โรคมือเท้าปาก โรคร้ายที่มักแพร่ระบาดในเด็กเล็ก โรคที่ไม่มีแม้แต่ยารักษา …
คงไม่ต้องพูดอะไรกันมากมายถึงโรคร้ายไหนบ้างที่คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนต่างกันหวาดกลัว เพราะถ้าหากจะต้องให้เรียงชื่อของโรคมาจริง ๆ แล้วละก็จะต้องมี โรคไข้หวัดใหญ่ โรคเฮอร์แปงไจน่า และ โรคมือเท้าปาก เป็นแน่ โดยโรคนี้จัดเป็นโรคระบาดร้ายแรงที่มีประวัติการเสียชีวิตของเด็กมาแล้ว สืบเนื่องจากมีอาการทางสมองร่วมด้วย
เภสัชกรอุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล เภสัชกรชื่อดังเจ้าของเพจ สาระสุขภาพยาน่ารู้โดยเภสัชกรอุทัย ก็ได้ชี้แจงถึงสาเหตุที่คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนต่างพากันสงสัยว่า ทำไมหนอ!! … เด็กเล็ก ๆ ถึงมักชอบป่วยเป็น โรคมือเท้าปาก
ทำไมเด็ก ๆ ถึงชอบเป็น โรคมือเท้าปาก
โรคมือเท้าปากเปื่อย หรือ Hand foot mouth syndrome นั้นเกิดจาก เชื้อไวรัสลำไส้หรือไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส ที่บอกเลยค่ะว่า โรคนี้ไม่ได้มีแค่สายพันธุ์เดียว! และในแต่ละสายพันธ์นั้นก็มีความน่ากลัวโดดเด่นไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71) หรือเรียกกันสั้น ๆ ว่า EV71 ที่วงการแพทย์นั้นจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่รุนแรงที่สุด และมีการแพร่ระบาดหนักในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเจ้าสายพันธุ์นี้นี่แหละค่ะ ที่เป็นสาเหตุให้มีเด็กเสียชีวิตเมื่อปีก่อน
การระบาดของเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 นั้นพบได้ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตร้อนและเขตอบอุ่น และพบมากในฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วง มักระบาดในประเทศไต้หวันและประเทศมาเลเซีย เป็นโรคที่พบการแพร่ระบาดได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะอยากยิ่งในช่วงฤดูฝนซึ่งอากาศมักเย็นและชื้น
อ่านวิธีการแพร่ระบาดและอาการของโรคมือเท้าปาก
ใครคือกลุ่มเสี่ยงของ โรคมือเท้าปาก ?
- เด็กทารก
- เด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี
อาการ โรคมือเท้าปาก
ผู้ติดเชื้อโรคมือเท้าปาก ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการป่วย หรืออาจพบอาการเพียงเล็กน้อย
- ไข้ มีอาการไข้สูงอาจเกิน 39 องศาเซลเซียส 2 วันแล้วจะมีไข้ต่ำ ๆ ประมาณ 37.5 – 38.5 องศาเซลเซียส อีก 3-5 วัน
- เจ็บคอเจ็บในปากกลืนน้ำลายไม่ได้ ไม่กินอาหาร
- พบตุ่มแผลในปาก ส่วนใหญ่พบที่เพดานอ่อนลิ้น กระพุ้งแก้ม อาจมี 1 แผล หรือ 2-3 แผล ขนาด 4-8 มิลลิลิตร เป็นสาเหตุให้เด็กไม่ดูดนม ไม่กินอาหารเพราะเจ็บ ผื่นหรือแผลในปากจะเกิดหลังจากไข้ 1-2 วัน
- ปวดศีรษะ
- พบตุ่มพอง สีขาวขุ่นบนฐานรอบสีแดง ขนาด 3-7 มิลลิเมตร บริเวณด้านข้างของนิ้วมือ นิ้วเท้า บางครั้งพบที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ส้นเท้า ส่วนมากมีจำนวน 5-6 ตุ่ม เวลากดจะเจ็บ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยแตกเป็นแผล จะหายไปได้เองในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์
- เบื่ออาหาร หงุดหงิด
- ในเด็กโตจะบ่นปวดศีรษะ ปวดหลัง อาจมีอาเจียน เจ็บคอ น้ำลายไหล จากนั้นจะพบตุ่มพองใส ขนาด 1-2 มิลลิเมตร 2 ข้างของบริเวณเหนือต่อมทอนซิล ซึ่งอาจแตกเป็นแผล หลังจากระยะ 2-3 วันแรก แผลจะใหญ่ขึ้นเป็น 3-4 มิลลิเมตร จะเห็นเป็นสีขาวเหลืองอยู่บนฐานสีแดงโดยรอบ ทำให้มีอาการเจ็บคอหรือกลืนลำบากเวลาดูดนมหรือกินอาหาร เด็กจะมีอาการน้ำลายไหล ส่วนใหญ่จะหายได้เองภายใน 3-6 วัน
เด็กที่ป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก มักจะเป็นมากอยู่ 2 – 3 วันและจะหายได้เองภายในระยะเวลาประมาณ 10 วัน แต่ต้องคอยเฝ้าระวังภาวะขาดน้ำเนื่องมาจากอาการแสดงของโรคมักจะทำให้เกิดแผลในช่องปาก ซึ่งจะทำให้การกลืนอาหารเจ็บและลำบากได้
ที่น่ากลัวก็คือ เด็กที่ป่วยเป็น โรคมือ เท้า ปาก สามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงขึ้นได้ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ อัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งสัญญาณเตือนของภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที มีดังนี้
- ลูกมีอาการซึมลง ไม่เล่น ไม่อยากรับประทานอาหารหรือนม
- บ่นปวดศีรษะมาก ปวดทนไม่ไหว
- มีอาการพูดเพ้อไม่รู้เรื่อง สลับกับการซึมลง
- ปวดต้นคอ คอแข็ง มีการรับรู้สับสน ซึมลง และอาเจียน
- มีอาการไอ หายใจเร็ว ดูเหนื่อย ๆ หน้าซีด มีเสมหะมาก
ที่ไหนถือเป็นจุดเสี่ยงของการเกิดโรคนี้ได้บ้าง คลิก!
