โรคหัวใจถือว่าเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับต้นๆ และสาเหตุหลักของการเกิดโรคนี้มาจากการไม่ดูแลสุขภาพและโภชนาการ มาดูแลตั้งแต่เนิ่นๆด้วยสมุนไพรไทยๆ ที่จะช่วย ป้องกัน โรคหัวใจ กันค่ะ
โรคหัวใจ คือสาเหตุที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตเป็นลำดับต้น ๆ เพราะเป็นโรคที่คนไทยเป็นกันเยอะ แต่ไม่รู้ตัวและไม่ได้เข้ารับการรักษา ซึ่งโรคหัวใจสามารถเกิดขึ้นได้จากการดำเนินชีวิตของเรา เช่น พฤติกรรมการทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง ความเครียด และการขาดการออกกำลังกาย แต่อย่างไรก็ตามโรคหัวใจ ก็สามารถป้องกันได้ค่ะ โดยเราต้องทำตัวเองให้แข็งแรง รับประทานอาหารให้มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ หรือจะใช้สมุนไพรจากธรรมชาติบำรุงก็ได้
โรคหัวใจในเด็ก กับ 6 ผักก้นครัว ป้องกัน โรคหัวใจ
โรคหัวใจในเด็ก ส่วนใหญ่ไม่สามารถบอกสาเหตุที่แน่ชัดได้ โดย นพ. สัมพันธ์ พรวิลาวัณย์ ศัลยแพทย์โรคหัวใจ ผู้มีประสบการณ์ในการรับมือกับโรคหัวใจในเด็กมากว่า 20 ปี ได้อธิบายว่า…
มาจากการที่แม่มีความผิดปกติในระหว่างตั้งครรภ์ เช่น เป็นหัดเยอรมัน หรือติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น และการใช้ยาบางชนิดโดยเฉพาะในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ ส่งผลให้เด็กเกิดมาพร้อมกับความผิดปกติทางโครงสร้างของหัวใจตั้งแต่กำเนิด สำหรับอุบัติการณ์นั้น สถิติของประเทศไทยก็เหมือนกับทั่วโลก กล่าวคือ เด็กที่เกิดใหม่จำนวน 1,000 คน จะมี 8 คนที่เป็นโรคหัวใจผิดปกติตั้งแต่กำเนิด ในประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ที่มีปัญหาโรคหัวใจปีละประมาณ 8,000 คน โดยในจำนวนนี้ มีประมาณร้อยละ 50 ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด
โรคหัวใจเด็กที่พบบ่อย
โรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด เป็นคำเรียกรวมความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจหลายประการที่เกิดกับผนังกั้นหัวใจ ลิ้นหัวใจ หรือหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจในเด็กที่พบบ่อยที่สุด มีดังนี้
- ผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว (Atrial Septal Defect – ASD) ผลจากการที่มีรูรั่วที่ผนังกั้นหัวใจห้องบน ทำให้เลือดไหลผ่านจากหัวใจห้องบนซ้ายผ่านรูรั่วไปห้องบนขวา ตรวจพบได้จากเสียงฟู่ที่หัวใจและผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยง่าย ส่วนใหญ่มักถูกตรวจพบโดยบังเอิญ
- ผนังกั้นหัวใจห้องล่างรั่ว (Ventricular Septal Defect – VSD) มีรูรั่วที่ผนังกั้นห้องหัวใจห้องล่าง ทำให้เลือดแดงจากหัวใจห้องล่างซ้ายผ่านรูรั่วไปยังห้องล่างขวา ออกสู่หลอดเลือดแดงของปอด ทำให้ปริมาณเลือดที่ไปยังปอดมีมากขึ้น ปริมาณเลือดที่กลับเข้าสู่หัวใจห้องบนซ้ายและล่างซ้ายก็เพิ่มมากขึ้นด้วย ส่งผลให้หัวใจห้องซ้ายทำงานมากขึ้นจนหัวใจวายได้
