โรคเฮอร์แปงไจน่า อาจเป็นชื่อที่ไม่ค่อยคุ้นหูกับพ่อแม่มือใหม่สักเท่าไหร่นัก แต่รู้ไหมว่าหากลูกเกิดเจ็บป่วยด้วยโรคเฮอร์แปงไจน่าขึ้นมานั้นทรมานยิ่งนัก สำหรับเฮอร์แปงไจน่ามักจะแทรกซ้อนขึ้นมาในช่วงที่มีโรค มือ เท้า ปาก ทีมงาน Amarin Baby & Kids จะพาไปให้รู้จักับ โรคเฮอร์แปงไจน่า ว่าแท้จริงแล้วโรคนี้มีอาการอย่างไร?
โรคเฮอร์แปงไจน่า สาเหตุของโรคมาจากอะไร?
เฮอร์แปงไจน่า (Herpangina) หรือโรคตุ่มแผลในปากเด็ก เป็นโรคในกลุ่มเดียวกับโรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคติดต่อจากเชื้อไวรัสที่สามารถแพร่กระจายสู่อากาศได้ เป็นโรคติดต่อจากการคลุกคลีกับผู้ป่วย จากน้ำลาย ละอองน้ำมูก น้ำลายจากการไอ จาม จากอุจจาระ และจากมือ เข้าสู่ปาก ทั้งนี้ผู้ป่วยจะมีอาการหลังได้รับเชื้อประมาณ 4-14 วัน (ระยะฟักตัวของโรค) ซึ่งผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะแพร่เชื้อได้ตั้งแต่วันแรกที่ติดเชื้อ ไปจนกว่าจะหายจากโรค คือ ประมาณ 1-2 สัปดาห์นับจากติดเชื้อ ดังนั้นหากเด็กที่เป็นโรคเฮอร์แปงไจน่า ไอ หรือจาม โดยไม่ปิดปาก เด็กๆ ที่อยู่รอบข้างก็อาจติดเชื้อได้ง่ายๆ เลยค่ะ
Good to know… “โรคเฮอร์แปงไจนา มักระบาดในช่วงฤดูร้อน และพบบ่อยในเด็กอายุ 3 ถึง 10 ปี เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงพบเท่าๆ กัน”
อ่านต่อ >> “อาการของโรคเฮอร์แปงไจน่า” หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
โรคเฮอร์แปงไจน่า มีอาการของโรคอย่างไร?
สำหรับอาการของเฮอแปงไจน่า จะคล้ายกับโรคมือ เท้า ปาก ซึ่งคุณแม่สามารถสังเกตอาการที่เกิดขึ้นกับลูกๆ ได้ดังนี้
เด็กๆ ที่ป่วยด้วยโรคเฮอร์แปงไจน่า อาจจะมีไข้สูงเฉียบพลันได้ ที่อาการไข้อาจสูงถึง 41 องศาเซลเซียส มีอาการร่วม คือ เจ็บคอ คอแดง ปวดศีรษะ ปวดตามตัว อาจมีอาเจียน
- อาการเด่น คือจะมีอาการเจ็บบริเวณเพดานปากและคอนำมาก่อน ต่อมา (ภายใน 1 วัน) จะมีจุดแดงๆ บริเวณเพดานอ่อน ลิ้นไก่ และอาจมีตุ่มแดงที่ทอนซิล หรือบริเวณในลำคอด้วยก็ได้ ภายใน 24 ชั่วโมง จุดแดงๆ จะกลายเป็นตุ่มแดงขนาดเริ่มต้น 1-2 มิลลิเมตร แล้วกลาย เป็นตุ่มน้ำขนาด 2-4 มิลลิเมตร อาจเป็นแผลเล็กๆตรงกลางตุ่มน้ำนั้น หรืออาจมีการอักเสบรอบ ๆแผลได้ แผลอาจใหญ่ได้ถึง 10 มิลลิเมตร ส่วนใหญ่ตุ่มน้ำมีจำนวนไม่มาก มักไม่เกิน 6 ตุ่ม แต่ก็อาจพบมากกว่า 15 ตุ่มได้ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดที่ตุ่มและแผลพอประมาณ อย่างไรก็ตาม ไข้จะลดลงภายใน 2-4 วัน แต่แผลอาจคงอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ สำหรับโรคเฮอร์แปงไจน่าจะมีอาการที่เกิดขึ้นกับเฉพาะในช่องปากเท่านั้น
Must Read >> สิ่งที่พ่อแม่ควรรู้ เพื่อรับมือกับ ‘โรคมือเท้าปาก’
อ่านต่อ >> “เมื่อลูกป่วยเป็นเฮอร์แปงไจน่า ต้องรักษาอย่างไร” หน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
เมื่อลูกป่วยด้วยโรคเฮอร์แปงไจนา ควรดูแลรักษาอย่างไร?
