หมอเผย! โรคติดเกม ถูกลงทะเบียนให้กลายเป็นหนึ่งในอาการผิดปกติทางจิตแบบเป็นทางการแล้ว!
โรคติดเกม โรคยอดฮิตโรคใหม่ที่ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็พาติดกันงอมแงม โรคที่ยังไม่มียารักษา เป็นแล้วน่าเป็นห่วง แถมพบเห็นได้ทั่วไป ล่าสุดถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมื่อองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ระบุขึ้นทะเบียนว่า อาการติดเกม กลายเป็นหนึ่งในอาการผิดปกติทางจิตแบบเป็นทางการแล้ว!!
Dr. Shekhar Saxena ผู้ดูแลฝ่ายสุขภาพจิตและสารเสพติดขององค์การอนามัยโลกได้ออกมาเปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่าอย่างไรนั้น ติดตามอ่านต่อ พร้อมกับวิธีการป้องกันในเบื้องต้นได้ที่หน้าถัดไปเลยค่ะ
กลายเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้วเมื่อ Dr. Shekhar ได้ออกมาเปิดเผยถึง อาการติดเกม ถือเป็นหนึ่งในอาการผิดปกติทางจิต โดยระบุว่า ปัจจุบันนี้ โรคติดเกมนั้นถูกจัดเป็นโรคที่พบมากถึง 3 เปอร์เซ็นต์ในหมู่มวลของนักเล่นเกมทั้งหมดทั่วโลก พร้อมกับได้ให้คำจัดกัดความของโรคเอาไว้ดังนี้
ทำความรู้จักกับ “โรคติดเกม”
โรคติดเกม เป็นพฤติกรรมอย่างหนึ่งที่ผู้ติดจะเล่นเกมเดิมที่เล่นอยู่อย่างต่อเนื่อง ซ้ำไปซ้ำมา จนไม่สนใจสิ่งรอบตัว เรียกได้ว่าโลกทั้งโลกของเขามีแต่เกม ใครจะทำอะไร พูดอะไรก็ไม่รู้ไม่สนใจทั้งสิ้น และอาการนี้ผู้ป่วยจะไม่สามารถควบคุมตัวเองให้ไปกระทำสิ่งต่าง ๆ หรือทำหน้าที่ของตัวเองได้
ซึ่งโรคนี้ได้ถูกส่งขึ้นไปอยู่ในทำเนียบบัญชีจำแนกทางสถิติระหว่างประเทศของโรค และปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้อง หรือเรียกอีกอย่างว่า The International Classification of Diseases (ICD) ซึ่งเป็นรหัสของโรค และอาการที่ถูกจัดขึ้นโดยองค์อาการอนามัยโลกที่ได้รวบรวมอาการต่าง ๆ รวมไปถึงสาเหตุการตายมากถึง 55,000 ชนิด
Dr. Shekhar ได้ออกมาให้สัมภาษณ์พร้อมกับระบุว่า การตัดสินใจครั้งนี้ขององค์การอนามัยโลกนั้นมีขึ้นภายหลังจากที่ได้ตรวจสอบหลักฐานและงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์โดยละเอียดแล้ว ในขณะเดียวกันก็ได้ระบุให้การติดเกมกลายเป็นโรคอย่างเป็นทางการก็เพื่อจะช่วยให้ผู้ป่วยโรคติดเกม นั้นสามารถได้รับการรักษาที่ง่ายขึ้น
จริงอยู่ที่โรคนี้จะสร้างความกังวลใจให้กับผู้ปกครองได้อย่างแน่นอน แต่หากผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างถูกวิธีก็สามารถช่วยทำให้โรคดังกล่าวนี้หายได้! วิธีการป้องกันจะมีอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลยค่ะ
ลูกติดเกม พ่อแม่ช่วยได้!
