เข้าใจให้ถูก “ปัสสาวะบ่อย” ไม่ได้แปลว่าสุขภาพดีเพราะดื่มน้ำเยอะเสมอไป นั่นอาจบ่งบอกถึงความผิดปกติของร่างกายด้วย!
คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่านอาจจะกำลังคิดว่า การเข้าห้องน้ำและ ปัสสาวะบ่อย นั้นเป็นสิ่งที่ดี เพราะนั่นหมายถึงร่างกายกำลังขับสารพิษออกมา … แต่ทราบหรือไม่คะว่า ในทางกลับกันก็อาจเป็นสัญญาณจากร่างกายเพื่อต้องการบอกให้เราทราบว่า ร่างกายของเรากำลังมีปัญหาบางอย่างอยู่!!
ปัสสาวะบ่อย แบบไหนถึงเรียกว่าผิดปกติ?
ปัสสาวะบ่อยคือ ภาวะของการปัสสาวะที่บ่อยกว่าปกติ อาการนี้อาจเกิดขึ้นได้บ่อย และมักเกิดกะทันหัน จนบางครั้งมีปัญหาในการกลั้นปัสสาวะ และอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันทั้งในเวลากลางวัน และกลางคืน
อาการปัสสาวะบ่อยสังเกตได้ง่ายนิดเดียวค่ะด้วยการนับจากจำนวนครั้งที่ปัสสาวะในแต่ละวัน ซึ่งโดยปกติแล้วภายใน 24 ชั่วโมง คนเราจะปัสสาวะอย่างน้อย 6-8 ครั้ง แต่ถ้าหากมากกว่านี้ อาจต้องกลับไปดูที่สาเหตุว่าเกิดจากอะไร หากเกิดจากการดื่มน้ำมาก หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีนมากเกินไปก็ทำให้ฉี่บ่อยได้เช่นกัน แต่ถ้าไม่ได้เกิดจากการดื่มน้ำ อาจเป็นความผิดปกติที่ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียดอีกครั้งนึง และนี่คือตัวอย่างของอาการที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้ามค่ะ
- ปัสสาวะบ่อยโดยที่ไม่ได้ดื่มน้ำ หรือไม่ได้ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์
- บ่อยเสียจนกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนอนหลับ
- ปัสสาวะเป็นเลือด
- ปัสสาวะมีสีแดง หรือสีน้ำตาลเข้ม
- เจ็บขณะปัสสาวะ
- เจ็บบริเวณด้านข้างและด้านล่างของท้อง หรือบริเวณขาหนีบ
- ปวดปัสสาวะขั้นรุนแรง
- กลั้นปัสสาวะไม่ค่อยอยู่
- มีไข้
นอกเหนือจากนี้ คนปกติทั่วไป เวลาที่ปวดปัสสาวะก็จะมีน้ำอยู่ในกระเพาะปัสสาวะในปริมาณครึ่งหนึ่งของกระเพาะปัสสาวะเท่านั้น และยังมีความสามารถที่จะกลั้นปัสสาวะเอาไว้ได้ ผิดกับคนที่มีความผิดปกติ จะมีภาวะกระเพาะปัสสาวะที่บีบตัวไวเกินไป รู้สึกปวดปัสสาวะทุก ๆ ชั่วโมง หากเป็นกลางคืนก็ต้องลุกมาเข้าห้องน้ำตลอดทั้งคืนด้วย เรียกได้ว่า อั้นปัสสาวะไม่ค่อยอยู่ ปวดแล้วต้องรีบเข้า มิเช่นนั้นอาจปล่อยให้ราดออกมาได้
ปัสสาวะบ่อย บ่งบอกปัญหาสุขภาพด้านใดได้บ้าง?
การปัสสาวะบ่อย นั้นมีหลายสาเหตุค่ะ บางสาเหตุไม่เป็นอันตราย แต่บางสาเหตุอาจเป็นอันตรายค่ะ ว่าแล้วเรามาดูกันดีกว่านะคะว่า จะมีสาเหตุอะไรกันได้บ้าง
- จากการใช้ยา และสารบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ การใช้ดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีนในปริมาณมาก ๆ รวมทั้งภาวะแคลเซียมสูงในร่างกายสูงผิดปกติ เนื่องจากการรับประทานแคลเซียมมากเกินไป
- ปัญหาเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ ได้แก่ เนื้องอกที่อุ้งเชิงกราน การรักษาด้วยรังสีบำบัดที่บริเวณเชิงกราน ช่องคลอดอักเสบ หรือปัญหาเกี่ยวกับต่อมลูกหมากในเพศชาย
- ระบบทางเดินปัสสาวะ อาทิ การติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบเรื้อรัง มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะบีบตัวมากเกินปกติ และโรคไต
- โรคอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคเบาจืด โรคหลอดเลือดสมอง ตับวาย หรือกลุ่มอาการคุชชิง เกิดจากฮอร์โมนผิดปกติส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ใบหน้าบวมกลมคล้ายพระจันทร์ มีหนอกขึ้นบริเวณหลังคอ มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผิวหนังบางลงจนเห็นเส้นเลือดฝอย และอาจพบเส้นเลือดฝอยแตกที่หน้าท้อง ภาวะกระดูกผุ และติดเชื้อง่าย ในผู้หญิงอาจมีภาวะประจำเดือนขาดได้อีกด้วย
- การตั้งครรภ์
- ปัญหาสุขภาพจิต ได้แก่ ภาวะกระหายน้ำผิดปกติเนื่องจากอาการทางจิต
ป้องกันได้อย่างไร?
อาการเบื้องต้นนั้นพบว่า อาการปัสสาวะบ่อยนั้นสามารถควบคุมได้ด้วยการควบคุมปริมาณการดื่มน้ำค่ะ และพยายามหลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่เป็นตัวกระตุ้น นอกจากนี้ควรป้องกันด้วยการรับประทานผักผลไม้เป็นประจำทุกวันเพื่อป้องกันไม่ท้องผูก เนื่องจากอาการท้องผูกส่งผลให้เกิดแรงดันที่กระเพาะปัสสาวะมากขึ้นและทำให้ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น หากลดอาการท้องผูกได้ ก็จะทำให้ปัสสาวะได้ตามปกติมากขึ้นนั่นเองค่ะ
พอทราบอย่างนี้แล้ว คุณแม่ ๆ อย่าลืมสำรวจตัวเอง สามี และลูกน้อยกันด้วยนะคะ
ขอบคุณที่มา: พบแพทย์ และ Rama Channel
อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่