คุณแม่ผู้ใช้เฟสบุ๊คท่านหนึ่งได้เล่าถึงประสบการณ์ เป็นเบาหวานตอนท้อง เพื่อให้แม่ ๆ ท่านอื่นได้สังเกตอาการ พร้อมทั้งแนะสุดยอดวิธีควบคุมน้ำตาลแบบง่าย ๆ และได้ผลดีมาแบ่งปันอีกด้วย
แม่แชร์! เป็นเบาหวานตอนท้อง และวิธีคุมน้ำตาลแบบง่ายและได้ผลดี
เบาหวาน เป็นโรคแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ต่อต้านการทำงานของอินซูลิน ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เกิดเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ถ้าควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ อาจเป็นอันตรายต่อทั้งมารดาและทารกได้ โดยผลกระทบของการ เป็นเบาหวานตอนท้อง มีดังนี้
ผลกระทบต่อทารกในครรภ์
- ทารกมีน้ำหนักตัวมาก ระดับน้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือดที่สูงมากของหญิงตั้งครรภ์อาจขัดขวางการทำงานของตับอ่อน โดยจะกระตุ้นให้ตับอ่อนของทารกผลิตอินซูลินเพิ่มมากขึ้น เป็นสาเหตุให้ทารกมีขนาดตัวใหญ่กว่าปกติ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการคลอด หากเกิดภาวะดังกล่าว แพทย์อาจประเมินให้ทำการผ่าคลอดเพื่อป้องกันการฉีกขาดของช่องคลอด
- คลอดก่อนกำหนด เด็กอาจคลอดในช่วงก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์ และอาจเผชิญภาวะหายใจลำบาก ซึ่งอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจจนกว่าปอดของทารกจะสมบูรณ์เต็มที่ แต่ทารกที่เกิดจากแม่ซึ่งป่วยเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ก็อาจเผชิญภาวะหายใจลำบากได้เช่นเดียวกัน แม้จะไม่ได้คลอดก่อนกำหนดก็ตาม
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ทารกแรกเกิดบางรายอาจเผชิญภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เนื่องจากร่างกายผลิตอินซูลินออกมามากเกินไป และอาจทำให้ทารกมีอาการชักได้ อย่างไรก็ตาม การให้นมบุตรและการฉีดกลูโคสเข้าทางหลอดเลือดดำสามารถปรับระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้
- ตัวเหลือง ระดับน้ำตาลในเลือดที่ต่ำอาจส่งผลให้ทารกเกิดภาวะตัวเหลืองหลังคลอด ซึ่งอาจทำให้เด็กต้องเข้ารับการรักษาต่อในโรงพยาบาล
- เกิดภาวะหัวใจพิการ
ผลกระทบต่อมารดา
- ภาวะน้ำคร่ำมาก ปริมาณน้ำคร่ำในมดลูกที่มากเกินไปอาจก่อให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด และอาจเกิดปัญหาอื่น ๆ ขึ้นในระหว่างคลอดได้
- ครรภ์เป็นพิษ ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งอาจเกิดอันตรายร้ายแรงต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์
- เบาหวานหลังคลอด ผู้ที่เคยเผชิญภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์มีโอกาสเป็นเบาหวานอีกครั้งเมื่อตั้งครรภ์ลูกคนต่อไป และอาจป่วยด้วยโรคเบาหวานประเภทที่ 2 หลังคลอดได้ ซึ่งการดูแลรักษาสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะดังกล่าว
