โรคเกล็ดเลือดต่ำ ITP ภูมิคุ้มกันทําลายเกล็ดเลือด อันตราย - Amarin Baby & Kids
โรคเกล็ดเลือดต่ำ ITP ภูมิคุ้มกันทําลายเกล็ดเลือด

โรคเกล็ดเลือดต่ำ ITP ภูมิคุ้มกันทําลายเกล็ดเลือด โรคอันตรายทำร้ายลูก

account_circle
event
โรคเกล็ดเลือดต่ำ ITP ภูมิคุ้มกันทําลายเกล็ดเลือด
โรคเกล็ดเลือดต่ำ ITP ภูมิคุ้มกันทําลายเกล็ดเลือด

ลูกมีรอยช้ำ จ้ำๆ ตามแขนขา แม่ช็อคตรวจเจอว่า ลูกเป็น โรคเกล็ดเลือดต่ำ ITP จากภูมิคุ้มกันทําลายเกล็ดเลือด

โรคเกล็ดเลือดต่ำ ITP ภูมิคุ้มกันทําลายเกล็ดเลือด

รอยช้ำเกิดขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุ ใครจะคิดว่ารอยช้ำ จ้ำ ๆ ไม่ใช่เพราะลูกหกล้ม ไม่ใช่เพราะลูกเดินชนเก้าอี้ แต่มันเป็นสัญญาณของโรคอันตราย ที่ซ่อนตัวอยู่ภายในร่างกายของลูก เช่นเดียวกับกรณีหนูน้อยวัย 1 ขวบ 8 เดือนที่ต้องทรมานจากอาการป่วยด้วยโรคเกล็ดเลือดต่ำ ภูมิคุ้มกันทําลายเกล็ดเลือด

คุณแม่เล่าว่า ในวันหนึ่งแม่สังเกตเห็นรอยช้ำขึ้นที่ขาเยอะมาก รอยช้ำนี้ยังหายยาก แต่ตอนแรกก็ยังไม่สังหรณ์ใจ เพราะน้องอยู่ในวัยใกล้จะ 2 ขวบ กำลังอยู่ในวัยหัดเดิน จึงคิดว่าลูกหกล้มทำให้เกิดรอยช้ำขึ้นบนร่างกาย จนรอยช้ำนี้ก็อยู่มาตลอดถึงราว ๆ 2 เดือน น้องมีอาการไข้สูงจากวัคซีน จนเกิดการชัก ทำให้ต้องแอดมินในโรงพยาบาล เมื่อคุณหมอตรวจจึงพบว่าน้องป่วยด้วยโรคเกล็ดเลือดต่ำ ภูมิคุ้มกันทําลายเกล็ดเลือด

โรคเกล็ดเลือดต่ำ ITP
ลูกเป็นโรคเกล็ดเลือดต่ำ ITP

“ถ้าลูกไม่ป่วย แม่ก็ไม่รู้เลยว่าน้องเป็นโรคนี้ เพราะอาการแสดงแค่รอยช้ำที่ขึ้นเองตามแขน ขา ก้น ทั้งที่ลูกไม่ได้ล้มหรือชนกับอะไรเลย” คุณแม่ยังเล่าอีกว่า ในช่วงแรก ๆ ไปตรวจที่โรงพยาบาลเอกชน ไม่มีหมอโรคเลือดที่ดูแลเด็กโดยเฉพาะ ด้านหมอเด็กและหมอโรคเลือดผู้ใหญ่ จึงวินิจฉัยร่วมกัน สงสัยในตอนแรกว่า ลูกเป็นมะเร็งเม็ดเลือด ตอนนั้นแม่ตกใจมาก แต่ได้รับคำแนะนำให้พาลูกไปตรวจที่โรงพยาบาลรัฐที่มีหมอโรคเลือดสำหรับเด็ก เพื่อตรวจอย่างละเอียดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งยังสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้

