AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

การติดเชื้อ เอนเทอโรไวรัส 71 โรคระบาดสายพันธุ์รุนแรง

Credit Photo : vnews.mv

เอนเทอโรไวรัส 71 หรือเรียกกันว่า EV71 เป็นไวรัส RNA ชนิดสายเดี่ยวและเป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคมือเท้าปาก ในเด็กเล็กที่ป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก หากมีการติดเชื้อ EV 71 ร่วมด้วย แล้วได้รับการรักษาไม่ทัน สามารถส่งผลอันตรายถึงชีวิตได้ ทีมงาน Amarin Baby & Kids จะพาคุณพ่อคุณแม่ไปแกะรอยทำความรู้จักกับอันตรายจากการติดเชื้อ “เอนเทอโรไวรัส 71” ให้มากขึ้นค่ะ

 

เอนเทอโรไวรัส 71 คืออะไร?

มีช่วงหนึ่งของการระบาดด้วยโรคมือเท้าปากที่ทำให้เด็กเสียชีวิต เพราะมีการติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71)  เอาเป็นเราไปทำความรู้จักกับเจ้าเชื้อ EV 71 กันก่อนค่ะ

 

เอนเทอโรไวรัส 71(Enterovirus 71)  หรือเรียกกันว่า EV71 เป็นไวรัส RNA ชนิดสายเดี่ยวและเป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคมือเท้าปาก การติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 มักจะพบในเด็กเล็ก ซึ่งจะมีอาการเหมือนกับโรคมือเท้าปาก คือจะมีไข้ มีแผลในปากและตุ่มพุพอง หากคุณพ่อคุณแม่จะสังเกตอาการที่เกิดขึ้นกับลูกให้ง่ายขึ้น คือ เมื่อลูกมีการติดเชื้อ EV 71 จะเริ่มต้นด้วยการมีไข้ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยและเจ็บคอ และพอได้ 1-2 วันหลังจากที่เริ่มมีไข้ ก็จะเกิดแผลเกิดขึ้นในปาก ที่เริ่มด้วยการเป็นจุดสีแดงเล็กๆ ลักษณะเป็นตุ่มพองน้ำแล้วกลายเป็นแผลเปื่อย ที่อยู่บนลิ้น เหงือกและด้านในของแก้มทั้งสองข้าง

 

ที่สำคัญการสังเกตว่าลูกติดเชื้อที่เกิดจาก EV 71 ที่นอกจากจะเป็นตุ่มพองในช่องปากแล้ว ก็ยังเกิดตุ่มพองแดงตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า และอาจจะมีตรงบริเวณก้น หรือที่อวัยวะเพศร่วมด้วย สำหรับการติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 ที่เกิดขึ้นกับเด็กเล็ก สามารถก่อภาวะแทรกซ้อนของโรคที่ร้ายแรงตามมา คือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นต้น ซึ่งผลกระทบเหล่านี้สามารถทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ค่ะ

อ่านต่อ >> “สาเหตุ และความน่ากลัวของเอนเทอโรไวรัส 71” หน้า 2

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

สาเหตุ และความน่ากลัวจากการติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71

การเจ็บป่วยด้วยโรคธรรมดาทั่วไป อาจรักษาให้หายได้ แต่สำหรับการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อ EV 71 ที่เริ่มต้นมาจากการที่ลูกป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก หากรักษาไม่ทันคุณพ่อคุณแม่สามารถสูญเสียลูกไปตลอดกาล ดังนั้นเรามาตามถึงสาเหตุของการติดเชื้อวายร้าย EV 71 กันค่ะ

 

นายแพทย์วรวุฒิ เจริญศิริ จากศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ(1) ได้อธิบายถึงสาเหตุของการติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 ดังนี้

1. เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุมีหลายชนิด

ได้แก่ Coxsackievirus A type 16 (A16) ซึ่งพบบ่อยที่สุด นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากเชื้อ Coxsackievirus A5, A7, A9, A10, B2, และ B5 ที่น่ากลัวที่สุดคือ โรคมือ เท้า ปาก ที่เกิดจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71) เนื่องจากพบว่ามีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วยได้บ่อย และทำให้ผู้ป่วยเด็กเสียชีวิตได้ รวมทั้งปรากฏว่ามีการระบาดเกิดขึ้นในหลายภูมิภาคของโลกต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานาน

2. การระบาดของเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71

สามารถพบได้ทั่วโลก โดยเฉพาะในเขตร้อนและเขตอบอุ่น และพบมากในฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วง การระบาดในไต้หวันกับการระบาดในประเทศมาเลเซีย พบว่า เด็กเล็กจะเป็นกลุ่มเสี่ยงของการเกิดโรค และมีช่วงของการระบาดอยู่ในช่วงเดียวกัน

