AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

สุดยอด!แม่สังเกตจนรู้ ลูกไม่ได้เป็น ตากุ้งยิง แท้จริงคือชีสต์

ตากุ้งยิง เรื่องเล่าประสบการณ์

ตากุ้งยิง แพ้ หรือชีสต์ที่ตา แม่จ๋า!ต้องสังเกตให้ดี เมื่อลูกเปลือกตาบวม แม้อาการคล้ายกัน แต่การรักษาต่างกัน รู้เร็วลูกเจ็บน้อยลดทรมาน ไม่ลุกลามเป็นโรคร้าย

สุดยอด!แม่สังเกตจนรู้ ลูกไม่ได้เป็น ตากุ้งยิง แท้จริงคือชีสต์

เมื่อลูกน้อยของคุณแม่เกิดมีอาการเปลือกตาบวมปูด แน่นอนแม่ทุกคนคงรีบพาลูกไปพบคุณหมอ ถามให้แน่ชัดว่าลูกเป็นอะไร ร้ายแรงแค่ไหน เหมือนกับคุณแม่ท่านหนึ่งที่กรุณาได้เล่าเรื่องราวส่วนตัว เพื่อมอบเป็นประสบการณ์ให้กับคุณแม่อีกหลาย ๆ ท่านได้ระมัดระวังกันไว้ว่า ในขั้นแรกคุณหมอเด็กวินิจฉัยว่า ลูกอาจเกิดอาการแพ้อะไรบางอย่าง จึงได้รับยาแก้แพ้มาให้ลูกทาน แต่อาการบวมก็ยังไม่ดีขึ้น รอบที่สองคุณหมอจึงเปลี่ยนมาให้ยาแก้อักเสบ และยาหยอดตา คุณแม่มาสังเกตอาการของลูกด้วยตัวเองเห็นว่า หลังทานยาแล้วอาการบวมก็ไม่ได้ดีขึ้น แถมเหมือนจะบวมมากกว่าเดิม จึงไม่รอช้ารีบพาลูกไปหาหมอเฉพาะทาง จักษุแพทย์ทันที ถึงได้ทราบว่าที่แท้จริงแล้ว น้องเป็น ชีสต์ที่เปลือกตา ทั้งเปลือกตาล่างที่บวมเป่งเป็นลูกมะนาวจนเห็นได้ชัด และเปลือกตาบนที่ยังไม่โตจึงไม่แสดงอาการภายนอกให้เห็น จึงอยากฝากเป็นข้อคิดว่า เวลาลูกไม่สบาย แม่คือคนที่ใกล้ชิดเขาที่สุด ลูกยังเล็กไม่สามารถบอกอาการได้อย่างละเอียด หากคุณแม่หมั่นสังเกตอาการของลูกก็จะช่วยให้หาสาเหตุของโรคได้เร็ว ได้ไว ลดระยะเวลาที่ลูกจะต้องทรมานจากอาการป่วยลง แถมบางโรคหากปล่อยเนิ่นนานไปยิ่งทำให้อาการแย่ลงจนอาจกลายเป็นโรคร้ายที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นได้

ยาหลอดตา ลดอักเสบ ตากุ้งยิง

ทำความรู้จักกับ…ชีสต์ที่เปลือกตา

หากบริเวณรอบ ๆ ดวงตามีถุงน้ำ หรือตุ่มหนอง นูน แดง ก็จะเป็นอาการของโรคหลายชนิดที่มีอาการใกล้เคียงกัน เช่น ตากุ้งยิง อาการแพ้ในบางอย่าง ภูมิแพ้ตา เป็นต้น จึงอาจเป็นสาเหตุทำให้การวินิจัย และการรักษาอาจไปผิดทาง ทำให้เสียเวลา และรักษาไม่เป็นผล เกิดอาการซ้ำ ๆ เดิม ๆ อยู่เป็นประจำ ดังนั้นการทำความรู้จักกับโรคแต่ละชนิดให้ดี ก็จะเป็นการช่วยให้ง่ายต่อการสังเกตของคุณแม่ได้ อย่างน้อยก็จะนำไปเป็นข้อมูลแก่คุณหมอให้มีข้อมูลที่ชัดเจนในการวินิจฉัยโรคได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น

ตากุ้งยิงชนิดหัวผุด หรือ ตากุ้งยิงภายนอก (External hordeolum) เป็นการอักเสบของต่อมเหงื่อ (Gland of Moll) บริเวณผิวหนังตรงโคนขนตา จะมีลักษณะเป็นหัวฝีผุดให้เห็นชัดเจนบริเวณขอบตา มักจะมีขนาดไม่ใหญ่และหัวฝีจะชี้ออกด้านนอก

