AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

อาหารเป็นพิษ โรคหน้าร้อน ที่ทุกครอบครัวต้องระวัง

ในช่วงหน้าร้อนที่อากาศร้อนอบอ้าวมากขึ้นทุกวัน ทำให้ไม่ทั้งผู้ใหญ่ และเด็กๆ ต่างก็ต้องการอาหาร และเครื่องดื่มที่ช่วยคลายร้อน การตามใจปากจนไม่ได้ใส่ใจในเรื่องความสะอาดของอาหารก็สามารถทำให้เสียสุขภาพด้วยอาการ อาหารเป็นพิษ ที่เป็นหนึ่งในโรคฮิตช่วงหน้าร้อน ทีมงาน Amarin Baby & Kids จะพาไปทำความรู้จักกับโรคอาหารเป็นพิษกันค่ะ

 

อาหารเป็นพิษ โรคหน้าร้อน  

ถ้านึกถึงหน้าร้อนหลายคนมักจะนึกถึงไอศกรีมกะทิ น้ำแข็งใสใส่นมข้นเยอะๆ ข้าวเหนียวมะม่วง กระท้อนลอยแก้ว น้ำหวาน  เย็นๆ ฯลฯ แค่นี้ก็ทำให้มีความสุขตลอดช่วงวันแสนยาวนานที่ร้อนอบอ้าวไปได้มากแล้วค่ะ และไหนจะใกล้ถึงเทศกาลสงกรานต์ที่เด็ก และผู้ใหญ่ จะได้ทำบุญตักบาตร รดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่ และก็ตบท้ายตลอดช่วงเทศกาลสงกรานต์ด้วยการเล่นสาดน้ำกันให้ชุ่มฉ่ำ

 

Must Read >> โรคท้องร่วง ช่วงหน้าร้อน เด็กเล็กควรระวัง!

 

แต่รู้อะไรกันไหมคะว่าหน้าร้อนแบบนี้ทำให้ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่เจ็บป่วยกันได้ง่ายมากๆ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการทาน  อาหาร เครื่องดื่มที่ไม่สะอาด แล้วยิ่งเล่นน้ำคลายร้อนกันในช่วงสงกรานต์ มือไม้ไม่ได้ล้างก่อนหยิบ จับอาหารเข้าปาก เหงื่อไคล ฝุ่นละออง ที่ติดมากับเสื้อผ้า ตามผิวมือทั้งสองข้าง คุณแม่คะลองคิดดูว่าตอนที่หยิบเอาอาหารเข้าปากเชื้อโรคแบคทีเรียที่ซ่อนมากับเนื้อตัวติดลงไปในอาหาร ในน้ำที่ดื่มเข้าไปนั้น มันทำให้ทุกคนป่วยได้ง่ายมาก ยิ่งโดยเฉพาะกับโรคอาหารเป็นพิษ ที่ขอบอกว่าใครเป็นแล้วทรมานถึงขั้นต้องล้มหมอนนอนโรงพยาบาลกันเลยละค่ะ

อ่านต่อ >> สาเหตุที่ทำให้ป่วยจากการกินอาหาร หน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อาหารเป็นพิษ เกิดจากสาเหตุใด?

อาหารเป็นพิษ (Food Poisoning) เกิดจากต้นเหตุต่างๆ เช่น เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส ฯลฯ ที่พบได้บ่อย มักเกิดจากเชื้อแบคทีเรียจำนวนมากที่แบ่งตัวอยู่ในอาหารที่รับประทานเข้าไป แล้วมีผลรบกวนทางเดินอาหาร ทำให้มีอาการปวดท้อง ท้องเสีย อาจจะมีอาการอาเจียนหรือไม่มี อาจมีไข้หรือไม่มี โดยทั่วไปจะเริ่มมีอาการหลังการรับประทานอาหารแล้ว 1 ชั่วโมง หรือนานกว่า 48 ชั่วโมง[1]

คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังจะพาลูกๆ ไปเที่ยวเล่นน้ำสงกรานต์ หรือมีแพลนจะไปเที่ยวทะเลกันในช่วงเดือนมีนาคม เมษายน ที่อยู่ในช่วงฤดูร้อน และมักจะมีข่าวให้ระวังในเรื่องการกินอาหาร การเก็บรักษาอาหาร เนื่องจากอาหารมักจะบูดเสียง่าย และที่ต้องระวังมากๆ คือแหล่งที่มาของอาหาร ที่จะต้องเลือกซื้อที่สะอาดถูกสุขอนามัย แล้วครอบครัวไหนไม่มีเวลาทำอาหารทานเอง ชอบฝากท้องไว้กับข้าวแกง อาหารถึง อาหารอุ่นร้อนไมโครเวฟ ต้องเลือกซื้อจากร้านที่ปรุงสะอาด มีฝาปิดอาหารมิดชิดกันด้วยนะคะ เพราะหน้าร้อนเชื้อโรค แบคทีเรียเติบโตกันเร็วมากซะด้วยซิ

ส่วนคุณพ่อคุณแม่ หรือใครที่กำลังกังวลเกี่ยวกับการทานอาหารทะเล ผู้เขียนมีข้อมูลจาก รองศาสตราจารย์ วิมล ศรีศุข ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล[2] ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ไว้ดังนี้

“อาหารทะเลดิบ นอกจากอาจถูกปนเปื้อนด้วยเชื้อแบคทีเรียจากน้ำสกปรกที่ปนไปในน้ำทะเลแล้ว ก็ยังมีโอกาสถูกปนเปื้อนด้วยเชื้อแบคทีเรียจากน้ำทะเล เช่น เชื้อวิบริโอ พาราเฮโมลัยติคัส (Vibrio parahaemolyticus) ซึ่งอาการมักเกิดหลังการรับประทานอาหารทะเลที่มีเชื้อแบคทีเรียไปแล้วประมาณ 15 ชั่วโมง โดยจะมีอาการท้องเสียรุนแรง ปวดท้อง อาเจียนและมีไข้”

ซึ่งสิ่งสำคัญในการทานอาหารทะเลไม่ว่าจะซื้อมาทำทานเองที่บ้าน หรือไปทานที่ร้าน ต้องมั่นใจว่าอาหารที่มีทั้ง กุ้ง หอย ปู  ปลา นั่นสด ใหม่ สะอาด และมาจากแหล่งนำวัตถุดิบที่ไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรค เชื้อแบคทีเรีย  มาดูการเลือกซื้ออาหาร ทะเลก่อนนำมาทำอาหารกันสักนิดค่ะ

  1. ปลาทะเลสด ใหม่ ให้สังเกตที่ตาปลาจะต้องมีดวงตาที่กลม ใส ไม่แห้ง ส่วนตรงเหงือกของปลาจะต้องมีสีแดงสด และไม่มีรอยช้ำ ที่สำคัญคือตรงลำตัวปลาต้องมีความชุ่มชื้นไม่เหลว
  2. กุ้งทะเลสด ให้สังเกตตรงบริเวณหางของกุ้ง ที่ต้องมีสีสด
  3. ปลาหมึกทะเลสด ให้สังเกตที่สี คือปลาหมึกควรต้องมีสีขาวสด
  4. หอยทะเลทุกชนิดที่กินได้ ให้สังเกตความสดของหอยคือ ตัวหอยจะต้องถูกปิดสนิทด้วยเปลือกหอย

การเก็บรักษาอาหารทะเลสด อย่าง กุ้ง หมึก ให้เก็บไว้ในถุงพลาสติก หรือ กล่องพลาสติกที่ปิดสนิท จากนั้นให้แช่ไว้ในห้องแช่แข็ง ซึ่งสามารถเก็บไว้ได้นาน 3-4 วัน ส่วนปลาจะเก็บได้นานประมาณ 6-8 วัน ส่วนใครที่ชอบกินหอยนางรม หอยแมลงภู่ หากเก็บไว้ในช่องแช่แข็งจะอยู่ได้ถึง 10 วัน ส่วนปูทะเล ไม่แนะนำให้แช่เก็บนานเกิน 3-4 วัน[3]

