โรคหัวบาตร หัวโต เป็นโรคที่คุณแม่ๆคงได้ยิน และเคยเห็นกันมาบ้างตามข่าวต่างๆใช่ไหมคะ ซึ่งเชื่อว่าคงไม่มีคุณแม่คนไหน อยากให้โรคนี้เกิดขึ้นกับลูกน้อยของตัวเองแน่นอน โรคหัวบาตร หัวโต คืออะไร? เป็นแล้วรักษาได้ด้วยวิธีไหนบ้าง? มาดูกันค่ะ
โรคหัวบาตร หัวโต
แต่เรื่องของโรคภัยไข้เจ็บนั้น บางครั้งแม้คุณแม่จะระวังแล้ว แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้เสมอ ดังเช่น คุณแม่เจ้าของเฟสบุ๊ค Nat Nattvadar ที่แชร์ประสบการณ์พาลูกน้อยเข้ารับการผ่าตัด โรคหัวบาตร หัวโต บอกเลยว่าคนเป็นแม่เห็นแล้วเจ็บกว่าเป็น 2 เท่าค่ะ ซึ่งคุณแม่ได้เล่าให้ฟังว่า
“มาเล่าประสบการณ์ผ่าตัดโรคน้ำในหัวเยอะ หรือ โรคหัวโต โรคหัวบาตร กันค่ะ…เริ่มตั้งแต่ตอนแม่ตั้งครรภ์เลยนะคะ กินนมวันล่ะ 1 กล่อง กินยาที่หมอให้มาครบ ทั้งยาบำรุงและก็โฟเลต แต่เราเป็นคนเบื่ออาหารค่ะ เเละชอบทานส้มตำ ทานแทบทุกวัน แต่ข้าวก็ทานมีผักมีเนื้อ จนคลอดน้องค่ะ คลอดยากมาก คลอดออกมาน้องก็ปกติดีค่ะ ไม่ได้สังเกตอาการผิดปกติอะไร น้องหัวทุยมาตั้งแต่เกิด โหนกหน้าโหนกหลัง คนเฒ่าคนแก่เค้าบอกว่าหัวสวย เราก็เชื่อค่ะ จนฉีดวัคซีนทุกเดือน วัดรอบหัวทุกครั้ง ฉีดวัคซีนที่อนามัย ไม่มีใครสังเกตความผิดปกติที่หัวเลยค่ะ แต่น้องก็มีพัฒนาการช้า คอแข็งตอน 3 – 4 เดือน คลานตอน 7 – 8เดือน นั่งได้ตอน 9 เดือน เราคิดว่าคงเพราะพัฒนาการช้าเฉยๆ”
“จนเริ่มมีคนทักว่า ทำไมหัวโต เราเริ่มพาน้องมาโรงพยาบาลค่ะ หมอทำการวัดรอบหัวแล้วบอกน้องหัวโตเกินเกณฑ์ หมอส่งตัวไปตรวจอัลตราซาวด์หัว แต่พบน้ำในหัว หมอเลยส่งไปทำซีทีแสกน อีกทีเพื่อความแน่ใจ จนรอผล ผลออกมาว่าน้องเป็นโรคโพรงน้ำในสมองใหญ่ หากไม่ทำการผ่าตัด หมอก็บอกไม่ได้ว่าน้ำนั้นจะไปกดทับสมองส่วนไหน อาจจะเดินไม่ได้ หรืออาจจะช้ากว่าเด็กคนอื่น เราเลยถามหมอว่าโรคนี้เกิดจากอะไรค่ะหมอ กรรมพันธุ์หรอค่ะ เพราะพ่อเค้าก็โตค่ะ หมอบอกเกิดขึ้นเพราะน้องขาดสารโฟเลตในผัก และผลไม้ ซึ่งต้องเป็นผักผลไม้สดๆ ไม่ผ่านการลวกใดๆ เราเริ่มใจไม่ดี เลยยังไม่ตัดสินใจผ่าตัดจนน้อง 1 ขวบ 3 เดือน น้องยังไม่เดินค่ะ ยังไม่ตั้งไข่ แต่เล่นทำกิจกรรมปกติกทุกอย่าง เราเริ่มตัดสินใจที่จะผ่า หมอนัดผ่า 3 อาทิตย์ถัดมา ถือว่าเร็วมากค่ะ”
