AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

แม่แชร์ประสบการณ์สังเกตให้ดี ลูกป่วย มีตุ่มแดงแปลกๆ ขึ้น เสี่ยงเป็น โรค ITP เกล็ดเลือดต่ำ รักษาช้าเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต!

โรค ITP เกล็ดเลือดต่ำ

โรค ITP เกล็ดเลือดต่ำ ในเด็ก …เป็นภาวะที่อันตราย คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตลูกน้อยให้ดี หากมีอาการเจ็บป่วย และพบว่าลูกมีเลือดออกผิดปกติ หรือมีจุดแดงขึ้นตามตัวหรืออาจมีจ้ำเขียวร่วมด้วย ให้รีบพาไปหาหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคทันที หากลูกเป็น โรค ITP หรือมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ และเข้ารับการรักษาช้า อาจเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตได้

แม่แชร์ประสบการณ์สังเกตให้ดี ลูกป่วย มีตุ่มแดงแปลกๆ ขึ้น
เสี่ยงเป็น โรค
ITP เกล็ดเลือดต่ำ

เช่นเดียวกับอาการป่วยของเด็กน้อยคนหนึ่งซึ่งเพียงแค่ผู้เป็นแม่พบว่าลูกสาวเป็นเป็นไข้ มีน้ำมูก และพาไปโรงพยาบาลรักษาหลายวันลูกก็ยังไม่หาย จนมีอาการผิดสังเกตคือพบว่า ขณะล้างจมูกมีเลือดออกนิดหน่อย และพบตุ่มแดงแปลกๆ ขึ้นตามตัว ซึ่งเมื่อไปเจอกับคุณป้าข้างบ้าน จึงถามไถ่ด้วยความเป็นห่วงและบอกว่า มีผืนแบบนี้สงสัยว่าเป็น โรคซาง

ซึ่งทางคุณแม่เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับอาการของลูกน้อย และกังวลใจมาก จึงได้ไปขอคำปรึกษากับเพจดัง Drama-addict และทางเพจจึงก็ให้คุณแม่รีบพาลูกไปหาหมอโดยด่วนเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องอีกครั้ง และบอกว่าตุ่มแดงๆ ที่ป้าข้างบ้านบอกว่าเป็น โรคซาง นั้นไม่ใช่ technical term ในทางการแพทย์ แต่มันคือศัพท์ที่ชาวบ้านสมัยก่อนเขาใช้เรียกกลุ่มอาการ ซึ่งบางที ลองไปถามคนเฒ่าคนแก่ ว่าซางคืออะไร ยังนิยามไม่ตรงกันเลยก็มี

ซึ่งเรื่องนี้ทางทีมงาน Amarin Baby & Kids ไม่รอช้ารีบติดต่อไปสอบถามถึงอาการที่แท้จริงของเด็กน้อยคนนี้กับคุณแม่ทันทีว่า แท้จริงแล้วน้องป่วยเป็นอะไรกันแน่ เพื่อเป็นอุทาหรณ์เตือนใจให้คุณแม่ๆ ท่านอื่นได้เฝ้าระวังดูอาการป่วยของลูกน้อยทุกครั้งที่ผิดสังเกต  เช่นเดียวกับคุณแม่ท่านนี้ ที่ขาดคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ กว่าลูกจะถึงมือหมอก็เกือบสายเกินไป   โดยคุณแม่ Sanrutai Mana ได้เล่าถึงอาการของลูกสาววัย 2 ขวบเศษ ให้ทางทีมงาน Amarin Baby & Kids ฟังว่า

เริ่มจาก น้องไปโรงเรียนเดือนที่แล้วค่ะ (พฤษภาคม)

เรียนไปได้ 6 วัน มีอาการ ท้องเสีย ไข้ ไอ น้ำมูก หาหมอ แอดมิด ไป 2 คืน ได้ยากลับมาทานที่บ้าน แต่อาการไอ กับน้ำมูกยังไม่หาย

จนวันที่ 24 พ.ค. ก็ไปหาหมออีกรอบ ไม่ได้แอดมิด ได้ยากลับมาทานบ้านชุดที่ 2 จนยาหมด ไอกับน้ำมูกก็ยังไม่หาย

