AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

แม่แชร์เตือน! ลูกกินนมผสม สังเกตอึให้ดี เสี่ยงเป็นโรคลำไส้อักเสบ

ลูกกินนมผสม

โรคลำไส้อักเสบ ในทารก เป็นปัญหาที่พบได้บ่อย ในเด็กวัยขวบปีแรก ซึ่งในเด็กบางรายอาจมีอาการรุนแรง และไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เด็กเกิดภาวะช็อกและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

 

การทำงานของระบบขับถ่ายทารก

เด็กทารกกำลังอยู่ในช่วงของการปรับระบบเพื่อให้เข้าที่เข้าทางมากยิ่งขึ้น การขับถ่ายเป็นระบบการกำจัดของเสียออกจากร่างกาย  ซึ่งอวัยวะที่สำคัญในการทำหน้าที่นี้ ก็คือ ลำไส้ใหญ่  ตับและไต  เมื่ออาหารผ่านเข้าไปในระบบทางเดินอาหารตั้งแต่ปากลงไปจนถึงลำไส้เล็กที่ทำหน้าที่ย่อยอาหารแล้ว

กากอาหารที่เหลือจากการย่อย จะถูกลำเลียงผ่านเข้าไปที่ลำไส้ใหญ่ โดยลำไส้ใหญ่จะทำหน้าที่สะสมกากอาหารและจะดูดซึมสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย  เช่น วิตามิน แร่ธาตุ ไขมัน โปรตีน คาร์โบไฮเดรตและกลูโคสเข้าไว้ที่ผนังลำไส้ใหญ่ก่อน หลังจากนั้นก็จะเป็นที่พักกากอาหาร ซึ่งมีลักษณะเหนียวข้นกึ่งแข็ง และลำไส้ใหญ่ก็จะขับเมือกออกมาหล่อลื่น …ระหว่างที่บีบตัวเพื่อให้กากอาหารเคลื่อนที่ไปรวมกันที่ลำไส้  ก่อนจะขับออกจากร่างกายทางทวารหนักต่อไป   ถ้าลำไส้ใหญ่ดูดน้ำมากเกินไป  เนื่องจากกากอาหารตกค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่หลายวัน  จะทำให้กากอาหารแข็ง เกิดความลำบากในการขับถ่าย ซึ่งเราเรียกว่าอาการท้องผูก

ส่วนสารอาหารที่ร่างกายได้ดูดซึมเอาไว้  ตับ, ตับอ่อนและถุงน้ำดี ก็จะผลิตเอนไซม์ช่วยในการดูดซึมออกมา  และส่งต่อให้ร่างกายนำไปใช้ผ่านทางเส้นเลือดนั่นเอง ส่วนของเสียจากเลือดและระบบการย่อยที่เป็นน้ำจะถูกส่งไปกรองที่ไต และถูกส่งไปรอการขับออกที่กระเพาะปัสสาวะ เวลาที่ลูกรู้สึกปวดก็จะสามารถปัสสาวะและอุจจาระออกมาได้ทันที

แม่แชร์เตือน! ลูกกินนมผสม สังเกตอึให้ดี เสี่ยงเป็น โรคลำไส้อักเสบ

อย่างไรก็ตามกรณีของโรคลำไส้อักเสบ เป็นภาวะการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารยังคง เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดูแลในเด็กเล็ก โดยเฉพาะกลุ่มทารกแรกเกิด ภาวะลำไส้อักเสบรุนแรงในทารกแรกเกิด จนถึงมีเนื้อเยื่อลำไส้เน่าตาย (Necrotizing Enterocolitis : NEC) เป็นปัญหาการติดเชื้อที่สำคัญ ทำให้มีภาวะแทรกซ้อนและมีอัตราการเสียชีวิตสูง ซึ่งการเพิ่มปริมาณน้ำนมเร็วเกินไปโดยเฉพาะนมผสมที่ไม่ใช่นมแม่ ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะนี้ได้

เช่นเดียวกับเด็กน้อยวัย 2 เดือนคนนี้ ที่เกือบลำไส้เน่า หลังกินนมผสมเข้าไปและมีอาการถ่ายออกมาแบบผิดปกติ โดยคุณแม่เองก็ไม่ได้เอะใจอะไร เพราะคนโบราณบอกว่า เป็นอึดี….