อ่านต่อ >> อาการแสดงจากการทานอาหารไม่สะอาด หน้า 3

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

จะรู้ได้อย่างไร? ว่านี่คืออาการของ อาหารเป็นพิษ

ผู้เขียนก็เป็นคนหนึ่งที่เคยป่วยด้วยอาหารเป็นพิษ ซึ่งยอมรับว่าตัวเองแยกไม่ออก และไม่รู้ว่าเป็นอะไร รู้แค่ว่าตัวเองท้องเสียหนัก มีอาเจียน และเป็นไข้ทันที จนไปหาคุณหมอที่โรงพยาบาล หมอให้เล่าอาการ จากนั้นก็ถามว่ามื้อสุดท้ายของวันไปทานอะไรมา จำได้แม่นเลยว่า กินหมูกระทะร้านใกล้ๆ ที่ทำงาน แล้วหมอก็บอกว่าดูจากลักษณะอาการที่เป็นและเหตุปัจจัยที่เล่ามาคือ คุณกำลังป่วยด้วยอาการอาหารเป็นพิษ เราก็งงเลยเพราะไม่เคยเป็นมาก่อน สุดท้ายต้องนอนโรงพยาบาล 2 คืน ระหว่างนั้นก็ถามหมอว่าเพราะอะไรอาหารถึงเป็นพิษ หมอก็สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากเนื้อสัตว์ที่นำมาทำหมูกระทะในวันนั้นไม่สะอาด มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคมาด้วย

 

Credit Photo : Shutterstock

 

และนี่คืออาการของโรคอาหารเป็นพิษ หนึ่งในโรคฮิตช่วงหน้าร้อน และก็สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทุกช่วง หากคุณทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ ที่อยากให้ทุกครอบครัวได้ระวังกันได้สักนิดค่ะ

  1. มีอาการปวดท้องแบบปวดบิดเป็นพักๆ
  2. ถ่ายเหลวเป็นน้ำมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป
  3. มีอาการคลื่นไส้ และอาเจียนปนเศษอาหารออกมาด้วย
  4. มีอาการเป็นไข้ รู้สึกอ่อนเพลีย ทานน้ำหรืออาหารอื่นจะถ่ายออกทันที
  5. หากภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากเกิดอาการแล้วไม่ดีขึ้น ให้รีบไปโรงพยาบาลเพื่อพบคุณหมอทันที เพราะหากปล่อยไว้ร่างกายจะสูญเสียน้ำ และเกลือแร่มากไป

การทานอาหารไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน หรือตามร้านอาหารนอกบ้าน หากทานอิ่มแล้วอาการตามข้างต้น ให้รู้ไว้เลยว่าอาจจะกำลังเป็นอาการป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ ซึ่งต้องดูแลรักษาบรรเทาอาการทันที ไม่ควรปล่อยให้ถ่ายท้องจนหมดแรงกันนะคะ

อ่านต่อ >> การดูแลบรรเทาอาการในเด็ก และผู้ใหญ่ หน้า 4

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อาหารเป็นพิษ เมื่อเกิดอาการ สามารถดูแลเบื้องต้นได้ด้วยตนเองได้หรือไม่?