วันที่ 8 มิ.ย. พาน้องไปหาหมอ แอดมิดอีก 1 คืน และกลับมาบ้าน

วันเสาร์เย็นๆ (วันที่ 10 มิ.ย.) อยู่บ้านแล้ว ล้างจมูกน้องแล้วเจอเลือด ปนมาในเสมหะ นิดหน่อย ยังไม่เอ๊ะใจอะไรมาก คิดว่าโพรงจมูกอาจจะอักเสบ เลยเกิดการเลือดออก

วันอาทิตย์ตอนเช้า มีรอยขึ้นบนหน้าผาก 1 รอย รอยเล็กมากๆ แม่นึกว่าอาจจะโดนเล็บตัวเอง แต่ดูไปดูมา ไม่ใช่ แล้วมีรอยเพิ่มที่ต้นคอ แขนและขานิดหน่อย

3 รูปนี้คืออาการที่เห็นตอนแรก

เจอป้าข้างบ้านก็คุยกัน เค้าก็ถามปกติ เพราะน้องเพิ่งออกจากรพ. ประมานว่าน้องเพิ่งออกจากรพ. เอง มีผื่นอะไรขึ้นอีกแล้วก็ไม่รู้ เค้าก็เลยขอดู เค้าก็บอกว่าน่าจะเป็นซาง ประมาณนี่ค่ะ

⇒ Must read : ยารักษาโรคซาง ปลอดภัยดีแล้วจริงหรือ?

คืนวันอาทิตย์ 3 ทุ่มกว่า เลยทักไปถามกับจ่าค่ะ จ่าเลยแนะนำให้ไปหาหมอ เช้าก็เลยพาไปคลินิกเด็กธรรมดาก่อน แต่หมอที่คลินิก ให้ไปหาหมอที่รพ. ด่วน

อ่านต่อ >> “คำแนะนำที่ทางเพจ Drama-addict บอกกับคุณแม่ และคำวินิจฉัยอาการที่แท้จริงของน้อง” คลิกหน้า 2

อ่านต่อ “บทความน่าสนใจ” คลิก!

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

 


พอไปรพ. ก็ได้เจาะเลือด เจอเกล็ดเลือดเหลือ 7,000 หมอเลยให้ไปรักษาที่รพ จังหวัด เพราะ เอกชนไม่มีหมอโรคเลือดค่ะ

พอมาถึงรพ. เจาะเลือด พบว่าเกล็ดเลือดเหลือ 3,000 แล้ว

วิธีรักษาคือ ต้องใช้ยา ivig ราคาโด๊สล่ะ 16,000 บาท ต้องจ่ายเงินก่อน ถึงจะได้ยา

และคืนนั้น น้องก็ได้ยาค่ะ แอดมิดอยู่รพ. 2 วัน (ตั้งแต่วันจันทร์ช่วง 6 โมง ถึงวันพุธเย็นๆ นะคะ) คือหลังจากได้ยาไปแล้ว ก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากรอเวลา 48 ชม. ถึงจะเจาะเลือดได้อีกครั้ง เพื่อตรวจดูเกล็ดเลือดอีกรอบ

ปรากฏว่าร่างกายน้องตอบสนองยาดี เกล็ดเลือดขึ้นมาที่ 7,5000 หมอเลยให้กลับบ้านได้ค่ะ และนัดไปติดตามผลอีกทีค่ะ (เกล็ดเลือดขึ้นเกิน70000 ถือว่าดีขึ้นในระดับนึง)

ส่วนเรื่องเรียนของน้อง คุณแม่แจ้งว่า กำลังจะให้โรงเรียนวันจันทร์หน้านี้  แต่ยังกังวล เพราะยา ivig ที่ให้ไป มันจะไปกดภูมิคุ้มกันน้อง อาจจะทำให้ป่วยได้อีก คือพยายามจะไม่ให้ป่วย เพราะเดี๋ยวเลือดมันจะกลับมาทำงานอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี คุณแม่ยังบอกอีกว่า จากอาการของน้อง  เพียงเพราะมีเลือดออกพร้อมน้ำมูกนิดหน่อย ออกไม่เยอะ ทำให้ไม่คิดว่ามันจะน่ากลัวเลยค่ะ  จึงเน้นย้ำว่าให้รีบมาลูกไปหาหมอ คือดีที่สุด แต่ที่แวะไปถามจ่า (เพจ Drama-addict) เพราะตัวคุณแม่เองคิดว่าลูกเพิ่งออกจากรพ.ได้ 2 วันเอง ไม่คิดว่ามันจะเป็นแบบนี้ เป็นเรื่องที่คาดไม่ถึงเลย

