ใครๆต่างรู้ดีว่า ยาสมุนไพร ใช้รักษาโรคได้ แต่คงมีพ่อแม่ไม่กี่คนที่เลือกมาใช้รักษาโรคให้ลูก บ้างไม่มั่นใจว่าลูกกินยาแล้วจะหายหรือไม่ หายช้าไม่ทันการณ์ ขณะที่อีกหลายคนไม่กล้ารักษาด้วยยาขนานนี้ เพราะกลัวเสี่ยงต่อการแพ้ยา จึงเลือกรักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน ที่มีราคาสูง และให้ผลเร็วแต่อาจมีสารเคมีสะสมจนเกิดอาการแพ้ได้
ยาสมุนไพรเป็นภูมิปัญญาเกิดจากความรักและหวังดีของบรรพบุรุษที่ต้องการส่งต่อวิธีรักษาอาการป่วยเล็กน้อยๆ ด้วย “ยาจากธรรมชาติ” รอบตัว หากลองนึกดูดีๆ มียาสมุนไพรหลายชนิดที่ช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยของลูกน้อยมาตั้งแต่เกิด เช่น มหาหิงค์ แก้ท้องอืดหรือ ยาเขากุย แก้ร้อนใน เป็นต้น
ยาสมุนไพร ของดีไทยๆรักษาลูกหายป่วยได้แบบไหนบ้าง
แต่ก่อนที่คุณแม่จะใช้ ยาสมุนไพร มารักษาลูก ไม่ใช่ว่าจะใช้สมุนไพรสูตรใดก็ได้ คุณม่ควรเลือกเฉพาะยาสมุนไพรที่ถูกกำหนดให้อยู่ใน ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอาหารและยา ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ พ.ศ. 2556 เท่านั้น จึงจะปลอดภัย
ระวังไว้ ! 6 อาการห้ามใช้ยาสมุนไพรเด็ดขาด
-
มีไข้สูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก
-
ถ่ายอุจจาระบ่อย อ่อนเพลีย มีมูกเลือด มีกลิ่นผิดปกติ
-
ปวดท้องรุนแรงและเป็นต่อเนื่อง
-
เป็นแผลปวด บวมแดง มีหนอง
-
เวียนหัว เห็นภาพซ้อน อาเจียนรุนแรง
-
หมดสติ อาการแขนขาอ่อนแรง
เภสัชกรหญิงดวงแก้ว อังกูรสิทธิ์ เภสัชกรด้านแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลสมุทรสาคร ได้แนะนำวิธีการใช้ ยาสมุนไพร ในเด็ก ว่า “ขนาดยาสมุนไพรที่ใช้จะระบุเป็น “เม็ด” ตัวยาบางชนิดระบุว่าต้องกิน 2 เม็ดขึ้นไป ซึ่งทำให้คุณแม่กลัวว่าลูกจะได้ยาเกินขนาด ขอทำความเข้าใจว่า ยาสมุนไพร หรือยาลูกกลอน 1 เม็ด ไม่ได้มีแค่ตัวยาอย่างเดียว แต่ยังมีสารเสริม เช่น แป้ง น้ำผึ้ง เพื่อให้ปั้นเป็นเม็ดได้ บวกกับยาสมุนไพรทำจากธรรมชาติจึงมีฤทธิ์อ่อนกว่ายาเคมี
อย่าง ยาเหลืองปิดสมุทร แก้ท้องเสีย จำนวน 1 เม็ด (ลูกกลอน) มีน้ำหนักยารวมเพียง 100 มิลลิกรัมเท่านั้น จึงกำหนดให้กินมากกว่า 1 เม็ด ซึ่งจะมีปริมาณมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับอายุและน้ำหนักของเด็กเป็นสำคัญ สิ่งที่พ่อแม่ต้องระวังคือ ต้องไม่ใช้ยาเกินขนาด และเลือกเฉพาะยาที่ใช้สำหรับเด็กเท่านั้น เพราะมีงานวิจัยรับรองประสิทธิภาพและความปลอดภัยแล้ว”
เตรียมยาสมุนไพรให้ลูกต้องทำอย่างไร
คุณแม่สามารถใช้ ยาสมุนไพร เพื่อรักษาอาการหรือบรรเทาความเจ็บป่วยเบื้องต้น คล้ายยาสามัญประจำบ้านที่สามารถหาซื้อได้เอง แต่ยาส่วนใหญ่มักเป็นผงหรือเป็นเม็ดลูกกลอน ซึ่งทารกและเด็กเล็กยังกินไม่ได้ จึงแนะนำให้ใช้คู่กับ “น้ำกระสายยา” เช่น น้ำต้มสุก หรือน้ำดอกมะลิ เพื่อผสมกับยา ยาแต่ละชนิดใช้น้ำกระสายยาแตกต่างกันไป
