ในเด็กผู้หญิงที่มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยเกี่ยวกับโรคภายในของผู้หญิง อย่างโรคมะเร็งปากมดลูกที่พบอัตราการเจ็บป่วยในผู้หญิงมากมาเป็นอันดับ 2 ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่เด็กหญิงควรต้องได้รับการฉีด วัคซีนเอชพีวี ปี 2560 ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีรายละเอียดในการรับฉีดวัคซีนเอชพีวี สำหรับเด็ก ป.5 ทั่วประเทศ ให้ผู้ปกครองได้ทราบกันค่ะ
วัคซีนเอชพีวี ปี 2560 ฉีดให้เด็กหญิงชั้น ป.5 ทั่วประเทศป้องกันมะเร็งปากมดลูก
(21 มิ.ย.) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก หรือ วัคซีนเอชพีวี จะฉีด 2 เข็มห่างกัน 6 เดือน ในเด็กหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งมีอยู่ประมาณ 4 แสนคนทั่วประเทศ โดยจะเริ่มฉีดวัคซีนในเดือนสิงหาคม 2560 นี้ ส่วนข้อกังวลที่ว่าวัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ น่าจะดีกว่าชนิด 2 สายพันธุ์ นั้น ขอให้มั่นใจว่า วัคซีนทั้งสองชนิดให้ผลในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกไม่แตกต่างกัน และสามารถใช้ทดแทนกันได้ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ส่วนสายพันธุ์ 6 กับ 11 ที่บรรจุอยู่ในวัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์นั้น เป็นการป้องกันโรคหูดที่อวัยวะสืบพันธุ์ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ในกลุ่มชายรักชาย ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการป้องกันมะเร็งปากมดลูกแต่อย่างใด
“วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก หรือ เอชพีวี จะช่วยลดความสูญเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกอีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่มีการตรวจอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ซึ่งวัคซีนดังกล่าวผ่านการศึกษาความปลอดภัย คุ้มค่า คุ้มทุน มาแล้วอย่างรอบคอบ ทั้งนี้ การดำเนินการบรรจุวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกอยู่ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ และเป็นความร่วมมือของหลายหน่วยงานในรูปแบบคณะกรรมการระดับชาติ โดยคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติได้วางแผนดำเนินการมาหลายปีที่ต้องการให้เด็กได้วัคซีน เพื่อหวังผลป้องกันมะเร็งปากมดลูกในอีก 20 – 30 ปีข้างหน้า” อธิบดี คร. กล่าว
นพ.เจษฎา กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2551 คณะกรรมการได้เริ่มนำวัคซีนนี้มาพิจารณา แต่ในระยะแรกยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะวัคซีนมีราคาแพงเข็มละกว่า 1,000 บาท และมีข้อกังวลเรื่องประสิทธิผลและความคุ้มทุน ทำให้ไม่สามารถจัดหาได้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค มีคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งประกอบด้วย คณะผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ได้กลั่นกรอง ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะด้านวิชาการเกี่ยวกับวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค รวมทั้งเสนอทางเลือกด้านนโยบายมาโดยตลอด ต่อมาเมื่อปี 2557 ภายหลังได้มีการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนในประเทศไทย ซึ่งพบว่าให้ผลดี สอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก กรมควบคุมโรคจึงได้เดินหน้าเพื่อให้มีการบรรจุวัคซีนนี้เข้าไปในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทย โดยให้มีการต่อรองราคาและนำเข้าไปอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบ ของ สปสช. และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ
นพ.เจษฎา กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอวัคซีนทั้งสองชนิด เพื่อเข้าเป็นบัญชียาหลักแห่งชาติ คือ (ชนิด 4 สายพันธุ์ และชนิด 2 สายพันธุ์) ซึ่งพิจารณาแล้วให้ผลในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกไม่แตกต่างกัน และสามารถใช้ทดแทนกันได้ ตามคำแนะนำของคณะอนุกรรมการ และองค์การอนามัยโลก แต่ต่อมามีการนำเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติเพียงชนิด 4 สายพันธุ์เท่านั้นตามระเบียบ สปสช. ที่ต้องเลือกใช้ยาเพียงตัวเดียว (Choose only one) เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันบริษัทที่เข้าข่าย Choose only one มีเพียงบริษัทเดียวเท่านั้นทำให้ขาดการแข่งขันตามกลไกทางการตลาด ซึ่งคณะกรรมการต่อรองราคายาระดับชาติ ก็ไม่สามารถต่อรองให้ราคาวัคซีนถูกลงได้ต่ำกว่า 375 บาทต่อโด๊สได้ ดังนั้น เพื่อผลประโยชน์ของทางราชการ ทางคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ จึงได้ทำการพิจารณาอีกครั้ง แล้วจึงนำวัคซีนเอชพีวีทั้งสองชนิดเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ เนื่องจากเป็นกลุ่มเดียวกัน และได้รับการยืนยันจากองค์การอนามัยโลกแล้วว่า สามารถใช้ทดแทนกันได้ ทั้งนี้ เพื่อให้มีบริษัทเข้าร่วมในการเสนอราคามากกว่าหนึ่งราย เพื่อให้เกิดการแข่งขันโดยเสรี ด้วยเหตุนี้องค์การเภสัชกรรม และ กรมควบคุมโรค จึงทำการจัดซื้อด้วยวิธีประกวดราคา จากราคาที่คณะกรรมการยาหลักแห่งชาติ กำหนดไว้ที่ราคา 375 บาท ทำให้จัดซื้อได้ที่ราคา 279 บาท จึงทำให้ประหยัดงบประมาณของประเทศได้ 36.8 ล้านบาท และได้วัคซีนที่สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกในหญิงไทยได้ หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 – ที่มาข่าว : m.manager.co.th
อ่านต่อ เอชพีวี กับ มะเร็งปากมดลูกเกี่ยวข้องกันอย่างไร คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ไวรัสเอชพีวี กับมะเร็งปากมดลูก เกี่ยวข้องกันอย่างไร?
สำหรับผู้หญิงคงเคยได้ยินกันบ่อยๆ กับโรคมะเร็งปากมดลูก ที่แค่ชื่อโรคก็ไม่มีใครอยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย เลย นั่นจึงเป็นที่มาว่าทำไมถึงได้มีการรณรงค์ให้ผู้หญิงทุกคนทั้งที่ยังไม่แต่งงาน หรือแต่งงานมีลูกแล้ว ควร ได้รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี รวมทั้งควรต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วย
[1]เชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) หรือ Human Papilloma Virus เป็นไวรัสที่ติดต่อกันได้ง่าย ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อที่อวัยวะสืบพันธุ์จากการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งจากสถิติในประเทศแคนาดา พบว่าทุก 1 ใน 4 ของประชากรเพศหญิงและชายที่อายุต่ำกว่า 25 ปี มีการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ทำให้เกิดโรคทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งเชื้อไวรัสเอชพีวีนี้มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ แต่มีอยู่ 15 สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงให้เกิดมะเร็งต่างๆ ของอวัยวะสืบพันธุ์ทั้งเพศหญิงและเพศชาย
โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ 16 และ 18 เป็นสาเหตุหลักของโรคมะเร็งปากมดลูกกว่าร้อยละ 70 และอีก 25 สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยง ให้เกิดโรคอื่นๆ ได้แก่ สายพันธุ์ที่ 6 และ 11 ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหูดหงอนไก่ถึงร้อยละ 90 ตามปกติการติดเชื้อไวรัสเอชพี วีมักไม่แสดงอาการใดๆ และโอกาสที่ร่างกายจะขจัดเชื้อออกไปเองได้ก็มีสูง แต่หากได้รับเชื้ออย่างต่อเนื่องหรือมีการติด เชื้อเป็นระยะเวลานานๆ จะก่อให้เกิดการติดเชื้อเอชพีวีอย่างคงทน และกลายเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งองคชาติ มะเร็งทวารหนัก มะเร็งช่องปากและคอ และโรคหูดหงอนไก่ได้ – ที่มา : นายแพทย์วิสิทธิ์ สุภัครพงษ์กุล นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย
เห็นถึงความน่ากลัว และอันตรายจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ถูกต้องแล้วใช่ไหมคะว่า มันจะสามารถนำมาสู่การเกิดโรคที่ เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งหนึ่งในการป้องกันการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ได้ผลดีวิธีหนึ่ง ก็คือการสวมถุงยางอนามัยก่อนมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง หรือไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยลดอัตราเสี่ยงของสุขภาพต่อการเกิดโรคนั่นเองค่ะ
ผู้เขียนแนะนำว่าการเข้ารับตรวจสุขภาพประจำปี ยังคงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้หญิงทุกคนควรปฏิบัติกันค่ะ การตรวจคัดกรอง มะเร็งปากมดลูกปัจจุบันนี้สามารถทำได้ด้วยการตรวจภายในโดยใช้เซลล์ตัวอย่างที่ได้จากการตรวจมะเร็งปากมดลูก (Pap Smear) ส่งไปยังห้องปฏิบัติการ และจะสามารถทราบผลการตรวจได้ประมาณ 2 สัปดาห์
และอีกวิธีที่เป็นการป้องกันมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่อายุอยู่ในช่วงตั้งแต่ 9-13 ปี หรือที่ทางกระทรวงสาธารณสุขแนะนำก็คือเด็กผู้หญิงที่เรียนอยู่ชั้นประถม 5 ก็สามารถรับการฉีดวัคซีนเอชพีวีเข็มแรกได้แล้วค่ะ อย่างในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ก็มีการรณรงค์ให้พ่อแม่ ผู้ปกครองพาบุตรหลานไปฉีด วัคซีนเอชพีวี ปี 2560 ตามโรงพยาบาลทั่วประเทศ ซึ่งหากไม่แน่ใจว่าจะพาเด็กๆ ไปรับวัคซีนเอชพีวีได้ที่โรงพยาบาลใดบ้าง สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร 1422 ค่ะ
อ่านต่อ วิธีดูแลสุขภาพผู้หญิงให้ห่างจากเชื้อไวรัสเอชพีวี คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
วิธีดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากไวรัสเอชพีวี HPV
การป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากบรรดาโรคภัยไข้เจ็บ ยิ่งกับโรคที่เกิดจากระบบสืบพันธุ์ในผู้หญิงยิ่งต้องดูแลป้องกันให้มากกว่าปกติ และแน่นอนว่าหากคุณคือผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่อยากติดเชื้อไวรัสเอชพีวี จนป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูก ก็ต้องดูแลตัวเองกันตั้งแต่เนิ่นๆ นะคะ
- ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร
- ไม่ควรมีพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ
- ก่อนมีเพศสัมพันธ์ หากไม่แน่ใจว่าคู่ของคุณมีสุขภาพที่ปลอดจากเชื้อโรคติดต่อต่างๆ หรือไม่ แนะนำว่าควรมีการบอกให้คู่นอนสวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง
- ควรทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ทานผัก ผลไม้ ดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ ควรงดการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอในแต่ละวัน และไม่ควรปล่อยให้สมอง ร่างกายเครียดมากไปจากการเรียน การทำงาน
- หมั่นออกกำลังกายทุกวัน หรืออย่างน้อย 2-3วันต่อสัปดาห์ก็ได้
- ในผู้หญิงไม่ว่าจะแต่งงานแล้ว หรือยังไม่ได้แต่งงาน ควรมีการตรวจภายในทุกปี รวมถึงตรวจ สุขภาพโดยรวมอย่างอื่นด้วย
- เด็กผู้หญิงทุกคนที่อายุระหว่าง 9-13 ปีขึ้นไปควรได้รับการฉีดวัคซีนเอชพีวีกันทุกคน
มะเร็งปากมดลูกอันตราย แต่ก็สามารถป้องกันได้หากผู้หญิงทุกคนหันกลับมาใส่ใจให้ความสำคัญกับการฉีด วัคซีนเอชพีวี ผู้เขียนหวังเป็อย่างยิ่งว่าอัตราการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อไวรัส HPV จะลดลงและหายไปจากประเทศไทยได้ในอนาคตข้างหน้า …ด้วยความใส่ใจและห่วงใยค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก
8 ข้อควรรู้ ก่อนพาลูกไป ฉีดวัคซีน มะเร็งปากมดลูก
10 สัญญาณเตือน มะเร็งปากมดลูก
“วัคซีนเอชพีวี” การลงทุนที่คุ้มค่าสำหรับเด็กหญิง-ชาย ป้องกัน “มะเร็งปากมดลูก”
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค. www.riskcomthai.org
[1]นายแพทย์วิสิทธิ์ สุภัครพงษ์กุล นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย. “เอชพีวี”ไวรัสร้ายติดได้ทั้งชายหญิง. www.thaihealth.or.th
www.bnhhospital.com