คุณพ่อคุณแม่ คุณลูกบ้านไหนชอบ เป็นตะคริว ห้ามพลาดเด็ดขาดกับวิธีป้องกันด้วยผักและผลไม้สุดอร่อย
เคยไหมคะที่เวลาออกกำลังกาย ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ หรือแม้แต่ขณะนอนอยู่ตอนกลางคืนแล้วชอบ เป็นตะคริว … จึงไม่แปลกที่เรามักจะได้ยินข่าวคราวการเสียชีวิตจากการจมน้ำ ซึ่งจากผลการสำรวจพบว่า สาเหตุของการเสียชีวิตนั้นเกิดจากการ เป็นตะคริว ใต้น้ำ!
ด้าน นายแพทย์ เกียรติภูมิ วงศร์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ในช่วงฤดูร้อนมักได้ยินข่าวคราวการเสียชีวิตจากการลงเล่นน้ำในแม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึงกันอยู่บ่อย ๆ ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2561 ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 22 มีนาคม 2561 ช่วงระยะเวลาแค่เดือนกว่า ๆ พบเด็กจมน้ำเสียชีวิตแล้ว 26 ราย สาเหตุของการจมน้ำ ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการเป็นตะคริวใต้น้ำ … “ตะคริว” คืออะไร ทำไมเป็นแล้วถึงขั้นเสียชีวิต วันนี้เราจะไปทำความรู้จักกับอาการนี้พร้อม ๆ กันค่ะ
ทำความรู้จักกับ “ตะคริว”
ตะคริว หรือมีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า Muscle Cramps หมายถึง อาการเกร็งตัวหรือหดเกร็งที่ทำให้มีอาการปวดและเป็นก้อนแข็งของกล้ามเนื้อ ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันโดยที่เราไม่สามารถบังคับได้ ร่วมกับมีอาการปวดหรือเจ็บกล้ามเนื้อมัดที่เกิดการหดเกร็ง แต่จะเป็นอยู่เพียงชั่วขณะแล้วอาการจะทุเลาลงไปเอง ตะคริวนั้นสามารถเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อส่วนใดของร่างกายก็ได้ อาจเกิดกับกล้ามเนื้อเพียงมัดเดียวหรือหลาย ๆ มัดพร้อมกันก็ได้ โดยมักเกิดขึ้นในขณะออกกำลังกาย ขณะเดิน หรือในขณะนั่งพักหรือนอนพักเป็นเวลานาน ๆ เป็นต้น
ตะคริวเกิดได้กับกล้ามเนื้อลายทุกมัด ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อส่วนใหญ่ของร่างกายที่เราพบได้โดยทั่วไปใต้ผิวหนัง แต่กล้ามเนื้อที่เกิดตะคริวได้บ่อยที่สุดก็คือ “กล้ามเนื้อน่อง” รองลงมาคือ กล้ามเนื้อต้นขาทั้งด้านหน้าและด้านหลัง กล้ามเนื้อเท้า และกล้ามเนื้อหลัง โดยโอกาสในการเกิดที่ขานั้นมีเท่ากันทั้งข้างซ้ายและข้างขวา
เป็นภาวะที่พบได้บ่อยมาก สามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ และโอกาสเกิดในผู้หญิงและผู้ชายก็ใกล้เคียงกัน แต่สถิติการเกิดที่ชัดเจนยังไม่มี เพราะเป็นอาการที่หายได้เองโดยไม่ต้องไปพบแพทย์ อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าประมาณ 1 ใน 3 ของคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปมักเคยเกิดอาการนี้ และประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ของคนกลุ่มนี้ อาจเกิดอาการซ้ำได้ตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปต่อสัปดาห์เลยละค่ะ
การ เป็นตะคริว นั้นเกิดได้จากสาเหตุดังนี้
- เอ็นและกล้ามเนื้อไม่ได้มีการยืดตัวบ่อย ๆ จึงทำให้มีการหดรั้งหรือเกร็งได้ง่ายเมื่อมีการใช้กล้ามเนื้อส่วนนั้นมากจนเกินไป
- การดื่มน้ำน้อย ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อขาดน้ำ ซึ่งมักเป็นสาเหตุในผู้สูงอายุ
- การดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์มีผลเพิ่มการขับน้ำทางปัสสาวะ ร่างกายจึงมักขาดน้ำรวมทั้งกล้ามเนื้อ
- เกิดจากอายุที่มากขึ้น ทำให้เซลล์ทุกชนิดในร่างกายเสื่อมถอยลง ซึ่งรวมถึงเซลล์เนื้อ มักพบอาการนี้มากในผู้สูงอายุ
