เริม คือโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส หากเด็กทารกได้รับเชื้อก็อาจจะเป็นอันตรายร้ายแรงได้ เพราะยังไม่มีภูมิต้านทานที่แข็งแรง ซึ่งส่งผลต่อร่างกาย และสมอง ดังนั้นการสัมผัสกับเด็กทารกแรกเกิดโดยตรง จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่เช่นนั้นอาจเกิดเหตุการณ์เช่นนี้
เมื่อลูกเป็น เริม เพราะจูบของแม่
ทางเว็บไซต์เดลี่เมลรายงานข่าวว่า พบเด็กทารกอายุ 3 เดือน มีอาการป่วยหนัก จึงถูกนำตัวส่งคลินิกท้องถิ่น ก่อนเจ้าหน้าที่จะสั่งย้ายไปยังโรงพยาบาลประชาชนเจ้อเจียง ทางภาคตะวันออกของจีน
เมื่อถึงโรงพยาบาล แพทย์ผู้ทำการรักษาระบุว่า ร่างกายของเด็กน้อยเต็มไปด้วยแผลพุพองทั่วร่างกาย และมีอาการไข้สูงจากการติดเชื้อ แต่ยังไม่ได้รับการรักษาเป็นเวลานานหลายวัน โดยแพทย์วินิจฉัยว่า เด็กมีอาการของโรคเริม ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส HSV-1 ผ่านการจูบของแม่ที่เกิดขึ้นซ้ำหลายครั้ง ซึ่งโดยทั่วไปไวรัสชนิดนี้ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใหญ่ แต่มักเป็นอันตรายต่อเด็กทารกที่ยังไม่มีภูมิต้านทาน
ทางโรงเรียนกุมารเวชของอเมริการะบุว่า โรคเริมสามารถแพร่กระจายง่าย และติดต่อได้ผ่านน้ำลาย การสัมผัสผ่านผิว หรือสัมผัสสิ่งของของผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเด็กน้อยก็มีอาการดีขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ และสามารถกลับบ้านได้แล้ว หลังจากเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเพียงระยะเวลาสั้นๆ
โรคเริม โรคที่สร้างความเจ็บปวดให้ลูกน้อย
โรคเริม (Herpes Simplex) เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อไวรัส “Herpes simplex” แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
- Herpes simplex virus type 1 (HSV-1) ซึ่งทำให้เกิดแผลที่ริมฝีปาก พบได้ทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่
- Herpes simplex virus type 2 (HSV-2) มักจะพบบริเวณอวัยวะเพศ ในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก
หากลูกน้อยเป็นเริม จะเริ่มปรากฏอาการประมาณ 2-3 วัน หรืออาจนานถึง 3 สัปดาห์หลังจากได้รับเชื้อ อาการของโรคเริม คือ มีอาการระคายเคือง ปวดแสบปวดร้อนบริเวณที่จะเกิดตุ่มแผล บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ เป็นไข้สูง รวมไปถึงปวดเมื่อยกล้ามเนื้อก่อนที่จะเกิดตุ่มแผล และมีตุ่มใสๆ เกิดขึ้น พร้อมกับมีอาการเจ็บปวดมากร่วมด้วย ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 10 วัน ก่อนจะยุบตัวลง หลังจากตุ่มแผลยุบหายไปแล้ว ไวรัสนี้จะฟักตัวอยู่ในร่างกายที่บริเวณปมประสาท ดังนั้นผู้ที่เคยเป็นโรคเริมมักจะมีอาการเกิดขึ้นซ้ำ
อ่านต่อ “ปัจจัยเสี่ยงโรคเริม” คลิกหน้า 2
ปัจจัยเสี่ยงโรคเริม
ปัจจัยที่ทำให้ลูกเป็นเริม หรือคุณพ่อคุณแม่เป็นเริมซ้ำ มีดังนี้
- พักผ่อนไม่เพียงพอ
- ภาวะความเครียด วิตกกังวล
- สุขภาพอ่อนแอ
- อากาศร้อน แสงแดด
- ช่วงที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ระหว่างมีประจำเดือน
เริมทั้ง 2 ชนิดสามารถติดต่อกันได้ทางการสัมผัสโดยตรง เช่น การใช้แก้วน้ำร่วมกัน การจูบกัน และโดยการสัมผัสสิ่งของที่ผู้มีเชื้อใช้ เช่น ผ้าเช็ดตัว ช้อน เป็นต้น
รวมทั้งยังส่งผ่านจากแม่สู่ลูกได้จากการให้นม ส่วนการมีเพศสัมพันธ์เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเริมชนิดที่ 2 หรือ Herpes simplex virus type 2 (HSV-2) ได้