⇒ Must read : อึบอกสุขภาพ ลูกน้อยแรกเกิดมากกว่าที่คิด

ซึ่งคุณแม่ของเด็กน้อยคนนี้ก็ได้ออกมาโพสต์เรื่องราวของลูกน้อยของตนเอง เพื่อเป็นอุทาหรณ์เตือนแม่ๆ บ้านอื่นทั้งหลายว่า… อย่ามัวแต่หลงไปกับความเชื่อของคนโบราณ เพราะอาจทำให้ลูกน้อยลำไส้เน่าได้

โดยคุณแม่เล่าว่า เป็นความเชื่อแบบผิดของตนเองที่ทำให้ลูกน้อยเกือบลำไส้เน่า ซึ่งเมื่อคลอดลูกคุณแม่ไม่ค่อยมีน้ำนมจึงเลี้ยงลูกด้วยนมผงยี่ห้อหนึ่งมาตลอดตั้งแต่แรกเกิด และเมื่อออกจากโรงพยาบาล คุณแม่ก็สังเกตเห็นว่าลูกถ่ายเป็นเม็ดมะเขือ!

 

อ่านต่อ >> แม่แชร์เตือน! ลูกกินนมผสม สังเกตอึให้ดี เสี่ยงเป็น โรคลำไส้อักเสบ” คลิกหน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

ซึ่งจากลักษณะของ อึลูกที่ ถ่ายเม็ดมะเขือ คนแก่คนโบราณก็บอกว่า แบบนี้แหละถ่ายดี ถ่ายเเปลเดือน ถ่ายเปลี่ยนพัฒนาการ โดยตัวคุณแม่เองก็สงสัยว่าทำไมผ่านมาอาทิตย์หนึ่งแล้ว ลูกก็ยังถ่ายเป็นเม็ดมะเขือเยอะมากอีก เพราะถ้าแปลเดือนก็ต้องเดือนละครั้ง

แต่คุณแม่ก็ไม่ได้เอะใจอะไร เพราะเห็นว่าเมื่อให้ใครดูอึน้อง ต่างก็บอกว่า…แบบนี้แหละอึดี ซึ่งคุณแม่ยังบอกอีกว่า เห็นลูกกินนมตัวนี้แล้วน้ำหนักขึ้นดี แต่เมื่อกินไปก็มักจะแหวะตลอด และท้องอืดบ่อย และก็ยังไม่คิดอะไรมากเพราะคนแก่บอกถ่ายเม็ดมะเขือแบบนี้คือถ่ายดี

กระทั่งล่วงเลยมาจนน้องอายุได้ 2 เดือนกว่าเต็มๆ ที่คุณแม่ให้ลูกกินนมนี้ โดยคุณแม่บอกว่าน้องกินหมดไป 5 กล่อง กล่องละ 1800 กรัม จนกระทั่งล่าสุดคุณแม่ก็ได้สังเกตเห็นอีกว่าน้องถ่ายเป็นเม็ดมะเขืออีกแล้ว แต่ครั้งนี้แถมมีมูกเลือดปนมาด้วย

ซึ่งน้องถ่ายเยอะมาก งอแงจนไข้ และมีอาการมือปากเท้าเริ่มเขียว จึงรีบพาไปหาหมอที่คลินิก เมื่อคุณหมอตรวจอาการก็สรุปว่านมที่ให้ลูกกินไปนั้นไม่ย่อย ทำให้ลำไส้ลูกทำงานหนักจนติดเชื้อ และตอนนี้น้องผอมน้ำหนักลดลงไปถึง 2 กิโลกรัม😢

โดยคุณแม่ได้ย้ำเตือนว่าเชื่อคำโบราณเชื่อคนเฒ่าคนแก่ได้ แต่เราต้องมีสติและหมั่นสังเกตอาการของลูกเราด้วย..หากคิดว่าไม่ดี อาการเริ่มเป็นหนัก ควรรีบพาไปหาหมอให้คุณหมอตรวจวินิจฉัยโรคแบบสมัยใหม่ด้วยจะดีกว่า เพราะถ้าหากมาช้า อาจไม่ทันการณ์