- สุขภาพร่างกายไม่สมบูรณ์ จึงส่งผลให้มวลกล้ามเนื้อลดลง รวมทั้งการขาดการออกกำลังยืดกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อตึงจนเกิดเป็นตะคริว
- ภาวะการตั้งครรภ์ เนื่องจากระดับแคลเซียมในเลือดต่ำหรือการไหลเวียนของเลือดไปที่ขาไม่สะดวก
- ภาวะเกลือแร่ในเลือดต่ำ หรือร่างกายเสียสมดุลของเกลือแร่ที่ใช้ในการทำงานของกล้ามเนื้อที่สำคัญ เช่น โซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม จากอาการท้องเดิน อาเจียน เสียเหงื่อมากจากการทำงาน การเล่นกีฬา อากาศที่ร้อน หรือจากโรคเรื้อรังของอวัยวะที่ควบคุมเกี่ยวกับน้ำและเกลือแร่ของร่างกาย เช่น โรคไตเรื้อรัง
- การได้รับบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อ อาจเกิดจากการกระทบกระแทก ทำให้เกิดการฟกช้ำที่กล้ามเนื้อ
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ, ยาลดไขมัน, ไนเฟดิพีน, มอร์ฟีน, สเตียรอยด์ เป็นต้น
- ภาวะหลอดเลือดแดงส่วนปลายแข็ง หรือหลอดเลือดตีบตัน จึงส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดไม่ดี กล้ามเนื้อจึงขาดเลือด โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ผู้สูบบุหรี่จัด อาจเป็นตะคริวที่ขาได้บ่อยในขณะที่ออกกำลัง เดินเป็นเวลานาน ๆ หรือเดินเป็นระยะทางไกล ๆ หรือเป็นในขณะที่อากาศเย็นตอนดึกหรือเช้ามืดเนื่องจากการไหลเวียนของเลือดไปที่ขาไม่ดี
- รากประสาทถูกกด เช่น โรคโพรงกระดูกสันหลังแคบ อันส่งผลให้ประสาทสั่งงานกล้ามเนื้อผิดปกติ ทำให้ผู้ป่วยมักมีอาการตะคริวที่น่องในขณะเดินเป็นเวลานาน ๆ หรือเดินเป็นระยะทางไกล ๆ
- ตะคริวที่พบร่วมกับโรคเรื้อรังหรือภาวะอื่น ๆ เช่น โรคพาร์กินสัน, โรคโลหิตจาง, โรคเบาหวาน (ทำให้เกิดความผิดปกติในการใช้พลังงานของร่างกาย), ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ, โรคของต่อมไทรอยด์ ภาวะขาดไทรอยด์ ภาวะขาดพาราไทรอยด์ อันเกิดความผิดปกติทางฮอร์โมน และรวมไปถึงการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดซึ่งเป็นยาฮอร์โมน, โรคตับและโรคไต ตับแข็ง ไตวาย เป็นต้น
ใครบ้างที่มีโอกาส เป็นตะคริว ?
- ผู้ที่ยืน เดิน นั่ง หรือนอนเป็นเวลานาน ๆ เพราะจะส่งผลทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่ดีพอ
- กลุ่มผู้สูงอายุ
- นักกีฬา ผู้ที่ชอบเล่นกีฬา หรือผู้ที่ทำงานในอาชีพที่ต้องใช้แรงงานและอยู่กลางแดด
- หญิงตั้งครรภ์ เพราะน้ำหนักของท้องจะไปกดทับหลอดเลือดขนาดใหญ่ในช่องท้อง จึงส่งผลทำให้การไหลเวียนของเลือดไปยังกล้ามเนื้อต่าง ๆ ไม่ดีพอ อีกทั้งกล้ามเนื้อขายังต้องแบกรับน้ำหนักของท้องที่มากขึ้น นอกจากนี้ยังอาจเกิดได้จากฮอร์โมนที่เพิ่มสูงขึ้นในขณะตั้งครรภ์ จึงส่งผลถึงการทำงานของกล้ามเนื้อ
- เด็กอายุมากกว่า 12 ปี (ช่วงสูงสุดที่เกิดคือ 16-18 ปี)
- ผู้ที่ชอบห่มผ้าห่มจนรัดช่วงขามากเกินไป โดยเฉพาะการปูเตียงนอนแบบตะวันตก จึงทำให้การไหลเวียนของเลือดบริเวณขาจึงลดลงและมักเป็นสาเหตุทำให้เป็นตะคริวในช่วงกลางคืน
- ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- การรับประทานยาบางชนิดตามที่กล่าวมา
- ผู้ที่มีโรคเรื้อรังหรือภาวะต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา และไม่ได้รับการควบคุมและรักษาให้เป็นปกติ
สำหรับอาการนั้น ผู้ที่เป็นจะรู้สึกว่ากล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น น่อง ต้นขา ฯลฯ มีการแข็งเกร็งและปวดมาก เมื่อเอามือไปคลำดูจะรู้สึกแข็งเป็นก้อน ๆ ถ้าพยายามขยับเขยื้อนกล้ามเนื้อส่วนนั้นจะทำให้ยิ่งแข็งตัวและปวดมากขึ้น (การนวดและยืดกล้ามเนื้อส่วนที่มีอาการจะช่วยทำให้ตะคริวหายเร็วขึ้น) ส่วนใหญ่แล้วอาการมักเกิดขึ้นในขณะออกกำลังกาย ขณะเดิน นั่งพัก นอนพัก หรือทำงานอยู่ในท่าเดิมติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ แต่ถ้าเป็นตะคริวในขณะนอนหลับ ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดจนสะดุ้งตื่นเอง
