โรคลมแดด ยินดีต้อนรับเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนที่ต้องเผชิญกับอากาศร้อนอบอ้าวของเดือนมีนาคมเรื่อยไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ที่บางช่วงของเดือนก็ร้อนปรอทแตก เพราะอุณหภูมิสูงถึง 40-45 องศา และอากาศร้อนๆ แบบนี้ไม่ควรพาเด็กๆไปทำกิจกรรมกลางแจ้งมาก เพราะเดี๋ยวจะเป็นลมแดดกัน ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีข้อแนะนำเกี่ยวกับ โรคลมแดด ในเด็กเล็กมาฝากค่ะ
โรคลมแดด สาเหตุเกิดจากอะไร?
เคยสงสัยกันไหมว่าเป็นลมธรรมดานี่ใช่เป็นลมแดดหรือเปล่า จริงๆ แล้วภาวะอาการเป็นลมที่เกิดขึ้นบ่อยๆ และสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนมักมาจากการที่ร่างกายของเรานั้น เหนื่อย เพลีย นอนน้อย หรือหิวมากไม่ได้ทานข้าวมาทั้งวันจนทำให้ร่างกายน้ำตาลตกก็เป็นลมได้ หรืออยู่บนรถโดยสารที่มีคนหนาแน่นจนทำให้มีอากาศหายใจไม่เพียงพอก็เป็นลมได้นะ ฯลฯ และอีกสารพัดสาเหตุที่นำไปสู่การเป็นลม
แต่สำหรับ “โรคลมแดด” หรือที่เรียกว่า “ฮีทสโตรก”(Heat Stroke) เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนที่เกิดจากการใช้พลังงานของร่างกายได้ตามปกติ คือร่างกายไม่สามารถปรับตัวกับความร้อนที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งโดยปกตินั้นร่างกายของคนเราจะสามารถจัดการ และรับมือกับความร้อนที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี แต่หากปัจจัยแวดล้อมที่รายล้อมอยู่รอบตัวเรานั้น ทำให้อุณหภูมิสูงเกินกว่าที่ร่างกายจะรับไหว และไม่สามารถปรับสมดุลได้ทัน ก็จะทำให้เกิดภาวะลมแดดขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าการเป็นลมแดด มักจะมาจากการที่ออกไปเล่น ไปทำกิจกรรมกลางแจ้งที่มีแดดจัดๆ ยิ่งถ้าเป็นช่วงตั้งแต่ 9 โมงเรื่อยไปจนถึงช่วงเวลา 3 โมงเย็น แสงแดดระหว่างช่วงเวลานี้ของวันจะจัดจ้ามากกว่าปกติในช่วงฤดูร้อน
โรคลมแดด เป็นภาวะที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะกับเด็ก หรือผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะมีอาการรุนแรง หรือไม่รุนแรง ก็ควรต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพราะอาจทำให้เสียชีวิตจากภาวะลมแดดได้
อ่านต่อ >> “ลมแดด ที่ต้องระวังในเด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์” หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
โรคลมแดด ที่ควรระวังให้มากกับ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้หญิงตั้งครรภ์
จริงๆ ทุกคนสามารถเป็นโรคลมแดดได้ หากทำงาน หรือทำกิจกรรมกลางแจ้งตอนที่มีแสงแดดจัดเป็นเวลานาน แต่กับบุคคล 3 กลุ่มนี้อาจต้องให้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ นั่นคือ ในผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และคุณแม่ตั้งครรภ์ เพราะด้วยร่างกายแล้วไม่สามารถทนกับความร้อนได้มากและนาน ทำให้ง่ายต่อการเกิดภาวะลมแดด ซึ่ง นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(1) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ โรคลมแดด ที่ควรระวังไว้ดังนี้