“ภาพนี้…ตอนน้องมานอนโรงพยาบาลเพื่อรอผ่าค่ะ หมอสั่งน้อง งดอาหารหลังเที่ยงคืน วันอาทิตย์ วันนั้นเราไม่ได้นอนเลยค่ะ เพราะน้องหิวนมร้องทั้งคืน เราก็ได้แต่สงสารค่ะ พอตอนเช้าวันจันทร์ รถห้องผ่าก็มารับ แล้วนำตัวไปส่งที่ห้องผ่าตัด เราเข้าไปเปลี่ยนเสื้อใส่หมวกรอเข้าห้องผ่าประมาณ 15 นาที ก็มีหมอมาเข็นเข้าไปในห้องผ่าค่ะ เราก็เข้าไปส่งลูก จนหมอวางยาสลบ แล้วบอกให้เรารอข้างนอก หมอบอกว่า คุณแม่ไม่ต้องเป็นห่วงนะคะ หมอจะดูแลเป็นอย่างดี หมอใหญ่ผ่า ตอนนั้นเรานั่งรอข้างนอกกับแฟน ได้แต่นั่งร้องไห้เป็นห่วงลูก กลัวทุกสิ่งทุกอย่าง เรารอไม่ไปไหนจน 2 ชั่วโมงผ่านไป เรายืน เดินไปเดินมาแถวหน้าห้องปลอดเชื้อ เราเริ่มได้ยินเสียงร้องของลูกเราเริ่มดีใจ ได้แต่มองผ่านกระจกไป ทำไมไม่ออกมาสักที
พอสัก 10 นาทีผ่านไป หมอเริ่มเข็นน้องออกจากห้องผ่าตัดแล้วเรียกเรา เราเห็นลูก เราดีใจที่น้องปลอดภัย ตอนเห็นแผลผ่า เราก็น้ำตาไหล ลูกเราคงเจ็บมากๆ เเต่เค้าไม่ร้องเลย พอมาถึงเตียง เค้าก็นอนนิ่งๆ นอนเฉยๆ ไม่ยิ้มเอาแต่นอนหลับ เราเลยเช็ดตัว เปลี่ยนเสื้อ เราเปิดเสื้อเค้า เห็นแผลที่ท้องอีก คนเป็นแม่เจ็บกว่า 2 เท่า แฟนเรานั่งกุมมือลูกร้องไห้ เราก็บอกเดี่ยวก็หาย (มีแผลที่ท้องกับที่หัว เพราะ น้องผ่าตัดใส่ท่อระบายน้ำที่หัวต่อลงมาผ่านคอลงท้อง เพื่อให้น้ำระบายลงทางฉี่ หมอไม่ได้บอกเราสังเกตจากสายที่เราลองจับลงมาถึงช่องท้อง)
นาทีนั้นได้แต่สงสารค่ะ น้องนอนไปได้ 4 ชั่วโมง ตื่นมาก็กินได้ ยิ้มได้ แต่ยังซึมๆอยู่ แผลก็เริ่มดีขึ้น แต่ยังบวมอยู่นิดหน่อย น้องต้องให้ยาฆ่าเชื้อทุก 3 ชั่วโมง หากน้องมีไข้ นั้นคือติดเชื้อ หมอที่นี่เก่งมากค่ะ เราก็ไม่รู้เค้าต่อลงไปยังไง แผลเล็ก แล้วก็ฟื้นตัวเร็ว หัวน้องเริ่มยุบ จนเห็นได้ชัด น้ำถูกระบายลงทางฉี่ ต้องคอยเปลี่ยนเเพมเพิสบ่อยๆ ตอนนี้น้องยังคงเจ็บแผลอยู่ น้องฟื้นตัวเร็ว เราก็โล่งใจ คนเป็นแม่ไม่มีทางเลือก ไม่อยากให้ลูกเจ็บ แต่เราก็ต้องรักษา เลือกทางที่ดีที่สุดให้ลูก ตอนนี้เราก็ตั้งท้องคนที่ 2 ได้ 3 เดือน แต่เราก็ต้องสู้ ต้องดูแลให้ดีทั้งนอกท้องและในท้อง”
หลังจากน้องผ่าตัด ทางทีมงานก็ได้มีการสอบถามไปยังคุณแม่ของน้อง ซึ่งคุณแม่ก็เผยว่า หลังผ่าตัดยังต้องมีการติดตามอาการกับคุณหมออย่างต่อเนื่อง และได้มีการเจาะไขสันหลัง และเจาะเลือดไปตรวจว่าจะมีภาวะติดเชื้อตามมาหรือไม่? ซึ่ง ณ ตอนนี้ คุณแม่บอกว่าโดยรวม น้องอาการดีขึ้น ปลอดภัยแล้วค่ะ
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก fb : Nat Nattvadar
โรคหัวบาตร หัวโต คืออะไร?
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
โรคหัวบาตร หัวโต