หลักการผสมยาสมุนไพรกับน้ำกระสายยา จะต้องผสมในปริมาณพอเหมาะและป้อนให้ลูกทันที ไม่ทิ้งไว้นาน ทั้งนี้มีส่วนผสมบางอย่างที่ไม่สามารถใช้เป็นน้ำกระสายยาได้ นั่นคือ นม หรือน้ำแร่ เพราะดูดซึมตัวยาบางชนิดออกไปได้
อ่านต่อ ลูกท้องเสีย มีไข้ ไอมีเสมหะ กินยาสมุนไพรอะไรดี หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
“ยาสมุนไพรที่คุณแม่สามารถซื้อได้ด้วยตัวเอง ต้องเขียนกำกับไว้บนฉลากยาว่า “ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ” ซึ่งมีแค่ 2 ชนิดคือ ยาเม็ดลูกกลอน ขนาดเม็ดละ 0.1 กรัม และยาน้ำเท่านั้น หากเป็นยาแคปซูลจะผลิตโดยบริษัทยา ซึ่งจัดเป็นยาแผนโบราณ ควรซื้อผ่านบุคลากรทางการแพทย์ และกินยาตามขนาดใช้ที่ระบุข้างขวดเท่านั้น”
ยาสมุนไพรแก้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ
เป็นอาการที่พบบ่อยตั้งแต่วัยแรกเกิด ส่วนใหญ่มักเกิดเพราะระบบย่อยอาหารของทารกยังทำงานไม่ดีพอ หลังให้นมลูกแล้วจึงต้องจับลูกเรอ เพื่อป้องกันท้องอืด แต่บางครั้งยังมีลมเต็มท้อง ลูกจึงรู้สึกไม่สบายตัว และร้องกวนงอแง วิธีรักษาอาการเบื้องต้นอาจใช้วิธีนวดท้องเพื่อไล่ แต่ถ้ายังไม่ได้ผล คงต้องให้ลูกกินยา ยาสมุนไพร ที่คุณแม่ใช้เป็นยารักษาอาการปวดท้องเบื้องต้นได้ มี 2 ชนิด ได้แก่
Must read: เบบี๋ท้องอืดทำอย่างไรดี?
ยาประสะกะเพรา มีสรรพคุณ ช่วยขับลม แก้ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ จุกเสียด แน่นท้อง เหมาะสำหรับ เด็กอายุตั้งแต่ 1 – 12 เดือน โดยรับประทานเช้า และเย็น แนะนำให้ใช้ชนิดผงหรือเม็ดลูกกลอน (เม็ดอัดเปียก) โดยนำไปละลายยากับน้ำต้มสุก หรือน้ำต้มใบกะเพรา ทิ้งให้ตกตะกอน แล้วดูดเฉพาะน้ำใสๆ เด็กอายุ 1 เดือน ครั้งละ 1 -2 เม็ด เด็กอายุ 4 – 6 เดือน ครั้งละ 2-3 เม็ด เด็กอายุ 7 – 12 เดือน ครั้งละ 4 – 6 เม็ด
นอกจากนี้คุณแม่ยังใช้ ยาสมุนไพร อีกชนิดหนึ่งแทนได้ นั่นคือ ยาแสงหมึก มีฤทธิ์ช่วยแก้ท้องขึ้น ปวดท้อง เหมาะกับเด็กอายุตั้งแต่ 1 – 12 เดือน โดยละลายยากับน้ำใบกะเพราต้ม แล้วใช้ทาในปาก วันละ 1 ครั้ง หลังกินอาหารไปแล้ว 3 ชั่วโมง เด็กอายุ 1 – 6 เดือน ครั้งละ 2 เม็ด เด็กอายุ 7 – 12 เดือน ครั้งละ 3 เม็ด
ยาสมุนไพรแก้ท้องเสีย
เด็กเล็กส่วนใหญ่ท้องเสียได้ง่าย เพราะภูมิคุ้มกันร่างกายยังไม่แข็งแรง หากได้รับเชื้อจากการสัมผัสกับสิ่งรอบตัว ทั้งคนหรือสิ่งของที่ไม่สะอาด ก็ทำให้ลูกท้องเสียได้ง่าย โดยเฉพาะวัย 5 – 6 เดือนที่เริ่มคว่ำและคว้าสิ่งของเข้าปาก แต่ยังมีพ่อแม่ที่เชื่อตามคำสอบโบราณที่บอกว่า ลูกท้องเสียเพราะยืดตัว จึงทำให้ลูกถ่ายเหลว ถ่ายบ่อยเกิน 3 ครั้งต่อวัน สีอุจจาระเปลี่ยนไปและมีกลิ่นเหม็น
Must read: ลูกท้องเสียเพราะ ยืดตัว จริงหรือ?
