ในเดือนที่มีฝนตกชุกอย่างนี้ สิ่งที่มาพร้อมกับฝนก็คือเชื้อโรคชนิดต่างๆ ในปีนี้สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังกันเป็นพิเศษ คือ โรคมือเท้าปากในเด็ก ที่มักจะระบาดหนักมากในหน้าฝน ซึ่งกรมควบคุมโรคได้เผยว่าในปีนี้ พบเด็กป่วยเป็นโรคมือเท้าปากสูงถึง 13,554 ราย ถือเป็นตัวเลขที่น่าตกใจไม่น้อยเลยค่ะ และสิ่งที่น่าตกใจยิ่งกว่า คือ โรคมือเท้าปากในเด็ก มักพบเจอได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกในวัยนี้และวัยที่อยู่ในโรงเรียนหรือสถานเลี้ยงเด็ก จึงต้องระวังเป็นพิเศษ เรามาอ่านคำเตือนจากคุณหมอกันดีกว่าค่ะ
หมอเตือนเฝ้าระวัง! โรคมือเท้าปากในเด็ก ระบาดหนัก
กรมควบคุมโรคเผยตั้งแต่ 1 ม.ค. – 4 มิ.ย. พบผู้ป่วย โรคมือเท้าปากในเด็ก 13,554 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยร้อยละ 85.8 เป็นกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ อยู่ในโรงเรียน สถานเลี้ยงเด็ก แนะ 4 วิธีรับมือ คัดกรองเด็กทุกเช้า สอนให้เด็กล้างมือเป็นประจำ
เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคมือ เท้า ปากเริ่มพบมากขึ้นในช่วงฤดูฝนนี้ มีความเสี่ยงที่จะพบเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กเล็ก คือ เด็กแรกเกิด- 4 ขวบ และกลุ่มเด็กวัยเรียน 5-9 ขวบ เนื่องจากโรงเรียนเป็นสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก ซึ่งง่ายต่อการแพร่กระจายเชื้อโรคผ่านสิ่งของใช้และของเล่น สำหรับสถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก จากการรายงานของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 4 มิ.ย. 2561 พบผู้ป่วยจำนวน 13,554 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต โดยผู้ป่วยเกือบทั้งหมด ร้อยละ 85.8 เป็นกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่ในโรงเรียน หรือสถานเลี้ยงเด็ก หากไม่ได้รับการดูแลเป็นพิเศษจะก่อให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อได้อย่างรวดเร็วนพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า กรมควบคุมโรค ขอแนะนำ 4 วิธีในการป้องกันโรคมือเท้าปาก ดังนี้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
1.การลดการสัมผัสเชื้อ โดยเชื้อโรคมือ เท้า ปากจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย ซึ่งมักจะติดอยู่บนมือแล้วนำเข้าปากหรือจับของเล่น ของใช้ ทำให้กระจายสู่ผู้อื่นได้ หากลดการสัมผัส จะสามารถป้องกันการรับเชื้อได้
2.หมั่นทำความสะอาดของใช้และของเล่นของเด็กเป็นประจำ เพื่อลดเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม
3.หมั่นให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนและหลัง รับประทานอาหารหรือเข้าห้องน้ำ เพื่อลดเชื้อสะสมบนมือและลดการแพร่สู่ผู้อื่น
4.หากพบผู้ป่วย ควรให้หยุดเรียนและรักษาจนกว่าจะหายดี ควรแยกของใช้ส่วนตัวเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ และไม่ควรคลุกคลีกับคนอื่นๆในครอบครัวหรือชุมชน เพื่อชะลอการระบาดและการแพร่กระจายเชื้อ
