AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

โรค G6PD คือ อะไร อันตรายกับลูกแค่ไหน พ่อแม่ควรรู้!

โรค G6PD คือ อะไร อันตรายกับลูกแค่ไหน พ่อแม่ควรรู้

G6PD คือ โรคพร่องเอนไซม์ ถือเป็นหนึ่งใน โรคผิดปกติทางพันธุกรรม ที่อาจเกิดขึ้นได้กับลูกน้อย จะอันตรายแค่ไหน และสามารถรักษาหายขาดได้หรือไม่ ทีมแม่ ABK มีคำตอบมาให้ค่ะ

G6PD คือ โรคอะไร

G6PD หรือ ภาวะขาดเอนไซม์ G6PD คือ ความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดจากแม่ไปสู่ลูก ทำให้ร่างกายขาดเอนไซม์ที่ช่วยให้เซลล์เม็ดเลือดแดงทำงานได้เป็นปกติ จึงอาจส่งผลให้เซลล์เม็ดเลือดแดงสลายตัวจนเกิดภาวะโลหิตจางตามมาได้ ซึ่งก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่พบบ่อยในทารกแรกเกิดที่มีอาการผิดปกติหลังคลอดที่มีภาวะเม็ดเลือดแดงขาดเอ็มไซม์จีซิกพีดี จะเกิด “ภาวะตัวเหลือง” มีอาการตาเหลือง ตัวเหลืองตั้งแต่แรกเกิด

โดยโรค G6PD นี้มีโอกาสที่ลูกชายจะเป็นโรคร้อยละ 50 ส่วนลูกสาวจะเป็นพาหะร้อยละ 50 ดังนั้นโรคนี้จึงพบในเด็กผู้ชายได้มากกว่าผู้หญิง เช่นเดียวกับที่คุณแม่ป้ายแดง “ใหม่ สุคนธวา เกิดนิมิตร” ที่เพิ่งคลอดลูกชาย “น้องชิณะ สิริ์ปุณณ์” เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยน้องมีภาวะตัวเหลืองต้องเข้าตู้อบ สาเหตุมาจากเลือดของลูกกับแม่คนละกรุ๊ป และ น้ำนมแม่ยังไม่มา ลูกขาดสารอาหาร

ขอบคุณภาพจาก IG @maisukhon

และล่าสุดผ่านมาวันที่ 5 หลังคลอด คุณแม่ใหม่ก็ได้อัปเดตสุขภาพของลูกชาย โดยทีมแพทย์แจ้งข่าวพบว่า ลูกชายตรวจเจอว่าเป็น โรคพร่องเอนไซม์G6PD ซึ่งจะทำให้มีตัวเหลือง และจะเป็นโรคประจำตัวตลอดชีวิตไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ คาดเป็นกรรมพันธุ์ถ่ายทอดมาจากฝั่งบ้านตน แต่ไม่กังวลเพราะได้เช็กข้อมูลก็พบว่ามีเด็กจำนวน 7 ใน 10 ราย สามารถเป็นได้เพียงแต่ต้องระวังการกินของลูกนั่นคือประเภทถั่วและเบอร์รี่

โดยตัวคุณใหม่เองก็ยอมรับว่า ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการกินของตัวเองด้วยเหตุผลกลัวตกค้างในน้ำนมไปหาลูก และมองบวกว่าโชคดีที่ตนทำบุญบ่อยเลยไม่วิตกกังวล ถือลูกชายเป็นของขวัญที่เบื้องบนส่งมาให้วันเกิดวัย 39 ปี

จะรู้ได้อย่างไรว่า ลูกเป็นภาวะพร่องเอนไซน์ G6PD?