โรคหัวบาตร หัวโต หรือทางการแพทย์เรียกว่า ไฮโดรเซฟฟาลัส (Hydrocephalus) เป็นภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ อาจเกิดจากความบกพร่องของกระดูกไขสันหลัง เนื่องจากท่อทางเดินน้ำหล่อสมอง และไขสันหลังอุดตัน ทำให้น้ำที่อยู่ในสมองและไขสันหลัง ซึ่งปกติเป็นตัวคอยป้องกัน และหล่อเลี้ยงสมองไม่ให้กดทับกับส่วนกะโหลก เกิดคั่งจนท่วมอยู่ในสมอง จนความดันในช่องสมองมีสูง ดันให้ช่องสมองโตออก จนไปเบียดเนื้อสมอง และดันกะโหลกศีรษะให้โตขึ้น จนมีขนาดใหญ่ผิดปกติ สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กตั้งแต่แรกเกิด
สาเหตุของการเกิดโรคหัวบาตร หัวโต
- อาจเกิดการติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ เช่น โรคหัดเยอรมัน โรคคางทูม ทำให้เด็กที่เกิดมามีน้ำในสมองมากเกินไป จนมีขนาดหัวโตผิดปกติ ส่งผลให้สมองถูกทำลาย และอาจเกิดความเสียหายอย่างถาวร
- เกิดจากความบกพร่องของกระดูกไขสันหลัง
- เกิดจากทารกคลอดก่อนกำหนด หรือก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์ อาจทำให้ทารกมีเลือดออกในสมอง จนขวางกั้นการไหลของน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง
- เกิดถุงน้ำในสมอง ซึ่งอาจเกิดขึ้นระหว่างสมองหรือไขสันหลังกับเยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง
- การกลายพันธุ์ของโครโมโซม X จนเกิดภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง
- เกิดจากโรคทางพันธุกรรมที่พบได้น้อย เช่น กลุ่มอาการแดนดี – วอล์กเกอร์ ทำให้เกิดความผิดปกติของสมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหว
อาการของโรคหัวบาตร หัวโต
คุณแม่ๆควรหมั่นสังเกตอาการของลูกน้อย ว่ามีอาการที่เสี่ยงต่อการเป็น โรคหัวบาตร หัวโตหรือไม่ สังเกตอาการ ดังนี้ค่ะ
- หัวโตผิดปกติ และขยายขนาดขึ้นอย่างรวดเร็ว
- กระหม่อมโป่งและตึง
- หนังศีรษะบาง เป็นมันวาว และมองเห็นเส้นเลือดได้ชัด
- ตาทั้ง 2 ข้างมองต่ำลง
- มีอาการเกร็งที่แขนและขา เดินหรือยืนไม่ได้
นอกจากนี้ ยังอาจส่งผลให้เด็กมีอาการเหล่านี้ด้วย
- อาเจียน
- เบื่ออาหาร
- ไม่ยอมดูดนม
- งอแง ร้องไห้บ่อย
- ง่วงซึม
- ขาดสมดุลด้านความตึงตัวและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
- ขาดการตอบสนองต่อการสัมผัส
- มีปัญหาพัฒนาการตามวัย
การวินิจฉัยโรคหัวบาตร หัวโต
โดยในเบื้องต้น แพทย์จะตรวจร่างกายทารก เพื่อมองหาสัญญาณอาการ เช่น ตรวจดูขนาดเส้นรอบวงของศีรษะ ตรวจหาอาการตาโหล ตรวจการตอบสนองทางร่างกาย จากนั้น แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีดังต่อไปนี้ค่ะ
- วิธีการอัลตราซาวด์ คือการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงสร้างภาพของสมอง วิธีนี้จะใช้ได้กับทารกที่กระหม่อมยังเปิดอยู่เท่านั้น และบางครั้งแพทย์อาจตรวจ โรคหัวบาตร ในทารกก่อนคลอดจากการอัลตราซาวด์ครรภ์มารดาได้ด้วยค่ะ