การปล่อยให้ลูกได้เล่นเกมมากเกินไปนั้น นอกจากจะทำให้ลูกเสียสายตา สมาธิสั้น และเป็นโรคออทิสติกเทียมได้แล้วนั้น ยังทำให้ลูกเป็นเด็กที่ก้าวร้าว และอารมณ์รุนแรงอีกด้วยนะคะ ซึ่งในกรณีนี้หากเราจะมัวพึ่งพาหมออย่างเดียวคงไม่ได้ จึงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่จะช่วยทำให้ลูกห่างไกลจากสิ่งเหล่านี้ด้วยเช่นกัน และนี่คือตัวอย่างที่จะช่วยทำให้ลูกดีขึ้น
- หากิจกรรมอย่างอื่นทำ – หากคุณพ่อคุณแม่ทราบดีอยู่แล้วว่า หากลูกอยู่บ้านลูกก็จะไม่ทำอะไร นอกเสียไปจากการเล่นเกม ดังนั้น วิธีการที่ดีก็คือ การพาลูกไปทำกิจกรรมนอกสถานที่เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการพาลูกไปปั่นจักรยานตามสวนสาธารณะ การพาลูกไปว่ายน้ำ หรือพาลูกไปเที่ยวและสัมผัสกับธรรมชาติมากขึ้น
- ให้เวลากับลูก – การที่จะช่วยให้ลูกดีขึ้นได้อีกวิธีหนึ่งก็คือ การที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องให้เวลากับลูกมากขึ้นกว่าเดิม จริงอยู่ที่คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจจะต้องทำงานหาเงินมาเลี้ยงลูก แต่อย่าลืมนะคะว่า ช่วงเวลานี้ลูกต้องการเรามากที่สุด หากเรามัวแต่หยิบยื่นสิ่งเหล่านี้ให้กับพวกเขา ก็จะยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ของคุณพ่อคุณแม่นั้นห่างเหินตามไปด้วยเช่นกัน
- จำกัดระยะเวลาในการเล่น – ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถหักดิบให้ลูกเลิกเล่นทีเดียวได้เลย ดังนั้น ทางออกที่ดีคือการจำกัดเวลาในการเล่นของลูกให้น้อยลง
- อธิบายให้ลูกได้เข้าใจ – เด็ก ๆ ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าทำไมคุณพ่อคุณแม่จะต้องให้เลิกเล่นด้วย แถมเกมนั้นยังประหยัดกว่าการเอาเงินไปซื้อของเล่นเสียด้วยซ้ำ เพื่อให้ลูกได้เข้าใจความจริง คุณพ่อคุณแม่จึงควรอธิบายถึงโทษของการเล่นเกมให้ลูกได้เข้าใจด้วยเช่นกัน ที่ไม่อยากให้ลุกเล่นนั้นเป็นเพราะอะไร ไม่ใช่ว่าไม่อยากให้เล่น แต่เป็นเพราะห่วงกลัวสุขภาพและสายตาของลูกจะเสียมากกว่า เป็นต้น
- เป็นตัวอย่างที่ดี – หากคุณพ่อคุณแม่ห้ามไม่ให้ลูกเล่น แต่กลับเล่นให้ลูกเห็นเสียเอง อันนี้ก็อาจจะเป็นการทำลายความเชื่อถือของลูกไปโดยปริยายได้เลย ดังนั้น หากอยากให้ลูกหายและดีขึ้นจริงละก็ อย่าพยายามทำให้ลูกเห็นและพยายามเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็น คิดไว้เสมอเลยว่า ลูกแอบมองดูเราอยู่ เป็นต้น
หากคุณพ่อคุณแม่ทำสิ่งเหล่านี้ได้ อาการติดเกมนี้ก็จะค่อย ๆ ทุเลาลงได้เอง แต่อาจจะต้องใช้เวลานิดนึงนะคะ ของแบบนี้ห้ามใจร้อน เพราะการใจร้อนอาจจะเป็นแรงกดดันทำให้เกิดความเครียดให้กับคุณพ่อคุณแม่และลูกได้ นั่นเองค่ะ
อ้างอิงข้อมูล: WHO
เรียบเรียงโดยฝ่ายบรรณาธิการ Amarin Baby and Kids
อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่