- มีช่องเปิดระหว่างหลอดเลือดหัวใจใหญ่ทั้งสองเส้น (Patent Ductus Arteriosus – PDA) ทารกแรกเกิดทุกคนจะมีช่องเปิดระหว่างหลอดเลือดหัวใจสองเส้น (Aorta และ Pulmonary Artery) และจะปิดเองภายในหนึ่งชั่วโมงหรือไม่เกิน 24 ชั่วโมงหลังคลอด ในกรณีผิดปกติช่องเปิดนี้จะไม่ปิด ส่งผลให้เลือดแดงกับเลือดดำผสมกัน ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น
- มีรูรั่วของผนังกั้นหัวใจห้องล่างร่วมกับหลอดเลือดหัวใจที่จะไปยังปอดตีบหรือลิ้นหัวใจตีบ (Tetralogy of Fallot – TOF) เป็นโรคชนิดซับซ้อนที่พบบ่อยที่สุดทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ปกติแล้วหัวใจจะส่งเลือดไปยังปอดเพื่อเอาเลือดไปฟอกให้มีออกซิเจนมากขึ้น แต่กรณีนี้ลิ้นหัวใจตีบหรือหลอดเลือดเล็กกว่าปกติ เป็นเหตุให้เลือดที่จะต้องถูกส่งไปฟอกที่ปอดมีน้อยกว่าปกติ จึงรั่วผ่านผนังห้องหัวใจไปออกทางด้านซ้ายและเอาไปเลี้ยงร่างกายต่อ กลายเป็นว่าเลือดที่ไปเลี้ยงร่างกายเป็นเลือดดำ เด็กจึงมีภาวะเขียว
- ลิ้นหัวใจห้องล่างขวาตีบ (Pulmonary Valve Stenosis) เป็นภาวะที่ลิ้นหัวใจห้องล่างขวาเปิดไม่เต็มที่เนื่องจากหนาตัว แข็ง หรือเชื่อมประสานกันอย่างผิดปกติ ทำให้หัวใจต้องทำงานมากกว่าเดิม
อ่านต่อ >> “อาหาร บำรุงหัวใจ ของดีใกล้ตัว มีไว้ติดครัวก็ดี” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
(ต่อ) โรคหัวใจเด็กที่พบบ่อย
- หัวใจห้องเดียว (Single Ventricle) เป็นความผิดปกติของหัวใจห้องล่างเป็นหลัก โดยเด็กกลุ่มนี้หัวใจห้องล่างสองห้องทำงานเหมือนเป็นห้องเดียวจึงทำให้ระบบรวนไปหมด เนื่องจากหัวใจห้องล่างสองห้องมีหน้าที่ต่างกัน คือ ห้องขวาทำหน้าที่บีบส่งเลือดดำไปฟอกยังปอดส่วนข้างซ้ายจะบีบเลือดที่ฟอกแล้วมาจากปอดเพื่อส่งไปเลี้ยงยังอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ความผิดปกตินี้ทำให้ไม่มีการแบ่งทางเดินของเลือดอย่างชัดเจน เลือดดำกับเลือดแดงปะปนกัน เด็กจึงมีภาวะเขียวเสมอ
- หลอดเลือดใหญ่ของหัวใจสลับขั้ว (Transposition of theGreat Arteries – TGA) คือการที่หลอดเลือดดำและแดงของหัวใจสลับขั้วกันอย่างสิ้นเชิง จากขวาเป็นซ้าย จากซ้ายเป็นขวา ความผิดปกตินี้ทำให้เด็กที่เกิดมามีภาวะเขียวเนื่องจากเลือดที่ฟอกแล้วจากปอดถูกส่งกลับไปที่ปอด ขณะที่เลือดดำที่ถูกส่งมาที่หัวใจก็ถูกส่งไปเลี้ยงอวัยวะอื่น ๆ ต่ออีก
การวินิจฉัย โรคหัวใจในเด็ก
โรคหัวใจในเด็ก สังเกตอาการได้ง่ายแม้ว่าเด็กจะบอกไม่ได้ว่าเหนื่อย ใจสั่นหรือเจ็บหน้าอก” นพ. สัมพันธ์กล่าว มีอยู่เพียงสองอาการเท่านั้น คือ หัวใจวายกับอาการเขียว ถ้าเด็กเขียวก็สังเกตได้ง่าย แต่ถ้าหัวใจวาย หลายครั้งไม่อาจสังเกตได้ทันที พ่อแม่ของเด็กแทบจะไม่รู้เลย เพราะหัวใจวายในเด็กแตกต่างจากผู้ใหญ่อย่างสิ้นเชิง
