หัวใจเต้นเร็ว มือเท้าเย็น หงุดหงิด งุ่นง่าน ระวังเป็น ภาวะตัวเย็น ภาวะเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
คุณพ่อคุณแม่เคยรู้จักกับ ภาวะตัวเย็น หรือเรียกอีกอย่างว่า ไฮโปเธอร์เมีย กันหรือไม่คะ เคยสงสัยไหมคะว่า โรคดังกล่าวมีลักษณะอย่างไร ใช่ไปจับแล้วตัว มือ เท้าเย็นหรือไม่ และโรคดังกล่าวจะอันตรายเพียงใด วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับโรคดังกล่าวนี้ไปพร้อม ๆ กันค่ะ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อธิบายว่า ภาวะตัวเย็นเกินหรือไฮโปเธอร์เมีย (Hypothermia) นั้น เป็นภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิลดต่ำเกินไป ทำให้อวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะหัวใจ และสมองได้รับผลกระทบจนทำหน้าที่ผิดปกติ บางรายที่มีอาการรุนแรงอาจจะถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ สำหรับสาเหตุมี 2 ปัจจัยคือ
- การสัมผัสกับความหนาวเย็น เช่น อยู่ในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศหนาวหรือแช่อยู่ในน้ำเย็นจัดซึ่งมักเกิดขึ้นเนื่องจากอุบัติเหตุ
- จากการที่ร่างกายสูญเสียกลไกการปรับอุณหภูมิ ทำให้ไม่สามารถสร้างและเก็บความร้อนในร่างกายได้ มักพบในผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปและในผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพาต โรคสมองเสื่อม โรคพาร์กินสัน โรคเบาหวานที่มีภาวะประสาทเสื่อม ภาวะขาดไทรอยด์ ภาวะขาดอาการ ผู้ที่กินยานอนหลับ ยากล่อมประสาท รวมถึงผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป เป็นต้น
อ่านต่อ>> เนื้อหาเพิ่มเติม คลิก!
อาการของ ภาวะตัวเย็น เป็นอย่างไร?
สำหรับผู้ป่วยที่ป่วยโรคนี้นั้น ในระยะแรก จะมีอาการสั่น พูดอ้อแอ้ เดินเซ งุ่มง่าม หงุดหงิด สับสน ความสามารถในการคิดและการตัดสินใจด้อยลง เมื่ออุณหภูมิร่างกายลดต่ำลงไปอีก ผู้ป่วยจะหยุดสั่น มีอาการเพ้อคลั่ง ไม่รู้ตัว อาจจะหมดสติและหยุดหายใจหรือเสียชีวิตได้
การวินิจฉัยเมื่อเกิดภาวะนี้เมื่อผู้ป่วยถูกส่งตัวถึงแพทย์แล้ว จะมีการวินิจฉัยจากประวัติการสัมผัสถูกความหนาวเย็น อาการที่ตรวจพบระยะแรกผิวหนังผู้ป่วยจะเย็นและซีด จากนั้นมีการหนาวสั่น หายใจเร็ว ชีพจรเต้นเร็ว ความดันเลือดสูง เมื่ออุณหภูมิร่างกายลดต่ำกว่า 32 องศาเซลเซียสผู้ป่วยจะไม่หนาวสั่น แต่จะหายใจช้าลง ชีพจรเต้นช้าลงหรือเต้นผิดจังหวะ ประกอบกับมี ความดันเลือดต่ำ ปากเขียว ตัวเขียว รูม่านตาโต 2 ข้าง หรือถึงขั้นหมดสติ หยุดหายใจ
ขั้นตอนการปฐมพยาบาล หากพบว่าลูกหลาน หรือสมาชิกในครอบครัวมีอาการดังกล่าว ให้พาผู้ป่วยไปหลบอากาศที่หนาวเย็น หรือขึ้นจากน้ำเย็นโดยนำเข้าไปในห้องที่อบอุ่นและไม่มีลมเข้า ถ้าเสื้อผ้าเปียกน้ำควรปลดออก เปลี่ยนเป็นเสื้อผ้าที่แห้ง จากนั้นทำการอบอุ่นร่างกายโดยห่อหุ้มด้วยผ้านวม ผ้าห่ม หรือเสื้อผ้าหนา ถ้าอยู่กลางแจ้งควรใช้ผ้าหนาคลุมใบหน้าและศีรษะเพื่อป้องกันการสูญเสียความร้อน หรือนอนกอดเพื่อถ่ายเทความร้อนให้ผู้ป่วย ต่อมาจับผู้ป่วยให้นอนนิ่งในท่านอนหงายบนพื้น ที่อบอุ่น โดยหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวร่างกายที่ไม่จำเป็น ห้ามนวดหรือแตะต้องตัวผู้ป่วย ด้วยความรุนแรงเพราะอาจกระทบกระเทือน จนทำให้หัวใจหยุดเต้นได้ ถ้าผู้ป่วยยังรู้สึกตัวควรให้ดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มอุ่น ๆ ห้ามไม่ให้ผู้ป่วยดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสม เพราะทำให้ร่างกายสูญเสียความร้อนอย่างรวดเร็ว ถ้าหยุดหายใจให้ช่วยเหลือด้วยวิธีการเป่าปาก จากนั้นรีบส่งให้ถึงมือแพทย์โดยเร็วที่สุด
อ่านต่อเนื้อหาเพิ่มเติม คลิก!
