AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

เริมที่ปาก อันตรายแฝงใกล้ตัวจากการลองเทสเตอร์ลิปสติก

เริมที่ปาก

เริมที่ปาก ใครเคยเป็นจะรู้ว่าทรมานมาก แถมเวลาออกนอกบ้านไปพบปะผู้คนก็กลายเป็นจุดสังเกตบนใบหน้า ทำเอาแทบไม่อยากพูดคุยกับใครเลย ว่าแต่เริมที่ขึ้นมาบนบริเวณริมฝีปากนี้  มีสาเหตุหรืออาการของโรคยังไงบ้างนะ? ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และเรื่องเตือนจากการลองลิปสติกตามเคาน์เตอร์มาบอกคุณแม่ และสาวๆ กันด้วยค่ะ

 

เริมที่ปาก จากการลองเทสเตอร์ลิปสติก!!

วันก่อนเพื่อนส่งข้อความมาหาบอกให้ระวังเป็น เริมที่ปาก เราก็งงว่าทำไม เกิดอะไรขึ้น คุยกันจนได้ความว่าการลองทาตัวอย่างลิปสติกตามเคาน์เตอร์ หรือจากการไปใช้ลิปสติกของเพื่อนๆ หรือของญาติพี่น้อง นั้นเสี่ยงต่อการเกิดโรคเริมได้เลยละค่ะ

ดร.Janellen Smith ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนังจาก UC Irvine School of Medicine กล่าวว่า ไวรัสเริมมีอยู่ 2 ประเภท คือ (Herpes simplex virus) HSV1 และ HSV2

ซึ่ง HSV1 คือไวรัสที่มักติดต่อจากช่องปากผ่านน้ำลาย  ดร.Smith กล่าวว่า 90% ของผู้คนล้วนติดเชื้อไวรัส HSV1 ซึ่งคนที่เคยรับเชื้อไปแล้วจะไม่ติดเชื้อซ้ำอีก แต่สำหรับบางคนที่ติดเชื้อ อาจจะไม่แสดงอาการออกมา

ส่วนของคนที่ไม่เคยได้รับเชื้อมาก่อน แล้วมาสัมผัสกับลิปสติกก็จะมีโอกาสติดเชื้อได้ ซึ่งแม้จะเป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ในการสัมผัสกับลิปสติกของคนที่มาใช้ก่อนหน้านี้ แต่ก็มากเพียงพอให้เกิดการติดเชื้อ[1]

พอจะมองภาพออกแล้วใช่ไหมคะว่า การลองทาเทสเตอร์ลิปสติกเนี่ยสามารถทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเริมได้ง่ายมาก เพราะเวลาที่เรา หรือคนอื่นๆ ทาลิปสติก เนื้อของลิปสติกจะต้องไปสัมผัสโดนเข้ากับริมฝีปากที่มีน้ำลายติดอยู่ หรือถ้าทาลิปสติกเข้าไปในเนื้อปากลึกๆ เนื้อลิปสติกก็จะไปแตะโดนกับน้ำลายได้ ทีนี้ถ้าคนก่อนหน้าเราเขาเกิดมีเชื้อไวรัสเริม หรือเป็นเริมที่ปากอยู่ก่อน คราวเคราะห์คือถ้าเราไปทาลิปสติกต่อจากเขาทันทีอันนี้มีโอกาสที่จะติดไวรัสเริมจากคนก่อนหน้าได้ค่ะ

บทความแนะนำ คลิก>> ตกขาวแบบไหนอันตราย

และเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการติดเชื้อไวรัสเริม แนะนำว่าควรทาลิปสติกแท่งที่เป็นเทสเตอร์กับท้องแขน หรือหลังฝ่ามือก็ได้  เพราะสามารถเปรียบเทียบเฉดสีที่เหมาะกับริมฝีปากได้ชัดเจนเหมือนกันเลยค่ะ

อ่านต่อ มาทำความรู้จักกับ “โรคเริม” หน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

มารู้จักกับ “โรคเริม”