เมื่อไปถึงคุณหมอได้เจาะไขสันหลังตรวจ และยืนยันว่า ไม่ใช่มะเร็ง ทำให้คุณแม่โล่งอก เพราะถ้าเป็นโรคเลือดแม่รับได้ ขอแค่ไม่ใช่มะเร็งแม่รับได้หมด จากนั้นคุณหมออธิบายให้แม่ฟังว่า โรคเกล็ดเลือดต่ำ ภูมิคุ้มกันทําลายเกล็ดเลือด ถ้าเกิดในเด็กส่วนมากจะหายได้เองใช้เวลา 3-6 เดือน เพราะอาจจะเกิดขึ้นช่วงที่เด็กป่วยแล้วเกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำได้ แต่สำหรับน้องอยู่ในเคสที่รักษายาก เพราะภูมิคุ้มกันของน้อง ทำลายเกล็ดเลือดตัวเอง

ในช่วงแรก ๆ ของอาการป่วย คุณหมอเคยให้ยา IVIG ทางสายน้ำเกลือ โดสละ 16,000 บาท หลังให้ยา 2 สัปดาห์ เกล็ดเลือดขึ้นมาที่ 240,000 ตอนที่เกล็ดเลือดขึ้นแม่ดีใจนึกว่าลูกหายแล้ว พอผ่านไป 1 เดือน เกล็ดเลือดลงมาเหมือนเดิม แล้วจึงรู้ว่าเป็นโรคเกล็ดเลือดต่ำ สาเหตุจากภูมิคุ้มกันทำลายเกล็ดเลือด สำหรับการดูแลรักษาน้องในปัจจุบัน คุณหมอให้กินยาเพนนิโซโลน 5 มิลลิกรัม ก่อนหน้านี้กินวันละ 6 เม็ดใน 2 สัปดาห์เกล็ดเลือดขึ้นมาที่ 110,000 พอลดยาลงเป็นวันละ 3 เม็ดต่อสัปดาห์ และ 1 เม็ด 1 สัปดาห์ ปรากฏว่า เกล็ดเลือดต่ำลงเหลือ 35,000 ช่วงนี้ลูกจึงต้องกินยากดภูมิไปก่อน แต่ข้อเสียของยาจะมีผลต่อมวลกระดูก ทำให้ลูกอ้วนเตี้ย น้องจะหิวตลอดเวลา กลางคืนจะร้องกินนมตลอด

ส่วนข้อควรระวังอื่น ๆ ที่คุณหมอฝากไว้คือ ไม่ให้เล่นแรง ๆ ต้องคอยระวังไม่ให้ล้ม กลัวเลือดออกตามข้อข้างในที่มองไม่เห็น ดูแลอาหารการกินเป็นพิเศษ ลูกต้องไม่กินอาหารค้างคืน หมั่นล้างมือเพราะน้องกินยากดภูมิจะทำให้ติดเชื้อได้ง่าย ถ้าเป็นไปได้อยากให้เล่นคนเดียวอย่าพึ่งเล่นกับเด็กหลาย ๆ คน และต้องหลีกเลี่ยงการพาไปสถานที่คนเยอะ ๆ

ตอนนี้น้องกลับมารักษาตัวที่บ้านแล้ว เพียงแต่ต้องไปเจาะเลือด ติดตามอาการทุก ๆ 2 สัปดาห์ ทางทีมงานขอให้น้องสุขภาพแข็งแรงในเร็ววันนะคะ

โรคเกล็ดเลือดต่ำ ITP
รอยช้ำจากโรคเกล็ดเลือดต่ำ ITP

ทำความรู้จัก โรคเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกันทำลายเกล็ดเลือด

รศ.นพ.บุญชู พงศ์ธนากุล สาขาวิชาโลหิตวิทยาและอองโคโลยี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายถึงโรคเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกันทำลายเกล็ดเลือด (Immune thrombocytopenia: ITP) ว่า เป็นโรคเลือดออกง่ายในเด็ก พบบ่อยช่วงอายุ 2-5 ปี โดยเกล็ดเลือดเป็นเม็ดเลือดชนิดหนึ่งทำให้เลือดหยุดเวลาเกิดบาดแผล เมื่อเกล็ดเลือดต่ำมากจึงมีเลือดออกได้เอง แม้จะไม่เกิดอุบัติเหตุ ไม่กระทบกระแทก หรือเกิดบาดแผล

สาเหตุของโรคเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกันทำลายเกล็ดเลือด

โรคเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกันทำลายเกล็ดเลือดเกิดจากภูมิต้านทานของร่างกายสร้างแอนติบอดี้ ซึ่งการสร้างนี้อาจได้รับการกระตุ้นจากการติดเชื้อไวรัส การรับยาหรือวัคซีนเชื้อบางชนิด เมื่อสร้างแอนติบอดี้แล้วจะมาจับกับผนังเกล็ดเลือดและทำลายเกล็ดเลือดตัวเอง

อาการสำคัญของโรคเกล็ดเลือดต่ำ

  • รอยช้ำ จุดจ้ำเลือดบนผิวหนัง ตามลำตัว แขน ขา
  • ถ้าเกล็ดเลือดต่ำมาก เลือดอาจจะออกรุนแรงขึ้นตามอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น เยื่อบุในช่องปาก

ผู้ป่วยอาจมีประวัติการติดเชื้อไวรัส ไข้หวัด ไข้ออกผื่น หรือได้รับวัคซีนเชื้อ ก่อนมีอาการประมาณ 2-4 สัปดาห์ เมื่อตรวจร่างกายจะพบเลือดออก อาจซีดได้บ้าง แต่ไม่พบต่อมน้ำเหลืองโตหรือตับม้ามโต

ลูกเป็นโรคเกล็ดเลือดต่ำ ITP
อาการโรคเกล็ดเลือดต่ำ ITP

การรักษาโรคเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกันทำลายเกล็ดเลือด

  1. ยากลุ่มสเตียรอยด์ เป็นยาหลักในการรักษาโรคนี้ เพื่อกดภูมิต้านทานร่างกายในการสร้างแอนติบอดี้มาทำลายเกล็ดเลือดตัวเอง ส่วนใหญ่จะใช้ขนาดสูงระยะสั้น ๆ หรือ ขนาดปานกลางระยะยาว แต่ไม่ควรให้ยาเกิน 2 สัปดาห์ เพราะจะพบผลข้างเคียงจากยาสเตียรอยด์ได้ เช่น หน้าบวม น้ำหนักเพิ่มขึ้น และอารมณ์หงุดหงิด ยาสเตียรอยด์จะช่วยให้เกล็ดเลือดเพิ่มขึ้น ประมาณ 5-7 วันหลังได้ยา
  2. ยาอิมมิวโนโกลบูลินให้ทางเส้นเลือด ( Intravenous Immunoglobulin: IVIG) ยาตัวนี้ต้องให้ทางเส้นเลือด นาน 8-12 ชั่วโมง 1-2 วันต่อกัน การตอบสนองต่อยาตัวนี้จะรวดเร็วกว่า คือ เกล็ดเลือดจะเพิ่มขึ้น 1-2 วันหลังได้ยา ด้วยราคาที่แพงมาก จะใช้ยานี้ในกรณีที่ต้องการเพิ่มเกล็ดเลือดอย่างรวดเร็ว ส่วนผลข้างเคียงของยาตัวนี้ คือ มีอาการแพ้แบบรุนแรงได้

คุณพ่อคุณแม่ที่เห็นลูกมีรอยช้ำ จ้ำตามเนื้อตัว ไม่หายเสียที ลองพาลูกไปตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อรับการรักษาและศึกษาวิธีป้องกันไม่ให้ลูกเกิดอันตรายร้ายแรง และหากมีการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้แล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองต้องดูแลอาการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเด็กที่มีพฤติกรรมซุกซน ไม่อยู่นิ่ง เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ยิ่งต้องใส่ใจเป็นพิเศษนะคะ

 

อ้างอิงข้อมูล : http://tsh.or.th

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

รวม 20 อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย แบบนี้..! กำลังป่วยเป็นโรคอะไร?

วิจัยชี้!! ลูก นอนกลางวัน ช่วยให้ความจำดี เรียนรู้เร็ว!

ปวดบิดในทารก ลูกบิดตัว ร้องไห้ ต้องหาหมอไหม เป็นอะไรกันแน่

ลูกอึเหม็น!สัญญาณ แพ้นมวัว พร้อมอีก 4 กลิ่นบอกโรคร้าย

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up