โดยล่าสุดคุณแม่ได้ออกมาอัปเดทของน้องที่ป่วยเป็น โรค ITP เกล็ดเลือดต่ำ ว่าน้องอาการดีขึ้น กลับมาเล่นซนได้ตามปกติแล้วนะคะ  เหลือรอยเขียวช้ำตามตัว คงต้องใช้เวลาสักพัก อาทิตย์หน้าต้องกลับไปเรียนแล้ว

***จากเหตุการณ์ที่คุณแม่เล่ามานี้ ทางทีมงาน Amarin Baby & Kids จึงขอให้ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับโรคเลือดในเด็ก ที่อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่นึกถึงเพียงโรคธาลัสซีเมีย โรคลูคีเมีย แต่แท้ที่จริงแล้วโรคเลือดในเด็กมีมากมายหลายชนิด และสาเหตุส่วนใหญ่มาจากพันธุกรรม หรือเกิดจากได้ปัจจัยภายนอกมากมาย เช่น การขาดสารอาหารบางชนิด เช่น ขาดธาตุเหล็ก กรดโฟลิค วิตามิน บี 12 เป็นต้น ทำให้การสร้างเม็ดเลือดแดงไม่เพียงพอ

อ่านต่อ >> โรค ITP หรือภาวะเกล็ดเลือดต่ำในเด็กเกิดขึ้นเพราะเหตุใดและมีวิธีรักษาป้องกันอย่างไร” คลิกหน้า 3

อ่านต่อ “บทความน่าสนใจ” คลิก!


ขอบคุณข้อมูลและภาพจากคุณแม่ Sanrutai Mana และอ้างอิงข้อมูลจาก เพจ Drama-addict

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

โดยเรื่อง โรค ITP ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ที่หนูน้อยเป็นนั้น ศาสตราจารย์แพทย์หญิง อรุณี เจตศรีสุภาพ วว.กุมารเวชศาสตร์, อว.โลหิตวิทยา ได้ให้ข้อมูลที่ดีไว้ ดังนี้

ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia) เป็นสาเหตุที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการเลือดออกผิดปกติ ผู้ป่วยบางรายมีเกล็ดเลือดต่ำมาก และเมื่อไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที อาจเกิดอาการเลือดออกจนเสียชีวิตได้ สาเหตุของเกล็ดเลือดต่ำมีได้หลายอย่าง หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม สามารถทำให้ผู้ป่วยหายและมีชีวิตเป็นปกติได้

เกล็ดเลือด (Platelet) เป็นส่วนหนึ่งของเม็ดเลือดที่อยู่ในกระแสเลือด (ในกระแสเลือดมีเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือด) มีหน้าที่สำคัญทำให้เลือดอยู่ในภาวะปกติ ไม่เกิดเลือดออกง่าย แต่หยุดยาก โดยจำนวนและหน้าที่ของเกล็ดเลือดต้องปกติ1

Good you know : ไอทีพี (ITP ; Immune thrombocytopenia) ส่วนใหญ่เกิดในเด็กอายุ 2-6 ขวบเป็นหลัก มีสถิติอยู่ในช่วง 1.6-3.9 คนต่อประชากร 100,000 คน คือเฉลี่ยแล้วพบว่าในประชากร 100,000 คนจะป่วยเป็นไอทีพีประมาณ 2 คน เป็นภาวะที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านเกล็ดเลือด เพราะมีข้อสันนิษฐานว่าเด็กจะได้รับเชื้อไวรัสจนมีการสร้างแอนตี้บอดี้ไปทำลายไวรัส และตัวแอนตี้บอดี้ที่หลงเหลืออยู่ในระบบกระแสเลือดจึงไปทำลายเกล็ดเลือด โรคนี้ถ้าพบครั้งแรกในเด็กอายุ 10 ขวบ ขึ้นไปอาจมีโอกาสกลายเป็นโรคเกล็ดเลือดต่ำไอทีพี ชนิดเรื้อรังได้2