เนื่องจากการ เป็นเบาหวานตอนท้อง เป็นเรื่องที่แม่ท้องทุกคนควรจะให้ความสำคัญ แม่ ๆ จึงจำเป็นต้องฝากครรภ์เพื่อเฝ้าระวังปัญหาดังกล่าว โดยแพทย์จะทำการตรวจคัดกรองเบาหวานตั้งแต่ฝากครรภ์ในครั้งแรก หากพบความเสี่ยงต่อการ เป็นเบาหวานตอนท้อง ก็จะต้องคอยควบคุมภาวะเบาหวานไม่ให้น้ำตาลสูงเกินไป ทีมงาน Amarin Baby & Kids จึงขอนำประสบการณ์จากคุณแม่ Nam Honey ที่ได้แชร์เรื่องราวการ เป็นเบาหวานตอนท้อง พร้อมวิธีควบคุมน้ำตาลที่ได้ผลดีจนไม่ต้องฉีดยาอินซูลีนเลย ดังนี้
วันนี้อยากจะแชร์ประสบการณ์ และบันทึกไว้ว่า เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์
เริ่มจาก รพ.เช็คประวัติเราและเห็นว่ามีประวัติคนในครอบครัวเป็นเบาหวาน และเราอายุเกิน 30 ปี ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงในการเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้
พออายุครรภ์ครบ 3 เดือน รพ.นัดไปตรวจเบาหวานโดยให้กินน้ำตาล 50 กรัม แล้วเช็ค ผลออกมาคือ 180 (ปกติสำหรับคนท้องหลังจากกินน้ำตาลคือ 140) ทุกคนตกใจมากทำไมน้ำตาลสูงมาก ปกติเป็นคนไม่ค่อยกินของหวานด้วย
อีกสองวัน รพ.นัดมาตรวจซ้ำ ให้กินน้ำตาล 100 กรัม แล้วตรวจทุกสองชั่วโมง 3 ครั้ง นิ้วพรุนไปด้วยรอยเข็ม ผลออกมาคือ 220/190/150 (ปกติคือแค่ 140) หมอเลยแนะนำว่า ต้องคุมอาหารจริงจังนะ เพราะค่าที่ได้สูงมาก ๆ และนัดมาตรวจอีกแบบไม่ต้องกินน้ำตาล ให้กินข้าวปกติ แล้วตรวจหลังมื้ออาหาร เช้าและเที่ยง ถ้าครั้งต่อไปน้ำตาลยังสูง จะต้องถูกพิจารณาว่าจะต้องฉีดอินซูลินมั้ย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ แม่แชร์! เป็นเบาหวานตอนท้อง และวิธีคุมน้ำตาลแบบง่ายและได้ผลดี
แม่แชร์! เป็นเบาหวานตอนท้อง และวิธีคุมน้ำตาลแบบง่ายและได้ผลดี
สัปดาห์ถัดไป ตรวจน้ำตาลครั้งที่สาม โดยให้กินข้าวปกติ หมอจะดูว่าเราคุมอาหารได้ดีแค่ไหน ผลออกมา คือ คราวนี้ปกติ น้อยกว่าเกณฑ์ แสดงว่าเราคุมอาหารมาถูกทางแล้ว
เราโชคดีมากที่มีเพื่อนเป็นหมอ นางอธิบายได้เข้าใจมาก นางอธิบายว่า ปกติร่างกายของเราจะมีอินซูลิน เป็นตัวกำจัดน้ำตาลในร่างกาย แต่พอเราท้อง รกจะผลิตฮอร์โมนอย่างนึง ไปทำลายอินซูลิน ฉะนั้นร่างกายเราเลยจัดการน้ำตาลได้ไม่ดีเท่าที่ควร การที่เขาให้กินน้ำตาล ก็เพื่อจะดูว่าร่างกายจัดการกับน้ำตาลได้มากแค่ไหน
ขอบคุณหมอหน่อยด้วยนะ เลิฟมากต่อมาเราไปหาหมอคลินิค อาจารย์หมอนิลภา แล้วให้แกดูค่าน้ำตาลที่ไปตรวจให้ แกเลยให้ไปรพ.มอ. ให้หมอระบบต่อมไร้ท่อ ช่วยแนะนำและควบคุมน้ำตาลให้จะดีกว่า
หมอที่มอ. ให้คุมน้ำตาลและเจาะเลือดเองที่บ้าน หลังตื่นนอนและหลังกินข้าว 2 ชั่วโมงทั้งสามมื้อ รวม 4 ครั้งต่อวัน ทำแบบนี้ 4 วัน ถ้าผลเลือดออกมาโอเค ให้ตรวจแค่มื้อเย็น ตอนนี้ผลออกมาดีมาก ต่ำกว่า 120 ทุกมื้อเลย หลังจากนี้ก็ให้เจาะวันละ 1 มื้อสลับ ๆ เช้าเที่ยงเย็น หมอบอกว่า กินได้อีกนะ จากนั้นก็จัดเต็มเลย 555
เลยอยากจะขอแชร์วิธีคุมน้ำตาล หลักง่าย ๆ ทดลองแล้วเอาไปใช้ได้เลย
- กินข้าวกล้อง ถ้าไปกินข้าวนอกบ้าน กินแต่กับข้าว กินหลายๆอย่างก็อิ่ม น้ำตาลไม่ขึ้นด้วย **ห้ามกินข้าวขาว หรือถ้าจะกิน กินแค่ 1-2 ช้อน *เคยกินข้าวขาวครึ่งจาน น้ำตาลขึ้นสูง 130 (ค่าปกติถ้าคุมเองคือ 120) *กำลังจะลองขนมจีนว่ากินได้แค่ไหน กินเสร็จ เจาะน้ำตาลก็จะรู้
- กินเกาเหลา หรือ วุ้นเส้นเล็กน้อย สั่งแม่ค้าทุกครั้งว่าไม่ใส่น้ำตาล