และหากคุณแม่ตั้งครรภ์ติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศขณะคลอดลูก ลูกน้อยก็สามารถรับเชื้อได้ทั้ง 2 ชนิด ซึ่งเป็นอันตรายต่อทารกแรกเกิดเป็นอย่างมาก และอาจร้ายแรงจนทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้ผ่าท้องคลอด เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทบกันของแผลและป้องกันการติดเชื้อ แต่อย่างไรก็ดีคุณแม่ท้องที่เคยมีการติดเชื้อของเริมควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
ถึงแม้โรคเริมจะรักษาไม่หายขาด และสามารถที่จะเป็นซ้ำได้อีกไปตลอดชีวิต แต่ก็มีวิธีการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วย เพื่อไม่ให้เกิดโรคขึ้นซ้ำบ่อยๆ และป้องกันไม่ให้แพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น โดยวิธีปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคเริม มีดังนี้
อ่านต่อ “10 วิธีปฏิบัติตัว เมื่อพ่อแม่เป็นโรคเริม” คลิกหน้า 3
10 วิธีปฏิบัติตัว เมื่อพ่อแม่เป็นโรคเริม
- ห้ามบีบตุ่มแผล และห้ามลอกสะเก็ดหนังออก จนกว่าสะเก็ดหนังพร้อมจะลอกออกเอง
- หากเจ็บปวดมาก สามารถใช้น้ำแข็งประคบบริเวณตุ่มแผลได้ หรือหาซื้อครีมที่ใช้ทา เพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่แผล และบรรเทาอาการเจ็บตึงได้ตามร้ายขายยาทั่วไป
- อาจใช้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวดร่วมด้วยได้
- รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ หลีกเลี่ยงภาวะที่ทำให้เกิดความเครียด
- เริมที่ริมฝีปาก อาจมีสาเหตุมาจากปากแห้งแตกเป็นแผล จึงควรทาผลิตภัณฑ์ที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ปากเมื่อรู้สึกว่าปากแห้ง
- ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสตุ่มแผล เพื่อป้องกันไม่ให้เริมกระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย
- ห้ามไม่ให้ตุ่มแผลสัมผัสผู้อื่นโดยตรง เช่น จูบ หรือหอมแก้ม
- ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดตัว ช้อน ส้อม ร่วมกับผู้อื่น
- ไม่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ที่ติดเชื้อ HIV หรือ เด็กทารก เนื่องจากบุคคลกลุ่มนี้อาจได้รับอันตรายถึงชีวิตหากติดเชื้อเริม
- ผู้ที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบ แผลเปิดตามร่างกาย เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยโรคนี้ติดเชื้อเริม ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรง และควรล้างมือให้สะอาดหากมีความจำเป็นต้องสัมผัสผู้ที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบ
วิธีป้องกันไม่ให้พ่อแม่ลูกเป็นเริม
แม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคเริม แต่คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถดูแลตัวเองและลูกน้อยเพื่อป้องกันโรคนี้ได้ โดยรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ รวมถึงหลีกเลี่ยงปัจจัยอื่นที่จะทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง อย่างเช่นความเครียด ความวิตกกังวล การนอนน้อย หรืออยู่ในอากาศที่อุณหภูมิไม่พอดี ร้อนจัด หรือเย็นจัดเกินไป
หลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการติดเชื้อทุกชนิด โดยการไม่ใช้ของร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ ไม่สัมผัสกับผู้ที่ติดเชื้อโดยตรง หรือถ้าพ่อแม่เป็นเริม ก็ไม่ควรจูบ หรือหอมลูก เพราะอาจทำให้ติดเชื้อ และเป็นเริมได้ ที่สำคัญควรงดการมีเพศสัมพันธ์ รวมทั้งควรมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยและปลอดเชื้อโดยการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
ภาพและข่าว : www.mirror.co.uk
ข้อมูลอ้างอิง : www.seedoctornow.com , taamkru.com1 , taamkru.com2
อ่านบทความที่น่าสนใจ คลิก!!