สาเหตุของโรค ITP เกล็ดเลือดต่ำ

โรคเกล็ดเลือดต่ำชนิด ITP ในเด็ก มักจะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งทำให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี้ต่อเกล็ดเลือดของตนเอง ทำให้เกิดการทำลายเกล็ดเลือดของตนเองที่ม้าม จำนวนเกล็ดเลือดในกระแสเลือดจะลดต่ำลง ทำให้เกิดปัญหาเลือดออกเนื่องจากเกล็ดเลือดต่ำ ที่พบได้บ่อยคือ พบจ้ำเลือดตามผิวหนัง หรือมีเลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน เซลล์ต้นกำเนิดของเกร็ดเลือดในไขกระดูกจะสร้างเกร็ดเลือดตัวอ่อนๆ เพิ่มขึ้นสู่กระแสเลือด แต่เกล็ดเลือดที่สร้างใหม่นี้จะถูกทำลายอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ระดับเกล็ดเลือดในเลือดต่ำ3

โรค itp เกล็ดเลือดต่ำ มีอาการอย่างไร?

เมื่อเกล็ดเลือดต่ำเพียงเล็กน้อยอาจไม่มีอาการอะไรเลย ไม่มีเลือดออกที่ใด แต่เมื่อเกล็ดเลือดต่ำถึงระดับหนึ่ง จะมีอาการเลือดออก อาการเลือดออกจากเกล็ดเลือดต่ำ มักเกิดที่ผิวหนังเป็นจุดเลือดออกแดงๆ คล้ายยุงกัด กดแล้วไม่จางหายไป (หากเป็นจุดยุงกัดเมื่อกดแล้วจะจางลง) หรือเป็นจ้ำเลือดออกตื้นๆ (Ecchymosis) ซึ่งบางคนเรียกว่า ‘พรายย้ำ”

จ้ำเลือดปกติ คลำดูจะเรียบแต่บางครั้งคลำดูเหมือนมีไตแข็งขนาดเมล็ดถั่วเขียวอยู่ตรงกลางจ้ำเลือดก็ได้ จ้ำเลือดจะมีสีม่วงปนเหลืองเนื่องจากเม็ดเลือดแดงที่อยู่ในตำแหน่งเลือดออกจะแตกตัวได้สารสีเหลือง สีจ้ำเลือดจะไม่สม่ำเสมอ แล้วแต่การแตกตัวของเม็ดเลือดแดงก่อนหลัง หากมีจ้ำเป็นสีน้ำตาลเสมอกันอาจไม่ใช่จ้ำเลือด อาจเกิดจากการแพ้ยาบางชนิด ซึ่งเรียกว่า fixed drug eruption

บางคนอาจมีเลือดออกแถวเยื่อเมือกบุในช่องปาก เลือดออกที่เหงือก ในหญิงที่มีประ จำเดือนแล้ว อาจมีเลือดประจำเดือนออกมาก บางคนมีปัสสาวะเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระมีเลือดปน หรือถ่ายอุจจาระสีดำเหมือนเส้นผม หรือยางมะตอย

อาการเลือดออกจากเกล็ดเลือดต่ำเพียงสาเหตุเดียว มักไม่มีเลือดออกในข้อหรือในกล้ามเนื้อลึกๆ หากมีอาการดังกล่าวต้องหาสาเหตุของเลือดออกจากปัจจัยการแข็งตัวของเลือดผิดปกติด้วย

การวินิจฉัยภาวะเกล็ดเลือดต่ำของแพทย์

ภาวะเกล็ดเลือดต่ำจะวินิจฉัยเมื่อเกล็ดเลือดมีจำนวนน้อยกว่า 150,000 ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ค่าปกติของเกล็ดเลือดคือ 150,000 ถึง 450,000 ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร เมื่อเกล็ดเลือดต่ำกว่า 100,000 ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร จะมีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะเลือดออก โอกาสที่เลือดจะออกได้เองโดยไม่มีบาดแผล เกิดเมื่อเกล็ดเลือดเหลือน้อยกว่า 20,000 ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร

ควรพาลูกไปพบแพทย์เมื่อใด?