“สภาพอากาศในตอนกลางวันร้อนมาก ประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และเด็กเล็กร่างกายอาจปรับตัวไม่ทัน ส่งผลให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่าย ที่อันตรายถึงชีวิตได้แก่ โรคลมแดด แม้จะพบไม่ได้บ่อยในประเทศไทย แต่ถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูง เกิดได้กับทุกคนที่อยู่กลางแดดเป็นเวลานาน โดยเฉพาะเด็กเล็ก เนื่องจากยังไม่สามารถดูแลตัวเองได้ เด็กเล็กจะสูญเสียน้ำและเกลือแร่ในร่างกายจากความร้อนได้ง่าย ทำให้การปรับตัวของร่างกายต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้นได้ไม่ดีเท่ากับผู้ใหญ่ หากอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นมากกว่า 40 องศาเซลเซียส จะมีผลกับการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท อวัยวะต่างๆ ทำงานล้มเหลว จนทำให้เสียชีวิตได้”(1)
Good to know… “โรคลมแดด (Heatstroke) คืออาการที่ร่างกายมีเหงื่อออกมาก ผิวหนังร้อน ตัวสั่น กล้ามเนื้อเป็นตะคริว ปวดศีรษะ พูดช้าสับสน เห็นภาพหลอน หายใจเร็วตื้น เหนื่อย หัวใจเต้นเร็ว มีไข้สูง หมดสติ ช็อก และหากได้รับการรักษาไม่ทันอาจเสียชีวิตได้”
อ่านต่อ >> “การป้องกันลมแดดในเด็กเล็ก” หน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
จะป้องกันโรคลมแดดในเด็กเล็ก ได้อย่างไร?
สำหรับเด็กเล็กนั้นร่างกายจะสูญเสียน้ำและเกลือแร่จากความร้อนได้ง่ายกว่าในผู้ใหญ่ หากเล่น หรือทำกิจกรรมกลางแจ้งที่มีแดดจัดนานหลายชั่วโมง ร่างกายอาจช็อกจากความร้อน ซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิต กิจกรรมที่สามารถนำไปสู่ภาวะเป็นลมแดดในเด็กในช่วงหน้าร้อน ก็เช่น
– พาไปเที่ยวทะเล แล้วเล่นน้ำทะเล เล่นทรายกันตอนแดดแรงๆ
– เล่นกีฬา เช่น เตะฟุตบอล วิ่งเปรี้ยว วิ่งแข่ง ปั่นจักรยาน ฯลฯ
– ว่ายน้ำสระกลางแจ้ง นอกจากจะเสี่ยงต่อการอ่อนเพลียจากแสงแดด ยังอาจทำให้เกิดเป็นตะคริวขึ้นได้ เสี่ยงจมน้ำเสียชีวิตได้เช่นกัน
– เข้าแถวหน้าเสาธงที่โรงเรียน อย่าลืมว่าอากาศและแสงแดดช่วงหน้าร้อนไว้ใจไม่ได้ ถึงจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ในการทำกิจกรรมของเด็กๆ และคุณครูที่โรงเรียนในช่วงเช้า ก็สามารถทำให้เด็กเป็นลมแดดได้ค่ะ
– กิจกรรมกลางแจ้ง อื่น ฯลฯ
สำหรับการป้องกันลมแดดในเด็ก คุณหมอมีคำแนะให้คุณพ่อคุณแม่ คุณครู หรือคนที่ต้องดูแลเด็กเล็ก ดังนี้ค่ะ
- ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กอยู่กลางแดด หรือเล่นกล้างแจ้งที่มีแดดจัดเป็นเวลานาน
- ในวันที่อากาศร้อนมาก หรืออุณหภูมิสูงเกิน 37 องศาเซลเซียส ให้ดื่มน้ำบ่อยๆ ทุกชั่วโมง
- ให้สวมชุดเสื้อผ้าที่โปร่งสบาย เลือกสีอ่อนๆ
- ให้สังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก เช่น ตัวร้อนจัดแต่เหงื่อไม่ออก ผิวหนังแดง หัวใจเต้นเร็วและแรง มีอาการชัก หรือหมดสติ ต้องรีบนำเด็กเข้าร่มในทันที
- ในกรณีที่เด็กเป็นลม การดูแลเบื้องต้น คือ ให้เด็กนอนราบแล้วยกเท้าทั้งสองข้างให้สูง เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้สะดวกขึ้น