อย่างไรก็ดีตอนนี้น้องเริ่มดีขึ้นแล้ว โดยคุณหมอเปลี่ยนนมให้กิน พร้อมให้ยาแก้อักเสบ…และอาการของน้องมือปากเท้าเริ่มแดงๆ มีเลือดฝาดแล้ว หลังจากที่ตัวซีดปากซีด เพราะถ่ายท้อง..ทั้งนี้คุณแม่ยังบอกอีกว่าโชคดีที่พาลูกไปหาหมอทันก่อนลูกจะติดเชื้อหนัก เพราะก่อนหน้านี้ 2 เดือน คุณแม่มัวแต่เชื่อคำโบราณและสงสัยอาการของลูก ทั้งยังเผยว่าตอนกลางคืนลูกก็นอนไม่สบายตัว บิดไปบิดมา ซึ่งพอตอนนี้รักษาถูกวิธี ลูกก็นอนหลับปุ๋ย และท้องก็ไม่อืดอีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลและภาพจากคุณแม่เบียร์ ที่มาจากเฟซบุ๊ก : ญิ๋งเบียร์ ศรีสยาม

แม่มือใหม่ต้องระวัง ! โรคลำไส้อักเสบ รุนแรงในลูกเล็ก

อย่างไรก็ตาม โรคลำไส้อักเสบ ในทารก ถือเป็นเรื่องใกล้ตัวลูกน้อย และทำให้คุณแม่หลายคนเป็นกังวลยิ่งนัก เนื่องจากโรคนี้สามารถเป็นอันตรายได้ถึงชีวิต ดังนั้นถ้าไม่อยากให้สายเกินแก้ ตามไปทำความเข้าใจ โรคลำไส้อักเสบ ในทารก พร้อมวิธีสังเกตอาการ และวิธีป้องกันกันค่ะ

เด็กแบบไหนอยู่ในภาวะเสี่ยงโรคลำไส้อักเสบ

สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดการติดเชื้อมีภาวะลำไส้อักเสบ จนถึงเนื้อเยื่อเน่าตาย มีหลายประการ ปัจจัยหลักคือ การที่ทารกคลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักตัวน้อย หากมีการขาดเลือดไปเลี้ยงบริเวณลำไส้ เช่น การมีคะแนนการคลอดตั้งแต่แรกคลอดต่ำ หรือมีภาวะขาดออกซิเจนตั้งแต่แรกคลอด และมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคไปกับนมหรือภาชนะที่ไม่สะอาด หรือมีการให้น้ำนมผสมที่มีความเข้มข้นที่สูง และรวมไปถึงการเพิ่มปริมาณน้ำนมเร็วเกินไปโดยเฉพาะนมผสมที่ไม่ใช่นมแม่ ก็ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะนี้ได้

อ่านต่อ >> “วิธีสังเกตอาการลำไส้เน่า ป้องกันลูกมีภาวะเสี่ยงโรคลำไส้อักเสบ” คลิกหน้า 3

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

สังเกตอาการลำไส้เน่า

อาการของทารกที่มีภาวะนี้ ส่วนใหญ่มักเริ่มมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไปภายใน 2 สัปดาห์แรก หรืออาจมีอาการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากสังเกตพบอาการล่าช้า โดยเริ่มแรกอาจมีเพียงท้องอืด กินนมได้น้อยลง หรือมีน้ำนมเหลือค้างในกระเพาะอาหาร อาเจียนหรือแหวะนมบ่อยๆ ลักษณะอุจจาระเป็นสิ่งสำคัญ หากมีการถ่ายเหลวเป็นมูกหรือมีมูกเลือดปน เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าน่าจะมีสิ่งผิดปกติในลำไส้ของลูกน้อย

 

คุณแม่อาจสังเกตดูว่า ลูกน้อยกินนมได้ดีเท่าเดิม ไม่มีอาการแหวะนมบ่อย ๆ ท้องไม่อืดอย่างต่อเนื่อง หรือไม่มีลมในกระเพาะปริมาณมาก และเมื่อลูกน้อยกินนมอิ่มก็จะพักหลับได้ประมาณ 3–4 ชั่วโมง แล้วจึงตื่นมาเพื่อกินนมมื้อต่อไป มีการตอบสนองกับคุณพ่อคุณแม่ ด้วยการยิ้ม จ้อง และสบตา ลักษณะของอุจจาระ หากกินนมแม่ในปริมาณมากพอหรือเป็นส่วนใหญ่ อุจจาระจะมีสีเหลืองทอง นิ่ม ไม่มีลักษณะเป็นน้ำ ไม่มีมูกหรือเลือดปน อาจถ่ายได้วันละ 4–6 ครั้ง ถือเป็นภาวะปกติ

โรคลำไส้อักเสบ

อาการแบบนี้…? พาลูกหาหมอด่วน!