- ซีที สแกน เป็นการเอกซเรย์และสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์ โดยภาพฉายจะแสดงถึงโพรงสมองที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ก็จะทำให้ทราบว่าเด็กมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวบาตร หัวโตหรือไม่ค่ะ
- เอ็มอาร์ไอ สแกน เป็นการใช้คลื่นวิทยุร่วมกับคลื่นสนามแม่เหล็กแรงสูง แสดงภาพของเหลวในสมองที่ก่อตัวขึ้น แรงกดที่เพิ่มขึ้น และโครงสร้างของสมองที่บกพร่องที่อาจเป็นสาเหตุของภาวะนี้ ในบางกรณี แพทย์อาจใช้การตรวจร่วมกัน ทั้งซีที สแกนและ เอ็มอาร์ไอ สแกน เพื่อความแม่นยำในการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวบาตร หัวโตหรือไม่ค่ะ
โรคหัวบาตร หัวโต รักษาได้อย่างไร?
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
การรักษาโรคหัวบาตร หัวโต
การรักษาโรคหัวบาตร หัวโต วิธีการรักษาที่เร็วที่สุด คือวิธีการผ่าตัด ทั้งนี้ เพื่อลดแรงกดของสมองได้ทันที ป้องกันไม่ให้สมองได้รับความเสียหาย ซึ่งวิธีการผ่าตัดรักษาโรคหัวบาตร หัวโต มีวิธีดังนี้
- การผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องในโพรงสมอง โดยแพทย์จะเลือกใช้วิธีนี้กับผู้ป่วยบางรายเท่านั้น โดยจะผ่าตัดและใช้กล้องขนาดเล็กส่องภายในโพรงสมอง สร้างรูในเนื้อสมองเพื่อระบายน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังให้ไหลออกมายังผิวสมองส่วนที่สามารถดูดซับน้ำสมองได้
- การผ่าตัดใส่สายระบายน้ำหล่อเลี้ยงสมอง และไขสันหลัง เป็นการใส่ท่อระบายน้ำที่ยาว ยืดหยุ่นได้ และมีลิ้นเปิดปิด เพื่อให้ของเหลวจากสมอง ไหลถูกทิศทางด้วยอัตราความเร็วที่เหมาะสม แพทย์จะผ่าตัดนำปลายท่อด้านหนึ่งไว้ที่โพรงสมอง และสอดท่อไว้ใต้ผิวหนังผ่านไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ที่สามารถดูดซึมน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังที่มากเกินไปได้ เช่น บริเวณช่องท้อง โดยผู้ป่วยโรคหัวบาตร หัวโตจำเป็นต้องใส่ท่อระบายนี้ตลอดชีวิต และต้องเข้ารับการตรวจอย่างต่อเนื่อง
- การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ สำหรับผู้ป่วยบางรายที่ป่วยด้วยโรคหัวบาตร หัวโต อาจต้องได้รับการรักษาอื่นเพิ่มเติมด้วย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง และระยะเวลาในการเกิดภาวะแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นของโรคหัวบาตร หัวโต