ส่วนภาวะหัวใจวายในผู้ใหญ่ จะสังเกตได้จากอาการขาบวม หน้าบวมหอบเหนื่อย เหนื่อยง่าย แต่ภาวะหัวใจวายในเด็กไม่มีอาการดังกล่าวดังนั้น ผู้ปกครองต้องสังเกตอาการ ดังนี้
- เลี้ยงไม่โต หมายความว่า สัดส่วนระหว่างส่วนสูง น้ำหนักตัว และอายุไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าต้องมีอะไรผิดปกติ
- เมื่อกินนมต้องหยุดเป็นพัก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการดูดนมแม่หรือนมจากขวด เด็กทั่วไปจะดูดรวดเดียวหรือพักครั้งเดียวจบ ไม่เกินครึ่งชั่วโมง แต่เด็กที่เป็นโรคหัวใจจะทำไม่ได้ ดูดได้พักเดียวต้องหยุดหอบ แล้วค่อยกลับไปดูดใหม่ กว่าจะอิ่มต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง ตรงนี้สำคัญมากเพราะเป็นอาการที่พ่อแม่มักจะไม่ได้สังเกต และคิดว่าเป็นเรื่องปกติ ดังนั้น หากเด็กดูดนมช้าหรือดูดแล้วหยุดเป็นพัก ๆต้องใช้เวลาในการให้นมแต่ละมื้อนานเป็นชั่วโมงหรือสองชั่วโมง ก็ให้สงสัยไว้ก่อน
- หายใจหอบถี่ หมายความว่าอาการแย่ลง เด็กแรกเกิดอาจหายใจ 40 ครั้งต่อนาที แต่เด็กที่หัวใจวายอาจหายใจเร็วถึง 60 ครั้งต่อนาที แม้ในขณะที่นอนหลับ
ดังนั้นเพื่อป้องกัน โรคหัวใจ ทางทีมงาน Amarin Baby & Kids จึงมีบรรดาสมุนไพรใกล้ตัวที่สามารถช่วยบำรุงหัวใจของคุณพ่อคุณแม่ และลูกน้อย ให้แข็งแรงขึ้นมาฝากกันค่ะ
อ่านต่อ >> “6 อาหาร บำรุงหัวใจ ของดีใกล้ตัว มีไว้ติดครัวก็ดี” คลิกหน้า 3
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.bumrungrad.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
6 อาหาร ป้องกัน โรคหัวใจ ของดีใกล้ตัว มีไว้ติดครัวก็ดี
Good to know : ข้อแนะนำที่สำคัญสำหรับหลีกเลี่ยงและรักษาสุขภาพจากโรคหัวใจ คือ ต้องมีโภชนาการที่ดีหลีกเลี่ยงไขมัน เน้นถั่ว งา ปลา ผัก ให้มากขึ้นในแต่ละมื้อ ออกกำลังกายให้เป็นนิสัยหรือเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิตประจำวัน ควบคุมหรือละเว้นพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ อาทิ บุหรี่ แอลกอฮอล์ พักผ่อนให้เพียงพอ อย่าให้เกิดระดับความเครียดสูง การพักผ่อนอย่างเพียงพอช่วยลดความเครียดได้
กระเทียม
สมุนไพรบำรุงหัวใจอันดับหนึ่งยกให้กระเทียม กระเทียมกลีบเล็กๆ นี้ช่วยลดโอกาสการอุดตันของไขมันในหลอดเลือด หากใส่กระเทียมลงไปในอาหารที่มีน้ำมัน เช่น ผัดต่างๆ จะช่วยลดการอุดตันของไขมันในหลอดเลือดลงได้ถึงร้อยละ 50
ขิง
เป็นสมุนไพรฤทธิ์อุ่นช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือดให้ดีขึ้น ขิงยังช่วยลดโอกาสการก่อตัวของ fibrin โปรตีนชนิดหนึ่งที่ทำให้โลหิตแข็งตัวหรือจับตัวเป็นลิ่มเลือดซึ่งจะไปอุด หลอดเลือด
พริก
