกนี้ จะมีความเสี่ยงเกิดขึ้นเฉพาะกับเด็กทารกเท่านั้น และสัดส่วนความเป็นไปได้ที่จะพบเชื้อชนิดนี้ภายในน้ำผึ้งตามท้องตลาดนั้นก็มีเพียง 5% เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก
ซึ่งถ้าพูดถึงโรคโบทูลิซึมในทารกนี้ คนไทยอาจไม่คุ้นเคย แต่จริง ๆ แล้ว เชื้อนี้เป็นชนิดเดียวกับที่เคยมีรายงานการระบาดเป็นครั้งแรกที่ จ.น่าน ในปีพ.ศ.2541 ซึ่งมีสาเหตุมาจากการรับประทานหน่อไม้อัดปี๊บที่ไม่ได้ต้ม และมีการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อชนิดนี้นั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก (anngle.org)
เชื้อโรค Clostridium botulinum คือ?
เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่พบมากในดิน เชื้อนี้เจริญเติบโตได้ดีในสภาวะแวดล้อมที่มีออกซิเจนน้อยเช่นในกระป๋องบรรจุอาหาร ในขวดที่ปิดสนิท หรือในปี๊บ ซึ่งหากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมแก่การเจริญเชื้อนี้จะหลบอยู่ในสภาพสปอร์ซึ่งคงทนในสภาพแวดล้อมได้ดีมาก และรอจนกว่าจะพบสภาพที่เหมาะสมจึงเจริญเติบโตและสร้างสารพิษในสภาวะที่มีการเจริญเติบโตนั้น
เชื้อโรค Clostridium botulinum และ สารพิษโบทูลิซึมเกี่ยวข้องกับอาหารได้อย่างไร?
การปนเปื้อนอาหารเกิดจากการปนเปื้อนสปอร์ของเชื้อ Clostridium botulinum ในอาหาร เมื่ออาหารถูกเก็บในสภาพที่มีออกซิเจนน้อยเช่นในกระป๋องบรรจุอาหารในขวดที่ปิดสนิท หรือในปี๊บเชื้อก็จะเจริญและสร้างสารพิษ อาหารที่ได้รับการปนเปื้อนสารพิษอาจไม่ปรากฏความผิดปรกติใดๆทั้งลักษณะภายนอก สี กลิ่น และ รส
อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้หมายความว่าอาหารที่บรรจุในภาชนะเหล่านี้จะต้องมีเชื้อและสารพิษนี้อยู่ เพราะว่าการถนอมอาหารเหล่านี้อย่างถูกวิธีเช่น การปรุงด้วยความร้อนที่นานพอ หรือการปรับค่าความเป็นกรดที่เหมาะสมในอาหารจะทำลายหรือยับยั้งไม่ให้สปอร์ของเชื้อเจริญและสร้างสารพิษได้ นอกจากนี้การปรุงอาหารที่บรรจุภาชนะเหล่านี้อย่างเหมาะสมก่อนการบริโภคจะสามารถทำลายสารพิษที่ปนเปื้อนกับอาหารได้
ซึ่งอาหารบางประเภทที่อาจถูกปนเปื้อนด้วยดิน เช่น หน่อไม้ อาจมีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสปอร์ของเชื้อมากกว่าอาหารอื่นๆ อาหารเหล่านี้จึงจำเป็นต้องได้รับการถนอมอย่างถูกต้องและเคร่งครัดก่อนการบรรจุภาชนะปิดสนิทเพื่อการถนอมอาหาร
นอกเหนือจากภาวะโบทูลิสมในเด็กทารก มีโบทูลิซึมแบบอื่นอีก คือ ภาวะโบทูลิซึมจากแผล (wound botulism) ซึ่งเกิดจากการเจริญของเชื้อ Clostridium botulinum และการสร้างสารพิษโบทูลิสมในบาดแผลที่มีการปนเปื้อนสปอร์จากดินการป้องกันภาวะนี้ทำได้โดยการล้างแผลให้สะอาด ปราศจากการปนเปื้อนของฝุ่นดิน
อ่านต่อ >> “การรักษาโรคโบทูลิซึม” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
การรักษาโรคโบทูลิซึม1
ผู้ป่วยที่อาการแสดงน่าสงสัยว่าจะเป็นโรคโบทูลิซึม จะต้องได้รับการรักษาล่วงหน้าไปก่อนได้รับวินิจฉัยยืนยันว่า อาการเกิดจากโรคนี้ เนื่องจากการรอผลการตรวจหาพิษ Botulinum toxin เพื่อยืนยันใช้เวลามากกว่า 1 วัน หากรักษาล่าช้า จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเสีย ชีวิตได้ ซึ่งการรักษาแบ่งออกเป็น
- การให้ยาต้านพิษ ในผู้ป่วยที่ไม่ใช่เด็กทารก จะให้สารต้านพิษ Botulinum toxin ซึ่งผลิตจากเซรุ่มที่ได้จากม้า (Equine antitoxin) แต่สำหรับเด็กทารก แพทย์จะให้ยาสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี/Antibody) ซึ่งผลิตจากเซรุ่มของคน (Human botulism immune globulin) เนื่องจากการให้ Equine antitoxin พบว่าไม่สามารถรักษาได้ นอกจากนั้น การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย Clostridium botulinum ก็พบ ว่า ไม่มีประโยชน์เช่นกัน
- การรักษาแผล โดยจะรักษาในผู้ป่วยที่มีบาดแผล ปากของบาดแผลที่แคบจะต้องถูกเปิดให้กว้างขึ้น เพื่อให้ออกซิเจนเข้าไปสัมผัสกับบาดแผลให้ทั่วถึง ซึ่งจะทำให้เชื้อนี้ไม่ผลิตพิษขึ้นมาอีก และให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อแบคทีเรียนี้ในผู้ป่วยที่มีบาดแผลด้วย แม้ว่าประ โยชน์ที่ได้รับยังไม่ชัดเจนก็ตาม
- การรักษาประคับประคองตามอาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องเฝ้าติดตามระบบการหายใจ โดยหากกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจอ่อนแรง จนเกิดภาวะการหายใจล้มเหลว ก็ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูก ก็ต้องใช้ยาระบาย/ยาแก้ท้องผูก หรือการสวนทวารช่วย หรือหากมีอาการ ท้องอืด แน่นท้อง ก็ต้องใช้ยาลดอาการ หรือใส่สายให้อาหารและดูดเอาอากาศและน้ำย่อยออกมา หรือผู้ป่วยที่ปัสสาวะไม่ออก ก็ต้องใส่สายสวนปัสสาวะ เป็นต้น
ทั้งนี้ พิษ Botulinum toxin จะไม่ติดต่อจากคนสู่คนโดยตรง ผู้ป่วยจึงไม่จำเป็นต้องแยกห้อง ยกเว้นในกรณีของอาวุธเชื้อโรค ที่จะต้องจำกัดบริเวณของผู้ป่วย จนกว่าจะอาบน้ำสระผมให้สะอาด เพื่อกำจัดพิษที่อาจติดอยู่ตามผิวหนังและเส้นผม ซึ่งบุคคลอื่นที่เข้าใกล้อาจหายใจเอาพิษเข้าไปได้ รวมทั้งเสื้อผ้า สิ่งของ ของใช้ผู้ป่วย ต้องถูกห่อในถุงพลาสติกให้มิดชิด จน กว่าจะนำไปซักด้วยผงซักฟอกให้สะอาดด้วยเช่นกัน
โดยอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากอาหารคือ ประมาณ 5-10% ซึ่งผู้สูงอายุมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยอายุน้อย และในผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากการมีบาดแผล อัตราการเสียชีวิตจะมากกว่า คือประมาณ 15-17% และสำหรับในเด็กทารก โอกาสเสียชีวิตจากโรคโบทูลิซึมจะน้อย คือน้อยกว่า 1%
การดูแลตนเอง และป้องกันโรคโบทูลิซึม2
- การดูแลตนเอง และการป้องกันโรคโบทูลิซึม คือ ไม่แนะนำให้เด็กทารกที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี บริโภคน้ำผึ้ง ยกเว้นจะนำไปปรุงเป็นอาหารที่ผ่านความร้อนที่อุณหภูมิมากกว่า 116 องศาเซลเซียส ร่วมกับการเพิ่มความกดอากาศขณะปรุง เช่น การตุ๋น หรือการอบ เพื่อทำลายสปอร์ของเชื้อโรคโบทูลิซึมที่อาจปนเปื้อน
- หลีกเลี่ยงการหมัก การดองทั้งผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ เนื้อปลาต่างๆ ด้วยตน เอง หากต้องการทำ ควรเตรียมอาหารและภาชนะที่จะใส่ ให้สะอาด ใส่กรดมะนาวที่ความเข้ม ข้นมากกว่า 0.65% หรือใส่เกลือแกงให้เข้มข้นมากกว่า 3% และเก็บรักษาอาหารไว้ในตู้เย็น รวมทั้งหลีกเลี่ยงการซื้ออาหารหมักดองที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน หากจะบริโภค จะต้องนำของหมักดองเหล่านั้นไปต้มให้เดือด 100 องศาเซลเซียส นานอย่างน้อย 10 นาที เพื่อทำลายพิษที่อาจมีอยู่
- สำหรับการซื้ออาหารกระป๋อง รวมถึงนมผง หรืออาหารสำเร็จรูปที่พร้อมทาน ต้องเลือกจากบริษัทผลิตที่เชื่อถือได้ และดูจากฉลากว่ามีเครื่องหมาย อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข) ที่ชัดเจน บริโภคก่อนวันหมดอายุที่ระบุบนฉลาก และไม่เลือกบรรจุภัณฑ์ที่มีรอยบุบ รอยแตก รอยรั่ว บวม โป่ง เป็นสนิม
- มีวัคซีนสำหรับฉีดป้องกันพิษ Botulinum toxin ซึ่งสามารถป้องกันพิษชนิดย่อย A ถึง E แต่ประสิทธิภาพยังไม่ชัดเจน และอาจเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้ (เช่น การแพ้ยา) การให้วัคซีนจึงจำกัดให้เฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคนี้เท่านั้น เช่น ผู้ที่ทำงานในห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับพิษชนิดนี้ หรือในกรณีมีการปล่อยอาวุธเชื้อโรคที่เป็นพิษชนิดนี้
ดังนั้นแล้วหากจะให้ลูกได้รับสิ่งที่มีประโยชน์จริงแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็จำเป็นที่จะต้องหาข้อมูลให้ละเอียดก่อนว่าอาหารชนิดใดบ้างที่ลูกน้อยสามารถกินได้หรือไม่ได้ เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยนะคะ
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!
- มื้อแรกของลูก อาหารเสริมตามวัย เริ่มอย่างไรจึงจะดี?
- ข้อสรุปสำหรับพ่อแม่ เรื่องการแพ้อาหารในเด็ก
- 7 เมนูอาหารและขนม สำหรับเด็กแพ้อาหาร
- 10 สุดยอด “อาหารบำรุงสมอง” ลูกน้อย
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.si.mahidol.ac.th
1,2 haamor.com (โรคโบทูลิซึม)