ในทารกแรกเกิดที่มีภาวะเม็ดเลือดแดงขาดเอ็มไซม์จีซิกพีดี จะเกิด “ภาวะตัวเหลือง” มีอาการตาเหลือง ตัวเหลืองตั้งแต่แรกเกิด เนื่องจากมีบิลิรูบินในเลือดสูงกว่าปกติ และโลหิตจางเนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตกเฉียบพลัน มีสีอุจจาระซีดลง หรือปัสสาวะสีเหลืองเข้มมากหรือเป็นสีน้ำปลา มีไข้ ซึม ไม่ดูดนม ท้องอืด เกร็ง หรือชัก

ทารกที่มีภาวะซีดเหลืองจากโรคจีซิกพีดีในระดับเบา แพทย์จะรักษาด้วยการส่องไฟ เพื่อช่วยลดปริมาณสารสีเหลืองในเลือด และขับสารเหลืองออกจาากร่างกายทางปัสสาวะ และอุจจาระ แต่หากทารกมีอาการซีดเหลืองจากโรคจีซิกพีดี ในระดับรุนแรง แพทย์จะรักษาด้วยการเปลี่ยนถ่ายเลือด เพื่อลดระดับบิลิรูบินในเลือดลงอย่างรวดเร็ว ป้องกันไม่ให้เกิดความผิดปกติทางสมองของทารก

ปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภาวะพร่องเอนไซม์G6PD

  1. โรคติดเชื้อ ที่เกิดจากแบคทีเรีย ไวรัส หรือรา เช่น โรคไวรัสตับอักเสบเอ โรคไวรัสตับอักเสบบี โรคปอดอักเสบ โรคไข้ไทฟอยด์ เป็นต้น นอกจากนี้การติดเชื้อบางอย่าง เช่น ไข้หวัด หรือหลอดลมอักเสบ ก็อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตกได้
  2. การรับประทานอาหารบางชนิด เช่น ถั่วบางชนิด โดยเฉพาะถั่วปากอ้า บลูเบอร์รี่ รวมทั้งสารอาหารหรือสารปรุงแต่งอื่น ๆ ที่เติมลงไปในอาหาร เช่น ในขนมขบเคี้ยว อาหารหรือน้ำผลไม้บรรจุกระป๋อง ไส้กรอก เป็นต้น
  3. ยาบางชนิดที่กระตุ้นให้เกิดภาวะเครียดจากออกซิเดชัน
  4. สารเคมีบางชนิด เช่น เมนทอลที่พบได้ในขนมประเภทลูกอมและในยาสีฟัน การบูร ลูกเหม็น เป็นต้น

เมื่อลูกเป็นโรค G6PD ควรดูแลอย่างไร

G6PD คือ “โรคแพ้ถั่วปากอ้า” ในอีกชื่อหนึ่งแม้การป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ในเด็กทำได้ค่อนข้างยาก แต่ก็สามารถดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีและหลีกเลี่ยงปัจจัยเพื่อไม่ให้เกิดอาการของโรคแทนได้

อย่างไรก็ตาม อาการของภาวะโรคจีซิกพีดีจะมีความรุนแรงไม่เท่ากันในแต่ละคน และส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการผิดปกติเลยหากไม่ได้รับหรือสามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการได้ หรือได้รับสารกระตุ้นในปริมาณมาก ๆ จึงจะแสดงอาการป่วย และเนื่องจากโรคทางพันธุกรรมไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นหากลูกมีสภาวะเสี่ยงหรือผู้ป่วยที่เป็นโรคพร่องเอนไซม์G6PD คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลเป็นพิเศษและให้ความสำคัญในเรื่องอาหารและยาที่มีผลทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตกเฉียบพลันได้ คอยสังเกตอาการหากบังเอิญได้รับสารกระตุ้น เมื่อมีอาการรุนแรงหรือผิดปกติควรรีบพามาพบแพทย์เพื่อรักษาอาการโดยทันทีนะคะ


ขอบคุณข้อมูลจาก : nineentertain.mcot.netwww.bccgroup-thailand.com ,  www.pobpad.com

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิกที่ภาพด้านล่าง ⇓

ภาวะน้ำเป็นพิษ ในทารก เหตุผลว่าทำไมลูกต่ำกว่า 6 เดือน ไม่ควรกินน้ำ

ลักษณะทารกคลอดก่อนกำหนด การดูแลและวิธีส่งเสริมพัฒนาการลูก

เชื้อ CMV คืออะไร ไวรัสที่คนท้องติดเชื้อได้ มีผลต่อทารกแรกเกิด

ทารกคลอดก่อนกำหนดน้ำหนักตัวน้อย พัฒนาการลูกจะเป็นอย่างไร อันตรายไหม