อย่างที่บอกไปค่ะว่า “ไวรัสเริม” มี 2 ชนิด ที่ทำให้เกิดโรคเริม คือ…

การติดเชื้อจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีเชื้อไวรัสในน้ำเหลืองจากแผล น้ำลาย น้ำเหลืองหรือน้ำอสุจิ แล้วเชื้อไวรัสต้องเข้าสู่ผิวหนังที่ มีรอยถลอกหรือรอยแผล และอาจจะเข้าสู่เยื่อเมือก เช่น บริเวณปากและอวัยวะเพศ

ซึ่งเมื่อไวรัสเข้าสู่ร่างกายแล้วจะมีกระบวนการติดเชื้อ โดยที่เฮอร์ปีส์ไวรัส (Herpes simplex virus) จะแทรกซึมเข้าไปในเซลล์ผิวหนังที่อยู่ชั้นล่างๆ ของผิวหนังโดยที่บางครั้งก็ไม่มีอาการ  แต่ในบางคนไวรัสจะแบ่งตัวและทำลายเซลล์ผิวหนัง จึงเกิดมีการอักเสบทำให้มีตุ่มน้ำใสเกิดขึ้นเป็นกลุ่ม อยู่บนปื้นแดง เมื่อตุ่มน้ำแห้งหรือแตกไปจะเกิดเป็นสะเก็ด แล้วหายโดยไม่มีแผลเป็น[2]

บทความแนะนำ คลิก>> ผดร้อนในทารก อาการทางผิวหนังจากอากาศร้อน
Credit Photo : Shutterstock

โรคเริมมีอาการอย่างไร?

สำหรับคนที่เป็นโรคเริมในครั้งแรกอาจไม่ทราบว่าลักษณะอาการเป็นอย่างไร ดังนั้นเราจะไปเช็กอาการที่เกิดขึ้นพร้อมกันค่ะ…

สำหรับคุณแม่ หรือคนอื่นๆ ในครอบครัวที่เคยเป็นโรคเริมไม่ว่าจะที่ปาก หรือตรงอวัยวะเพศ ถึงแม้ว่าจะรักษาจนหายเป็นปกติแล้ว ก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีกครั้ง เนื่องจากเชื้อของโรคยังมีอยู่ เมื่อใดก็ตามที่ถูกกระตุ้น ไม่ว่าจะด้วยจากความเครียด นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือการไปสัมผัสเข้ากับเชื้อไวรัสเริม ก็เสี่ยงต่อการเกิดโรคขึ้นได้อีกครั้งค่ะ

อ่านต่อ การรักษาเริมที่ปาก หน้า 3

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

เริมที่ปาก รักษาอย่างไรให้หาย?

ขอย้ำกันอีกครั้งว่าโรคเริมที่ปากนี่ติดต่อได้ด้วยการไปสัมผัสถูกเข้ากับน้ำลาย และน้ำเหลืองของคนที่เป็นเริม ถามว่าไปสัมผัสได้ยังไงล่ะ?  อย่างแรกคือจากการที่เราไปใช้ของร่วมกับคนที่มีเชื้อไวรัสเริม มีแผลอยู่ไงค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการทาลิปสติกแท่งเดียวกัน ดูดน้ำจากหลอดเดียวกัน หรือเผลอไปใช้แปรงสีฟันด้ามเดียวกัน อันนี้ก็เสี่ยงมากเหมือนกันค่ะ และที่เสี่ยงต่อการสัมผัสกับเชื้อไวรัสเริมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ในคู่รัก สามีภรรยา ที่ “จูบกัน”  ซึ่งต้องสัมผัสกับน้ำลายแบบเต็มๆ เลยละค่ะ