- ถึงจะเป็นโรคที่ไม่ได้รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่ก็ยังไม่มียาที่สามารถกำจัดไวรัสชนิดนี้ได้โดยตรง วิธีรักษาจึงเป็นการดูแลผู้ป่วยตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ แก้ปวด หรือหยดยาชาภายปาก เพื่อช่วยลดอาการเจ็บแผลในปาก เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไปผู้ป่วยก็จะสามารถค่อยๆ ฟื้นตัวได้เอง
- การให้ยาชากลั้วปาก อาจช่วยในเด็กโตบางคน แต่ส่วนใหญ่ในการดูแลผู้ป่วยเด็กเล็ก แนะนำให้กินน้ำเย็น นมแช่เย็น หรือไอศกรีม (ทำจากนมแม่แช่เย็นเองเพราะบางทีที่ซื้อไม่สะ อาด เด็กอาจเกิดท้องเสียได้) ผู้ป่วยมักกินได้ดี เนื่องจากความเย็นทำให้ชา ไม่เจ็บเวลากลืน และจะพบอาการ/ภาวะขาดน้ำ ขาดอาหารไม่มาก
- ควรทานอาหารอ่อนๆ เคี้ยวง่าย ย่อยง่าย รสไม่จัด และดื่มน้ำสะอาดมากๆ เพื่อช่วยลดไข้ ลดอาการขาดน้ำ และย่อยอาหารได้ง่ายขึ้นค่ะ รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำผลไม้ซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด จะทำให้มีอาการเจ็บแสบบริเวณแผลมากขึ้น
- แต่หากลูกมีอาการรุนแรง คือ ไข้สูงลอย กินอาหารไม่ได้ มีอาการขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ตาโหล ปัสสาวะออกน้อยและมีสีเข้มผิดปกติ ควรรีบไปพบคุณหมอ เพื่อรับการตรวจรักษาแยกจากโรคอื่นๆ เช่น โรคมือเท้าปาก หรือการติดเชื้อแบคทีเรียในลำคอ
อ่านต่อ >> “6 วิธัป้องกันลูกป่วยโรคเฮอร์แปงไจน่า” หน้า 4
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
วิธีป้องกันจากโรคเฮอร์แปงไจน่า
ปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคเฮอร์แปงไจนา ดังนั้น วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ
ล้างมือให้สะอาด ระวังการสัมผัส น้ำลาย น้ำมูก ข้าวของเครื่องใช้ของเด็กที่เป็นโรค ซึ่งรวมทั้งของเล่นต่างๆด้วย เนื่องจากโรคเฮอร์แปงไจนาเองอาการไม่รุนแรง แต่แยกจากโรคมือ เท้า ปาก ได้ยากในช่วงแรก ซึ่งอาการของตุ่มในปากของโรคมือ เท้า ปาก อาจเกิดในบริเวณอื่นในปากก็ได้ แม้ ว่า โรคมือ เท้า ปาก ส่วนใหญ่อาการไม่มาก แต่มีผู้ป่วยบางส่วนที่อาการมาก (จากเอ็นเทอโรไวรัส 71) การป้องกันโดยวิธีการแบบการป้องกันโรคมือ เท้า ปาก จึงน่าจะเป็นประโยชน์ พ่อแม่ผู้ปกครองก็จะอุ่นใจด้วย ซึ่งคือ
- ผู้เลี้ยงดูเด็ก และเด็ก ต้องล้างมือให้สะอาด ทั้งหน้ามือ หลังมือ ซอกนิ้วมือ รอบนิ้วมือ เล็บ ข้อมือทั้งสองข้าง หลังขับถ่าย ก่อนปรุงอาหาร หรือรับประทานอาหาร และรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) อย่านำบุตรหลานเข้าไปในที่แออัด เมื่อมีการระบาดของโรค
- เมื่อบุตรหลานมีอาการป่วย ควรให้อยู่บ้าน ไม่ควรพาไปสถานเลี้ยงเด็ก โรงเรียน หรือในที่ชุมชน เพราะจะนำโรค ไปแพร่ให้เด็กอื่น
- สถานเลี้ยงเด็ก หรือโรงเรียนอนุบาล ควรมีการสอบถามประวัติอาการเด็กที่หน้าโรง เรียนเกี่ยวกับเรื่องไข้ และตุ่มน้ำที่ปาก มือ และเท้า ในช่วงที่มีการระบาดของโรค หากสงสัยโรคเฮอร์แปงไจนา หรือโรคมือ เท้า ปาก ควรให้พ่อแม่ผู้ปกครองพาเด็กกลับบ้าน และไปพบแพทย์ อย่านำเด็กเข้าไปในสถานเลี้ยงเด็ก หรือโรงเรียน และควรให้ความรู้แก่ครูพี่เลี้ยง พ่อแม่ผู้ปกครองเกี่ยวกับโรค และการป้องกันโรคให้ทราบโดยทั่วกัน
- ในสถานเลี้ยงเด็ก หรือโรงเรียนอนุบาล ควรเน้นบุคลากรและเด็กในการดูแลตนเองตลอดจนสิ่งของเครื่องใช้ ควรแยกข้าวของเครื่องใช้ของเด็กแต่ละคนอย่าให้ปะปนกัน เพราะของเล่นต่างๆอาจปนเปื้อนน้ำลาย น้ำมูก หรือสิ่งขับถ่ายของเด็ก ควรหมั่นทำความสะอาดด้วยสบู่ หรือผงซักฟอก แล้วล้างน้ำให้สะอาดและนำไปผึ่งแดดให้แห้ง
- การทำความสะอาดพื้น เพื่อฆ่าเชื้อโรค ควรทำความสะอาดด้วยสบู่หรือผงซักฟอกปกติก่อน แล้วตามด้วยน้ำยาฟอกขาว คลอรอกซ์ หรือ ไฮเตอร์ ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วเช็ดด้วยน้ำสะอาดเพื่อป้องกันสารเคมีตกค้าง
- หากพบเด็กในห้องเรียนเดียวกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเป็นโรคเฮอร์แปงไจนา หรือ โรคมือ เท้า ปาก ควรต้องปิดห้องเรียน หรือโรงเรียน เป็นเวลาอย่างน้อย 5 วัน
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
เพียงเท่านี้ลูกน้อยของคุณก็รอดพ้นจากอันตรายของโรคเฮอร์แปงไจน่าได้แล้วล่ะค่ะ ถึงแม้ว่าโรคนี้จะไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่หากมีอาการหนักมากกว่าปกติ อาจทำให้แพทย์รักษายากขึ้น ใช้เวลารักษาและฟื้นตัวยากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การเรียน และการใช้ชีวิตในสังคมของลูกน้อยในอนาคตได้ค่ะ
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก
วิธีกำจัดยุง ป้องกันไข้เลือดออก และไวรัสซิกา
โรคเด็กขนแปลง ใช้หมากแล้วจะหายจริงหรือ?
ยารักษาโรคซาง ปลอดภัยดีแล้วจริงหรือ?
ขอบคุณข้อมูลจาก : haamor.com/th , health.sanook.com