- ไม่กินขนมทุกชนิด ถ้าจะกินแค่ขอชิมหนึ่งคำ
- ไม่กินน้ำหวาน น้ำอัดลม ถ้ากินแค่ขอชิมหนึ่งคำเล็ก ๆ
- ผลไม้ กินได้แค่ ฝรั่ง แก้วมังกร ชมพู่ แอปเปิ้ล ตระกูลเบอรี่ มะเขือเทศ
- ผลไม้นอกจากนั้น กินได้แต่น้อย เช่นกล้วย กินได้ครึ่งลูก ส้มกินได้ ครึ่งลูก *ถ้ากินทั้งลูก เคยวัดน้ำตาลค่าที่ได้คือ 120 นิด ๆ ส่วนพวกผลไม้ ต้องห้ามแบบทุเรียน ลำไย ลองกอง ไม่กินเลย ไม่กล้าลอง น้ำตาลสูงชัวร์
- ผักใบกินได้ทุกชนิด ได้เยอะๆเลย
- พยายามทำกับข้าวกินเองทุกมื้อ เพราะเราจะไม่ใส่น้ำตาล หรือถ้าจำเป็นให้ใส่หญ้าหวานแทน เป็นแบบน้ำเชื่อมก็มี ของทอดกินได้บ้าง หมอบอกเราต้องลดน้ำตาล ไม่ใช่ลดความอ้วน และน้ำตาลต้องลด น้ำหนักต้องเพิ่มเพราะเราเป็นแม่
- ดูฉลากก่อนซื้อทุกครั้งว่าน้ำตาลเท่าไหร่ ถ้าเกิน 6 กรัม จะไม่ซื้อกินเลย เช่นขนมปังโฮลวีต มีน้ำตาล 2 กรัมซื้อได้ พอเช็คอย่างนี้ประหยัดไปได้เยอะเลย 555 เพราะของในเซเว่นกินได้ไม่กี่อย่างเอง
- นม กินทุกวัน สลับ แอนมัมแบบจืด, ดัชมิลแบบจืด, นมแลคตราซอยแบบไม่หวาน, นมอัลมอลไม่หวาน
- กินเสร็จ 2 ชม. แล้วตรวจน้ำตาล จะได้รู้ว่าที่เรากินเข้าไป น้ำตาลมากหรือน้อย ครั้งหน้าจะได้ลด หรือให้รู้ว่าเรายังกินได้อีกนะ 555
- เจาะเลือดปลายนิ้วเอง เจาะหลายครั้งแล้วก็ยังไม่ชิน แต่ความเร็วในการทำใจเร็วขึ้น ถ้าเจาะให้คนอื่น เซียนเลย เพราะไม่ใช่นิ้วตัวเอง555 (ต้องเจาะข้างๆนิ้ว จะได้ไม่เจ็บตอนหยิบของหรือทำงานต่อ)
หลายคนมองว่าลำบากจัง แต่เราไม่คิดว่ายากเท่าไหร่ เพราะปกติไม่ค่อยกินขนมอยู่แล้ว จะยากก็บางอย่างอยากกินแต่ไม่มีคนช่วยกิน เพราะเราแค่อยากชิม 555
ที่สำคัญคือ วันนึงต้องกินให้ครบห้าหมู่ เนื้อสัตว์ ผักเยอะๆ ผลไม้ที่กินได้ กินกับข้าวกล้อง แค่นี้เอง ยิ่งตอนนี้หมอให้เพิ่มน้ำหนัก ให้เน้นโปรตีน ให้กินของทอด จะได้มีไขมัน คอนเซปคือ น้ำหนักขึ้น แต่น้ำตาลห้ามขึ้น
เป็นกำลังใจให้แม่ๆทุกคน ทุกคนต่างมีเรื่องราวของตัวเองระหว่างตั้งครรภ์ บางคนแพ้ท้องจนต้องนอนรพ. บางคนท้องแข็ง หมอห้ามขยับตัว บางคนครรภ์เป็นพิษ ยังไงก็ต้องเข้มแข็งเพื่อตัวเองและลูกน้อยที่กำลังเกิดมา
โพสนี้ยาวมาก แต่อยากบันทึกไว้
เมื่อตรวจพบว่าแม่ท้องมีความเสี่ยงที่จะ เป็นเบาหวานตอนท้อง แพทย์มักจะรักษาโดยการควบคุมน้ำตาลในเลือดด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการออกกำลังกายของแม่ท้องก่อน ซึ่งหากไม่ได้ผล แพทย์จะใช้ยาในการรักษาเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลแทน พร้อมทั้งดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันอันตรายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากโรคนี้
อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ คลิก
คนท้องต้องรู้! กินน้ำตาล ตรวจเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ทำอย่างไร?
อย่าคิดว่าดีแล้วดื่มไม่ยั้ง น้ำอัดลมไม่มีน้ำตาล ทำแม่ท้องเสี่ยงเบาหวาน น้ำหนักเกิน
เบาหวานก่อนตั้งครรภ์ VS เบาหวานขณะตั้งครรภ์
ขอบคุณข้อมูลจาก : คุณแม่ Nam Honey , พบแพทย์
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่