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวด้วยว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนควรคัดกรองเด็กนักเรียนทุกเช้าก่อนเข้าห้องเรียน เพื่อตรวจดูนักเรียนที่มีอาการแสดงของโรค คือมีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำใส หรือเม็ดแดงๆ ในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือก้น หากพบเด็กป่วยให้แยกออกมา แจ้งผู้ปกครองให้มารับกลับและพักรักษาจนกว่าจะหายเป็นปกติ จัดจุดล้างมือหรือเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ สำหรับผู้ปกครอง ควรหมั่นสังเกตอาการของบุตรหลาน หากพบมีอาการควรพิจารณาให้บุตรหลานหยุดเรียนและพักรักษาจนกว่าจะหาย ทั้งนี้ โรคนี้ไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีน จะรักษาตามอาการ ถ้าหากเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ต้องรีบนำเด็กไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที เพราะอาจติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์รุนแรง เสี่ยงต่อ การเสียชีวิตได้มากกว่าสายพันธุ์ปกติ หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : www.newtv.co.th
ทำความรู้จักกับโรคมือเท้าปากในเด็ก
โรคมือเท้าปากในเด็ก เกิดจากเชื้อไวรัสในลำไส้ หรือ เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) หลายชนิด พบบ่อยในเด็ก ทารกและเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี ซึ่งจะมีอาการรุนแรงมากกว่าเด็กโต เกิดได้ประปรายตลอดทั้งปี และจะพบ เพิ่มขึ้นในฤดูฝนซึ่งอากาศเย็นและชื้น โดยปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการระบาด มาจากความแออัด สุขอนามัยสิ่งแวดล้อม ระบบการถ่ายเทอากาศไม่ดี และสุขวิทยาส่วนบุคคลบกพร่อง ซึ่งมักเกิดตามสถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาล เป็นต้น
โรคมือเท้าปากในเด็ก ติดต่อกันได้ง่ายและแพร่กระจายมากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย ติดต่อได้โดยการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่ง จากจมูก ลำคอ และน้ำจากในตุ่มใส ติดเชื้อได้ทางตรง หรือทางอ้อม เช่น สัมผัส ของเล่น มือผู้เลี้ยงดู น้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ หรือการไอจามรดกัน ทั้งนี้เชื้อเอนเทอโรไวรัส สามารถทนสภาวะกรดในทางเดินอาหารมนุษย์ได้ และมีชีวิตอยู่ในอุณหภูมิห้องได้ 2-3 วัน และพบเชื้อในอุจจาระผู้ป่วย ต่อได้อีกประมาณ 2-3 สัปดาห์ โรคนี้สามารถหายได้เองภายใน 7-10 วัน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน โรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ จึงเป็นการรักษาตามอาการโดยให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ทั้งนี้ ควรเช็ดตัวผู้ป่วยเป็นระยะ ๆ ให้อาหารอ่อนๆ รับประทานผลไม้ ดื่มน้ำ และนอนพักผ่อนให้มาก ๆ ถ้าเป็นเด็กเล็กอาจต้องป้อนนมแทนการให้ดูดจากขวดนม หลังจาก การติดเชื้อผู้ป่วยจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสที่ก่อโรค แต่อาจเกิด โรคมือเท้าปากในเด็ก ซ้ำอีก จากเอนเทอโรไวรัสตัวอื่นๆ ได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ มาตรการการป้องกัน โรคมือเท้าปากระบาด ที่โรงเรียนควรมี
มาตรการการป้องกัน โรคมือเท้าปากในเด็ก ที่โรงเรียนควรมี