มีอาการของภาวะขาดน้ำรุนแรง คือ ไม่เล่น ไม่ร่าเริง นอนซึม กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ปากแห้งมาก ร้องไห้ ไม่มีน้ำตา ปัสสาวะน้อยลงหรือปัสสาวะสีเหลืองเข้ม เบ้าตาโหล อาเจียนและถ่ายเหลวมาก ถ่ายมีมูกเลือด ปวดท้องมาก ไม่ยอมกินน้ำและนมเลย ให้รีบพาลูกไปพบแพทย์ เพื่อให้สารน้ำทดแทนทางหลอดเลือด

เพราะ โรคลำไส้อักเสบ ในทารก เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยมากในเด็กวัยขวบปีแรก ซึ่งในเด็กบางรายอาจมีอาการรุนแรง และไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เด็กเกิดภาวะช็อกและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ในแต่ละวัน คุณแม่ต้องสังเกตว่า ลูกของคุณมีอาการท้องอืด อาเจียนหรือแหวะนมบ่อยๆ หรือกินนมได้น้อยลงหรือไม่ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของร่างกายที่คุณต้องดูให้ดี ลองใช้เทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิ หากพบว่าไม่มีไข้เกิน 37.8 องศาเซลเซียส ถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าหากคุณไม่แน่ใจ ลองพาลูกน้อยมาพบคุณหมอเพื่อตรวจอาการก็ได้

√ การป้องกัน โรคลำไส้อักเสบ ที่ดีที่สุด!

ลูกน้อยของคุณต้องกินนมแม่ เพราะในนมแม่นั้นมีสารอาหารครบถ้วนและภูมิคุ้มกันที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อในลำไส้ได้อย่างดี ที่สำคัญที่สุดคือ ความสะอาด หากในขณะนั้นน้ำนมแม่เริ่มมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกน้อยและต้องใช้นมผสม ก็ควรรักษาความสะอาดของอุปกรณ์ที่ใช้ในการชงนมให้ดี ควรต้มจุกนมและขวดนมในน้ำเดือดอย่างน้อย 15 นาที เก็บอุปกรณ์ไว้ในที่ๆ มีฝาครอบ เพื่อป้องกันแมลงหรือสัตว์ที่มีเชื้อโรค

หากสงสัยว่า ลูกน้อยมีภาวะของโรคลำไส้อักเสบ ควรพามาพบแพทย์ เพื่อเจาะเลือดและตรวจอุจจาระดูการติดเชื้อ พร้อมทั้งตรวจเอกซเรย์ช่องท้อง ซึ่งถ้าหากลูกน้อยของคุณอยู่ในภาวะดังกล่าว แพทย์ก็จะให้งดนม ในช่วงระยะเวลา 3–5 วัน ซึ่งถ้าหากมาพบแพทย์ จะทำให้ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นผลดีต่อลูกน้อยของคุณ

อย่างไรก็ดี น้ำนมแม่ เป็นสิ่งที่ดีที่สุด ที่ช่วยป้องกันลูกน้อยจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ เพราะฉะนั้นคุณควร ให้นมแม่นานที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้ ดูแลเรื่องความสะอาด ของอุปกรณ์ที่ใช้ในการเตรียมนมให้ถูกสุขลักษณะทุกครั้ง หากมีปัญหาหรือข้อสงสัย ก็ควรไปพบหมอ หรือโทรไปปรึกษากับศูนย์รับให้คำปรึกษาของโรงพยาบาลรัฐบาลและเอกชน เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ และทำให้ลูกน้อยของคุณ มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด

อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!


ขอบคุณข้อมูลจาก : www.healthandtrend.com