ควรพบแพทย์เมื่อมีอาการเลือดออกผิดปกติ เช่น จุดเลือดออกตามตัว จ้ำเลือดตามตัว มีเลือดออกที่เยื่อเมือกบุช่องปาก เลือดออกตามไรฟัน มีประจำเดือนมากผิดปกติ มีเลือด ออกจากทางเดินอาหาร ถ่ายอุจจาระสีดำเหมือนเส้นผมหรือยางมะตอย ปัสสาวะเป็นเลือด หรือเมื่อมีเลือดออก เลือดจะหยุดยาก เช่น ถอนฟันแล้วเลือดไหลไม่หยุด หรือมีเลือดออกจากแผลผ่าตัด เป็นต้น

หากมีจุดเลือดออกหรือจ้ำเลือด หรือมีเลือดออกผิดปกติที่ใด แล้วมีอาการปวดศีรษะอาเจียนพุ่ง ซึมลง ต้องรีบไปโรงพยาบาลด่วน เนื่องจากอาจมีเลือดออกในสมอง ซึ่งต้องวินิจฉัยและรักษาทันท่วงที

ข้อแนะนำ : พบอาการเรื้อรังหรือโรคแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น เลือดออกมาก เลือดออกในสมองได้เป็นส่วนน้อยในโรคนี้ ส่วนใหญ่จะรักษาให้หายขาดได้ ควรนึกถึงโรคนี้และรีบไปพบแพทย์โดยเร็วถ้าพบผู้ป่วยมีจุดแดงขึ้นตามตัวโดยไม่มีอาการอื่นๆ นำมาก่อน

การรักษาโรค ITP เกล็ดเลือดต่ำ ในเด็ก

โดย นายแพทย์ เรืองฤทธิ์ หรรษกุล ผู้อำนวยการแพทย์โรงพยาบาลธนบุรี 2 ได้กล่าวถึงการรักษาโรค itp เกล็ดเลือดต่ำ นี้ว่า ขึ้นอยู่กับระดับเกล็ดเลือด ถ้าอยู่ในระดับ 70,000-100,000 อาจไม่ต้องรับการรักษา แต่ถ้าต่ำกว่า 70,000 อาจต้องเริ่มการรักษา ยิ่งถ้าต่ำกว่า 25,000 จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ซึ่งโรคนี้จะได้รับยายับยั้งการต้านการทำลายของเกล็ดเลือดต่อภาวะไอทีพี สำหรับภาวะโลหิตจางแตกต่างกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เนื่องจากเลือดมีส่วนประกอบ 3 อย่าง ได้แก่ เม็ดเลือด เกล็ดเลือดและน้ำ ปริมาณภาวะเลือดจางแปลว่าตัวเม็ดเลือดน้อยลง ความเข้มข้นของเม็ดเลือดน้อยลง มี 2 กรณี คือตัวเม็ดเลือดอาจจะมีเท่าเดิม แต่ตัวปริมาณเลือดในเม็ดเลือดน้อยลง กับตัวเม็ดเลือดปกติแต่ผอมลง

ดังนั้นถ้าลูกน้อยรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ก็จะไม่มีปัญหาเกี่ยวกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำและโลหิตจางอยู่แล้ว ส่วนการรับประทานอาหารเสริมและวิตามินบำรุงเป็นส่วนประกอบย่อย แต่โรงงานการผลิตที่สำคัญคือไขกระดูก

อาหารที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ต้องการสารอาหารที่ช่วยในการสร้างเลือด คือ

ได้ทราบกันแล้วนะคะสำหรับข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยว โรค itp เกล็ดเลือดต่ำ ฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือคุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตอาการของลูกน้อยให้เป็นอย่างดีและถี่ถ้วนและพามาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด ก็จะสามารถรักษาได้จนอยู่ในภาวะสงบของโรค ซึ่งทางการแพทย์ไม่ได้ระบุว่าเป็นแล้วหายขาด แต่มีภาวะสงบของ โรคได้เป็นปี ๆ จนกระทั่งทำให้เด็กที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำและภาวะโลหิตจางสามารถมีชีวิตได้ตามปกติ

อ่านต่อ “บทความน่าสนใจ” คลิก!


แหล่งข้อมูลอ้างอิงจาก :

1haamor.com

2www.dailynews.co.th

3www.gotoknow.org

 

รวม 20 อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย แบบนี้..! กำลังป่วยเป็นโรคอะไร?

Save