การที่ลูกท้องเสียอาจเกิดได้หลายสาเหตุ ทั้ง แพ้นมวัว แพ้อาหาร ติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย กรณีที่ลูกมีอาการท้องเสียไม่ติดเชื้อ เพื่อบรรเทาอาการก่อนไปพบแพทย์ คุณแม่สามารถใช้ ยาสมุนไพร เพื่อรักษาอาการเบื้องต้น 2 ชนิดได้แก่
ยาเหลืองปิดสมุทร มีสรรพคุณ ช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย โดยนำมาละลายกับน้ำเปลือกลูกทับทิม หรือน้ำต้มสุก แต่ต้องกินพร้อมกับน้ำละลายเกลือแกง เมื่อละลายยาแล้ว รับประทานวันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เด็กอายุ 3-5 เดือน ครั้งละ 2 เม็ด เด็กอายุ 6-12 เดือน ครั้งละ 3-4 เม็ด เด็กอายุ 1-5 ขวบ ครั้งละ 4-7 เม็ด เด็กโตอายุ 6 – 12 ปี ครั้งละ 8- 10 เม็ด
ยาธาตุบรรจบ มีสรรพคุณช่วยแก้ท้องเสีย และธาตุไม่ปกติ มีจำหน่ายเป็นเม็ดแคปซูล เหมาะกับเด็กอายุ 6-12 ปี รับประทานครั้งละ 2 เม็ด วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร อย่างไรก็ตาม หากลูกถ่ายมีมูกเลือดปน มีกลิ่นเหม็ดคาว ปัสสาวะน้อย กระหายน้ำมาก มีไข้สูง ควรไปพบแพทย์ทันที
อ่านต่อ ยาสมุนไพรแก้ไข แก้ไอ ขับเสมหะ ต้องใช้อะไร หน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ยาสมุนไพรลดไข้ ตัวร้อน
แม่ทุกคนเป็นกังวลทุกครั้งที่ลูกมีไข้ เพราะไข้ไม่ใช่โรคเหมือนหวัด แต่เป็นภาวะที่ร่างกายแสดงว่าเกิดความผิดปกติภายใน หรือแค่อากาศเปลี่ยนแปลง ก็ทำให้ลูกเล็กเป็นไข้ได้ ถ้าใช้ปรอทวัดไข้ดูแล้วพบว่าอุณหภูมิสูงอว่า 37.5 – 38 องศาเซลเซียส ควรลดไข้ให้ลูกทันที เพราะหากปล่อยให้ลูกมีไข้สูงมากเสี่ยงต่อาการชัด ซึ่งกระทบต่อการทำงานของสมองได้ สิ่งนี้พ่อแม่ต้องระวังให้ดี
วิธีการลดไข้มีทั้งการกินยาลดไข้ เช็ดตัวด้วยน้ำเย็น หรือน้ำผสมมะนาวเพื่อช่วยระบายความร้อนออกให้ร่างกายเย็นลง โดยทั่วไปพ่อแม่จะให้ลูกกินยาลดไข้จำพวก ยาพาราเซตามอล ซึ่งจำเป็นต้องกินในปริมาณที่เหมาะกับน้ำหนัก ไข้จึงจะลดและไม่เป็นอันตรายต่อลูก แต่การกินยาลดไข้ต่อเนื่องหลายวันส่งผลต่อ
Must read: วิธีคำนวณปริมาณยาลดไข้เด็ก ที่ถูกต้อง
อีกทางเลือกหนึ่งที่คุณแม่อาจเลือกใช้ยาสมุนไพรลดไข้ให้ลูกได้เช่นกัน โดยมียาที่เหมาะกับเด็กอยู่ 3 ชนิดคือ ยาประสะจันทน์แดง มีสรรพคุณ แก้ไข้ ตัวร้อน ใช้ได้เฉพาะเด็กอายุ 6 – 12 ปี ควรเลือกใช้ชนิดผงนำมาละลายกับน้ำสุกหรือน้ำดอกมะลิ ให้กินครั้งละ ½ ช้อนชา
ยาชนิดนี้ไม่ควรใช้กับคนที่แพ้เกสรดอกไม้ หรือสงสัยว่าจะเป็นไข้เลือดออก เพราะ ยาสมุนไพร อาจไปบดบังอาการไว้ หากกินยาต่อเนื่องแล้วไม่ดีขึ้นใน 3 วัน ควรปรึกษาแพทย์ทันที
