ช่วงเปิดเทอม! สิ่งหนึ่งที่อยากเตือนคุณพ่อคุณแม่ คือ ควรเฝ้าระวังเรื่องการเจ็บป่วยของลูกน้อย โดยเฉพาะ โรคมือเท้าปาก และ โรคไข้หวัดใหญ่ ที่มักจะกลับมาระบาดมากในช่วงเปิดเทอมซึ่งมาพร้อมกับหน้าฝนอีกดด้วย แล้ว โรคมือเท้าปาก อาการ จะเป็นแบบไหน และมีวิธีป้องกันอย่างไร? เพื่อไม่ให้ลูกน้อยเป็นโรคนี้ ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีข้อมูลพร้อมคำแนะนำ มาบอกให้ได้ทราบกันค่ะ
โรคมือเท้าปาก อาการ ที่พ่อแม่ต้องดูให้เป็น!
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ออกมาแจ้งเตือนคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองทั้งหลายว่า… ขณะนี้หลายสถานศึกษากำลังเข้าสู่ช่วงเปิดภาคเรียนใหม่ ประกอบกับช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโรคที่มักเกิดกับเด็กในช่วงเปิดเทอม คือ “ โรคมือเท้าปาก ”
โดยมักเกิดในสถานที่ที่มีเด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ รวมไปถึงผู้เลี้ยงดูเด็กในศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล และสถานรับเลี้ยงเด็ก ได้ตระหนักและระมัดระวังโรคที่เกิดการแพร่กระจายเชื้อโรคสู่กันได้ง่าย โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ
ซึ่งสถานการณ์ โรคมือเท้าปาก ในช่วงต้นปี 2561 นี้ ข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.– 6 พ.ค. 2561 ระบุว่า…
-
พบผู้ป่วยแล้ว 11,326 ราย
-
ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
-
อีกทั้งยังพบมากที่กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีจำนวน 9,678 ราย คิดเป็นร้อยละกว่า 85
-
นอกจากนี้ ยังพบว่าช่วงที่พบผู้ป่วยมากที่สุดของปีที่แล้ว คือ ช่วงเปิดเทอมจนถึงหน้าฝน (เดือน พ.ค.-ส.ค.) เพียง 4 เดือนมีผู้ป่วยมากถึง 38,304 ราย คิดเป็นร้อยละ 54 ของผู้ป่วยทั้งหมด
โดยก่อนหน้านี้เมื่อปีที่แล้ว (2560) ทางกรมควบคุมโรค ก็ได้ออกประกาศเตือนเกี่ยวกับ โรคมือเท้าปาก ถึงสถานการณ์ ซึ่งมีข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.–30 เม.ย. 2560 พบผู้ป่วยแล้ว 17,117 ราย เสียชีวิต 1 ราย ส่วนในปี 2559 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยทั้งหมด 79,910 ราย เสียชีวิต 2 ราย
ซึ่งผู้ป่วยเกือบทั้งหมดเป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มากถึง 70,874 ราย คิดเป็นร้อยละ 89 ของผู้ป่วยทั้งหมด นอกจากนี้ ยังพบว่าช่วงที่พบผู้ป่วยมากที่สุดของปีที่แล้ว คือ ช่วงเปิดเทอมจนถึงหน้าฝน (เดือน พ.ค.-ส.ค.) เพียง 4 เดือนมีผู้ป่วยมากถึง 50,156 ราย คิดเป็นร้อยละ 63 ของผู้ป่วยทั้งหมด
นอกจากนั้นในช่วงนี้อากาศของประเทศไทยก็เปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้โรคติดต่อทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ นักเรียนและเด็กเล็กมีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อจากการอยู่กับคนหมู่มาก โดยตั้งแต่ต้นปี 2561 ถึงปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เป็นกลุ่มก้อนทั้งในโรงเรียน ค่ายทหารเรือนจำและวัดทั้งสิ้น 18 เหตุการณ์ โดยขอให้ผู้ปกครองและครูสังเกตอาการเด็ก หากมีไข้ ปวดศีรษะร่วมกับมีอาการปวดเมื่อร่างกาย ขอให้หยุดเรียน และพักรักษาจนกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อลดการแพร่กระจายโรคสู่ผู้อื่นๆ
ทั้งนี้สำหรับ การป้องกันโรคมือเท้าปาก กรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล และสถานรับเลี้ยงเด็ก ตรวจคัดกรองเด็กเป็นประจำทุกวันในตอนเช้า โดยเฉพาะในช่วงเปิดเทอมจนถึงหน้าฝน…หากพบเด็กป่วยขอให้แยกออกจากเด็กปกติและแจ้งให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน หลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กป่วยเล่นคลุกคลีกับเด็กปกติและเมื่อป่วยควรพักรักษาอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหาย ไม่พาเด็กไปในที่ชุมชนแออัดเช่นห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ เป็นต้น รวมถึงให้เด็กล้างมือบ่อยๆ หรือทุกครั้งที่สัมผัสสิ่งสกปรกปนเปื้อนเชื้อโรค
นอกจากนี้ ต้องหมั่นทำความสะอาดอุปกรณ์ เครื่องมือ ของใช้ ของเล่น ภายในศูนย์ฯ และโรงเรียนเป็นประจำทุกสัปดาห์หรือทุกครั้งที่พบว่ามีเด็กป่วยโรคนี้ ที่สำคัญหากพบเด็กป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านทันที หากคุณพ่อคุณแม่มีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422[1]
ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : www.newtv.co.th
และเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกน้อยป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก ตามมาดูข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้ ทั้งสาเหตุ อาการ การรักษา และวิธีป้องกัน โรคร้ายที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพลูกน้อย กันค่ะ⇓
โรคมือเท้าปาก อาการ คล้ายหวัด แต่ไม่ธรรมดา!
เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่คงจะเคยได้ยินเด็กๆ ป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก กันอยู่บ้างพอสมควร ซึ่งอาการป่วยที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ นั้นน่าสงสารมาก โรคมือเท้าปาก (hand foot mouth Disease) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ที่สามารถพบได้บ่อยในเด็กทารก และเด็กเล็ก สำหรับเด็กเมื่อป่วยเป็นมือเท้าปาก จะมีไข้สูง เป็นแผลในปาก และจะมีตุ่มน้ำใสแดงตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า ลำตัว เด็กที่ป่วยจะมีอาการทรมาน และจะร้องงอแงอยู่ตลอดเวลาเพราะพิษไข้
เด็กที่ป่วยเป็น มือเท้าปาก สามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงขึ้นได้ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ อัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งสัญญาณเตือนของภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที สามารถสังเกตอาการได้ดังนี้…
โรคมือเท้าปาก อาการ ที่เด็กๆมักเป็น!
-
โรคมือเท้าปาก อาการ เริ่มแรกคือลูกจะมีไข้ และมีอาการซึมลง ไม่เล่น ไม่อยากรับประทานอาหารหรือนม
-
บ่นปวดศีรษะมาก ปวดทนไม่ไหว
-
มีอาการพูดเพ้อไม่รู้เรื่อง สลับกับการซึมลง
-
ปวดต้นคอ คอแข็ง มีการรับรู้สับสน ซึมลง และอาเจียน
-
มีอาการไอ หายใจเร็ว ดูเหนื่อยๆ หน้าซีด มีเสมหะมาก
แล้ว โรคมือเท้าปาก อาการ นี้ เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง” ดูได้ ดังนี้ ⇓
โรคมือเท้าปาก เกิดจากสาเหตุ?
สำหรับโรคนี้หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมถึงเรียกมือเท้าปาก นั่นก็เพราะว่าหลังจากที่เด็กไม่สบายตัวอยู่ประมาณ 1-2 วัน จากนั้นก็จะเริ่มมีอาการเป็นไข้หลังจากติดเชื้อ 3-4 วัน เด็กจะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บปาก เจ็บคอ ฯลฯ และในเวลาต่อมาก็จะมีผื่นขึ้นที่มือและเท้าก่อน จากนั้นก็จะขึ้นผื่นที่ปากมีแผลในปากด้วย โดยผื่นที่ขึ้นเริ่มแรกมักขึ้นเป็นจุดแดงราบก่อน แล้วกลายเป็นตุ่มน้ำตามมา ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-7 มิลลิเมตร
อาการโรคมือเท้าปาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส ซึ่งมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคที่พบได้บ่อย เช่น คอกซากีไวรัส เอ16 (coxsackievirus A16) และเอนเทอโรไวรัส 71 (enterovirus 71) กลุ่มเสี่ยงโรคมือเท้าปากที่พบบ่อยคือ เด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่เป็นมือเท้าปากมักมีอาการรุนแรงมาก
มือเท้าปาก มีการติดต่อของโรคได้อย่างไร?
- จากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากจมูก ลำคอ น้ำลาย และน้ำจากตุ่มใส
- จากอุจจาระของคนที่มีเชื้อก่อโรคนี้
- จากการสัมผัสของเล่น หรือจากพื้นผิวสัมผัสที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ
- จากการกินอาหาร หรือน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนเชื้อ
- จากสถานรับเลี้ยงเด็ก และโรงเรียนอนุบาล
การรักษาโรคมือเท้าปาก ยังไม่มีการรักษาที่เฉพาะเจาะจงโรคได้ ที่ทำได้คือการเฝ้าระวังและรักษาตามอาการของผู้ป่วยเท่านั้น เช่น หากมีอาการเจ็บคอมาก รับประทานอะไรไม่ได้ เด็กดูเพลียจากการขาดอาหารและน้ำ คุณหมอก็จะให้พยายามป้อนน้ำ นมและอาหารอ่อน ส่วนหากในเด็กที่มีอาการอ่อนเพลียมาก ส่วนมากจะให้นอนให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ร่วมกับการให้ยาลดไข้แก้ปวดอาจให้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลและให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ร่วมกับให้ยาลดไข้แก้ปวด และจะมีการเฝ้าระวังสังเกตอาการของภาวะแทรกซ้อนทางสมองและหัวใจไปพร้อมด้วยกัน
ทั้งนี้หากสังเกตว่าลูกป่วยเป็น โรคมือเท้าปาก อาการ แย่ลงโดยมีภาวะอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ คุณพ่อคุณแม่ต้องรีบพาลูกน้อยไปหาหมอเพื่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที เพราะอาจติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์รุนแรง เสี่ยงต่อ การเสียชีวิตได้มากกว่าสายพันธุ์ปกติ
การป้องกันโรคมือเท้าปาก สามารถทำได้อย่างไรบ้าง?
เป็นที่ทราบกันดีว่ายังไม่มีวัคซีนเพื่อป้องกัน หรือรักษาอาการของโรคมือเท้าปากได้ แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถเฝ้าระวังและป้องกันการเกิดโรคมือเท้าปากให้กับลูกได้ ด้วยการดูแลรักษาความสะอาดในเรื่องของสุขอนามัยให้กับลูก ซึ่งทางโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้มีคำแนะนำใน การป้องกันโรคมือเท้าปาก ที่สามารถปฏิบัติกันได้ ตามนี้
- หลีกเลี่ยงการให้เด็กคลุกคลีหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย
- รักษาอนามัยส่วนบุคคล โดยเฉพาะผู้เลี้ยงดูเด็กเล็กควรล้างทำความสะอาดมือก่อนหยิบจับอาหารให้เด็กรับประทาน และรับประทานอาหารที่สุก สะอาด ปรุงใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำสะอาด
- ไม่ใช้ภาชนะในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะช้อน จาน ชาม แก้วน้ำ ขวดนม
- เมื่อเช็ดน้ำมูกหรือน้ำลายให้เด็กแล้วต้องล้างมือให้สะอาดโดยเร็ว
- รีบซักผ้าอ้อมหรือเสื้อผ้าที่เปื้อนอุจจาระให้สะอาดโดยเร็ว และทิ้งน้ำลงในโถส้วม ห้ามทิ้งลงท่อระบายน้ำ
- หากเด็กมีอาการของโรคมือเท้าปากให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ และเมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคมือเท้าปาก ต้องให้เด็กหยุดเรียนอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าแผลจะหาย[2]
อย่างไรก็ตาม โรคมือเท้าปาก อาการ เริ่มต้นจะคล้ายๆ ไข้หวัด จากนั้นลูกจะเริ่มมีตุ่มใส หรือแผลร้อนในเกิดขึ้นหลายแผล
หากอยู่ที่โรงเรียนต้องไม่ดื่มน้ำแก้วเดียวกับเพื่อน ซึ่งคุณแม่ควรเตรียมกระติกน้ำให้ลูกโดยเฉพาะ และควรกำชับลูกหรือคุณครูที่โรงเรียนว่าไม่ให้ลูกใช้กระติกน้ำ หรือแก้วน้ำร่วมกับเพื่อน ฯลฯ เห็นแบบนี้แล้วพ่อแม่ก็ควรกันไว้ดีกว่าแก้ เพราะหากลูกเจ็บป่วยขึ้นมาแล้ว อาจรักษาไม่หายเสี่ยงเสียชีวิตได้ค่ะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย จาก ทีมงาน Amarin Baby & Kids
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก
โรคไข้เลือดออก วิธีสังเกตอาการและวิธีป้องกัน!
โรคเฮอร์แปงไจน่า : โรคระบาดน่ากลัว กลุ่มเดียวกับโรค มือ เท้า ปาก
อันตราย!! 8 โรค ที่แถมมาจากโรงพยาบาล ต้องระวังโรคอะไรบ้าง?
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
[1]เฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก ในเด็กเล็กช่วงเปิดเทอม. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. www.riskcomthai.org
[2]โรคมือเท้าปาก. โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์. www.bumrungrad.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่