โดยทั่วไปแล้วอาการ เป็นตะคริว จะเป็นอยู่เพียงชั่วขณะเพียงไม่กี่วินาที โดยทั่วไปมักเกิดไม่เกิน 2 นาที แต่อาจมีบางรายเกิดนานได้ถึง 5-15 นาที แล้วอาการแข็งเกร็งจะหายไปได้เอง ซึ่งภายหลังกล้ามเนื้อคลายตัวแล้ว อาจยังมีอาการปวดหรือเจ็บกล้ามเนื้อมัดนั้นอยู่นานเป็นนาที เป็นชั่วโมงหรือเป็นวันก็ได้ค่ะ
ในบางรายอาจมีอาการตะคริวที่ขาในขณะนอนหลับตอนกลางคืนจนสะดุ้งตื่น หรือที่เรียกว่า “ตะคริวตอนกลางคืน” ซึ่งมักเกิดกับกล้ามเนื้อขา และพบได้บ่อยในคนวัยกลางคนและวัยสูงอายุ หรือในบางรายอาจเป็นตะคริวในขณะออกกำลังหรือทำงานในที่ที่มีอากาศร้อน ที่เรียกว่า “ตะคริวจากความร้อน” นั่นเอง
6 ผักผลไม้ ป้องกันการ เป็นตะคริว
นายแพทย์ เกียรติภูมิ วงศร์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ การเตรียมความพร้อมของร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ถือว่าเป็นความไม่ประมาท ซึ่งทำได้หลายวิธี ในที่นี้จะแนะนำให้เห็นประโยชน์ของการบริโภคผัก ผลไม้ กลุ่มที่มีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกาย เพิ่มเกลือแร่ให้ร่างกาย จะช่วยป้องกันอาการตะคริวได้อีกทางหนึ่ง ได้แก่
กลุ่มสมุนไพรที่มีสารโพแทสเซียม แมกนีเซียมและแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม กล้วยไข่ มะเขือเทศ ส้ม แคนตาลูป รวมถึงผักต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย มีส่วนช่วยเสริมเกลือแร่ให้เพียงพอ ลดความเสี่ยงต่อการจมน้ำเสียชีวิตในหน้าร้อนได้
และเมื่อเกิดอาการตะคริวการช่วยเหลือในเบื้องต้น คือ การยืดเหยียดบริเวณที่ปวดเป็นก้อน ที่เกิดจากกล้ามเนื้อ หดเกร็ง โดยใช้น้ำมันไพลหรือสมุนไพรฤทธิ์ร้อน ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์กลุ่มน้ำมันไพลแบบที่ใช้ง่าย สะดวก รูปแบบสเปรย์ฉีดพ่น นวดเบา ๆ จะช่วยคลายกล้ามเนื้อได้ดี
สำหรับการรับประทานผลไม้ดังกล่าวให้ได้ผลดีนั้น ควรเลือกรับประทานกล้วยน้ำว้าห่าม ที่มีรสฝาด ออกหวาน จะช่วยบำรุงร่างกาย เนื่องจากกล้วยห่าม มีแคลเซียม แมกนีเซียม และโพแทสเซียมสูง สรรพคุณช่วยชดเชยโพแทสเซียมแก่ร่างกาย มีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของระบบประสาทและการหดตัวของกล้ามเนื้อ กล้วยเป็นผลไม้ที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงซึ่งจะถูกย่อยและดูดซึมได้อย่างรวดเร็ว ช่วยเพิ่มกากใยที่ช่วยในการขับถ่าย รวมทั้งเคลือบแผลในกระเพาะอาหารได้ จึงควรรับประทานกล้วย วันละ 2-4 ผล เพื่อป้องกันภาวะขาดเกลือแร่จนเป็นสาเหตุของตะคริว แต่อย่างไรก็ตามไม่แนะนำในกลุ่มป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งอาจต้องควบคุมปริมาณการรับประทานตามแพทย์สั่ง
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ มาถึงตอนนี้คงจะเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของตะคริวกันแล้วนะคะ และเพื่อเป็นการป้องกันการ เป็นตะคริว อย่าลืมรับประทานผักผลไม้ที่คุณหมอแนะนำกันด้วยนะคะ
ขอบคุณที่มา: กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, Medthai และ Springnews
อ่านต่อบทความอื่นที่น่าสนใจ:
- น้ำใบบัวบก สมุนไพรไทยป้องกัน โรคอัลไซเมอร์
- สุดยอด อาหารสมุนไพร กระตุ้นน้ำนมแม่ เพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพช่วยลูกสมองดี
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่