ไข้ออกผื่น Vs ผื่นร้อน วิธีสังเกตผื่นบนตัวลูก ป้องกันผดผื่น - Amarin Baby & Kids
ไข้ออกผื่น Vs ผื่นร้อน

ไข้ออกผื่น Vs ผื่นร้อน วิธีสังเกตผื่นบนตัวลูก

account_circle
event
ไข้ออกผื่น Vs ผื่นร้อน
ไข้ออกผื่น Vs ผื่นร้อน

ลูกเป็นผื่นอะไรกันแน่! ไข้ออกผื่น Vs ผื่นร้อน ความแตกต่างของผื่นทั้งสองอย่างมีอะไรบ้าง

ไข้ออกผื่น Vs ผื่นร้อน

ร่างกายของเจ้าตัวน้อยช่างบอบบางแพ้ง่าย ทำให้เกิดผดผื่นได้อยู่บ่อยครั้ง แล้วผื่นบนตัวลูก แท้จริงแล้วเป็นอะไรกันแน่ มาดูวิธีสังเกตไข้ออกผื่นและผื่นร้อนแตกต่างกันอย่างไร ได้ในบทความนี้เลยค่ะ

ไข้ออกผื่นในเด็กคืออะไร

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับไข้ออกผื่นกันก่อน ไข้ออกผื่นพบมากในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เพราะเป็นช่วงวัยที่ภูมิคุ้มกันของเด็กยังไม่แข็งแรง เด็กมักจะมีไข้สูงนานถึง 3-4 วัน แล้วเกิดเป็นผื่นแดงหรือจุดสีออกชมพู ๆ ขึ้นตามร่างกาย สาเหตุที่พบบ่อยเกิดจากการติดเชื้อไวรัส

สาเหตุของไข้ออกผื่นที่พบบ่อยในเด็ก

อาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ไวรัสตัวร้ายจะทำให้เจ้าตัวน้อย น้ำมูกไหล ไอ และจาม หรือไวรัสของระบบทางเดินอาหาร ทำให้ลูกอาเจียน และถ่ายเหลว ส่วนโรคอื่น ๆ ที่เกิดจากไวรัส จนมักจะเป็นไข้ออกผื่น มีดังนี้

  • เชื้อหวัดธรรมดาทั่วไป หรือเชื้อไข้หวัดใหญ่
  • โรคสุกใส หรืออีสุกอีใส มักมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ อาเจียนและท้องเสีย บนร่างกายของเด็กจะมีตุ่มนูนคันสีแดง ก่อนจะเป็นตุ่มน้ำพุพองขึ้นที่ใบหน้า ท้อง หลัง และอาจเกิดตุ่มได้ภายในช่องปาก แล้วลุกลามไปยังส่วนอื่นของร่างกาย
  • โรคหัด มีตุ่มสีขาวเทาขึ้นกระพุ้งแก้ม จากนั้น 3-4 วัน พบผื่นแดงแบนราบ ตุ่มสิวเกิดการปะทุที่หลังหู แนวผม ก่อนจะกระจายไปตามเนื้อตัวของลูก
  • โรคหัดเยอรมัน ผื่นสีชมพูหรือแดงอ่อน ขนาด2-3 มิลลิเมตร มักขึ้นที่คอ ลำตัว หรือแขนขา มีอยู่ราว ๆ 5 วัน ผื่นอาจไม่คัน แต่มักจะต่อมน้ำเหลืองโต เกิดที่หลังใบหูและท้ายทอย มาพร้อมกับไข้ต่ำ ๆ เจ็บคอ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อได้
  • ไข้หัดดอกกุหลาบ ไข้ออกผื่นชนิดนี้ จะมีอาการไข้สูงเฉียบพลันราว 3 วัน เด็กจึงงอแง กินอาหารน้อย หรือมีกระหม่อมโป่ง วันที่ 4 อาการไข้มักจะลดลง แล้วเกิดผื่นสีชมพูกุหลาบหรือผื่นออกสีแดงเล็ก ๆ ที่ลำตัว และอาจมีที่คอ แขน ขา หน้า ผื่นนี้เรียกกันว่า ส่าไข้ ช่วงที่ไข้ลดลงแล้วผื่นขึ้นเป็นสัญญาณว่า อาการเริ่มดีขึ้นแล้ว ผื่นจะอยู่ 1-3 วัน แล้วเด็กจะเริ่มกินอาหารได้ เล่นได้ตามปกติ
  • โรคฟิฟธ์ เกิดผื่นแดงหนาที่แก้มทั้งสองข้าง อาจรู้สึกแสบร้อน 2-4 วัน โดยจะสังเกตผื่นได้ชัดวันที่ร้อน ๆ
ไข้ออกผื่น Vs ผื่นร้อน
ไข้ออกผื่น Vs ผื่นร้อน

