แพทย์เผย! โรคอุบัติใหม่ ทั่วโลกมีแนวโน้มสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ โรคที่ว่านี้คืออะไร จะน่ากลัวและใกล้ตัวแค่ไหนมาดูกันค่ะ
คุณพ่อคุณแม่อาจจะรู้สึกงง ๆ ว่า อะไรคือ โรคอุบัติใหม่ … โลกใหม่อีกแล้วอย่างนั้นหรือ? ทั้งนี้ไม่ใช่หรอกค่ะ จริง ๆ แล้วเป็นโรคที่เรารู้จักกันดีอยู่แล้วในปัจจุบัน หากแต่อาจจะมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่รุนแรงขึ้น ซึ่งโรคอุบัติใหม่ที่ว่านี้คืออะไร แล้วจะมีโรคอะไรบ้างนั้น ทีมงาน Amarin Baby and Kids ได้เตรียมข้อมูลนี้ไว้ให้คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านได้ทราบกันแล้วละค่ะ
ทำความรู้จักกับ โรคอุบัติใหม่
โรคอุบัติใหม่หรือ Emerging Disease นั้นสามารถเรียกได้อีกอย่าง่ว่า โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก หรืออดีตอาจจะเคยเกิดขึ้นแล้วแต่พบได้น้อยมากบนโลกของเรา ซึ่งในปัจจุบันหรืออนาคตนั้นพบว่ามีการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เกิดจากสภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป การรุกล้ำที่อยู่อาศัยของสัตว์จากมนุษย์ รวมไปถึงจากผู้คนที่พากันเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งอาจจะกำลังมีโรคระบาดเหล่านี้อยู่ ส่งผลให้เกิดการเจริญเติบโตและแพร่หลายอย่างรวดเร็ว
โรคอุบัติใหม่ที่ว่านี้มีอะไรบ้าง?
นายแพทย์ สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ระบุว่า โรคติดต่ออุบัติใหม่ทั่วโลกมีแนวโน้มมากขึ้น เนื่องจากหลายปัจจัย เช่น การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต และพฤติกรรม นอกจากนี้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น การเดินทางที่สะดวก ทำให้โรคแพร่กระจายอย่างรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งโรคติดต่ออุบัติใหม่ส่งผลกระทบต่อคน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม เศรษฐกิจ การเมือง โดยโรคอุบัติใหม่ที่น่าสนใจนั้นได้แก่
โรคไข้หวัดใหญ่
โรคที่อยู่คู่คนไทยและคนทั่วโลกและมีการแพร่กระจายโรคอย่างรวดเร็วในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา และแต่ละสายพันธุ์นั้นก็มีการเพิ่มระดับความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น
- โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A หรือ H1N1 ที่ปัจจุบันดูเหมือนว่าจะกลายเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลไปเสียแล้ว และจะพบได้บ่อยในช่วงฤดูหนาว และพบว่ามีอัตราการป่วยต่อแสนของประชากรสูงสุด 5 อันดับแรกได้แก่ จังหวัดระยอง จังหวัดกรุงเทพมหานคร จังหวัดหนองคาย จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดเชียงใหม่
- โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H3N3 ที่พบว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคนี้เพิ่มมากขึ้น และถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้รับรายงานการเสียชีวิตของคนไทยที่ป่วยเป็นโลกนี้ แต่ก็ยังถือว่าเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นอย่างมากอยู่ดี
โรคไข้หวัดนก
หรือที่เรารู้จักกันเป็นในชื่อ Bird Flu เป็นโรคติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอที่เกิดขึ้นในสัตว์ปีก จริงอยู่ที่เชื้อไวรัสไข้หวัดนกไม่สามารถแพร่เชื้อสู่คนได้ แต่ก็อาจจะต้องละเว้นไข้หวัดนก 2 สายพันธุ์ที่เคยพบการแพร่เชื้อจากสัตว์มาสู่คนนั่นคือ สายพันธุ์ H5N1 ที่พบว่ามีการระบาดเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปีพ.ศ. 2547 และสายพันธุ์ H7N9 ที่พบว่ามีการระบาดในประเทศจีนในปีพ.