3. เชื้อเอนเทอโรไวรัส 71

เป็นเชื้อที่อาจพบได้ในลำไส้ ก่อให้เกิดอาการในผู้ติดเชื้อระยะแรกคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้ ปวดศรีษะและอาเจียนร่วมด้วย อัตราตายจะต่ำ ถ้าผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด และการรักษาที่เหมาะสม แต่ในบางรายที่มีอาการรุนแรง หรือมีภาวะแทรกซ้อน อาจก่อให้เกิดโรคที่รุนแรงตามมาได้ เช่น ทำให้เกิดโรคสมองอักเสบ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และทำให้เด็กเสียชีวิตได้

4. ในรายผู้ป่วยที่เสียชีวิต

พบว่า เชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 เข้าไปทำลายระบบสมองของผู้ป่วย แต่ก็ยังไม่ทราบรายละเอียดว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร จึงทำให้ส่วนของสมองบริเวณเมดัลลา พอน และก้านสมองเกิดการติดเชื้อและบวมได้(1)

 

อ่านต่อ >> “อาการของเอนเทอโรไวรัส 71 ที่ควรรู้และต้องระวัง!” หน้า 3

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

 เอนเทอโรไวรัส 71 กับอาการของโรคที่ต้องระวัง!!

1. โรคมือเท้าปาก

มักเป็นในเด็กเล็ก มีอาการคล้ายไข้หวัด ร่วมกับมีตุ่มใสบริเวณมือ เท้า และปาก ตุ่มในช่องปากมักมีอาการเจ็บ ทำให้ผู้ป่วยกินอาการและดื่มนํ้าได้ลดลง

2. เชื้อเอนเทอโรไวรัส

สามารถเข้าจู่โจมทำลายเนื้อเยื่ออวัยวะต่างๆ ในร่างกายมนุษย์ได้หลายระบบ ซึ่งขึ้นกับชนิดของสายพันธุ์ บางชนิดจะเข้าจับกับตัวรับของเซลล์กล้ามเนื้อเซลล์ประสาท และสมองส่วนกลาง ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงและอัมพาต บางชนิดจะเข้าจับกับตัวรับของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ปอด ระบบสมองส่วนกลาง ตับอ่อน โดยเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายได้ทางระบบทางเดินอาหารและหายใจส่วนต้นเป็นส่วนใหญ่ แล้วมีการแบ่งตัวบนเนื้อเยื่อที่เป็นเยื่อบุและต่อมน้ำเหลืองของลำคอรวมทั้งต่อมทอนซิล เชื้อจะเข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร และเจริญเติบโตในกระเพาะอาหารและเนื้อเยื่อของลำไส้ เพราะเชื้อสามารถคงทนต่อความเป็นกรดและเอนซัยม์ย่อยอาหารต่างๆ ได้ดี

3. เชื้อจะมีการแบ่งตัวเพิ่ม

จำนวนขึ้นบนเนื้อเยื่อน้ำเหลืองของลำไส้ จากนั้นจะแพร่เข้าสู่กระแสเลือดโดยมีบางส่วนที่ถูกขับออกทางอุจจาระ เชื้อจะเข้าทำลายเนื้อเยื่อในอวัยวะของระบบต่างๆ ของร่างกาย ดังกล่าวแล้ว ซึ่งจะมีระยะเวลาฟักตัวระหว่าง 2-14 วัน จึงจะปรากฏมีอาการและอาการแสดงติดตามมา

4. เด็กจะได้รับเชื้อไวรัส

จากการรับประทานอาหาร และน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสที่กระจายออกมากับอุจจาระ หรือสัมผัสกับละอองน้ำมูก น้ำลายของเด็กที่เป็นโรคนี้ หลังได้รับเชื้อ 4-6 วัน เด็กจะมีไข้สูง อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ไม่กินนม/อาหาร เจ็บคอ ปวดศีรษะ จะมีตุ่มน้ำใสขนาดเล็กหรือแผลที่คอ ปาก ลิ้น กระพุ้งแก้ม และตุ่มจะขึ้นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ก้น ซึ่งระยะตุ่มน้ำใสนี้มีเชื้อไวรัสที่ติดต่อได้ง่ายที่สุดถึงร้อยละ 99 จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสตุ่มน้ำใส(2)
การติดเชื้อ EV 71 แทรกซ้อนรุนแรงอย่างที่บอกไปแล้วว่า เป็นเพราะเด็กเริ่มต้นมาจากการป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก สำหรับการดูแลรักษาโรคมือเท้าปาก ปัจจุบันยังไม่ยาที่รักษาได้โดยตรง ส่วนใหญ่แล้วแพทย์จะรักษาตามอาการที่ลูกเป็น นั่นคือ การให้ยาลดไข้ การใช้ยาทาแผลในปาก และมักจะแนะนำให้คุณแม่หาของเย็นๆ ให้ลูกทาน เช่น น้ำแข็ง ไอศกรีม การให้ทานของเย็นๆ ก็เพื่อจะช่วยทำให้ภายในบริเวณช่องปากของลูกรู้สึกชา บรรเทาจากความทรมานได้ในระดับหนึ่ง

 