ถึงแม้ว่า โรคมือเท้าปาก นั้นจะไม่ใช่โรคใหม่ แต่ก็ถือว่าเป็นโรคที่ร้ายแรง หลาย ๆ ท่านอ่านแล้วอาจจะเกิดข้อสงสัยว่า แล้วทำไม ถึงจะต้องมาเป็นกับเด็กเล็ก ๆ ด้วย เพราะเด็ก ๆ เวลาไม่สบายแล้วแลดูน่าสงสารเป็นที่สุด ซึ่งสาเหตุหลักและสถานที่แพร่ระบาดได้แก่
- การสัมผัสกับข้าวของเครื่องใช้ ไม่ว่าจะเป็นของเล่น เครื่องเล่นต่าง ๆ ภายในห้างสรรพสินค้า สวนสนุกและโรงเรียน
- ภาชนะใส่อาหาร เมื่อลูกไปโรงเรียนเราจะไม่มีทางทราบได้เลยว่า ลูกจะต้องเจอกับอะไรบ้าง และแน่นอนค่ะว่า ความเสี่ยงก็สามารถเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็น แก้วน้ำ จานชาม ช้อนส้อม สิ่งเหล่านี้นี่ละค่ะ คือแหล่งแพร่เชื้อชั้นดีเลย
- ห้องน้ำ ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำที่โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า หรือสวนสนุก ต่างก็เป็นแหล่งเสี่ยงที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
- สถานที่แออัด ที่ไม่ได้จำกัดแค่เฉพาะแต่ในโรงเรียนเท่านั้นนะคะ ยังหมายรวมถึงที่บ้าน ห้างสรรพสินค้า สวนสนุก โรงเรียนเสริมทักษะหรือแม้แต่สระว่ายน้ำสาธารณะ เป็นต้น
- ลูกไม่ค่อยล้างมือหรือล้างมือไม่สะอาด หลังจากที่หยิบสิ่งของต่าง ๆ แล้วก็เผลอเอามือไปหยิบขนมรับประทานต่อ เป็นต้นได้คือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่มีผู้คนจำนวนมาก อันได้แก่ ห้างสรรพสินค้า สวนสนุก สวนสัตว์ โรงเรียนเสริมทักษะ กิจกรรมยามว่างของครอบครัวคงหนีไม่พ้นสถานที่เหล่านี้ ซึ่งเป็นที่ระบาดของเชื้อโรคได้อย่างดีทีเดียว
วิธีการดูแลเด็กที่ป่วยเป็น โรคมือเท้าปาก
- ให้แยกผู้ป่วยออกจากเด็กคนอื่น ๆ ก่อน เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค
- ให้ลูกพักผ่อนใ้เพียงพอ
- ให้ดื่มน้ำเย็น และไม่ควรดื่มน้ำอัดลม เพราะอาจจะส่งผลต่อแผลในช่องปากได้
- รับประทานอาหารอ่อน หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด
- หมั่นกลั้วปากด้วยน้ำเกลือบ่อย ๆ เพื่อลดอาการเจ็บแผลในช่องปาก
- สำหรับเด็กที่มีตุ่มน้ำใสเกิดขึ้นตามฝ่ามือและฝ่าเท้านั้น ห้ามเจาะน้ำออกเด็ดขาด ให้มันแห้งหายไปเอง เพราะถ้าหากเจาะขึ้นมาละก็ น้ำใส ๆ นี้แหละค่ะ ที่อุดมไปด้วยเชื้อโรค และพร้อมที่จะแพร่กระจายสู่คนอื่น ๆ ทันที
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่เคยผ่านประสบการณ์นี้มาแล้วอาจจะคิดว่าโรคดังกล่าวนี้ไม่ค่อยน่ากลัวเท่าไหร่ แต่หารู้ไม่ว่า โรคมือเท้าปากที่ว่านี้ สามารถพรากลมหายใจของลูกไปได้ง่าย ๆ หากตกอยู่ในภาวะแทรกซ้อน ดังนั้น ถ้าจะให้ดีในแต่ละวันนั้น อย่าลืมหมั่นตรวจ มือเท้าปาก ของลูกกันด้วยนะคะ
เครดิต: สาระสุขภาพยาน่ารู้โดยเภสัชกรอุทัย และ Siam Health
อ่านเรื่องราวที่น่าสนใจอื่น ๆ
- โรคมือเท้าปากระบาดเด็ก 2 ขวบเสียชีวิตที่สระแก้ว สั่งปิดศูนย์เด็กเล็กชั่วคราว
- พ่อแม่ระวังโรคยอดฮิต ลูกเสี่ยงติดง่ายที่โรงเรียน
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่