สำหรับภาวะตัวเย็นนั้น ไม่ได้หมายความว่าผู้ใหญ่จะเป็นเท่านั้นนะคะ เด็กเล็กอย่างทารกแรกเกิด ก็สามารถเป็นได้ด้วยเช่นกัน สำหรับโรคดังกล่าวนั้น ผู้ป่วยอาจจะมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้
ภาวะแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนที่ว่านี้ได้แก่ หัวใจเต้นผิดจังหวะ มักเสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจหยุดเต้น หรือหัวใจห้องล่างเต้นระรัว นอกจากนี้ยังอาจพบภาวะเลือดเป็นกรด โพแทสเซียมในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูง ปอดอักเสบ ไตวาย ภาวะเลือดข้น ภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ตับอ่อนอักเสบ ทางเดินอาหารเป็นแผลหรือเลือดออก หลอดลมหดเกร็งได้
วิธีป้องกันนั้น สามารถทำได้ด้วยการ สวมใส่เสื้อผ้าให้อบอุ่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศหนาว ถ้าเลี่ยงไม่ได้ พยายามสวมใส่เสื้อผ้าให้เพียงพอ สวมถุงมือถุงเท้า เป็นต้น
สำหรับภาวะตัวเย็นในเด็กนั้น
น.พ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ได้กล่าวว่า ภาวะดังกล่าว อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 เดือน ซึ่งกลุ่มเด็กอ่อนแรกเกิดจนถึง 1 เดือนนั้น อวัยวะภายในและศูนย์ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายยังทำงานได้เพียง 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ รวมทั้งมีไขมันใต้ผิวหนังที่ช่วยสร้างพลังงานให้ความร้อนแก่ร่างกายน้อยกว่าผู้ใหญ่ ทำให้อุณหภูมิร่างกายเด็กเปลี่ยนแปลงตามสภาพอากาศได้ง่าย
นอกจากนี้เด็กที่คลอดก่อนกำหนดนั้น มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะดังกล่าวมากกว่าเด็กที่คลอดตามอายุครรภ์ ซึ่งถ้าหากเด็กได้สำผัสกับอากาศหนาวเย็นเป็นระยะเวลานาน ก็จะส่งผลทำให้อุณหภุมฺในร่างกายลดต่ำลง ทำให้เส้นเลือดหดตัว หัวใจทำงานหนักขึ้น และสมองอาจขาดเลือด จนส่งผลให้เสียชีวิตได้
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตลูกหลานและสมาชิกในครอบครัวทุกคนกันด้วยนะคะว่า มีอาการที่น่าสงสัยว่าจะเป็นโรคดังกล่าวหรือไม่ และถ้าหากไม่มั่นใจ แนะนำให้รีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจอย่างละเอียดอีกครั้งค่ะ
ขอบคุณที่มา: สสส. และหมอชาวบ้าน
อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:
- แม่โพสต์เตือน! อย่ามองข้าม อาการหนาวสั่นหลังคลอดเสี่ยงเป็นโรคร้ายได้
- 10 เทคนิค ลดลูกป่วย จากอากาศร้อน
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่