ตามข่าว โรคมือเท้าปากในเด็ก พบผู้ป่วยมากที่สุดในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และระบาดหนักในโรงเรียนหรือสถานเลี้ยงเด็ก ทีมงาน Amarin Baby & Kids จึงนำมาตรการการป้องกันการระบาดของโรคมือเท้าปาก สำหรับโรงเรียนอนุบาลหรือสถานรับเลี้ยงเด็ก จากกรมควบคุมโรค มาให้คุณพ่อคุณแม่ได้ตรวจสอบกับโรงเรียนว่ามีมาตรการเหล่านี้หรือไม่ กันค่ะ
- แจ้งการระบาดไปที่หน่วยงานบริการสาธารณสุขในพื้นที่ ทันทีที่พบการระบาด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไปสอบสวนการระบาด
- ให้ความรู้ และคำแนะนำ เรื่องโรคมือเท้าปาก แก่ผู้ปกครองและเด็กนักเรียน รวมทั้งส่งเสริมพฤติกรรมอนามัย ที่ช่วยป้องกันโรคติดต่อ โดยเฉพาะการล้างมือและการรักษาสุขอนามัยของสภาพแวดล้อม และควรแยกของใช้ ไม่ให้ปะปนกัน เช่น แก้วน้ำ ช้อนอาหาร ฯลฯ
- เฝ้าระวังโดยตรวจเด็กทุกคนหากพบคนใดที่มีอาการโรคมือ เท้า ปากต้องรีบแยกออกและให้หยุดเรียน7-10 วัน หรือจนกว่าจะหายป่วย เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปยังเด็กคนอื่น ๆ
- ควรรีบพาเด็กป่วยไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว และดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด
- พิจารณาปิดห้องเรียนที่มีเด็กป่วยหรือปิดทั้งโรงเรียนชั่วคราว (กรณีมีเด็กป่วยหลายห้อง หรือหลายชั้นเรียน) ประมาณ 5 – 7 วัน – หากพบว่ามีการระบาดของโรคมือ เท้า ปากหรือมีผู้ป่วยติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 ในโรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็ก พิจารณาให้ปิดชั้นเรียนที่มีเด็กป่วยมากกว่า 2 ราย หากมีการป่วยกระจายในหลายชั้นเรียนแนะนำให้ ปิดโรงเรียนเป็นเวลา 5 วัน
- ทำความสะอาดสถานที่เพื่อฆ่าเชื้อโรคบริเวณห้องน้ำ ห้องส้วม สระว่ายน้ำ ครัว โรงอาหาร บริเวณที่เล่นของเด็ก สนามเด็กเล่น โดยใช้สารละลายเจือจางของน้ำยาฟอกขาว (20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 1 ลิตร) หรือน้ำยาทำความสะอาดที่ใช้ตามบ้านเรือน แล้วเช็ดล้างด้วยน้ำสะอาด
- ทำความสะอาดของเล่นเครื่องใช้ของเด็กด้วยการซักล้างแล้วผึ่งแดดให้แห้ง
- หยุดใช้เครื่องปรับอากาศ เปิดประตู หน้าต่าง ผ้าม่าน ให้แสงแดดส่องให้ทั่วถึง
หลักสำคัญในการป้องกัน โรคมือเท้าปากระบาด ได้ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงไม่ไปสัมผัสสิ่งของต่างๆ ที่อาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกๆ ให้รักษาสุขอนามัยให้ดี ควรให้ลูกล้างมือทุกครั้งก่อนทานอาหาร หรือก่อนการหยิบจับสิ่งของใดๆ เข้าปาก ควรกำชับกับลูกๆ ว่า ของใช้ส่วนตัวต่างๆ เช่น กระติกน้ำ ผ้าเช็ดหน้า เป็นสิ่งของที่ไม่ควรใช้ร่วมกัน หากทำเป็นประจำจนติดเป็นนิสัย นอกจากจะป้องกัน โรคมือเท้าปากระบาด แล้ว ยังป้องกันโรคไข้หวัดและโรคอื่นๆ ได้อีกด้วยค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณะสุข
อ่านบทความดีๆ ต่อได้ที่นี่
โรคมือเท้าปาก อาการ สาเหตุ และวิธีป้องกัน ที่พ่อแม่ควรรู้!
ระวัง! โรคมือเท้าปาก EV71 สายพันธุ์รุนแรง
วิธีดูแล เด็กเป็นไข้ อันตรายที่มากับหน้าฝน
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่