ยาแสงหมึก มีสรรพคุณ ลดไข้ แก้ตัวร้อนสำหรับเด็ก ใช้ได้ตั้งแต่อายุ 1 – 12 เดือน เป็นยาเม็ดลูกกลอนต้องนำไปละลายกับน้ำดอกไม้เทศ (rose water) แล้วใช้กวาดคอวันละ 1 ครั้ง หลังจากนั้นให้กินยาทุก 3 ชั่วโมง ขนาดยาที่ใช้สำหรับเด็กอายุ 1- 6 เดือน ครั้งละ 2 เม็ด ส่วนเด็กอายุ 7 – 12 เดือน ครั้งละ 3 เม็ด
ยาเขียวหอม มีสรรพคุณ แก้ตัวร้อน ร้อนใน เป็นยาเม็ดลูกกลอน ต้องนำไปละลายกับน้ำต้มสุก หรือน้ำดอกมะลิ เหมาะกับเด็กอายุ 6 – 12 ขวบ รับประทานวันละ 4 – 6 ครั้ง ครั้งละ 1/2 ช้อนชา
ยาสมุนไพร แก้ไอ มีเสมหะ
เมื่อลูกเป็นหวัด มักจะมีอาการที่ควบคู่กันเสมอนั่นคือ ไอและมีเสมหะ หากเป็นเพียงเล็กน้อยให้ลูกดื่มน้ำบ่อยๆ พักผ่อนให้เพียงพอ ร่างกายก็สามารถจัดการกับเชื้อโรคได้ แต่ถ้าลูกไอมากขึ้นจนมีเสมหะเขียวข้น หากปล่อยไว้จะขัดขวางหายใจและเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ จนเป็นอันตรายร้ายแรงได้
MUST READ :ลูกไอมีเสมหะ เกิดจากอะไรได้บ้าง?
นอกจากวิธีเคาะปอด ที่ช่วยให้เสมหะไม่เกาะตามหลอดลมแล้ว การใช้ยาสมุนไพรที่ช่วยบรรเทาอาการไอ และมีเสมหะของลูกให้ดีขึ้นได้ เช่น ยาแสงหมึก ที่ใช้ลดไข้สามารถใช้แก้ไอได้ด้วย การเปลี่ยนมาผสมกับน้ำกระสายยาอีกชนิดหนึ่ง คือ “น้ำลูกมะแว้งต้น”
ยาชนิดนี้ใช้ได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 1-12 เดือน เมื่อละลายยาแล้วนำไปกวาดคอเด็กวันละ 1 ครั้ง หลังจากนั้นให้รับประทานทุกๆ 3 ชั่วโมง ขนาดยาที่ใช้สำหรับเด็ก 1 – 6 เดือน ครั้งละ 2 เม็ด เด็กอายุ 7 – 12 เดือน ครั้งละ 3 เม็ด
ยาประสะมะแว้ง สรรพคุณแก้ไอ ขับเสมหะ เหมาะกับเด็กอายุ 6 – 12 ขวบ โดยนำยาไปละลายกับน้ำมะนาวผสมเกลือ โดยใช้ครั้งละ 1-2 เม็ด แต่ไม่ควรใช้ต่อเนื่องนานเกิน 15 วัน หากอาการไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาต่อไป
อย่างไรก็ตาม ยาสมุนไพรไทยมีข้อควรระวังเช่นเดียวกับยาแผนปัจจุบัน โดเฉพาะคนที่มีประวัติแพ้ยา มีโรคประจำตัว พ่อแม่ควรตรวจสอบให้ดีก่อนใช้ อีกทั้งต้องไม่ลืมว่า ยาสมุนไพร เป็นอีกตัวเลือกที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นของลูกน้อยให้ทุเลาลงได้ แต่อาจให้ผลช้ากว่าการกินยาเคมี
ดังนั้นอาจไม่เห็นผลการเปลี่ยนแปลงทันที จึงควรสังเกตอาการป่วยของลูกอย่างใกล้ชิด หากไม่ดีขึ้นก็ควรพาไปรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะดีกว่า
บทความน่าสนใจอื่นๆ
อาบน้ำต้มใบมะขาม สูตรโบราณจากคุณยาย
แม่แชร์วิธีเด็ด! หัวหอมแก้หวัด แก้คัดจมูกให้ลูกได้จริง!
แม่แชร์สูตร! อาบน้ำใบกะเพรา ระเบิดพุง แก้ปัญหาลูกท้องผูก
ขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือหายป่วยด้วยยาแผนไทย สำนักพิมพ์AmarinHealth
ขอบคุณภาพจาก www.samunpri.com