แม้ว่าเด็กที่เป็นโรคหัวบาตร หัวโต จะได้รับการผ่าตัด แต่ก็ยังคงต้องสังเกต และเฝ้าระวังอาการอย่างต่อเนื่องค่ะ เพราะการผ่าตัดรักษาโรคหัวบาตร หัวโต นั้นอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น
- ในการผ่าตัดใส่สายระบายน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังนั้น สายอาจหยุดการระบาย หรือควบคุมการระบายน้ำได้ไม่ดี เนื่องจากเครื่องมืออาจทำงานผิดปกติเกิดการอุดตัน หรือเกิดการติดเชื้อขึ้นได้ ซึ่งเป็นอันตรายมาก
- ในการผ่าตัดในโพรงสมองนั้น ก็อาจมีความเสี่ยงทำให้เกิดภาวะเลือดออก จนเกิดการติดเชื้อได้
- ภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว เมื่อเด็กโตขึ้นจะมีพัฒนาการทางสติปัญญาและทางร่างกายบกพร่อง เช่น มีปัญหาความจำและการเรียนรู้ มีสมาธิสั้น มีความบกพร่องในการพูดและการมองเห็น หรืออาจป่วยด้วยโรคลมชักก็เป็นได้เช่นกัน แต่หากอาการไม่รุ่นแรงมากนัก ก็จะได้รับการรักษาที่เหมาะสม
การป้องกันโรคหัวบาตร หัวโต
โรคหัวบาตร หัวโต แม้ว่าจะเป็นโรคที่ป้องกันได้ยาก แต่คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ก็ควรจะทำการฝากครรภ์ เพื่อให้อยู่ในความดูแลจากแพทย์ก่อนคลอด ไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรับการตรวจลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรค และป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจเป็นเหตุให้เด็กมีภาวะหัวโตได้ รวมถึงคุณแม่ควรดูแลตัวเองตั้งแต่ตอนตั้งครรภ์ ด้วยการรับบประทานอาหารที่มีโฟเลต ช่วยลดโรคหัวบาตรได้ และรับประทานกรดโฟลิค ซึ่งเป็นวิตามินสังเคราะห์ เพื่อป้องกันความผิดปกติของกระดูกสันหลัง และสมองด้วยค่ะ
เมื่อวางแผนที่มีจะลูกน้อยมาเติมเต็มชีวิตครอบครัวแล้ว การเริ่มดูแลตัวเองตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ เป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับว่าที่คุณแม่ทุกคนนะคะ เพราะเชื่อว่าคุณแม่ทุกคนก็อยากให้ลูกที่เกิดมากมีสุขภาพที่แข็งแรง สมบูรณ์ เพราะฉะนั้นอย่าลืมดูแลสุขภาพตัวเองมากๆ และคอยหมั่นสังเกตความผิดปกติต่างๆของลูกน้อยด้วยนะคะ หากมีความผิดปกติใดๆ จะได้รับการรักษาได้ทันท่วงทีค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก pobpad
อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ
อัพเดทราคา แพคเกจวัคซีน 2561 จาก 12 โรงพยาบาลดัง
อัพเดท ราคาวัคซีนโรต้า 2561 จาก 12 โรงพยาบาลดัง
กรมควบคุมโรคเตือน! ระวัง “ลูกแรกเกิด-4ปี” เสี่ยงป่วย โรคหัด
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่