โรคเริมที่ปากสามารถเป็นได้กับทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่ ใครที่เพิ่งเคยเป็นเริมที่ปากครั้งแรกอาจจะรู้สึกว่าเจ็บๆ ปวดๆ บริเวณริมฝีปากจะเกิดเป็นตุ่มน้ำใสๆ ขึ้นมาแล้วก็จะแตกจนเป็นแผล ลักษณะแผละออกสีเหลืองๆ ซึ่งอาการจะหายไปได้หลังจากเป็นแล้วประมาณ 7-14 วัน ขอบอกว่าบางคนจะมีกลิ่นปากด้วยนะคะ ยังไงขอให้ดูแลรักษาความสะอาดของช่องปากให้มากเป็นพิเศษด้วย แปรงฟันแล้วอาจเพิ่มการบ้วนน้ำยาล้างปาก  ระหว่างวันดื่มน้ำสะอาดให้มากหน่อยก็จะช่วยเรื่องกลิ่นปากได้ค่ะ

ส่วนการรักษาโรคเริมที่ขึ้นบริเวณปาก แนะนำให้แบบนี้ค่ะ  ใครที่ไม่เคยมีประวัติเป็นเริมมาก่อน และเพื่อไม่ให้ตัวเองป่วยเป็นโรคเริม ขอให้ดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ หมั่นออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่เครียด และต้องนอนหลับพักผ่อนให้พอ ที่สำคัญต้องไม่ใช้ของร่วมกับคนอื่น โดยเฉพาะของที่มาสัมผัสกับปากโดยตรงค่ะ

แล้วถามว่าคนที่เคยเป็นเริมที่ปากมาแล้วล่ะควรดูแลรักษาอย่างไร เพื่อไม่ให้โรคกลับมาอีก  คุณหมอเคยบอกว่าคนที่มีประวัติเป็นเริมมาก่อน สามารถกลับมาเป็นได้อีกครั้ง หากภูมิต้านในร่างกายไม่แข็งแรง หรือไปสัมผัสรับเชื้อไวรัสเริมเข้ามาในร่างกายคุณก็จะพบว่าโรคเริมกลับมาเยี่ยมเยียนร่างกายคุณอีกครั้งค่ะ

การรักษาโรคเริมที่ดีที่สุด ขออนุญาตนำคำแนะนำในส่วนนี้มาจาก  เภสัชกรอุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล ที่ได้ให้ข้อมูลการรักษาที่เป็นประโยชน์ไว้ดังนี้ คือ…

  1. ทำร่างกายให้แข็งแรง ไม่เครียด ไม่สัมผัสจุดที่เป็นบ่อย หลีกเลี่ยงแสงแดด/ความเย็น/แอลกอฮอล์ (และสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในผู้หญิงและเป็นปัจจัยกระตุ้นการเป็นซ้ำ คือประจำเดือน)
  2. ใช้ยาทำลายเชื้อไวรัส ชนิดกินและ หรือทารักษาเริม ไปหาหมอตามคำแนะนำที่กล่าวมาแล้ว
  3. ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย( ยาปฏิชีวนะ) เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำที่แผลเพิ่มเติมด้วย ในขณะเดียวกันในกรณีที่เคยใช้ยาฆ่าแบคทีเรียแล้วได้ผลดี เมื่อเป็นซ้ำแล้วหมอคนใหม่ไม่จ่ายยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วยอาจปรึกษาคุณหมอเพิ่มเติมด้วยได้ ว่าลักษณะที่เป็นครั้งนี้ควรใช้ยาปฏิชีวะร่วมด้วยหรือไม่[3]

โรคเริมไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ริมฝีปาก หรือตรงอวัยวะเพศ เราทุกคนสามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ด้วยการไม่ทำอะไรสุ่มเสี่ยงต่อการก่อโรคเริมขึ้นภายในร่างกายของเรานั่นเอง เพียงเท่านี้ก็สุขภาพดีปราศจากโรคเริมได้แล้วค่ะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก

เป็นเริม ตอนใกล้คลอด ลูกเสี่ยงติดเชื้อรุนแรง
โรคเริมในเด็กอันตราย ลูกเสี่ยงเสียชีวิต เพราะจูบ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
1www.akerufeed.com
2www.doctor.or.th
3เภสัชกรอุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล.โรคเริมที่ริมฝีปากรักษาอย่างไร.oknation.nationtv.tv