- ให้ถอดเสื้อผ้าออกให้เหลือน้อยชิ้นมากที่สุด
- ให้ระบายความร้อนออกจากร่างกายเด็ก ด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัว โดยเฉพาะตรงขาหนีบ รักแร้ ข้อพับต่างๆ
- หากเด็กยังมีสติอยู่บ้าง ควรให้เด็กได้จิบน้ำบ่อยๆ ระหว่างนี้ก็ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
อ่านต่อ >> “การดูแลป้องกันตัวเองเพื่อไม่ให้เกิดโรคลมแดด” หน้า 4
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
จะดูแลตัวเองอย่างไร เพื่อป้องกัน ภาวะลมแดด
อย่างที่บอกไปว่าการเกิดโรคลมแดด สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่ว่าจะเด็ก หรือผู้ใหญ่ ยิ่งกับคนที่ต้องทำงานกลางแจ้ง หรือนักกีฬา เป็นต้น ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคลมแดด คือการดูแลร่างกายช่วงหน้าร้อน ที่ทุกคนสามารถเริ่มต้นทำได้ง่ายๆ นั่นคือ
- ระหว่างวันควรดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างดื่มน้ำให้ได้วันละ 2 ลิตร ไม่ควรปล่อยให้ร่างกายรู้สึกกระหายน้ำ
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อากาศร้อนมากๆ และอากาศถ่ายเทไม่สะดวก หากร้อนมากควรทำให้อากาศในห้อง หรือในบ้านเย็นสบาย เช่น การเปิดพัดลม หรือเปิดเครื่องปรับอากาศ
- ไม่ควรออกกำลังกายกลางแจ้งในวันที่อากาศร้อนจัด
- สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี
- หากต้องทำงานกลางแจ้งควรสวมหมวกป้องกัน หรือเตรียมตัวออกกำลังกายกลางแจ้งล่วงหน้า เพื่อให้ร่างกายชินกับสภาพอากาศร้อน
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หรือยาบางชนิดที่เพิ่มความร้อนให้ร่างกาย(2)
หน้าร้อนมักซ่อนอันตรายไว้มากมาย ยิ่งกับเด็กๆ คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังให้มากเป็นพิเศษ เพราะการสูญเสียจากความประมาทเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นไม่ควรปล่อยให้ลูกๆ ไปเล่นน้ำในสระ หรือถ้าเป็นต่างจังหวัด ก็เช่น น้ำตามคลอง ตามอ่างเก็บน้ำ(ที่เปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว) รวมทั้งเล่นน้ำทะเล เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมการเล่นเหล่านี้จำเป็นต้องมีผู้ใหญ่ควรดูแลเด็กๆ อยู่ด้วยทุกครั้ง
รวมทั้งโรคในหน้าร้อนต่างๆ ที่มากับอากาศ หรืออาหาร น้ำดื่ม ก็ต้องระวังด้วยเช่นกัน ส่วนโรคลมแดด หรือฮีทสโตรก ก็ร้ายเช่นเล่น เพราะถ้าเกิดขึ้นไม่ว่าจะกับเด็ก หรือผู้ใหญ่ รักษาอาการไม่ทัน ก็ถึงขั้นเสียชีวิตเลยค่ะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก
6 โรคร้ายที่มากับหน้าร้อน
ทารกฉี่สีส้ม สีอิฐ สีเลือด อันตรายหรือไม่?
12 อาหารอันตรายเสี่ยงชีวิต “หน้าร้อน” ที่คุณแม่-คุณลูก ต้องระวัง
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิงจาก
1นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข. รับมือภาวะลมแดดในเด็กเล็ก. www2.thaihealth.or.th
2โรคลมแดด (Heat Stroke). ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ. www.bangkokhospital.com