มีสารแคปไซซินที่ให้ความเผ็ดในพริกจะช่วยทำให้หลอดเลือดขยาย ช่วยละลายลิ่มเลือด ลดการหดตัวของเส้นเลือด ลดการจับกลุ่มของเกล็ดเลือด ลดการสร้างไขมันในร่างกาย และไปยับยั้งการดูดซึมไขมันในเส้นเลือด ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปใช้ได้สะดวกและไม่มีเลือดมาอุดตันตามหลอดเลือด เท่านี้ก็ปกป้องหัวใจของเราได้แล้ว
ใบแปะก๊วย
แม้สมุนไพรชนิดนี้จะมีชื่อเสียงเรื่องสมอง แต่ก็มีรายงานว่าช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดแดง หลอดเลือดดำ และหลอดเลือดฝอย จึงช่วยลดการเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้
หัวหอม
แม้จะมีกลิ่นฉุน ไม่ถูกปากใครหลายคน แต่หอมหัวใหญ่ หอมแดง และต้นหอม ก็มีข้อดีในเรื่องการช่วยบำรุงเลือดและหัวใจ เนื่องจากในหอมจะมีสารฟลาโวนอยด์ที่ช่วยยังยั้งไม่ให้เกล็ดเลือดไปรวมตัวกันจนแข็งตัวแล้วไปอุดตันตามเส้นเลือด ทำให้เราลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจลงไปได้นั่นเองค่ะ นอกจากนี้หอมต่าง ๆ ยังช่วยลดอาการอักเสบ แก้หวัด คัดจมูก และยังมีสารเคอร์ซีทินที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระจึงปกป้องเราจากโรคมะเร็งได้ด้วยนะคะ
ใบเตยหอม
มีสรรพคุณ คือ ลดอาการกระหายน้ำ และช่วยบำรุงหัวใจ เวลาเหนื่อยๆ ดื่มน้ำใบเตยช่วยให้หายเหนื่อยและสดชื่น โดยนำใบสดมาคั้นดื่ม ครั้งละประมาณ 2-4 ช้อนแกง (4-8 ช้อนโต๊ะ) หรือต้มใบเตยกับน้ำเปล่าแล้วดื่ม จะช่วยให้ร่างกายสดชื่นกระปรี้กระเปร่า เพราะใบเตยมีฤทธิ์บำรุงกำลังและระบบประสาท พร้อมกับช่วยบำรุงหัวใจด้วยนะคะ หรือหากใครมีอาการความดันโลหิตสูงก็สามารถต้มน้ำใบเตยเอาไว้ดื่มเช้า- เย็น เพื่อให้ใบเตยช่วยปรับระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติก็ได้เช่นกันค่ะ
นอกจากนี้ ยังมีพืชผักสมุนไพรอีกมากมายหลากหลายชนิดที่มีคุณค่าและสารอาหารที่สำคัญในการบำรุงและลดความเสี่ยง และธัญพืชชนิดต่างๆ รวมทั้งข้าวกล้อง ที่ช่วยให้หัวใจแข็งแรงดี ซึ่งผู้ป่วยหรือกลุ่มเสี่ยงสามารถนำไปใช้ในการดูแลรักษาสุขภาพอย่างง่ายๆ ในรูปของอาหาร เครื่องดื่ม หรือเป็นผักเคียงกับอาหารมื้อประจำวันได้
ซึ่งสมุนไพรไทยพื้นบ้านหลายๆชนิดมีสรรพคุณในการช่วยบำรุงและกระตุ้นหารไหลเวียนโลหิต และช่วยลดการเกาะตัวเป็นลิ่มเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจหรือหลอดเลือดหัวใจตีบนั้นเอง ที่สำคัญอย่าลืมปฏิเสธปัจจัยเสี่ยงและหมั่นออกกำลังกาย เลือกสรรโภชนาการที่มีประโยชน์ เพื่อหลีกเลี่ยงโรคหัวใจขาดเลือดและอย่าลืมดูแลจิตใจให้สดใสอยู่เสมอด้วย
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!
- 5 อาการสัญญาณเตือน “โรคหัวใจในเด็ก” ที่พ่อแม่ควรรู้!
- อัตราการเต้นหัวใจในเด็ก เต้นแบบนี้เรียกปกติ!
- ประสบการณ์จริง เมื่อคุณแม่ท้องเป็นโรคหัวใจ
- ลูกฟันผุ เสี่ยงโรคหัวใจ ป้องกันด้วยการแปรงฟัน
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.lovefitt.com , health.kapook.com