ดังนั้นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเฝ้าระวังให้ดีคือ เชื้อ EV 71 มักจะมาพร้อมกับโรคมือเท้าปาก ที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงหน้าฝนและหน้าหนาว ที่เด็กจะป่วยด้วยโรคนี้กันมาก แต่ปัจจุบันพบว่าเด็กสามารถป่วยด้วยโรคมือเท้าปากได้ หากร่างกายอ่อนแอ หรือไปได้รับเชื้อมาโดยไม่ได้ตั้งใจทันรู้ระวังตัวมาก่อน จึงแนะนำว่าไม่ควรชะล่าใจกับโรคมือเท้าปาก ร่วมทั้งเชื้อไวรัสร้าย EV 71 กันนะคะ

 

อ่านต่อ >> “เชื้อเอนเทอโรไวรัส กับการป้องกันเบื้องต้น” หน้า 4

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

การป้องกันลูกจากเชื้อเอนเทอโรไวรัสเบื้องต้น  

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(3) แนะนำว่า “การดูแลเรื่องสุขอนามัย ล้างมือ ทำความสะอาดสถานเลี้ยงเด็ก จะช่วยลดการระบาดลงได้” ส่วนการป้องกันโรคมือเท้าปาก  เพื่อลดการติดเชื้อแทรกซ้อนจากไวรัสต่างๆ โดยเฉพาะจากไวรัส EV 71 ทำได้ดังนี้

  1. ล้างมือ ทำความสะอาด ดูแลสุขอนามัย ไม่ใช้ช้อนป้อนร่วมกัน สัมผัสอุจจาระ เปลี่ยนผ้าอ้อมต้องล้างมือ
  1. ห้องเด็กควรเป็นห้องโล่ง อากาศถ่ายเทได้ดี
  2. ทำความสะอาดเครื่องใช้ของเล่นเด็กด้วยสาร sodium hypochlorite โดยใช้ hypochlorite ทำให้เจือจาง 5:25% ให้เป็น 1 : 50 หรือ Clorox สารละลาย คลอรีน เช็ดถูให้สะอาด (สามารถฆ่าเชื้อได้)
  3. เด็กที่ป่วยต้องแจ้งให้โรงเรียนพื้นที่ ทราบ และหยุดอยู่บ้าน จนแผลทุกแห่งหาย ประมาณ 1 สัปดาห์ และมีระบบสื่อสารที่ดี กับทางโรงเรียน
  4. ผู้ปกครอง ไม่พาเด็กไปที่มีคนหมู่มาก ห้าง สนามเด็กเล่น ในช่วงที่มีการระบาด
  5. ความโปร่งใส ซื่อสัตย์ จิตสาธารณะ ทั้งของผู้ปกครอง และโรงเรียน
  6. บอกความเป็นจริงทั้งผู้ปกครองและสถานเลี้ยงเด็ก จะช่วยลดการแพร่กระจายของโรคลงได้
  7. เมื่อลูกป่วยมากจนผิดปกติ ต้องรีบพาลูกไปโรงพยาบาลพบแพทย์ทันที(3)

 

การเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับลูกเล็กๆ บางครั้งพ่อแม่อาจเฝ้าระวังแต่เฉพาะโรคที่เกิดขึ้นตามช่วงฤดูระบาดเท่านั้น แต่ความจริงคือ โรคระบาดที่เกิดขึ้นตามช่วงฤดูกาล อาจเกิดขึ้นได้ตลอดทุกช่วง ที่เหตุมาจากปัจจัยแวดล้อมที่เชื้อสามารถก่อโรคขึ้นได้กับเด็กที่ร่างกายอ่อนแอ ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องก็ยิ่งทำให้ลูกมีโอกาสป่วยมากขึ้น

จึงแนะนำว่าในเด็กเล็กๆ ที่ยังมีภูมิคุ้มกันโรคที่ไม่แข็งแรงเท่าผู้ใหญ่ ไม่ควรพาเด็กไปตามสถานที่แออัด เช่น โรงภาพยนตร์ ตลาด ศูนย์การค้า และหากมีเด็กป่วย ควรแนะนำไม่ให้ผู้ปกครองนำเด็กไปโรงเรียนเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้กับเด็กคนอื่นๆ ที่สำคัญต้องรักษาความสะอาดให้กับลูก ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายหลังจากกลับมาจากโรงเรียน หรือนอกบ้าน หรือหลังออกจากห้องน้ำต้องล้างมือทุกครั้ง แล้วเวลาทานอาหารขอให้ทุกครอครัวกินร้อน ช้อนกลาง และควรสอนลูกให้ไม่ทานอาหารหรือดื่มน้ำจากแก้วจากหลอดเดียวกับเพื่อนๆ ที่โรงเรียน เป็นต้น …ด้วยความใส่ใจและห่วงใยค่ะ

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก

โรคมือเท้าปาก สาเหตุ อาการ และการรักษาที่ถูกต้อง
EV71 โรคระบาดสายพันธุ์รุนแรง พร้อมวิธีป้องกัน
โรคเฮอร์แปงไจน่า : โรคระบาดน่ากลัว กลุ่มเดียวกับโรค มือ เท้า ปาก

 

 


ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
1,2นายแพทย์วรวุฒิ เจริญศิริ จากศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ. www.bangkokhealth.com
3ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. www.manager.co.th