ตากุ้งยิงชนิดหัวหลบใน หรือ ตากุ้งยิงภายใน (Internal hordeolum) เป็นการอักเสบของต่อมไขมัน (Meibomian gland) บริเวณเยื่อบุเปลือกตา ที่เป็นเยื่อเมือกอ่อนสีชมพู ซึ่งจะมองเห็นได้เวลาปลิ้นเปลือกตา โดยหัวฝีนั้นจะหลบซ่อนอยู่ด้านในของเปลือกตา มักมีขนาดใหญ่กว่าชนิดแรกและหัวฝีจะชี้เข้าด้านใน

ตาเป็นชีสต์ (Chalazion) ในบางครั้งต่อมไขมันบริเวณเยื่อเปลือกตาอาจเกิดการอุดตันของรูเปิดเล็ก ๆ ทำให้มีเนื้อเยื่อรวมตัวกันอยู่ภายในต่อม จนกลายเป็นตุ่มนูนแข็งขนาดพอ ๆ กับกุ้งยิงได้ เรียกว่า ตาเป็นซีสต์ (Chalazion) ซึ่งผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บปวดอะไร หรือบางครั้งอาจมีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปจนทำให้เกิดการอักเสบ คล้ายกับการเป็นกุ้งยิงชนิดหัวหลบในได้ และเมื่อหายอักเสบแล้ว ตุ่มซีสต์ก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม

ภูมิแพ้ขึ้นตา (Allergic Conjunctivitis/Allergic Pink Eye) คือ การอักเสบบริเวณดวงตาที่เกิดจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ของเยื่อบุตาต่อสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งทำให้มีอาการตาแดง คัน น้ำตาไหล ไวต่อการรับแสง โดยตัวอย่างสารก่อภูมิแพ้ ได้แก่ ละอองเกสรดอกไม้ หญ้า ไรฝุ่น น้ำหอม เครื่องสำอาง มลพิษ ขนสัตว์ และมักเกิดอาการที่เยื่อบุตา ซึ่งทำหน้าที่ปกป้องดวงตาจากสิ่งแปลกปลอม ภูมิแพ้ขึ้นตาเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย แม้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการมองเห็น แต่อาจทำให้ดวงตาระคายเคืองและส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ อาการทั่วไปของภูมิแพ้ขึ้นตาได้แก่ ดวงตาแดงก่ำ แฉะ ไวต่อแสง คัน และทำให้เปลือกตาบวม

ตากุ้งยิง

ความแตกต่างระหว่างโรคตากุ้งยิง และชีสต์ที่เปลือกตานั้น อาจดูคร่าว ๆ ได้จากว่า ตากุ้งยิงจะตุ่มฝีขนาดเล็กตรงบริเวณขอบตา โดยตรงกลางจะมีลักษณะเป็นสีขาว ๆ เหลือง ๆ รอบ ๆ นูนแดง ร่วมกับมีอาการเจ็บเวลากด และอาจมีอาการอักเสบรอบ ๆ ตาอาจจะแดง มีขี้ตาชัดเจน แต่หากเป็นตาเป็นซีสต์ (Chalazion) จะเป็นเพียงก้อนนูน ไม่เจ็บตา ตาไม่แดง เพียงแต่ผู้ป่วยจะรู้สึกรำคาญหรือระคายเหมือนมีก้อนกลิ้งไปมาในตา ส่วนภูมิแพ้ขึ้นตานั้น อาการเด่นสำคัญคือ ตาแดง คัน ไวต่อแสง ซึ่งเป็นอาการที่เด่นมากกว่าแค่การบวมของเปลือกตา

ชีสต์ที่เปลือกตา

ซีสต์ (Cyst) คือ ถุงน้ำที่เกิดขึ้นบนเนื้อเยื่อตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย มีลักษณะคล้ายถุงหรือเม็ดแคปซูลที่อยู่ติดกัน โดยภายในซีสต์มักบรรจุของเหลว ของแข็งกึ่งของเหลว หรืออากาศไว้ โดยมีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ และมักค่อย ๆ ขึ้น ซีสต์ที่ขึ้นบนผิวหนังจะมีลักษณะนูน ส่วน   ซีสต์ที่ขึ้นใต้ผิวหนังอาจจะคลำได้เป็นก้อน และซีสต์ที่ขึ้นที่อวัยวะภายใน อาจไม่ปรากฏอาการใด ๆ ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกว่ามีซีสต์ขึ้นมาภายในร่างกายตัวเอง นอกจากนี้ ซีสต์ที่ขึ้นตามร่างกายจะไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดและไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรงหากซีสต์นั้นไม่ได้ติดเชื้อ มีขนาดใหญ่ หรือขึ้นในบริเวณที่ไวต่อความรู้สึก ซีสต์สามารถขึ้นได้ทุกส่วนของเนื้อเยื่อตามร่างกาย ซีสต์จึงมีกว่าร้อยชนิด มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามจุดที่ขึ้น เช่น ชีสต์ที่เปลือกตา ชีสต์รังไข่ ชีสต์ที่ข้อมือ เป็นต้น

การรักษาชีสต์ที่เปลือกตา (Chalazia) การผ่าตัดชีสต์ถือเป็นวิธีรักษาที่ปลอดภัย แต่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งพบได้ไม่บ่อยนัก โดยผู้ป่วยอาจมีเลือดไหลออกมาจากแผลเพียงเล็กน้อย ในบางรายอาจเกิดการติดเชื้อตรงบริเวณที่ผ่าตัด และที่พบได้ยากที่สุดนั่นคือการติดเชื้อนั้นกระจายไปในกระแสเลือด อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดในการผ่าตัดจะเกิดขึ้นเมื่อยังผ่าตัดไม่เสร็จสมบูรณ์ โดยบริเวณที่เป็นชีสต์จะเป็นแผลเป็น และมีลักษณะเป็นก้อน บางครั้งทำให้รู้สึกไม่สบายตาด้วย ทั้งนี้ หากก้อนซีสต์มีขนาดเล็ก ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องผ่าตัด ส่วนก้อนซีสต์บนเปลือกตาที่มีขนาดใหญ่ควรหมั่นประคบอุ่น และหากผู้ป่วยกลับมาเป็นซ้ำหรืออาการไม่ดีขึ้น ควรพบจักษุแพทย์เพื่อรับการฉีดยาให้ก้อนซีสต์เล็กลงอหรือผ่าตัด หากกลับมาเป็นซ้ำอีกหลายครั้ง แพทย์อาจส่งตรวจชิ้นเนื้อเพื่อดูว่ามีลักษณะของเซลล์มะเร็งหรือไม่

เช็ดเปลือกตาทำความสะอาดตา ปลอด ตากุ้งยิง

การป้องกันโรคชีสต์ที่เปลือกตา (Chalazia) ควรทำความสะอาดเปลือกตาที่อยู่ตามแนวเยื่อบุตาด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่อ่อนโยน เช่น น้ำเปล่า น้ำเกลือบริสุทธิ์ เป็นต้น เพื่อช่วยไม่ให้ท่อไขมันตรงบริเวณนี้อุดตันอันเนื่องมาจากฝุ่นละออง ควันพิษ เครื่องสำอางต่าง ๆ ที่อาจจะระคายเคือง หรือใช้วิธีป้องกันแบบเดียวกับการรักษาเปลือกตาที่จะกล่าวต่อไป

วันนี้ทาง ทีมแม่ ABK นอกจากจะมาชวนให้คุณแม่คอยหมั่นสังเกตอาการเจ็บป่วยของลูกแล้ว เรายังมีสาระดี ๆ ในการดูแลร่างกายก่อนที่จะนำพาไปสู่การเกิดชีสต์ที่เปลือกตา หรือโรคอื่น ๆ ที่เกิดบริเวณรอบดวงตามาฝากกันอีกด้วย อย่างที่ทราบกันดีว่า ชีสต์ที่เปลือกตาเกิดจากต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตันจนเกิดการติดเชื้อจนเป็นหนอง ดังนั้นจะดีกว่าไหมหากเรามีวิธีดูแลตัวเอง โดยเฉพาะบริเวณรอบดวงตาก่อนที่จะเกิดอาการรุนแรง จึงได้นำความรู้ดี ๆ จาก รศ. พญ.เกวลิน เลขานนท์ สาขาวิชากระจกตาและการผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับเรื่องนี้มาฝากกันจากรายการพบหมอรามาฯ : โรคต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตัน โรคฮิตของชาวโซเชียล : Rama Health Talk (ช่วง2)24.10.2562

ต่อมไขมันที่เปลือกตาหรือที่เรียกว่าต่อม Meibomian gland คือ ต่อมไขมันเล็กๆ ที่เรียงอยู่บริเวณโคนขนตา ซึ่งมีจำนวน 30-40 ต่อมที่เปลือกตาบน และ 20-30 ต่อมที่เปลือกตาล่าง ทำหน้าที่ขับไขมันออกมาเคลือบผิวนอกของกระจกตา ช่วยป้องกันการระเหยของน้ำตาและรักษาสมดุล ทำให้ตาของเรามีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ

โดยปกติไขมันที่สร้างจากต่อมไขมันที่เปลือกตาจะมีลักษณะสีเหลืองใส สามารถไหลออกจากต่อมโดยง่าย ถ้าต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ ( Meibomian gland dysfunction ) ไขมันที่สร้างออกมาจะมีลักษณะขุ่นและเหนียวข้น ทำให้เกิดการอุดตันบริเวณท่อทางออกของต่อมไขมันที่อยู่บริเวณขอบเปลือกตา ทำให้น้ำมันออกจากท่อได้ยากและลดลงทำให้ชั้นของน้ำตาไม่คงตัว ขาดความเสถียร น้ำตาก็จะระเหยง่าย ส่งผลให้เกิดภาวะตาแห้งและส่วนของไขมันที่เหนียวข้นขึ้นนั้นจะแข็งเป็นคราบเกาะแน่นอยู่บริเวณขอบเปลือกตา ทำให้เกิดการระคายเคืองตาและเพิ่มโอกาสการติดเชื้อทั้งจากแบคทีเรีย และการเพิ่มจำนวนไรที่ขนตา