ศ. 2556 และก็ยังไม่มีการรายงานว่ามีคนไทยป่วยเป็นโรคนี้จนถึงปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม โรคไข้หวัดนกก็ยังคงเป็นอีก 1 โรคที่น่ากลัว และสามารถเกิดขึ้นได้กับมนุษย์เราอยู่ดี และตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2546 จนถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2560 พบรายงานผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อโรคไข้หวัดนกแล้ว 859 ราย เสียชีวิต 453 ราย โดยพบใน 16 ประเทศ ได้แก่ อาเซอร์ไบจาน บังกลาเทศ กัมพูชา แคนนาดา จีน จิบูตี อียิปต์ อินโดนีเซีย อิรัก ลาว พม่า ไนจีเรีย ปากีสถาน ไทย ตุรกี และเวียดนาม สำหรับในประเทศไทยนั้นพบว่าส่วนมากผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคไข้หวัดนก จะมีประวัติการสัมผัสกับไก่ป่วย หรือไก่ที่ตายผิดปกติ เป็นต้น
ไวรัสนิปาห์และโรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา
ไวรัสนิปาห์ และโรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา เป็นไวรัสที่ก่อโรคในสัตว์ ตั้งชื่อจากสถานที่พบในออสเตรเลียและมาเลเซีย แต่ละโรคจะเป็นอย่างไร เรามาทำความรู้จักไปพร้อม ๆ กันค่ะ
-
- โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ – เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คนที่เกิดจาก การสัมผัสมูลสัตว์ และสารคัดหลั่งของพาหะนำโรค ได้แก่ ค้างคาวผลไม้ หรือสุกร ม้า แมว แพะ แกะ ที่รับเชื้อมาจากค้างคาวผลไม้อีกต่อหนึ่ง สามารถติดเชื้อจากคนสู่คนได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อ เช่น เลือดหรือน้ำลาย เป็นต้น
- โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา – เกิดจากเชื้อไวรัสเฮนดรา ซึ่งวิจัยพบการติดเชื้อไวรัสเฮนดราในค้างคาวแม่ไก่ หรือค้างคาวผลไม้ จากการศึกษาของศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา และคณะ ในปี พ.ศ. 2546 โดยการสำรวจค้างคาวในบางจังหวัดของประเทศไทยพบว่าค้างคาวร้อยละ 7 มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสนิปาห์ และพบสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสนิปาห์ในเลือด น้ำลาย และปัสสาวะ
ไวรัสซิกา
หนึ่งในเชื้อไวรัสที่คุณแม่ท้องส่วนใหญ่รู้จักกันเป็นอย่างดี เป็นไวรัสซึ่งอยู่ในตระกูลฟลาวิไวรัส จำพวกเดียวกับไวรัสไข้เหลือง ไวรัสเดงกี ไวรัสเวสต์ไนล์ และไวรัสไข้สมองอักเสบเจอี ในประเทศไทยของเรานั้นก็มีประวัติการพบผู้ติดเชื้อไวรัสซิกา มาแล้ว ซึ่งจังหวัดเหล่านั้นได้แก่ ลำพูน เพชรบูรณ์ ศรีษะเกศ ราชบุรี สมุทรสาคร กระบี่ ภูเก็ต และกรุงเทพ เป็นต้น ซึ่งพาหะร้ายของโรคที่จะนำพามาสู่โรคร้ายนั้นก็คือ “ยุงลาย” นั่นเองค่ะ
ไวรัสอีโบลา
เป็นโรคที่น่ากลัวอีกโรคหนึ่ง และพบว่า มีการระบาดครั้งแรก คือที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกในแอฟริกากลาง เมื่อได้รับเชื้อไวรัสนี้เข้าสู่ร่างกาย ไวรัสก็จะสร้างความเสียหายแก่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและอวัยวะที่สำคัญต่าง ๆ ในที่สุดแล้วจะทำให้ระดับเซลล์การแข็งตัวของเลือดต่ำลงและนำไปสู่ภาวะเลือดออกที่รุนแรงและไม่สามารถควบคุมได้ และถึงแม้ว่าไวรัสอีโบลา ยังไม่มีการถูกพบในประเทศไทย แต่ก็ควรระวัง หากต้องเดินทางไทยยังพื้นที่ที่เคยพบว่ามีการระบาดของโรค ไม่ว่าจะเป็น ไนจีเรีย เซเนกัล สหรัฐอเมริกา สเปน มาลี อิตาลี และสหราชอาณาจักร เป็นต้น
และไม่ใช่แค่ 5 โรคที่ว่านี้เท่านั้นนะคะ ยังมี โรคอุบัติใหม่ อีกหลายโรคที่พวกเราทุกคนต้องเฝ้าระวังลูกหลานและตัวเราให้ดี พยายามแนะนำลูกให้ล้างมือบ่อย ๆ และล้างให้สะอาดเป็นประจำทุกวันกันด้วยนะคะ
ขอบคุณที่มา: กรมควบคุมโรค หาหมอ และสนุกดอทคอม
อ่านต่อบทความอื่นที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่