ได้ค่ะ หากอาการไม่ได้เป็นรุนแรง โดยสามารถดูแลรักษาบรรเทาอาการได้ ตามนี้

Credit Photo : Shutterstock

อาหารเป็นพิษ ในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ

  1. ห้ามให้ยาแก้ท้องเสียทุกชนิด ในเด็กที่กินนมแม่ก็ให้กินนมแม่ ส่วนเด็กที่กินนมผสม ให้ชงแบบเจือจางแล้วให้ลูกกิน นอกจากนี้อาจให้ดื่มสารสะลายน้ำตาลเกลือแร่ได้ ที่สำคัญคุณแม่ควรจัดอาหารอ่อนๆ ให้ลูกทาน
  2. หากดูแลเบื้องต้น 24 ชั่วโมงแล้วลูกอาการไม่ดีขึ้น บวกกับมีอาการร่วมอย่าง เซื่องซึม ตาโบ๋ กินน้ำกินนมไม่ได้ มีอาการ ถ่ายยังไม่หยุด ควรรีบพาส่งโรงพยาบาลด่วน

อาหารเป็นพิษ ในผู้ใหญ่และเด็กโต  

  1. ห้ามทานยาแก้ท้องเสียทุกชนิด แนะนำให้ดื่มเป็นสารละลายน้ำตาลเกลือแร่แทน สามารถหาซื้อได้ที่ร้านเภสัชกรทั่วไป
  2. หากมีไข้ สามารถทานยาพาราเซตามอล เพื่อลดไข้ได้
  3. ให้ทานอาหารอ่อนๆ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก และควรงดกินผัก ผลไม้ที่ช่วยให้ขับถ่ายไปก่อน จนกว่าอาการถ่ายท้องจะดีขึ้น
  4. หากภายใน 24 ชั่วโมง ยังมีอาการถ่ายท้องอยู่ และดูจะถ่ายหนักมากขึ้น ให้รับไปโรงพยาบาลทันทีค่ะ

 

โรคหน้าร้อนยังมีอีกหลายโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ และอาหารเป็นพิษก็เป็นหนึ่งในโรคฮิตช่วงหน้าร้อนที่ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ต่างก็เป็นได้ทั้งนั้น หากทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่ไม่สะอาดเข้าไป ฉะนั้นการดูแลตัวเองเบื้องต้น เพื่อให้ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บในช่วงหน้านี้ ก็ควรที่จะ

  1. ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังจากเข้าห้องน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้วทุกครั้ง
  2. ล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบ จับอาหารเข้าปาก หากอยู่นอกบ้านและหาน้ำเพื่อล้างมือไม่ได้ แนะนำให้ติดทิชชู่เปียกแบบแอนตี้แบคทีเรีย หรือเจลล้างมือแบบไม่ใช้น้ำขวดเล็กๆ ใส่ติดกระเป๋าไว้ด้วย
  3. เลือกซื้อวัตถุดิบมาทำอาหารจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ มีการจัดวาง ใส่บรรจุที่สะอาด
  4. ทานอาหารที่ปรุงสุก สด ใหม่ หากไม่ได้ทำอาหารทานเอง แต่ต้องซื้ออาหารนอกบ้านมาทาน ให้ซื้อจากร้านที่ปรุงสะอาด บรรจุสะอาด อาหารมีฝาภาชนะปิดมิดชิด ไม่มีฝุ่น ไม่มีแมลงวันตอม
  5. กินร้อน ช้อนกลาง ให้ติดเป็นนิสัย

 

ง่ายๆ แค่นี้หวังว่าทุกครอบครัวจะสามารถทำได้ และไม่ป่วยด้วยอาหารเป็นพิษกันนะคะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย

 

อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก

โรคท้องร่วง ช่วงหน้าร้อน เด็กเล็กควรระวัง!
หวัดแดด โรคหน้าร้อน ที่ต้องระวังในเด็กเล็ก
รับมือกับโรคหน้าร้อนที่แม่ท้องต้องระวัง

 

 


ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
1,2รองศาสตราจารย์ วิมล ศรีศุข  ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. อาหารเป็นพิษ 5 คำถามที่พบบ่อย. www.pharmacy.mahidol.ac.th
3วิธีการเลือกซื้อ และเก็บรักษาอาหารทะเล. www.thaihealth.or.th
อาหารเป็นพิษ. www.doctor.or.th