วิธีดูแลเมื่อลูกมีไข้

หากเด็กมีไข้สูงควรดูแลด้วยการเช็ดตัวลดไข้เพื่อป้องกันลูกชักจากไข้สูง (อุณหภูมิร่างกายมากกว่า 37.8 องศาเซลเซียส) เป็นการนำความร้อนออกจากร่างกายอย่างถูกวิธี เริ่มจากการปิดแอร์เสียก่อน แล้วถอดชุด ก่อนจะปูผ้าเพื่อป้องกันน้ำเปียกที่นอน การเช็ดตัวลูกทำได้โดย

  1. ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่น (อุณหภูมิอุ่นกว่าอุณหภูมิห้องแต่เย็นกว่าอุณหภูมิร่างกาย) บิดพอหมาดพอควร เช็ดฃใบหน้า พักไว้ที่หน้าผาก ซอกคอ ทำซ้ำ 3-4 ครั้ง
  2. จากนั้นค่อย ๆ เช็ดบริเวณหน้าอกและลำตัว เช็ดปลายแขนเข้าหาต้นแขนและรักแร้ ย้อนรูขุมขนเพื่อระบายความร้อน ทำซ้ำ 3-5 ครั้ง
  3. เช็ดแขนด้านใกล้ตัวด้วยวิธีเดียวกัน เช็ดขาด้านไกลตัวขา ปลายขาเข้าหาตันขา เช็ดขาหนีบ 3 – 4 ครั้ง พักผ้าบริเวณใต้เข่า ขาหนีบ แล้วเช็ดขาด้านใกล้ตัว
  4. จับลูกนอนตะแคงแล้วเช็ดบริเวณหลัง ตั้งแต่ก้นกบขึ้นคอ ทำซ้ำ 3 – 4 ครั้ง
  5. แล้วจึงเช็ดตัวจนแห้ง ใส่เสื้อผ้าให้เรียบร้อย

หากอาการไข้ออกผื่นยังไม่หาย ผ่านไป 3-4 วัน ไข้ไม่ลดลง ลูกไม่ยอมกินนม เด็กไม่ค่อยกินอาหาร มีอาการอ่อนเพลีย อาเจียน ซึม ควรพบแพทย์ เพราะเด็กอาจมีอาการไข้ออกผื่นอันเนื่องมาจาก ไข้เลือดออก โรคติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเป็นผื่นแพ้ยา เหล่านี้ล้วนเป็นอันตรายต่อตัวลูกน้อยได้

ผื่นร้อนหรือผดร้อนกันแน่

จริง ๆ แล้ว ผดและผื่นมีความแตกต่างกัน ผื่นมีลักษณะและอาการที่แตกต่างกัน อย่างผื่นเม็ดเล็ก ผื่นนูนหนา หรือตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง ขณะที่ผดมีลักษณะเป็นเม็ดเล็ก เกิดจากการอุดตันของท่อเหงื่อ และมักจะเรียกกันว่า ผดร้อน

ผดร้อนในเด็ก หรือ Heat rash เกิดขึ้นได้เพราะโครงสร้างผิวหนังของเด็กยังไม่สมบูรณ์ จึงเกิดการอุดตันของท่อระบายเหงื่อ โดยเฉพาะหน้าร้อนที่ร่างกายต้องการระบายความร้อนผ่านทางท่อเหงื่อ หรือมีสาเหตุมาจากการแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่หนาเกิน ห่อตัวเด็กเล็กจนเกิดการอุดตันของท่อระบายเหงื่อที่ชั้นผิวหนัง หรือเด็กในวัยซนที่ชอบวิ่งเล่นจนเกิดภาวะเหงื่อออกมาก

อาการเมื่อเกิดผด

ผดเกิดบริเวณที่มีต่อมเหงื่อมาก เช่น หน้าผาก หน้าอก และหลัง โดยเฉพาะวันที่อากาศร้อนอบอ้าว ลักษณะที่พบจะแตกต่างกันตามระดับของการอุดตันของท่อของต่อมเหงื่อ

  • ตุ่มน้ำใสขนาดเล็ก (Miliaria crystallina) เหมือนหยดน้ำ เกิดจากการอุดตันของท่อของต่อมเหงื่อที่ส่วนบนของชั้นหนังกำพร้า พบมากในทารกที่ต้องอยู่ในตู้อบหรือส่องไฟเพื่อการรักษานาน ๆ โดยขึ้นบริเวณใบหน้าและหน้าผากของเด็ก ผดชนิดนี้สามารถหายเองได้
  • ตุ่มแดง ขนาด 2-4 มิลลิเมตร หรือ Miliaria rubra (prickly heat) หรือผดร้อน เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากการอุดตันของท่อของต่อมเหงื่อที่ส่วนล่างของชั้นหนังกำพร้า มักพบที่บริเวณต้นคอ หน้าผาก หน้าอก หลังและข้อพับ มักมีอาการคันและคันมากขั้นตอนเหงื่อออก ผื่นมักขึ้นที่ลำตัวส่วนบนทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

หากปล่อยให้ผดเกิดขึ้นมาก ๆ เป็นเวลานาน ผดร้อน จะเกิดเป็น Miliaria pustulosa กลายเป็นตุ่มหนอง และบางครั้งเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของเชื้อแบคทีเรียจากการเกา ผดร้อนยังทำให้เกิด Miliaria profunda เนื่องจากเป็นผดร้อนเรื้อรัง จนนำไปสู่การอุดตันของท่อระบายเหงื่อในระดับลึกที่สุด ผื่นเป็นตุ่มนูนสีขาวขนาด 1-3 มิลลิเมตร พบได้ที่ลำตัวและขาส่วนบน

ไข้ออกผื่น Vs ผื่นร้อน
ไข้ออกผื่น Vs ผื่นร้อน

วิธีป้องกันการเกิดผด

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพอากาศร้อนอบอ้าวเป็นเวลานาน ๆ
  • ไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่หนาเกินไปให้ลูก ต้องเลือกเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย
  • ใช้สบู่หรือผลิตภัณฑ์อาบน้ำสำหรับเด็ก โดยอาบน้ำทารกในอุณหภูมิ 38 องศาเซลเซียส ถ้าทารกอายุเกิน 1 เดือน ใช้น้ำอุณหภูมิปกติอาบได้ การอาบน้ำควรอาบอย่างน้อย 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้งในวันที่อากาศร้อน
  • เลือกโลชั่นหรือครีมบำรุงที่เหมาะสมกับผิวบอบบางแพ้ง่ายของลูกน้อย ไม่ควรใช้ครีมที่ก่อให้เกิดการอุดตัน

หากลูกมีอาการไข้ออกผื่นหรือผดร้อน พ่อแม่ต้องสังเกตอาการอื่น ๆ ของลูกควบคู่ไปด้วย หากมีไข้ติดต่อกันนาน ๆ ผดหรือผื่นไม่หายเสียที ลูกคันมาก งอแง ไม่กินนม ไม่ยอมกินข้าว ก็ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอย่างละเอียดต่อไป

อ้างอิงข้อมูล : khonkaenram, phyathai, inderm , si.mahidol และ facebook.com/centercliniclab

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

มือ เท้า ปาก หน้าฝน ระบาดหนัก! เจอ 8 อาการนี้ต้องพาลูกไปหาหมอ

ไทรอยด์เป็นพิษ ลูกเป็นแต่เล็ก ส่งผลต่อพัฒนาการล่าช้า

เด็กไทยป่วยมะเร็งเพิ่ม 80 คนต่อเดือน! มะเร็งในเด็ก รู้เร็ว รักษาไว หายขาดได้

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up