การดูแลเปลือกตา ( Lid hygiene ) เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นมาก ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ดังนี้

  1. การประคบอุ่นบนเปลือกตา ( Eyelid warming ) จะช่วยให้ไขมันที่เหนียวข้นและอุดตันท่อทางออกของต่อมไขมันละลายตัว และขับออกมาจากต่อมได้ดีขึ้น วิธี การ คือ ใช้อุปกรณ์ เช่น เจลร้อนผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่น หรือ เครื่อง Blephasteam ซึ่งจะให้ความร้อนที่คงที่และเหมาะสมตลอดการประคบอุ่น เป็นต้น โดยใช้ความร้อนที่เหมาะสมประมาณ 40 องศาเซลเซียส บริเวณเปลือกตาทั้งสองข้างเป็นเวลา 10 – 15 นาที หากเลือกใช้เจลร้อนหรือผ้าควรระวังไม่ให้ร้อนเกินไป จะทำให้ผิวหนังไหม้และเกิดอาการบาดเจ็บได้
  2. การนวดเปลือกตา (Massage of the eyelids ) เพื่อกดไขมันที่อุดตันอยู่ภายในต่อมให้ออกมา วิธีการ คือ ใช้นิ้วมือดึงหางตาให้เปลือกตาตึง และใช้นิ้วของมืออีกข้างในการนวดเปลือกตา เมื่อจะนวดเปลือกตาบนให้มองลงล่างและใช้นิ้วนวดจากบนลงล่าง หากจะนวดเปลือกตาล่างให้มองขึ้นบนและใช้นิ้วนวดจากล่างขึ้นบน โดยออกแรงกดพอสมควรและเริ่มนวดจากหัวตาไปสู่หางตา เพื่อที่จะได้นวดต่อมไขมันที่เรียงอยู่บริเวณโคนขนตาได้ตลอดแนวยาวของเปลือกตา
  3. การทำความสะอาดขอบเปลือกตา( lid cleansing ) วิธีการทำความสะอาด คือ นำสำลีชนิดแผ่นชุบด้วยน้ำอุ่นที่ผสมกับยาสระผมสำหรับเด็กอ่อน อัตราส่วน 1:1 หรือใช้น้ำยาเฉพาะสำหรับทำความสะอาดเปลือกตา โดยเช็ดบริเวณขอบเปลือกตาและโคนขนตาให้สะอาด วันละ 1-2 ครั้งหรืออาจใช้แผ่นเช็ดหรือโฟมที่ออกแบบมาเพื่อทำความสะอาดเปลือกตาโดยเฉพาะก็ได้

    แก้วตาดวงใจพ่อแม่

เพราะดวงตาคือหน้าต่างของหัวใจ ยิ่งดวงตาของลูกน้อยที่เป็นดั่งแก้วตาดวงใจของพ่อแม่ด้วยแล้ว เรายิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น ดังนั้นเมื่อลูกเจ็บป่วย หากพ่อแม่เพิ่มความใส่ใจ สังเกต อาการต่าง ๆ โดยละเอียดแล้วละก็ โอกาสที่จะรู้สาเหตุของโรคได้เร็ว และรับการรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงทีก็ยิ่งมีมาก เหมือนดั่งเคสกรณีของคุณแม่ที่กรุณามาเล่าประสบการณ์การเจ็บป่วยของลูกแก่พ่อแม่ท่านอื่นได้เรียนรู้ เพราะนี่แหละคือสังคมแห่งการแบ่งปันประสบการณ์ของเราเหล่าบรรดาแม่ทีม ABK (amarinbaby&kids)

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก Rama Channel/ Pobpad/ Medthai / เรื่องเล่าประสบการณ์ตรงจากคุณแม่ Gunchaporn Choakchai/sriphat medical center

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ผื่นแพ้สัมผัส ลูกเป็นตุ่มแดง บวม คัน แพ้ไส้ในเบาะกันขอบเตียง

เริมในช่องปาก โรคฮิตของเด็กเล็ก อาการเป็นอย่างไร

นมแม่หดถึงคราวพึ่ง นมกล่อง เลือกยังไงหากลูกแพ้นมวัว

โรคเกล็ดเลือดต่ำ ITP ภูมิคุ้มกันทําลายเกล็ดเลือด โรคอันตรายทำร้ายลูก

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids