AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

อุทาหรณ์! อาหารติดหลอดลม เด็ก 2 ขวบดับจากเม็ดมะขามติดคอ

อาหารติดหลอดลม

เด็กเล็กอยู่ในวัยที่ยังเคี้ยวและกลืนอาหารได้ไม่ชำนาญเท่าผู้ใหญ่ การป้อนอาหารที่มีขนาดใหญ่ หรือมีเมล็ด ก็อาจทำให้ อาหารติดหลอดลม ได้

อุทาหรณ์! อาหารติดหลอดลม เด็ก 2 ขวบดับจากเม็ดมะขามติดคอ

ทีมงาน Amarin Baby & Kids ขอนำข่าวการเสียชีวิตของเด็กวัย 2 ขวบ ที่มีสาเหตุมาจากเด็กได้ทานมะขามแล้วเผลอกลืนเม็ดมะขามเม็ดเล็ก ๆ ลงไปในคอ พ่อแม่ของเด็กจึงได้พาลูกส่งโรงพยาบาลในทันที แต่หลังจากนั้นไม่ถึง 1 วัน ลูกก็อาการทรุดลงและจากไปอย่างไม่มีวันกลับ โดยมีเนื้อหาข่าวดังนี้

นายประสิทธิ์ ดวงมาลัย อายุ 45 ปี อาชีพกรรมกรก่อสร้าง พร้อมครอบครัวยื่นเรื่องต่อ ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม เพื่อให้เป็นตัวแทนเอาผิดโรงพยาบาลย่านนนทบุรี

หลังเกิดเหตุ เด็กหญิงปริยา ดวงมาลัย บุตรสาววัย 2 ขวบ เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ จากเม็ดมะขามอุดตันหลอดลมภายหลังเข้ารับการรักษาตั้งแต่คืนวันที่ 11 มี.ค. 62 เวลา 19.30 น. ซึ่งลูกยังเดินและซนได้ปกติ แต่ต่อมามีอาการโคม่าและเสียชีวิต ทำให้ญาติข้องใจ ทำไมโรงพยาบาลไม่ผ่าตัดเอาเม็ดมะขามออกให้เร็วกว่านี้ ทั้งที่ถึงมือหมอเกือบหนึ่งวันก่อนอาการทรุดหนักจนเสียชีวิต

โดยในเวลาต่อมา แพทย์จากโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ก็ได้ออกมาชี้แจงถึงกรณีนี้ว่า

แพทย์แจง รักษาคนไข้กรณีเม็ดมะขามติดคอ ได้อย่างถูกต้องตามขั้นตอนแล้ว

แพทย์โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ยืนยันรักษาเด็ก 2 ขวบ เม็ดมะขามติดคอตามขั้นตอน และไม่ได้ปล่อยให้กลับไป พบเม็ดมะขามติดบริเวณหลอดลมใหญ่ เอาออกมาไม่ได้ ยอมรับเป็นเคสที่ยากที่สุด เนื่องจากเม็ดมะขามที่ติดอยู่ในตำแหน่งหลอดลมใหญ่ แพทย์ยังอธิบายต่ออีกว่าในวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ผู้ปกครองของเด็กได้เข้ามารับการรักษาด้วยอาการ อาหารติดหลอดลม และเมื่อตรวจสอบผลเอ็กซเรย์ก็ไม่พบสิ่งแปลกปลอมใด ๆ แต่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจจึงมีความเห็นที่จะให้น้องรักษาตัวที่โรงพยาบาล และเตรียมการวางแนวทางการผ่าตัด เพื่อนำเม็ดมะขามออก

วันรุ่งขึ้นที่จะมีการผ่าตัด ในช่วงเวลาบ่ายสอง แพทย์จะใช้วิธีการใช้ท่อและนำเครื่องมือพยายามที่จะนำเม็ดมะขามออก แต่เม็ดมะขามมีขนาดใหญ่ และปิดหลอดลมใหญ่ ไม่สามารถกางเครื่องมือที่คีบได้ จึงไม่สามารถนำออกมาได้ แพทย์ประเมินที่จะมีการส่งตัวต่อไปยังโรงพยาบาลศิริราช ตอนประมาณ 5 ทุ่ม แต่ระหว่างทางย่อมมีความเสี่ยง เพราะฉะนั้นทางญาติจึงตัดสินใจที่จะเข้ารักษาต่อที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าต่อ ทางทีมแพทย์จึงได้วางแผนการรักษาต่อ แต่ในช่วงตีสามกว่า ของวันที่ 12 มีนาคม น้องมีอาการทรุดลง

ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุข จะหาข้อมูลและทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม อยากฝากเตือนผู้ปกครองให้ระมัดระวังของเล่น หรือ สิ่งของชิ้นเล็กๆ หากเด็กนำเข้าคอก็อาจไดรับอันตรายได้

ข้อมูลข่าวจาก : http://news.ch3thailand.com/local/90234, http://news.ch3thailand.com/local/90289

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ วิธีปฐมพยาบาลลูกเมื่อ อาหารติดหลอดลม

วิธีปฐมพยาบาลลูกเมื่อ อาหารติดหลอดลม

อาหารติดหลอดลม เป็นปัญหาที่มีความสำคัญและอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ มักพบในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี  ซึ่งเป็นวัยที่มีความอยากรู้อยากเห็น สนใจชอบค้นคว้า ทดลองด้วยตนเอง จึงมักเอาสิ่งแปลกปลอมใส่ไปในช่องต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะช่องทางเดินหายใจเช่น รูจมูก และปาก ประกอบกับฟันกรามที่ยังขึ้นไม่ครบสมบูรณ์ทำให้ไม่สามารถบดเคี้ยวอาหารชิ้นโตให้ละเอียดเพียงพอ จึงอาจเกิดการสำลักในระหว่างรับประทานอาหารได้ โดยเฉพาะหากกินไปวิ่งเล่นไปด้วย โอกาสที่จะเกิดอาหารติดคอ ก็จะมีมากขึ้น

วิธีปฐมพยาบาลเด็กโต – ผู้ใหญ่ เมื่อมีอาหารติดคอ (กรณีที่ยังรู้สึกตัวดี)

  1. ผู้ช่วยเหลือยืนข้างหลังผู้ป่วย ใช้แขน 2 ข้างโอบรอบเอวผู้ป่วย
  2. กำหมัดข้างหนึ่งวางบริเวณเหนือสะดือผู้ป่วยเล็กน้อยใต้ต่อกระดูกอ่อนลิ้นปี่
  3. ใช้มืออีกข้างจับมือที่กำหมัดไว้แล้ว ทำการอัดเข้าท้องแรงๆ เร็วๆ ขึ้นไปข้างบน (ทำคล้ายกับจะพยายามยกผู้ป่วยขึ้น)
  4. อัดหมัดเข้าท้องซ้ำๆ กัน หลายๆ ครั้ง จนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออกมา หรือจนกว่าผู้ป่วยจะหมดสติ

สำหรับแม่ท้องและคนอ้วนลงพุง ให้ใช้วิธี “อัดอก” โดยกำหมัดวางไว้กลางอกบริเวณราวนม แล้วใช้มืออีกข้างจับมือที่กำหมัดไว้ แล้วอัดอกแรงๆ เพื่อกระแทกมือที่กำหมัดไว้ให้กดกระดูกกลางอก เข้าไปในทรวงอกตรงๆ ทำซ้ำหลายๆ ครั้ง จนสิ่งแปลกปลอมหลุดหรือผู้ป่วยหมดสติ

ข้อควรระวัง : ไม่ควรใช้นิ้วมือกวาดไปในลำคอเด็ก เนื่องจากอาจทำให้สิ่งแปลกปลอมเคลื่อนตัวไปสู่ตำแหน่งที่มีการอุดกั้นมากขึ้น

วิธีปฐมพยาบาลทารกเมื่อมีอาหารติดคอ (กรณีที่ยังรู้สึกตัวดี)

  1. จับทารกนอนควํ่าบนแขน ให้ศีรษะตํ่าลงเล็กน้อย
  2. ใช้ฝ่ามือตบลงตรงกลางหลังของทารก (ระหว่างกลางของสะบัก 2 ข้าง) เร็วๆ 5 ครั้ง
  3. ถ้าไม่ได้ผล จับทารกนอนหงายบนแขนให้ศีรษะตํ่า แล้วใช้นิ้วชี้กับ นิ้วกลางวางบนกระดูกหน้าอกเหนือกระดูกลิ้นปี่ แล้วกดอกลง (สักครึ่งถึง 1 นิ้ว) เร็วๆ 5 ครั้ง
  4. ถ้าไม่ได้ผล ให้ทำการ “ตบหลัง” 5 ครั้ง สลับกับ “กดหน้าอก” 5 ครั้ง จนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดหรือทารกหมดสติ
วิธีการปฐมพยาบาลทารกเมื่ออาหารติดคอ

สิ่งสำคัญที่สุดในการปฐมพยาบาลผู้ที่มีอาหารติดคอคือการมีสติ ไม่ควรตกใจจนไม่สามารถปฐมพยาบาลได้อย่างถูกวิธี และนอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ควรป้องกันอุบัติเหตุจากอาหารติดคอลูก โดยการฝึกลักษณะนิสัยการกินที่ดี ไม่ทานข้าวไปพูดไป หรือวิ่งเล่นไป และควรสอนให้ไม่นำสิ่งของใด ๆ ก็ตามเข้าจมูกหรือปากเด็ดขาด

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ลูกไม่ยอมเคี้ยว กลืนจนอาหารติดคอ จะแก้ไขอย่างไร?

วิธีการทำ CPR 3 ขั้นตอนง่ายๆ ช่วยชีวิตได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่

วิธีเลี้ยงลูกแบบญี่ปุ่น เด็กญี่ปุ่นกินอย่างไรให้สุขภาพดี

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : มูลนิธิหมอชาวบ้าน

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids